วิถีข้าว วิถีไทย ... แต่จะถึงเมื่อไร?

วิถีข้าว วิถีไทย ... แต่จะถึงเมื่อไร?

วิถีข้าว วิถีไทย ... แต่จะถึงเมื่อไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เวลากลับบ้านที่ต่างจังหวัดในช่วงฤดูร้อน ผู้เขียนมักเห็นนาข้าวสีเหลืองทองอร่ามงามสุดลูกหูลูกตา เวลาแห่งการเก็บเกี่ยวใกล้เข้ามาแล้ว เห็นอย่างนี้ บางคนอาจฮัมเพลง บ้างอาจนึกถึงภาพวาดชนบทไทย หรือบางคนก็อาจนึกถึงข้าวสวยร้อนๆ กับไข่เจียว

วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับข้าวมาช้านาน เมืองไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารการกิน ตั้งแต่ยุค “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แม้ในคำทักทายของเราก็ยังถามกันว่า “กินข้าวหรือยัง” แสดงความใส่ใจในปากท้องที่เรามีให้กัน

ชาวนาไทยแต่โบราณปราดเปรื่องเรื่อง “ข้าว” เราไม่ได้มีเพียงข้าวหอมมะลิ หอมนิล เสาไห้ ไรซ์เบอรี่ สังข์หยด ฯลฯ แต่ชาวนาไทยได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวจนเกิดข้าวพันธุ์พื้นเมืองกว่า 24,000 ชนิด เช่น ข้าวลืมผัว ข้าวพญาลืมแกง ข้าวพม่าแหกคุก เป็นต้น

ข้าวมีความหมายกับเรามากจนเรายกให้ชาวนาเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” เพราะชาวนาผลิตอาหารหลักเลี้ยงผู้คน และยังมีส่วนสร้างเศรษฐกิจของประเทศด้วย เพราะข้าวยังเป็นพืชส่งออกอันดับหนึ่ง

แต่วันนี้ กระดูกสันหลังของชาติไม่ค่อยแข็งแรงนัก ชาวนาทำงานหนัก และโดยส่วนใหญ่ยังยากจน มีหนี้สิน อันเกิดจากต้นทุนการเกษตรที่สูงกว่าราคาผลผลิต ชาวนามีปัญหาสุขภาพ อันเกิดจากการใช้สารเคมีในการเกษตร เป็นต้น แม้หลายรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลืออย่างการประกันราคาข้าว หรือโครงการจำนำข้าว แต่ก็ดูเหมือนว่าจะแก้ไปไม่ถึงต้นตอของปัญหา

ยิ่งไปกว่านั้น กระดูกสันหลังของชาติเริ่มเข้าสู่วัยชรา และมีจำนวนลดลง ลูกหลานก็ไม่ได้สานต่ออาชีพเกษตรกร ที่ดินในการทำนาก็ถูกผันไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ที่รัฐสนับสนุนและชวนเชื่อว่าจะทำรายได้ให้ดีกว่า เช่น ยางพารา อ้อย ข้าวโพด มะนาว ทุเรียน เป็นต้น นอกจากนั้น การขยายตัวของเมืองและภาคอุตสาหกรรมก็ทำให้ผืนดินอันอุดมสมบูรณ์หดหายไป

อนาคตของข้าวไทยจะเป็นอย่างไร

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง หนึ่งในสิ่งที่ช่วยเชิดชูความหมายของข้าวในสังคมไทยและสร้างขวัญกำลังใจให้ชาวนา คือ พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่จัดขึ้นในช่วงเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกของทุกปี

สำหรับผู้บริโภคอย่างเรา พระราชพิธีนี้อาจไม่มีความหมายอะไรมากนัก แต่สำหรับเกษตรกรแล้ว พวกเขาเฝ้ารอคำนำทายจากพระโคที่จะกินอาหารเสี่ยงทายเรื่องดินฟ้าอากาศ เพื่อให้เตรียมการเพาะปลูกให้ดี

พวกเขาตั้งตารอ และเตรียมวิ่งกรูเข้าไปเก็บเมล็ดข้าวเปลือก ที่พระยาแรกนาหว่านลงบนพื้น เพื่อนำเมล็ดข้าวไปบูชาหรือเพาะปลูกเพื่อความเป็นสิริมงคล ตราบใดที่ยังมีพระราชพิธีนี้ ชาวนายังคงมีกำลังใจ วิถีข้าวจะยังคงอยู่ในสังคมไทย และเราก็มั่นใจได้ว่า จะยังคงมีข้าวไทยอร่อยๆ ให้ได้กิน ขอขอบคุณชาวนา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook