หนี้กยศ. สะท้อนวินัยทางการเงินของคนยุคนี้

หนี้กยศ. สะท้อนวินัยทางการเงินของคนยุคนี้

หนี้กยศ. สะท้อนวินัยทางการเงินของคนยุคนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การศึกษาจะช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับไม่ได้พัฒนาความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัวผู้กู้ยืมเลย

istock-695147934

ตัวเลขหนี้ค้างชำระของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ (กยศ.) ในเมืองไทยนั้นมียอดเกือบ 70,000 ล้านบาทซึ่งจำนวนผู้กู้ที่ผิดนัดการชำระหนี้มีจำนวนถึง 2.1 ล้านคน นับเป็นปัญหาที่กำลังจะลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เงินกู้เพื่อการศึกษานั้นมีขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้มีโอกาสเรียน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า การศึกษาจะช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับไม่ได้พัฒนาความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัวผู้กู้ยืมเลย แล้วสาเหตุที่ผู้กู้ไม่ยอมชำระหนี้กับ กยศ. นั้นพวกเขาเอาเหตุผลใดมากล่าวอ้างบ้างมาดูกัน

หางานทำไม่ได้

ข้อแรกนี้เป็นเหตุผลที่เรียกว่ายอดนิยมในเว็บบอร์ดชื่อดัง แม้ว่าการผ่อนผันการชำระหนี้ของกยศ,หลังจบการศึกษาจะมีเวลาให้ถึง 2 ปีเป็นระยะเวลาปลอดหนี้ โดยไม่ถูกคิดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เรียกว่านานพอสมควรสำหรับคนที่หางานทำ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การหางานอย่างมากที่สุดควรใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ถ้ามากกว่านั้นอาจจะต้องหันกลับมาพิจารณาตนเองว่าเลือกงานมากเกินไปหรือไม่ หรือ ใช้ความพยายามในการหางานไม่เพียงพอ หรือ มีทักษะบางอย่างที่ควรฝึกเพิ่มเพื่อให้ได้งานทำ

หลายคนให้เหตุผลที่หางานทำไม่ได้ว่าเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจ ที่ค่อนข้างซบเซา แต่เอาเข้าจริงแล้วการรับสมัครพนักงานที่เป็นบัณฑิตจบใหม่นั้น ยังเปิดโอกาสในหลายสถานที่ หากไม่เลือกงานก็ยังมีโอกาสรออยู่แต่เหนืออื่นใดการมองหางานควรดูที่ข้อจำกัดที่ตนเองมีอยู่ เพราะการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษานั้นเพื่อยกระดับชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น ดังนั้นควรใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างโอกาสและรายได้ให้กับตนเอง ไม่ใช่ใช้เป็นข้ออ้างในการเลือกงาน

หางานได้แล้วแต่มีปัญหาค่าครองชีพ

ข้อที่สองนี้เรียกได้ว่าเชื่อมโยงมาจากข้อที่หนึ่ง คือ กู้ยืม กยศ. จนกระทั่งเรียนจบแล้วหางานทำได้แล้ว แต่ให้เหตุผลที่ไม่ชำระหนี้ เพราะเงินเดือนที่ได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทาง กยศ. มีข้อบังคับที่ไม่ได้กดดันลูกหนี้กยศ. เท่าไรเลย เพราะสามารถขอผ่อนผันได้กรณีที่ยังไม่มีรายได้ หรือ ทำงานมาแล้วตกงาน

การขอผ่อนผันการชำระหนี้สามารถทำได้แต่จะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ทางกองทุนฯ กำหนดไว้ หรือถ้าผู้กู้ยืมมีรายได้น้อยต่ำกว่าเดือนละ 4,700 บาท ผู้กู้ยืมสามารถผ่อนชำระได้ไม่ต่ำกว่า 300 บาทต่อเดือน หรือ 2,400 บาทต่อปีได้ แต่การขอผ่อนผันนั้นต้องมีการทำเรื่องขอผ่อนผัน ซึ่งสามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.studentloan.or.th

กู้ยืมเงินมาแล้วเรียนไม่จบ

เหตุผลข้อนี้เรียกว่าฮอตฮิตไม่แพ้ข้อแรก เพราะมีหลายคนคิดว่า กู้เงินกยศ. มาเรียนแล้วถ้าเรียนไม่จบก็ไม่ต้องคืน แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ต้องคืน” เพราะคุณกู้เงินเขามาแล้ว และข้อกำหนดไว้ด้วยสำหรับนักเรียน นักศึกษา พ้นสภาพการเป็นนักเรียน นักศึกษา สถานศึกษาจะต้องปฏิบัติอย่างไร

โดยขั้นแรกนั้นสถานศึกษามีหน้าที่ต้องรายงานการพ้นสภาพการเป็นนักเรียน นักศึกษา โดยใช้แบบฟอร์ม กยศ. 109 จัดส่งให้ ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม (บมจ. ธนาคารกรุงไทย / ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย) ภายใน 15 วันนับแต่วันที่พ้นสภาพ หากสถานศึกษาไม่ได้ส่งให้ ทางผู้กู้ที่เป็นนักศึกษาต้องแจ้งให้สถานศึกษาดำเนินเรื่องให้เรียบร้อย เพราะถ้าคุณละเลย จะเจอกับหนี้ก้อนใหญ่ที่มาพร้อมกับหมายศาล เมื่อมีการแจ้งพ้นสภาพการเป็นนักเรียน นักศึกษาตามข้อกำหนดเรียบร้อย ทางผู้กู้จะต้องติดต่อไปทางกองทุนฯ เพื่อขอทราบหลักเกณฑ์ในการชำระหนี้ และ ถ้ายังไม่มีเงินชำระหนี้ก็ควรจะทำเรื่องขอผ่อนผันในคราวเดียวกันไป

มีความเชื่อผิดๆ เรื่องการชำระหนี้

กรณีล่าสุดของคุณครูที่ค้ำประกันให้กับลูกศิษย์กว่า 20 คน หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ใช้ตำแหน่งทางราชการในการค้ำประกันให้กับ ผู้ที่เข้ามาขอกู้ยืมเพื่อการศึกษา ต้องประสบสภาพ “กรรมของนายประกัน” เพราะมีผู้กู้ยืมหลายคนที่ไม่ยอมชดใช้หนี้ เนื่องจากมีความเข้าใจผิดว่า กยศ. เป็นเงินที่ทางภาครัฐจัดสรรให้ จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ หรือ มีรุ่นพี่ที่กู้เงินกยศ. รุ่นแรกๆที่ไม่ยอมใช้หนี้ขณะที่ทาง กยศ. ไม่สามารถติดตามทวงได้กลุ่มคนเหล่านี้ไปสร้างความเชื่อผิดๆให้กับรุ่นน้องว่าไม่ต้องใช้หนี้กยศ. เพราะกยศ. ไม่ใช่สถาบันการเงินทำให้การกู้ยืมนั้นไม่มีบันทึกในเครดิตบูโร หลายคนทั้งที่ยังเป็นหนี้กยศ. อยู่จึงสามารถซื้อบ้าน ซื้อรถได้หน้าตาเฉย แต่ไม่ยอมใช้หนี้

แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อมีการทำสัญญาระหว่างเจ้าหนี้ กับลูกหนี้ ก็จะมีข้อบังคับทางกฎหมายทันที ดังนั้น หลายคนจึงตกใจที่เจอหมายศาลมาติดหน้าบ้าน เพราะไม่ยอมใช้หนี้กยศ. หรือ ผู้ค้ำประกันหลายคนต้องมารับภาระเพราะลูกหนี้ไม่ยอมใช้หนี้ ดังนั้นหยุดสร้างความเชื่อแบบผิดให้กับผู้ที่ใช้เงิน กยศ. ในการเรียนกันเสียที และ ขอให้จำไว้ว่า เป็นหนี้ก็ต้องชำระคืน

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ใช้กันบ่อยเมื่อถูกทวงถามว่าทำไมไม่ใช้หนี้ กยศ. ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กยศ. นั้นเป็นกองทุนที่เรียกได้ว่า ให้โอกาสและความชอบธรรมแก่ผู้กู้ยืมเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสถาบันการเงินทั่วไป ระยะเวลาปลอดหนี้ถึงสองปีที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของกองทุน และยาวไปจนถึงการผ่อนผันในการชำระหนี้ กรณีที่ผู้กู้ไม่มีงานทำ หรือ เสียชีวิต ถ้าคุณเป็นลูกหนี้ที่ดี และ รู้ว่ายืมเงินเขามาก็ต้องใช้ คุณจะรู้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการคืนเงินกู้ให้กับ กยศ. เพียงอย่างเดียว แต่มันหมายถึงวินัยทางการเงิน ที่คุณแสดงให้เห็นว่าได้รับการพัฒนาแล้ว จากการศึกษาที่คุณยืมเงินจาก กยศ. ไปลงทุนให้กับอนาคตของตนเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook