ผิดหรือที่เป็นคนจริงจังกับคำผิด “จริงจังมากไปหรือเปล่า อ่านเข้าใจก็พอแล้วนี่”

ผิดหรือที่เป็นคนจริงจังกับคำผิด “จริงจังมากไปหรือเปล่า อ่านเข้าใจก็พอแล้วนี่”

ผิดหรือที่เป็นคนจริงจังกับคำผิด “จริงจังมากไปหรือเปล่า อ่านเข้าใจก็พอแล้วนี่”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดูเหมือนว่าในทุกวันนี้คนไทยใช้คำผิดกันเยอะมาก และมีปัญหากับการผันเสียงตามวรรณยุกต์จนสะกดคำกันผิดเพี้ยนไปเสียหมด และที่น่าปวดหัวมากที่สุดก็คือความมั่นใจว่าตัวเองใช้ถูก ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่ควรมองข้ามเพราะมันสะท้อนปัญหาของคุณภาพสังคมและการศึกษาของคนไทย

กรณีนี้พูดถึงการตั้งใจพิมพ์ผิดเพราะคิดว่าถูก การพิมพ์ตกหรือกดผิดนั่นคือความผิดพลาดอีกกรณีหนึ่ง

มันจะอะไรกันนักหนา

“จริงจังมากไปหรือเปล่า อ่านเข้าใจก็พอแล้วนี่” คำตอบกลับส่วนใหญ่เมื่อมีใครสักคนถูกทักท้วงว่าพิมพ์คำผิด ทำเอาคนที่เข้าไปตักเตือนกลับกลายเป็นคนผิดเสียเองทั้งที่จริง ๆ แล้วกำลังชี้แจงในเรื่องที่ถูกต้องอยู่ แม้กระนั้นเจ้าตัวก็ยังพิมพ์ผิดเหมือนเดิมต่อไปไม่รู้ร้อนรู้หนาว

ทั้งที่คำส่วนใหญ่ที่คนมักพิมพ์ผิดเป็นเพียงคำง่าย ๆ ที่ควรสะกดถูก อย่างเช่น คะ/ค่ะ นะคะ/นะค่ะ วะ/ว่ะ นะ/น่ะ ญาติ/อนุญาต ซึ่งหากอ่านตามการผันเสียงวรรณยุกต์ในใจกันได้ก็ต้องมองออกมันทีว่ามันผิด โดยเฉพาะคำว่า นะค่ะ น่ะค่ะ น่ะคะ ที่คนมักใช้ในบริบทของประโยคบอกเล่า เช่น วันนี้อากาศสดใสดีนะคะ ซึ่งมักใช้ผิดสลับกับการใช้ คะ ในประโยคคำถาม เช่น รับกาแฟไหมคะ ก็ใช้ผิดกันเป็น รับกาแฟไหมค่ะ รู้ไหมว่ามันน่าเบื่อขนาดไหนสำหรับคนที่สะกดถูก

สำหรับใครที่ยังสับสนกับการใช้ไม้เอก จงจำภาพประโยคนี้ไว้ ไปแจ้งวัฒนะค่ะ จะไปเล่นโยคะค่ะ ท่องไว้ให้ขึ้นใจเพราะประโยคนี้จะทำให้เห็นได้ชัดเลยว่าคำไหนควรใช้ไม้เอกกันแน่

เห็นเขาใช้ก็ใช้ตาม

อีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่น่าเป็นห่วงมากในตอนนี้คือ เหล่าคนดัง สื่อ คนที่มีผู้ติดตามเยอะ มีอิทธิพลต่อคนส่วนมาก รวมถึงเพจทางโซเชียล ใช้คำผิดกันเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ซึ่งความจริงพวกเขาเหล่านี้ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมและจริยธรรมในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะคุณเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อเยาวชนและคนอื่น ๆ ในสังคม ไม่เพียงแต่พยายามควบคุมการใช้คำผิด แต่เมื่อถูกตักเตือนควรยอมรับและหาทางแก้ไข ไม่ใช่การปัดความรับผิดชอบ เพราะคุณคือตัวอย่างของคนดูหรือคนที่ติดตามคุณ

นอกจากเหล่าเซเลบริตี้โซเชียลแล้วนั้น ที่แทบจะทำให้หมดหวังกับภาษาไทยเลยก็คือบุคลากรครู ที่แม้เป็นผู้ให้ความรู้กับเด็ก ๆ ก็ยังใช้คำกันแบบผิด ๆ เสียเอง ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือหนังสือแบบเรียนทั่วไปก็ยังมีการพิมพ์ผิดอยู่ด้วย
ปล่อยได้ปล่อย

ด้วยกระแสและความเป็นไปในสังคม ที่เดี๋ยวนี้มีคำใหม่ ๆ ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ อีกทั้งการพิมพ์คำต่าง ๆ ที่อาจผิดเพี้ยนจากหลักไวยากรณ์ก็อาจถูกปล่อยผ่านไปบ้าง เพราะเป็นการใช้คำเพื่อสื่อถึงอารมณ์ของบริบทนั้น ๆ เช่น จุงเบย(จังเลย) ให้อารมณ์ออดอ้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับได้เพราะในยุคนี้ที่คนติดต่อสื่อสารกันผ่านการพิมพ์มันแพร่หลายเป็นวงกว้าง การใส่อรรถรสในคำบางคำก็ช่วยให้การสนทนามีสีสันมากกว่าเดิม เรียกง่าย ๆ ว่าภาษาพูด

แต่อย่างน้อยสิ่งที่ควรตระหนักคือ การผันเสียงวรรณยุกต์ เพราะ เพราะถึงแม้ว่าคำที่คุณสะกดมันจะผิดแต่หากใส่ผันเสียงวรรณยุกต์ถูกมันก็พอให้อภัยได้ เข้าใจตรงกันนะ?

จริงอยู่ที่การสะกดผิดไม่ได้ทำให้ใครตาย ไม่ได้ทำให้ใครรวยขึ้น แต่รู้ไหมว่าภาพลักษณ์ที่คนอื่น ๆ มองคุณมีปัจจัยของการใช้คำผิดรวมอยู่ด้วย เพราะหากบอกว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรงซึ่งก็มีส่วนจริง วัยรุ่นสมัยนี้ใช้คำผิดโดยที่ไม่รู้ว่าผิดซึ่งมันติดตัวไปถึงขั้นตอนการสมัครงาน การทำงานในองค์กรของคุณด้วย

หากไม่แน่ใจในคำไหนก็ไม่ใช่เรื่องยาก เปิด Google พิมพ์สะกดใกล้เคียงลงไปมันก็โชว์คำที่ถูกต้องให้เห็นแล้ว อาจเสียเวลานิดหน่อยแลกกับการได้เรียนรู้คำที่สะกดถูก ก็นับว่าคุ้มค่า

เอาเป็นว่าหากคุณเป็นหนึ่งคนที่สะกดคำผิดบ่อย ๆ ทางแก้ที่ดีที่สุดคือการพิมพ์ให้ถูก ไม่ใช่การไปต่อว่าหรือถกเถียงกับคนที่เข้ามาตักเตือน ส่วนใครก็ตามที่พิมพ์สะกดคำถูกอยู่สม่ำเสมอก็จงจงภูมิใจไว้เถิด คุณทำดีแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook