พ่อแม่ต้องรู้ สนามสอบต่างๆ ที่เด็ก ม.ปลาย ต้องเผชิญก่อนเข้ามหาวิทยาลัย

พ่อแม่ต้องรู้ สนามสอบต่างๆ ที่เด็ก ม.ปลาย ต้องเผชิญก่อนเข้ามหาวิทยาลัย

พ่อแม่ต้องรู้ สนามสอบต่างๆ ที่เด็ก ม.ปลาย ต้องเผชิญก่อนเข้ามหาวิทยาลัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณพ่อคุณแม่ คือ ตัวแปรสำคัญของชีวิตเด็ก ม.6 เพราะเป็นแรงผลักดันและแรงกดดันหลักของน้องๆ เลยก็ว่าได้ ซึ่งการที่มีคุณพ่อคุณแม่คอยให้กำลังใจ สนับสนุน และอยู่ข้างๆ เสมอ จะช่วยให้เหล่านักพิชิตฝันวัยใส สามารถไปสู่จุดหมายได้สำเร็จ

แต่ก่อนอื่น คุณพ่อคุณแม่ต้องทราบกันก่อนว่าน้องๆ ม.ปลาย จำเป็นต้องสอบสนามไหนบ้าง เพื่อนำคะแนนไปยื่นสมัครเข้าคณะ และมหาวิทยาลัยที่ต้องการในระบบ TCAS และสนามไหนสำคัญต้องสอบได้คะแนนปังๆ สำหรับพิชิตคณะที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ต้องการ เพื่อสนับสนุนพวกเขาได้อย่างเต็มที่ วันนี้กัมบัตเตะมาแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ทราบกันจ้า

สอบกลางภาค และสอบปลายภาค

เพื่อให้มีผลการเรียนที่ดี สำหรับยื่นสมัครเข้าคณะ และมหาวิทยาลัยที่ต้องการในระบบ TCAS การสอบกลางภาค และสอบปลายภาคสำคัญมากเลยทีเดียว ดังนั้น ผลการเรียนในโรงเรียนก็สำคัญไม่แพ้การสอบสนามต่างๆ เช่นกัน

Pre-Test

องค์กรหรือสถาบันต่างๆ จะมีการจัดน้องๆ ได้ทดลองทำข้อสอบก่อนไปสอบสนามจริง ถือว่าเป็นโอกาสดีๆ ที่น้องๆ ได้ทำความคุ้นเคยกับข้อสอบ เวลาสอบ สนามสอบ และการได้ลองทำข้อสอบ จะทราบว่าคะแนนวิชาไหนยังอ่อนอยู่ เพื่อกลับมาวางแผนติวต่อ นอกจากนี้บางโรงเรียนน้องๆ ที่ได้คะแนนสูงสุดอาจได้รับรางวัลอีกด้วยล่ะ

Portfolio

ระบบ TCAS รอบแรก คือ การยื่นสมัครด้วย Portfolio น้องๆ ที่มีผลงานด้านต่างๆ ทั้งการแสดง กิจกรรมสร้างสรรค์ การออกแบบ ศิลปะ และการดนตรี สามารถนำผลงานมาใช้ยื่นสมัครเข้าคณะ และมหาวิทยาลัยที่เปิดรับ คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมสนับสนุนให้น้องๆ เข้าร่วมกิจกรรม โครงการต่างๆ หรือการประกวดแข่งขัน จะยิ่งช่วยให้น้องๆ มีผลงานโชว์ใน Portfolio มากขึ้น

โควตา

โอกาสสำหรับน้องๆ นักกิจกรรม นักกีฬา มหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีการเปิดรับรอบโควตา เพื่อคัดเลือกน้องๆ ที่มีแววโดดเด่น เช่น น้องๆ ที่เคยไปแข่งขันวิชาการ และได้รับรางวัล หรือน้องๆ นักกีฬาของโรงเรียน เป็นต้น โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถติดตามที่ได้ฝ่ายแนะแนวของโรงเรียนได้เลย

GAT (General Aptitude Test)

การสอบวัดความถนัดทั่วไป เป็นส่วนหนึ่งของคะแนนที่ใช้ยื่นสมัครเข้าคณะ และมหาวิทยาลัย รูปแบบข้อสอบจะมีทั้งปรนัยและอัตนัย คะแนนเต็ม 300 คะแนน

แบ่งข้อสอบออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  • ส่วนที่ 1 การอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ หรือที่เรียกกันว่า GAT เชื่อมโยง ส่วนนี้มีคะแนน 150 คะแนน
  • ส่วนที่ 2 ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ หรือที่เรียกกันว่า GAT อังกฤษ ส่วนนี้มีคะแนน 150 คะแนน

PAT (Professional and Academic Aptitude Test)

การสอบวัดความถนัดเฉพาะทางวิชาการและวิชาชีพ เป็นส่วนหนึ่งของคะแนนที่ใช้ยื่นสมัครเข้าคณะ และมหาวิทยาลัย โดยต้องเช็คก่อนได้ว่าคณะที่สมัคร ต้องการคะแนนสอบใดบ้าง เพราะแต่ละคณะมีการเรียกใช้คะแนนสอบแตกต่างกันตามวิชาชีพ โดยรูปแบบ

ข้อสอบจะมีทั้งปรนัยและอัตนัย คะแนนเต็มวิชาละ 300 คะแนน แบ่งออกเป็น 7 ฉบับ 13 ความถนัด ให้น้องๆเลือกสอบได้แก่

  • PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์
  • PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์
  • PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์
  • PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์
  • PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู
  • PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์
  • PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ แบ่งย่อยเป็น ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส, ภาษาเยอรมัน, ภาษาจีน, ภาษาญี่ปุ่น, ภาษาอารบิก และ ภาษาบาลี

O-NET (Ordinary National Education Test)

การสอบวัดพื้นฐานความรู้ที่ได้จากการเรียนในแต่ละช่วงชั้น การสอบนี้มีไว้สำหรับนักเรียนในชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะใช้คะแนนในส่วนนี้ในการประเมินมาตรฐานของโรงเรียนอีกด้วย สำหรับน้องๆ ม.6 คะแนน O-NET เป็นส่วนหนึ่งของคะแนนที่ใช้ยื่นสมัครเข้าคณะ และมหาวิทยาลัย รวมถึงยังมีการตัดเกรดโดยใช้คะแนน O-NET ร่วมด้วย และที่สำคัญการสอบ O-NET ของน้องๆ ม.6 มีเพียงแค่ครั้งเดียว ไม่มีแก้ตัว ดังนั้น น้องๆ จึงต้องทำให้เต็มที่และดีที่สุดข้อสอบ O-NET ประกอบด้วย 8 วิชา 6 ฉบับ ในแต่ละวิชาจะมีคะแนนเต็มวิชาละ 100 คะแนน ได้แก่

  • ฉบับที่ 1 วิชาภาษาไทย
  • ฉบับที่ 2 วิชาสังคมศึกษา
  • ฉบับที่ 3 วิชาภาษาอังกฤษ
  • ฉบับที่ 4 วิชาคณิตศาสตร์
  • ฉบับที่ 5 วิชาวิทยาศาสตร์
  • ฉบับที่ 6 มี 3 วิชา ได้แก่ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา, วิชาศิลปะ, วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี

โดยวิชาที่นำมาคิดคำนวณคะแนนแอดมิชชั่นจะใช้เพียง 5 วิชาเท่านั้น

วิชาเฉพาะแพทย์

สำหรับน้องๆ ที่ต้องการเรียนต่อในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ ต้องใช้สัดส่วนคะแนนของวิชาเฉพาะ กสพท. ถือเป็นวิชาที่มีค่าน้ำหนักสูงที่สุด น้องๆ จึงต้องวางแผนและเตรียมตัวให้ดี โดยโครงการ กสพท. เข้าร่วมกับระบบ TCAS ในรอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน ใช้เป็นสัดส่วนน้ำหนักคะแนน 30% ประกอบด้วย 3 PART ดังนี้

  • PART 1 เชาว์ปัญญา ลักษณะข้อสอบจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอนุกรมและการทดสอบเชาว์ กลุ่มมิติสัมพันธ์ กลุ่ม MATH ม. ต้น + ม. ปลาย ทั่วไป
  • PART 2 จริยธรรมทางการแพทย์ ซึ่งไม่มีสอนในห้องเรียน
  • PART 3 ความคิดเชื่อมโยง จะคล้าย ๆ กับ GAT เชื่อมโยง แต่จะมีความยาก-ซับซ้อนมาก

วิชาสามัญ

การสอบกลางที่ออกโดย สทศ. ไว้ใช้สำหรับยื่นผลคะแนนสมัครในรูปแบบรับตรงเท่านั้น ขึ้นอยู่กับน้องๆ ว่าสนใจจะสมัครผ่านรูปแบบไหน และสาขา/คณะ/มหาวิทยาลัยนั้นใช้คะแนนสอบอะไรบ้างเป็นเกณฑ์ โดยประกอบไปด้วย 9 วิชา คะแนนเต็มวิชาละ 100 คะแนน มีวิชาให้เลือกสอบดังนี้

  • ภาษาอังกฤษ
  • ภาษาไทย
  • สังคมศึกษา
  • คณิตศาสตร์ 1 (พื้นฐาน และ เพิ่มเติม)
  • ฟิสิกส์
  • เคมี
  • ชีววิทยา
  • คณิตศาสตร์ 2 (พื้นฐาน)
  • วิทยาศาสตร์ทั่วไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook