วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ.คว้า2 รางวัลฟอร์มูล่าวัน สร้างบัณฑิตคุณภาพสู่อุตสาหกรรมรถยนต์

วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ.คว้า2 รางวัลฟอร์มูล่าวัน สร้างบัณฑิตคุณภาพสู่อุตสาหกรรมรถยนต์

วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ.คว้า2 รางวัลฟอร์มูล่าวัน สร้างบัณฑิตคุณภาพสู่อุตสาหกรรมรถยนต์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแข่งขัน Formula Student “15th TSAE Auto Challene 2019 Student Formula” ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดโดยสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย (สวยท) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะทางวิศวกรรมยานยนต์ เสริมสร้างนักศึกษาและบุคลากรทางด้านยานยนต์ สนับสนุนการออกแบบ การสร้างยานยนต์และการจัดการอย่างครบวงจร ภายใต้กติกาที่เป็นมาตรฐานสากลที่กำหนดโดย SAE (Society of Automotive Engineer) ซึ่งใช้แข่งขันทั่วโลก แต่การแข่งขันในรูปแบบนี้ไม่ใช่เพื่อการแข่งขันความเร็วของรถเท่านั้น เริ่มตั้งแต่การเขียนรายงานแผนธุรกิจที่ต้องเข้าใจและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้ทีมงานได้เรียนรู้ถึงวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ในเชิงลึก ในขั้นตอนของการออกแบบที่ต้องมีคอนเซ็ปท์ และมีทฤษฎีที่รองรับในด้านของความปลอดภัย ทั้งในส่วนของโครงสร้าง เครื่องยนต์ ช่วงล่าง ซึ่งแต่ละทีม ต้องสามารถสื่อถึงจุดขายของตัวเองได้อย่างชัดเจน ตลอดจนการนำเสนอเพื่อการต่อยอดในเชิงธุรกิจ

fml(3)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัมปนาท เทียนน้อย รองคณบดีฝ่ายส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า “วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทีม Alternative8 ปีนี้สามารถคว้ามาได้ถึง 2 รางวัล ได้แก่ รองชนะเลิศอันดับ2 Best Improvement และ Best Efficiency ทีมนักศึกษามจพ.จุดเด่นอย่างแรกคือเรามีการสืบทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และนอกจากนี้นักศึกษามีความพยามตั้งใจมีความเป็นทีม ซึ่งรถในปีนี้มีการออกแบบที่ใช้หลักวิศวกรรมที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการออกแบบเยอะขึ้น ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทีมปีนี้ค่อนข้างจะดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด แต่รูปแบบในการทำงานของผมนั้นผมจะไม่ชี้นำเขาว่าต้องทำอย่างไรแต่ผมจะปล่อยให้นักศึกษาออกแบบพัฒนามาเองแล้วถ้าเกิดปัญหาให้นักศึกษาช่วยกันแก้ไขปัญหาก่อนอันนี้คือรูปแบบในการทำงานของผม สิ่งเหล่านี้จะทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ที่จะสร้างรถคันนี้ขึ้นมาเองอย่างมีประสิทธิภาพ”

fml(1)

นายวัชรินทร์ พัวเพชร (น้องบาย) นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมยานยนต์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เล่าว่า “ผมทำหน้าที่ออกแบบช่วงล่างของทีม Alternative8 โดยจะใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากชั่วโมงเรียนมาออกแบบซึ่งในทีมออกแบบก็มีหลากหลายคนและหลากหลายความคิดเวลาจะหาข้อสรุปทุกคนที่ออกแบบก็จะนำผลงานของตัวเองมาแสดงพร้อมกับอธิบายให้เพื่อนๆ ในกลุ่มเข้าใจรวมถึงต้องนำทฤษฏีที่เรียนมาอ้างอิงเพื่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในสิ่งที่เราทำมากขึ้นเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุด จากการแข่งขันครั้งนี้ได้ฝึกกระบวนการทางความคิดของตัวเองได้รู้จักการลำดับความคิดว่าเวลาเราทำอะไรควรทำเป็นลำดับขั้นตอนไม่ควรทำงานข้ามขั้นตอน ได้รู้จักการเรียนรู้วิธีการทำงานเป็นทีมว่าเราควรฟังความคิดเห็นกับผู้อื่นด้วยไม่ใช่เอาแต่ความคิดของเราเป็นส่วนใหญ่ สิ่งสำคัญก็คือได้ใช้องค์ความรู้ที่เรียนมาเราได้นำมาใช้งานจริงทั้งหมดและมันทำให้เราเข้าใจมากขึ้นดีกว่าการที่เราเรียนแค่ทฤษฏีอย่างเดียว”

นางสาวพิชญา ลาภาชนะเวชสกุล (น้องนิว) หัวหน้าทีม Alternative8 สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมยานยนต์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยว่า “ในฐานะหัวหน้าทีมอันดับแรกเลยคือเราต้องแบ่งหน้าที่ ติดตามงาน ดูแลงานทุกอย่าง การที่เราเป็นหัวหน้าทีมเราอาจจะไม่ได้เก่งในเรื่องช่างเหมือนเพื่อนหรือว่าเก่งเรื่องการคำนวณต่างๆ แต่ที่เราทำได้ดีคือในเรื่องของการเตรียมเอกสารการนำเสนอต่างๆ ได้นำวิชาที่ได้จากการออกแบบมาออกแบบตัวรถเพราะรถเรานั้นต้องเริ่มทำตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือการออกแบบ ดีใจมากที่การแข่งขันครั้งนี้ได้รับรางวัลBest improvement และ Best efficiency ทีมพวกเราทำรถใช้เวลา 1 ปี ใส่ความตั้งใจ ความใส่ใจ และความพยายามในการทำรถเพราะว่าเราต้องเสียสละเวลาเพื่อเอาเวลาว่างมาทำ ในส่วนของคะแนนที่ต้องพัฒนาการนำเสนอ ก็อยากจะให้น้องๆรุ่นต่อไปฝึกทักษะการนำเสนอให้มากขึ้น กล้าที่จะพูด กล้าที่จะแสดงออกให้มากกว่ารุ่นที่เราทำอยู่เพื่อที่จะได้ดึงคะแนนตรงนั้นกลับมาให้มันดีกว่ารุ่นของเรา”

นายรชศิน ธรรมจารีรักษ์ (นอร์ท) สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมยานยนต์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า “การแข่งขันครั้งนี้ผมได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม แต่โดยปกติแล้วพวกเราเรียนอยู่ปี 4 ก็ต้องมีการเรียนและทำโปรเจคอื่นๆ ควบคู่ไปกับการแข่งขันในครั้งนี้มันก็ทำให้เรารู้จักการจัดการเวลาให้กับตัวเองทำให้เราบริหารเวลาเป็นไม่ทำให้เราเสียเวลาไปสูญเปล่าในแต่ละวัน ในส่วนของตัวรถปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราคิดว่าที่เราออกแบบมามันดีแล้วแต่ในหลักความเป็นจริงมันไม่สามารถใช้งานได้ตามที่เราออกแบบ บางสิ่งบางอย่างไม่สามารถทำตามทฤษฏีได้เพราะในความเป็นจริงบนสนามเราไม่สามารถทราบได้ว่ามันจะมีก้อนหินกี่ก้อนบนพื้น ดังนั้นการทำรถเราต้องทดลองซ้ำมีการปรับแก้หลายครั้งสิ่งที่เราต้องมีเลยคือความอดทน อยากให้น้องๆ มีความคิดเป็นของตัวเองและอยากทำรถ สามารถเอาประสบการณ์ของรุ่นพี่ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันมาเป็นหลักก่อนเพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานให้ตัวเราเอง น้องจะได้นำประสบการณ์ตรงนั้นมาพัฒนาตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือสนับสนุนนักศึกษาให้เข้าร่วมการแข่งขัน formula student เพื่อสร้างทักษะในเรื่องของกระบวนการในการสร้างรถทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนรถออกมาเสร็จสมบูรณ์ โดยกระบวนการทั้งหมดในการทำรถที่จะเข้าแข่งขันนั้นจะผ่านการสร้างด้วยมือของมนุษย์ทั้งหมดที่สำคัญในการแข่งขันนั้นนักศึกษาต้องสร้างเองทั้งหมด เมื่อจบการศึกษาได้เข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ นักศึกษาก็สามารถที่จะลงมือทำงานจริงได้ทันทีและสามารถทำได้ทุกหน้าที่ที่เกี่ยวกับการสร้างรถทั้งหมดโดยที่ไม่ต้องเสียเวลาในการเริ่มเรียนรู้ใหม่ในเบื้องต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook