สังคมไร้เงินสดดีอย่างไร? เตรียมพร้อมสู่สังคมไร้เงินสด
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ca/0/ud/279/1395493/shutterstock_1179983731.jpgสังคมไร้เงินสดดีอย่างไร? เตรียมพร้อมสู่สังคมไร้เงินสด

    สังคมไร้เงินสดดีอย่างไร? เตรียมพร้อมสู่สังคมไร้เงินสด

    2019-05-20T15:36:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    แม้จะลืมเอากระเป๋าสตางค์ออกจากบ้าน แต่หากมีโทรศัพท์มือถือ เราก็สามารถไปต่อกับชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะจ่ายค่าแท๊กซี่ รถไฟฟ้า จ่ายค่าก๋วยเตี๋ยวมื้อกลางวัน ซื้อของตั้งแต่ราคาแพงไปจนถึงไม่กี่บาท จ่ายค่าน้ำ-ไฟ โอนเงิน ฯลฯ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องเงินทอน ไม่ต้องห่วงว่าจะทำเงินหาย หรือมีใครมาขโมยเงินจากมือเรา

    นี่คือรูปแบบวิถีชีวิตใน “สังคมไร้เงินสด” ที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว แต่อีกหลายคนอาจกำลังเรียนรู้ เตรียมรับและปรับตัว

    สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1960 แต่มาปรากฏชัดในวิถีชีวิตของเราเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้าเข้ามาช่วยให้เราสามารถชำระเงินผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เช่น อีเพย์เมนต์ หรือระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ บัตรเครดิต บัตรเดบิต การใช้คิวอาร์โค้ด เป็นต้น

    สังคมไร้เงินสดดีอย่างไร?

    รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า การที่เงินสดมาอยู่ในกระเป๋าเรานั้นต้องผ่านกระบวนการบริหารจัดการมากมาย ตั้งแต่การขนส่งเงินจากธนาคารกลางไปศูนย์เงินสด จากศูนย์เงินสดไปตู้เอทีเอ็มต่างๆ ยังไม่นับการที่เราแต่ละคนต้องไปตู้เอทีเอ็มหรือธนาคารเพื่อถอนเงินสดมาใช้อีกด้วย

    “เมื่อมองบริบทของต้นทุนการบริหารจัดการแล้ว หลายประเทศจึงอยากลดการพึ่งพาเงินสด” รศ.ดร.พรอนงค์ กล่าว

    “และเมื่อต้นทุนการบริหารจัดการถูกลง จะทำให้การจัดการมีประสิทธิภาพขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจใหม่หรือธุรกิจรายเล็กๆ อย่าง การค้าขายออนไลน์ ธุรกิจ SMEs เป็นต้น เป็นการเพิ่มศักยภาพของประเทศในการเติบโตและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้”

    นอกจากนี้ การชำระเงินผ่านธุรกรรมที่มีการบันทึก ก็ช่วยให้ภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลไปเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ ทำให้ผู้บริโภคมีความสะดวกมากขึ้น ส่วนภาครัฐก็ช่วยให้กำกับเรื่องภาษีได้มีประสิทธิภาพขึ้น สำหรับผู้บริโภคก็จะช่วยให้ทำบัญชีรับ-จ่ายได้ชัดเจนขึ้น

    ความง่าย สะดวก รวดเร็วของสังคมไร้เงินสด ทำให้หลายคนกังขาและกังวลในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัว การใช้จ่ายเกินตัว และอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ รศ.ดร.พรอนงค์ มองว่า ข้อห่วงใยและข้อพึงระวังต่างๆ นั้น ไม่ควรหยุดยั้งการพัฒนา แต่ต้องเรียนรู้ที่จะปิดความเสี่ยงเหล่านั้นมากกว่า

    ประเด็นเรื่องความปลอดภัยจากการโดนขโมยข้อมูลส่วนบุคคลและโจรกรรมเงินทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ก็ไม่ต่างจากความปลอดภัยในการพกเงินสดติดตัว “อย่างไรเสีย เราก็ต้องรับผิดชอบความปลอดภัยของเงินตัวเอง เวลาเราใช้เงินสด เราก็ต้องระวังกระเป๋าเงินหาย การทำธุรกรรมผ่านอีเพย์เมนต์หรือโมบายแบงก์กิ้งต่างๆ เราก็ต้องรู้จักการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้รหัสผ่านปลอดภัยมากขึ้น” รศ.ดร.พรอนงค์ กล่าว

    “ส่วนเรื่องการใช้จ่ายเกินตัว เราก็ต้องพิจารณาการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายรับและความจำเป็น ถ้าเราใช้เงินสดแล้วไปกู้หนี้มาจ่ายก็คงเป็นปัญหาเหมือนกัน เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นปัญหาของอีเพย์เมนต์”

    ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ของภาครัฐ มีการสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานของคิวอาร์โค้ดของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่การสนับสนุนระบบกลางคือ พร้อมเพย์ โดยปัจจุบัน สัดส่วนของคนที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์มีมากกว่า 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

    การเป็นสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบนั้น รศ.ดร.พรอนงค์ เสนอว่า นอกจากรัฐจะประกาศเป็นนโยบายในแผนยุทธศาสตร์แล้ว ยังต้องมีแผนปฏิบัติการ เช่น กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ที่เอื้อไปทางเดียวกัน

    “ตอนนี้เรามีการพัฒนาเรื่องอีเพย์เมนต์กับคิวอาร์โค้ดแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรเกี่ยวกับการใช้เงินสดซึ่งเราอาจดูแนวทางของต่างประเทศก็ได้ ที่มีการออกกฎหมายข้อบังคับให้การใช้เงินสดมีต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่อทำให้คนไม่อยากใช้ เช่น ถ้าไปทำธุรกรรมกับธนาคารต้องมีค่าใช้จ่าย ไม่ฟรีแล้ว”

    สังคมไร้เงินสดต้องพึ่งพาเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ดังนั้น รัฐต้องลงทุนทำให้เทคโนโลยีมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และเสถียรมากขึ้น เพื่อให้ระบบพร้อมใช้ตลอดเวลา นอกจากนั้น ก็ต้องทำให้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงง่าย และทั่วถึงถ้วนหน้า ซึ่งปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายการใช้อินเทอร์เน็ตของไทยยังค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับหลายประเทศ
    สุดท้าย รศ.ดร.พรอนงค์ เสนอว่า ต้องสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้ประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ที่อาจจะไม่คุ้นกับวิถีชีวิตไร้เงินสด และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ จึงต้องมีแผนรองรับตรงนี้ด้วย