“ตั้งปณิธานปีใหม่” ไปไม่รอด เริ่มใหม่ได้ในครึ่งปีหลัง!

“ตั้งปณิธานปีใหม่” ไปไม่รอด เริ่มใหม่ได้ในครึ่งปีหลัง!

“ตั้งปณิธานปีใหม่” ไปไม่รอด เริ่มใหม่ได้ในครึ่งปีหลัง!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากปี 2563 ดำเนินมาได้เกือบครึ่งทางแล้ว ใครที่เคยตั้งปณิธานปีใหม่ (New Year’s Resolution) เอาไว้เมื่อช่วงต้นปี อย่าลืมกลับมาทบทวนหรือสำรวจตัวเองกันดูสักหน่อยว่า ครึ่งปีที่ผ่านมานั้นมีเรื่องใดที่ทำได้สำเร็จหรือบรรลุเป้าหมายอย่างที่ตั้งใจไว้บ้าง และมีเรื่องใดที่ทำไม่ได้ตลอดรอดฝั่งบ้าง

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าเรื่องที่ตั้งเป้าไว้ทำไม่สำเร็จเลยสักอย่าง ก็อย่าเพิ่งถอดใจไปเสียก่อน เพราะไม่ได้มีแค่คุณเท่านั้นที่ล้มเหลวกลางทาง โดยจากผลสำรวจที่ผ่านมาพบว่าคนส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่สามารถทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ได้ และมักล้มเลิกความตั้งใจไปกลางคันตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์เสียด้วยซ้ำ

แต่รู้หรือไม่ว่ามีผลการศึกษาหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Clinical Psychology พบว่าอย่างน้อยการได้ตั้งปณิธานว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น หรือทำสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ก็มีแนวโน้มที่คุณจะทำได้สำเร็จมากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งเป้าใด ๆ ไว้เลยมากถึง 10 เท่า

ดังนั้น ช่วงครึ่งปีหลังก็น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะกลับมาเริ่มต้นใหม่กันอีกครั้งสำหรับคนที่ยังรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันสักที และนี่คือเคล็ดลับที่จะทำให้การตั้งปณิธานในช่วงครึ่งปีหลัง (Mid-Year Resolution) ของคุณสำเร็จลุล่วงได้อย่างใจหวังโดยไม่ล้มเหลวเหมือนอย่างช่วงครึ่งปีแรก

เลือกเป้าหมายที่เจาะจงและเป็นไปได้

แทนที่จะตั้งเป้าหมายแบบกว้าง ๆ ให้เปลี่ยนมากำหนดเป้าหมายแบบจำเพาะเจาะจง ให้แคบลงมาอีกสักหน่อย เช่น จะลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัม หรือจะวิ่งมินิมาราธอนให้ได้เมื่อจบสิ้นปี เพื่อจะได้วางแผนไปสู่ความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

จดจ่อเพียงเป้าหมายเดียว

การตั้งเป้าหมายเรื่องใดไว้เพียงเรื่องเดียว จะช่วยให้จดจ่อหรือโฟกัสกับสิ่งนั้นได้ดีกว่า และมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้มากกว่า เพราะการสร้างนิสัยใหม่ ๆ ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามล้วนต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนตัวเอง

ทุกอย่างต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง

การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ติดเป็นนิสัยย่อมต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง เมื่อใดก็ตามที่ทำสิ่งใดเป็นระยะเวลาที่นานพออย่างน้อยให้ได้ต่อเนื่องสัก 45 วัน สมองของคุณจะเริ่มปรับเปลี่ยนไป และเกิดความคุ้นเคยในการทำสิ่งนั้น ๆ โดยอัตโนมัติ

หลีกเลี่ยงการซ้ำรอยความล้มเหลวเดิม

หากปณิธานที่เคยตั้งไว้เคยล้มเหลวมาก่อน ก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะทำให้ตัวเองต้องกลับไปซ้ำรอยนั้นอีกครั้ง เพราะเมื่อวิธีการเดิม ๆ ที่เคยใช้ไม่ได้ผล ก็ต้องหากลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ไปถึงจุดหมายนั้นให้ได้

ไม่ถอดใจเพราะอุปสรรคเพียงเล็กน้อย

กว่าจะไปถึงปลายทางแห่งความสำเร็จ ย่อมต้องเจออุปสรรคระหว่างทางบ้างเป็นธรรมดา ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการกระตุ้นตัวเองให้เดินหน้าต่อไปแม้ว่าจะสะดุดก้อนหินข้างทางเป็นระยะ ก็ไม่ควรมองว่าเป็นความล้มเหลวจนถอดใจง่าย ๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook