ถึงเวลาหรือยัง กับการบรรจุเรื่องประวัติศาสตร์ความจริงในหลักสูตรการเรียน

ถึงเวลาหรือยัง กับการบรรจุเรื่องประวัติศาสตร์ความจริงในหลักสูตรการเรียน

ถึงเวลาหรือยัง กับการบรรจุเรื่องประวัติศาสตร์ความจริงในหลักสูตรการเรียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประวัติศาสตร์คือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งมักจะถูกบันทึกและจดจำเพื่อเป็นการย้อนรำลึกถึงในวันหลัง ๆ อีกทั้งยังเป็นสิ่งเตือนใจถึงที่มาที่ไปที่เลวร้ายหลีกเลี่ยงการเกิดซ้ำคล้ายกับการยกมาเป็นบทเรียนเตือนใจรวมถึงยกเป็นกรณีศึกษาให้กับคนรุ่นหลัง

บรรจุในหลักสูตร

เนื่องด้วยในเดือนตุลาคมของทุกปี ประเทศไทยมีวันสำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่ 2 เหตุการณ์ด้วยกัน ที่แม้ศักราชจะดำเนินไปนับหลายสิบปี แต่เหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไม่น้อย เป็นบาดแผลที่ติดอยู่ในจิตใจของผู้สูญเสียบุคคลที่ตนรักไปกับเหตุการณ์เหล่านี้

โดยเฉพาะความน่าสลดของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เป็นเหตุการณ์แขวนคอพนักงานการไฟฟ้า และนักศึกษาถูกทำร้ายอย่างทารุณด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนด้วยกันเองอีกจำนวนหนึ่ง เพียงเพราะอุดมการณ์และมุมมองต่ออีกฝ่าย ซึ่งฝ่ายนักศึกษาถูกมองว่าเป็นพวกหัวสมัยใหม่ โดยยิ่งเป็นช่วงของการระแวดระวังคอมมิวนิสต์

และในช่วงของการกุมอำนาจโดยฝ่ายขวาจึงมีการปลุกปั่นใส่ความว่ากลุ่มนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์และต้องการล้มระบอบกษัตริย์ ด้วยการปลูกฝังแนวคิดผ่านหน้าสื่อ วิทยุยานเกราะ เพลงหนักแผ่นดิน ไปจนถึงเหตุการณ์ความรุนแรง และเหตุการณ์จบลงด้วยการเกิดรัฐประหารอีกครั้ง หลังชัยชนะของประชาธิปไตยเพียง 3 ปี จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

น่าแปลกที่เหตุการณ์ความรุนแรงที่ยังคงสะเทือนจิตใจต่อคนที่รับรู้และผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้น เหมือนจะถูกพยายามฝังกลบให้เลือนหายไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะในตำราเรียนที่แทบไม่ถูกเอ่ยถึงหรือมีน้อยเพียงหน้าเดียวเสียด้วยซ้ำ ทั้งที่ในความจริงเรื่องราวเหล่านี้ล้วนเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

เกิดซ้ำ

การบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ที่น้อยจนแทบจะไม่มีให้เห็นในตำราเรียน จึงไม่แปลกหากเดินไปถามเด็กมัธยมส่วนใหญ่ว่ารู้รายละเอียดของเหตุการณ์รุนแรงเดือนตุลาคมในอดีตหรือไม่ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าทำไมเรื่องราวเหล่านี้ไม่ถูกจารึกเพื่อเป็นบทเรียนให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ไปกับมัน ไม่ฟังความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รับรู้เรื่องราวและวิเคราะห์ที่มาสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้

เพราะสถานการณ์บ้านเมืองในตอนนี้ ถึงแม้จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหตุการณ์ในอดีต แต่ปัญหาที่เกิดนั้นคล้ายกันปานถอดแบบ ทั้งการปลุกปั่นชักจูงบิดเบือนความจริงของแต่ละฝ่าย ยัดเยียดข้อครหาให้ฝ่ายที่ตนไม่ยอมรับ โจมตีกันด้วยเรื่องเลวร้าย ซึ่งอาจเป็นชนวนเหตุเล็ก ๆ ที่จะนำพาไปสู่ความรุนแรงแบบในครั้งอดีตได้ ไม่มีใครรู้

ทางเลือกที่ดี “ทางเลือกเดียว”

เพราะทางเลือกที่ดีที่สุดคือการเพิ่มการรับรู้ความจริงแบบลงรายละเอียด ถึงต้นตอของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งถึงแม้หมกเม็ดปิดบังไม่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ถึงอย่างนั้นหากคนรุ่นหลังต้องการทราบความจริงก็อาจหาข้อมูลได้ไม่ครบถ้วนหรือเป็นการรับฟังจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดความเข้าใจผิดและไปกันใหญ่

ยิ่งในยุคของข้อมูลที่มีหลากหลายมากมายเต็มไปหมดแต่ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องคือความจริงทั้งหมด เกิดปัญหาใหม่คือความเข้าใจผิดที่นำพาไปสู่ความเกลียดชังที่มากขึ้น รวมถึงขบวนการ Fake News ที่ใช้ข้อมูลลวงยุยงปลุกปั่น การบรรจุความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นความจริงมากที่สุดจึงเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันต่อการรับข้อมูลที่เอนเอียงหรือบิดเบือนได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook