สุขกันเถอะเรา แต่ความสุขคืออะไร? และเราสามารถศึกษาเรื่องความสุขได้อย่างไร?

สุขกันเถอะเรา แต่ความสุขคืออะไร? และเราสามารถศึกษาเรื่องความสุขได้อย่างไร?

สุขกันเถอะเรา แต่ความสุขคืออะไร? และเราสามารถศึกษาเรื่องความสุขได้อย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“สุขกันเถอะเรา เศร้าไปทำไม อย่ามัวอาลัย คิดร้อนใจไปเปล่า เกิดมาเป็นคน อดทน เถอะเรา อย่ามัวซมเซา ทุกคนเราทนมัน”

902308

เพลงยอดนิยมจากสุนทราภรณ์ที่ชวนให้เราเห็นว่าชีวิตคนเรามีทั้งสุขและทุกข์ปนเปกัน จึงควร ทำใจยอมรับแล้วหันมามองชีวิตเชิงบวกเพื่อมีความสุขกับปัจจุบัน แต่ความสุขคืออะไร? และเราสามารถศึกษาเรื่องความสุขได้อย่างไร? ศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายความหมายของคำๆ นี้ว่า ความสุขไม่มีนิยาม ที่ชัดเจน โดยทั่วไปจะหมายถึง สภาวะของความรู้สึกที่มีความเบิกบานใจ มีความรู้สึกดี มีความพึงพอใจ ที่จะใช้ชีวิตแบบนี้ เรียกว่าเป็นองค์รวมของความรู้สึกเบิกบานใจ

“ในเชิงวิชาการ มีการถกเถียงกันมายาวนานว่า เราจะศึกษาเรื่องความสุขทำไม เพราะเป็นสภาวะสั้นๆ งานวิจัยระยะหลังที่ศึกษาเกี่ยวกับความสุขจึงศึกษาเรื่องความพึงพอใจในชีวิตไปด้วย เพราะจะครอบคลุมระดับความสุขที่เป็นภาพกว้างกว่า เช่น ถ้าเราถามว่ามีความสุขไหม คนจะคิดถึงว่าชีวิตช่วงนี้เป็นอย่างไร แต่ถ้าถามความพึงพอใจในชีวิต คนก็จะเริ่มประมวลในภาพรวม ไม่ใช่เฉพาะวันนี้”

ศ.ดร.ปังปอนด์ เล่าว่างานวิจัยเกี่ยวกับความสุขแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับมหภาค ศึกษาว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหรือมี GDP สูง จะมีความสุขมากกว่าประเทศที่ยังไม่พัฒนาหรือไม่ จากการศึกษาพบว่าระดับความสุขไม่แตกต่างกัน บางประเทศมี GDP สูงขึ้น คนมีความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีความสุขมากขึ้น หรือประเทศยากจนก็ไม่ได้มีความสุขน้อยกว่าประเทศที่ร่ำรวยเสมอไป จึงเป็นที่มาของการศึกษาในระดับจุลภาคว่า ปัจจัยใดที่ทำให้คนมีความสุข ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

istock-805225106

ด้วยเหตุนี้ เมื่อองค์การสหประชาชาติ (United Nations) กำหนด “วันความสุขสากล” (ทุกวันที่ 20 มีนาคม) เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสุขอันเป็นเป้าหมายพื้นฐานของมนุษยชน ประเด็นเรื่องความสุขก็ได้รับความสนใจศึกษาในวงวิชาการระดับนานาชาติ สำหรับประเทศไทย ศ.ดร.ปังปอนด์ ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขของคนไทยมากว่า 10 ปี อธิบายถึงความเชื่อและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อระดับความสุขของคนไทย

“ประเด็นที่มีถกเถียงกันมากว่า เป็นโสดหรือแต่งงานจะมีความสุขมากกว่ากัน จากการวิจัยพบว่า ระหว่างคนโสดกับคนที่แต่งงานแล้วอยู่ด้วยกันมีระดับความสุขไม่แตกต่างกัน ซึ่งอธิบายได้ว่า คนโสดจะมีเวลาว่างที่จะทำในสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขมากกว่า ขณะที่คนที่แต่งงานแล้วก็จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างในแง่ปัจจัยครอบครัวมากกว่าคนโสด จึงเป็นปัจจัยที่ทดแทนกันไป แต่ในด้านความพึงพอใจในชีวิต คนแต่งงานแล้วจะมีมากกว่าคนโสด อย่างไรก็ดี สองกลุ่มนี้มีความสุขกว่าคนที่เป็นหม้ายหรือแต่งงานแล้วแยกกันอยู่”

แล้วจริงหรือไม่ที่ว่า “คนชนบทใช้ชีวิตเรียบง่ายมีความสุขมากกว่าคนเมือง” ศ.ดร.ปังปอนด์ อธิบายว่า ระดับความสุขของคนเมืองและคนชนบทไม่มีความแตกต่างกันมากนัก คนชนบทอาจมีความสบายกาย ด้านสุขภาพและเศรษฐกิจที่สู้คนเมืองไม่ได้ ขณะที่คนเมืองมีความแออัด ความเครียดจากการทำงานมาก จึงทดแทนกันไป แต่ความแตกต่างอยู่ที่คนชนบทมีความสบายใจและความพึงพอใจในชีวิตมากกว่าคนเมือง ซึ่งอาจเกิดจากความแตกต่างของสภาพที่อยู่ที่ทำให้ปฏิสัมพันธ์ของคนเมืองไม่แน่นแฟ้นเท่าคนชนบท

ปัจจัยเรื่องรายได้ ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการมีความสุข กรณีในประเทศไทยพบว่า คนที่มีฐานะหรือรายได้มากกว่าจะมีความสุขมากกว่า แต่อาจไม่มีผลต่อด้านความพึงพอใจในชีวิต นอกจากเงินแล้ว ต้นทุนทางสังคมของแต่ละบุคคลก็เป็นปัจจัยแห่งความสุขด้วยเช่นกัน อาทิ ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อบุคคล และความปลอดภัยในสังคม ถ้าชุมชนไหนไม่มีความปลอดภัย คนก็จะบอกว่าไม่มีความสุข นอกจากนี้ยังพบว่าครอบครัวมีผลต่อระดับความสุข ถ้าเราอยู่ในครอบครัวที่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวมีความสุข ตัวเองก็จะมีความสุขไปด้วย

istock-802531406

“ตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความสัมพันธ์หรือความอบอุ่นในครอบครัวแต่หมายถึงถ้าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมของครอบครัวที่มีคนในครอบครัวมีความสุขดี เราก็จะมีความสุขไปด้วย หรือถ้าเราอยู่ในสังคมที่หลายๆ คนในสังคมมีความสุข เราก็จะมีความสุขด้วย ซึ่งก็คือสังคมที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันและมีความปลอดภัยนั่นเอง” ศ.ดร.ปังปอนด์ กล่าวเสริม

ศ.ดร.ปังปอนด์ ให้ข้อเสนอเกี่ยวนโยบายสำหรับภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาเรื่องความสุขว่า “ระดับความสุขของคนไทยยังขึ้นอยู่กับรายได้ ดังนั้น อันดับแรกคือต้องพัฒนาเศรษฐกิจ คนไทยจะมีความสุขมากขึ้นแน่นอน เพราะเรายังเป็นประเทศกำลังพัฒนา รายได้จะทำให้คนอยู่ดีมีสุขมากขึ้น มีความสะดวกสบายในชีวิต เข้าถึงสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งทั้งหมดมาจากเศรษฐกิจ”

“นอกจากนี้ มีการศึกษาพบว่า คนอายุน้อยจะมีความสุขดี คนที่ความสุขน้อยที่สุดคือวัยทำงาน และเริ่มมีความสุขมากขึ้นตอนวัยเกษียณ ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ค้นพบชัดเจนทั่วโลก ที่คนวัยแรงงาน มักไม่ค่อยมีความสุขในการทำงาน รัฐจึงควรมีนโยบายที่ช่วยลดความเครียดของคนทำงานด้วยเช่นกัน”

สุดท้าย ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุที่มีการศึกษาสูง แต่งงานแล้วอยู่ด้วยกันกับคู่ครอง มีการอยู่อาศัยที่พึ่งพาได้จะมีความสุขมากกว่า รัฐจึงควรส่งเสริมเรื่องการศึกษา และมอบโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ รวมทั้งส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็งมากขึ้น

“แต่ที่สำคัญที่สุด คือเรื่องสุขภาพ เพราะคนที่สุขภาพดี ย่อมมีความสุขกว่าอย่างแน่นอน” ศ.ดร.ปังปอนด์ สรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook