ความหมายและความแตกต่างของ ปฏิวัติ และ รัฐประหาร มีความหมายว่าอะไร

ความหมายและความแตกต่างของ ปฏิวัติ และ รัฐประหาร มีความหมายว่าอะไร

ความหมายและความแตกต่างของ ปฏิวัติ และ รัฐประหาร มีความหมายว่าอะไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถึงแม้ว่าผู้คนหลายๆ คนอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องทางการเมืองในปัจจุบันมากนัก แต่เราทุกคนถูกคำว่าการเมืองการปกครองเชื่อมต่อกันในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในที่ทำงาน การเมืองการปกครองในครอบครัว ในห้องเรียน จึงปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าชีวิตของเราทุกคนถูกเชื่อมโยงกับคำว่าการเมืองการปกครองทั้งนั้น

ซึ่งคำว่า ปฏิวัติ และ รัฐประหาร ก็เป็นคำที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่ไหนไร ซึ่งทั้งคู่ก็เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยของเรามาแล้วด้วย ทีนี้เราเชื่อว่าหลายๆ คนยังไม่รู้ว่า ระหว่าง ปฏิวัติ และ รัฐประหาร มันมีความหมายแตกต่างกันอย่างไร ดังนั้น Sanook Campus เราก็เลยจะให้ความรู้ แยกแยะให้เพื่อนๆ ได้ศึกษากันว่า 2 คำนี้คืออะไร มีความหมายแตกต่างกันอย่างไร

ความหมายและความแตกต่างของ ปฏิวัติ และ รัฐประหาร

ปฏิวัติ คืออะไร

ปฏิวัติ (Revolution) คือ การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทั้งหมด โดยมีการยกเลิกระบอบเดิมและใช้ระบอบใหม่ หรือรื้อโครงสร้างเดิม เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักมูลในโครงสร้างอำนาจหรือการจัดระเบียบซึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาค่อนข้างสั้น คำว่าปฏิวัติในภาษาอังกฤษ (Revolution) มีรากศัพท์จากภาษาละตินคือ Revolutio และ Revolvere แปลว่า หมุนกลับ (to turn around) สำหรับในสังคมการเมืองไทยเกิดการปฏิวัติทางการเมืองขึ้นเพียงครั้งเดียวคือ การปฏิวัติสยาม ในวันที่24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นการปฏิวัติการปกครองโดยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monachy) กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) ส่วนการล้มล้างรัฐบาลในครั้งต่อมานั้นเป็นเพียงการรัฐประหาร เพราะไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ผู้นำของรัฐบาล หรือเป็นการยืดอายุของรัฐบาลอุปถัมป์อำนาจนิยม (Suzerain-Authoritarianism) ของสังคมไทยเพียงเท่านั้น

รัฐประหารคืออะไร

รัฐประหาร หรือ การรัฐประหาร (Coup d'état) คือ การยึดอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับเก่าต่อไป หรือประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นานนัก ปกติเกิดจากสถาบันของรัฐที่มีอยู่เดิมขนาดเล็กเพื่อโค่นรัฐบาลซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วเปลี่ยนเป็นองค์กรทหาร รัฐประหารพิจารณาว่าสำเร็จแล้วเมื่อผู้ยึดอำนาจสถาปนาภาวะครอบงำ รัฐประหารไม่จำเป็นต้องเกิดความรุนแรงหรือเสียเลือดเนื้อ ศาลฎีกาไทยตีความว่า รัฐประหารมิได้ขัดต่อกฎหมาย เพราะ "กฎหมายคือคำสั่งคำบัญชาของรัฏฐาธิปัตย์" คำว่า coup d'état มาจากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งหากแยกพิจารณาจากการสนธิคำ จะแปลตรงตัวได้ว่า การล้มล้างอย่างเฉียบพลัน (coup = blow of) ต่อรัฐ (d'état = on state)

รายชื่อรัฐประหารในประเทศไทย

  • รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
  • รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
  • รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
  • รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
  • รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
  • รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
  • รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)
  • รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
  • รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
  • รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
  • รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
  • รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
  • รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีหลังยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง)

ทั้งนี้ บางตำราระบุว่า การปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นรัฐประหารครั้งแรกของไทย และมิได้แยกเหตุการณ์วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เป็นรัฐประหารอีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook