เปิดความคิดคนรุ่นใหม่ อุ้ม MBK39 กับการต่อสู้ทางการเมืองสุดแนว

เปิดความคิดคนรุ่นใหม่ อุ้ม MBK39 กับการต่อสู้ทางการเมืองสุดแนว

เปิดความคิดคนรุ่นใหม่ อุ้ม MBK39 กับการต่อสู้ทางการเมืองสุดแนว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

154544

ท่ามกลางความสิ้นหวังของใครหลายคน การประกาศจุดยืนของ ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ เมื่อปลายเดือนมกราคม มาจนถึงการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองทางเลือกในวันนี้ บทบาทของคนรุ่นใหม่เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้นอีกครั้ง

วอยซ์ ออนไลน์ ชวนคุยกับ อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ หรือ ‘อุ้ม MBK39’ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทุ่มเทให้กับการเรียนและละครที่เธอรักเพื่อเยียวยาอาการอกหักจากการพยายามเปลี่ยนแปลงสังคม กระทั่งชีวิตมาถึงจุดเปลี่ยนหลังจากได้พาตัวเองไปอยู่บนสกายวอล์ค แยกปทุมวันในช่วงเย็นของวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา แล้วจู่ ๆ ก็กลายเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนมาตรา 7 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เพียงแค่เธอ‘ไปดูว่าเขาทำอะไรกันเฉยๆ เพราะเพื่อนชวน’

ก่อนหน้านี้ในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2557 อุ้มเป็นหนึ่งในผู้ร่วมคัดค้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

แต่ผลพวงจากการถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างเธอไม่อยากจากบ้านไปไกล

Voice Online : ผลลัพธ์จากความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมาในสังคมไทย มองว่ามีผลกระทบต่อการเติบโตทางความคิดของคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง

อุ้ม MBK39 : เราโตมากับยุคหลัง 2549 มันไม่ได้มีความคิดเซ็ตเดียวกันกับคนที่โตมาช่วง 2500 อยู่แล้ว ตลอดสิบปีที่ผ่านมา อย่างช่วงปี 2549 เราก็อาจจะพูดได้ว่าเราเป็นผลลัพธ์ของมัน เพราะว่าช่วงนั้นเราอายุประมาณสิบขวบ เป็นวัยประถม ช่วงเวลาที่ครูและโรงเรียนมีอิทธิพลต่อเรามาก ยังไม่ถึงวัยที่จะเกิดการตั้งคำถาม มันก็เลยกลายเป็นว่า ไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ตาม เราคือคนรับผล ทั้งนโยบายและทัศนคติทางการเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดมาก เหลือง-แดง เป็นอะไรที่ชัดเจนที่สุดว่าแดงแบบนี้ เหลืองแบบนั้น และจะต้องไม่ถูกกัน สิบปีผ่านไปคนรุ่นเราก็ยังมีวาทกรรมเหลืองแดงติดอยู่ลึกๆ ถึงเราจะไม่พูดออกมา แต่มันก็ปฏิเสธไม่ได้

ทีนี้เราก็โตขึ้นและความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังไม่หยุด (ขำ) วนลูปใหม่เข้ามาเรื่อยๆ พอลูปปี 2557 เนี่ยเราไม่ใช่ผลลัพธ์แล้ว มันมากกว่านั้นเพราะเราอยู่ในเหตุการณ์เต็มๆ เลย หลายคนอาจจะพูดว่าเราไม่สนใจการเมือง เราไม่ชอบการเมือง ไม่อยากยุ่งกับการเมือง แต่คุณก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ยิ่งพอเราอยู่ในช่วงที่คิดวิเคราะห์ได้ เราก็จะเริ่มสนใจสิ่งต่างๆ มากขึ้น ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นทำให้ตัวเราได้เรียนรู้ด้วยว่าที่ผ่านมามันเกิดอะไรขึ้น ความเชื่อที่เรามีมา สำหรับหลายคนอาจจะถูกสั่นคลอน แต่จุดสำคัญคือมันเป็นจุดที่เราได้เรียนรู้นะว่ามันเกิดอะไรขึ้น และทำไมมันจึงเกิดขึ้น จากที่เคยเป็นเพียงผลลัพธ์ของความขัดแย้ง ตอนนี้เราก็กลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องแก้ปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วล่ะ เพราะสุดท้ายปัญหาที่เกิดขึ้นมันจะเกิดต่อไปไหม ก็อยู่ที่ตัวเราด้วย

 aw1hz2uvmjaxoc0wmy82njy4zmiwn

Voice Online : มองวิธีการต่อสู้ทางการเมืองของตัวเองในช่วงที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง

อุ้ม MBK39 : เพื่อนเคยถามว่า ที่หนีไปทำละครเพราะเบื่อการเมืองหรือเปล่า เราก็เลยตอบไปว่าไม่ได้เบื่อการเมือง แค่เบื่อสภาพแวดล้อมในกลุ่มการเมืองที่เราอยู่

ปัญหานี้คนอาจจะไม่ได้พูดถึงเท่าไหร่ แต่เราคิดว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมาก พอเราใจร้อน เราจะมองแค่ว่ากระบวนการไหนรวดเร็วที่สุดที่จะได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ จนบางทีก็อาจจะใช้วิธีที่ไม่ได้เหมาะสมกับคนที่เราต้องการให้เขาเข้าใจเรา สุดท้ายความเป็นมนุษย์อาจเป็นสิ่งที่เราหลงลืมไป มันไม่มีความรู้สึกร่วมกัน ความรู้สึกว่าเราจะไปด้วยกันในฐานะมนุษย์เลย เรากลายเป็นแค่เครื่องจักรที่ผลิตๆ เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายอย่างรวดเร็วที่สุด แต่พอมองย้อนกลับมามันมีหลายอย่างมากที่หายไป เพราะเรามัวแต่คิดว่าผลลัพธ์มันต้องเป็นแบบนี้ตามที่เราฝันไว้ โดยเราไม่ได้คำนึกถึงจิตใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองว่าคนอื่นๆ เขาต้องเจอกับอะไรบ้าง โอเค เราอาจจะตอบโจทย์อุดมการณ์ได้จริง แต่ถ้ามันแลกมากับการต้องกลายเป็นหุ่นยนต์ มันจะเรียกว่าตอบโจทย์อุดมการณ์ได้จริงๆ หรือเปล่า ถ้าเราต้องสูญเสียบางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมาย สุดท้ายการไปถึงเป้าหมายมันยังสำคัญอยู่จริงๆ ไหม

Voice Online : ความหมายของคำว่าการเมืองตามแบบฉบับของตัวเองคืออะไร

อุ้ม MBK39 : เราว่ามันมีปัญหากับการใช้คำมากเลย การเมืองตามที่เราเข้าใจ มันคือการตกลงกันของกลุ่มผลประโยชน์หลายๆ ฝ่ายเพื่อให้ได้ทางออกที่ดีที่สุด โดยลดความขัดแย้งให้ได้มากที่สุด ถ้าเรามองนิยามการเมืองเป็นแบบนี้ อะไรก็เป็นการเมือง จะไปหาคนทำงานกลุ่มแต่ตกลงกันไม่ได้ ก็ตรงตามนิยามทางการเมืองแล้ว เป็นแฟนกันก็เกี่ยวกับการเมือง ...แต่ละคนมีความต้องการที่ต่างกันในชีวิต แต่ในเมื่อเราต้องมาเจอกัน มาอยู่ร่วมกัน มันก็เกิดคำถามแล้วว่า คนที่ไม่ได้มีความต้องการเหมือนกันหมดซะทีเดียว มาอยู่ร่วมกันแล้วจะแก้ปัญหายังไง โดยจัดการผลประโยชน์ให้มันสอดคล้องกันมากที่สุด คือ เราก็ไม่อยากทะเลาะกับแฟนปะ มีปัญหาเราก็ต้องมานั่งแก้ไขว่าทำไมมันเป็นแบบนี้เพื่อเราจะได้ไม่เลิก

แต่ในไทยพอพูดเรื่องการเมืองมันกลับรู้สึกว่ามันต้องเป็นเรื่องเสื้อเหลืองเสื้อแดงตบตีกัน ซึ่งจริงๆ เรามองว่า มันอาจจะใช้คำว่าสถานการณ์ทางการเมืองมากกว่า Political situation ไม่ใช่ politics

Voice Online : สาเหตุอะไรที่ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว

อุ้ม MBK39 : ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าประเทศไทยเราไม่ได้มีวัฒนธรรมให้คนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างจริงจัง มีเลือกตั้ง แต่ก็แค่กาใบเลือกผู้แทน จบ เราถูกทำให้รู้สึกไม่มีส่วนร่วม ภาคประชาชนไม่ได้มีส่วนเข้าไปกำหนดนโยบายหรือวางแผนจริงๆ เท่าไหร่ มันไม่มีการกระจายอำนาจในการปกครอง มันทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรโดยตรงยิ่งรู้สึกว่าไกลตัว อย่างเราเป็นคนต่างจังหวัด เมื่อก่อนเราก็จะรู้สึกว่ามันไกลมาก มันไม่เกี่ยว เพราะว่าเราถูกผลักออกจากศูนย์กลางของมัน ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาว่าทำไมเราไม่มีวัฒนธรรมทางการเมืองเลยตั้งแต่ตอนเด็กๆ มันก็เลยทำให้เราไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับความคิดว่าประเทศเป็นเรื่องของเรา ไม่ได้รู้สึกว่าการเมืองหรือการบริหารจัดการประเทศเป็นเรื่องของเรา เพราะว่าเราโดนผลักออกไปตั้งแต่เด็กๆ พอโตขึ้นมาถึงวัยที่ต้องเลือกตั้ง บางคนจึงไม่รู้สึกว่ามีผลกระทบอะไรสักเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีส่วนร่วมอย่างจริงจังอยู่แล้ว

อีกสาเหตุหนึ่งมันอาจจะมาจากการรู้สึกว่าเราไม่มีตัวตน

เรามักจะถูกบอกเสมอว่าเราต้องทำดีเพื่อประเทศชาติ เพื่อตอบแทนบุญคุณของชาติ แล้วตัวเราล่ะ? เราไม่เคยได้รับการสั่งสอน หรือถูกทำให้เชื่อว่าตัวเราเองมีบทบาทสำคัญมากๆ นะ ไม่ถูกสอนให้เชื่อมั่นในตัวเอง จนเราไม่ได้รู้สึกว่าเราต้องทำมันเพื่อตัวเอง พอไม่มีเซนส์ว่ามันเป็นเรื่องของเรา ว่ามันเป็นปัญหาของเรา เราก็ผลักปัญหาออก ก็มันไม่ใช่เรื่องของเราอะ นายกฯ ก็ไม่เกี่ยวกับเรา ประเทศชาติก็ไม่ได้เกี่ยวกับเราขนาดนั้น มันก็เลยอาจจะเกิดปัญหาว่าทำไมเราถึงไม่สามารถมีวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้

Voice Online : ทำไมคนรุ่นใหม่จึงอยากหนีไปจากบ้าน?

อุ้ม MBK39 : เราคิดว่า หนึ่ง เราโตมากับภาพที่วุ่นวายไปหมด คอร์รัปชันก็ไม่ได้แก้ไข ปัญหาเดิมๆ เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยที่ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นเลย มันก็อาจจะเป็นภาพจำในสมัยที่เราเติบโตว่า ไม่มีอะไรดีเลยอะประเทศนี้ อะไรก็ไม่รู้ ไปดีกว่า ไปน่าจะง่ายกว่า

สองคือพอเราเห็นอะไรซ้ำๆ บวกกับที่เราไม่เคยรู้สึกว่าประเทศนี้เป็นของเราอยู่แล้ว เพราะมันเหมือนเป็นสิ่งที่อยู่เหนือเรา และเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรับใช้ประเทศ เหมือนเราต้องให้เขาอย่างเดียว ซึ่งแน่นอนว่าพอภาพรวมเราไม่ได้รู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของเรา เราเลยไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ก็มันไม่ใช่ที่ของเรา ไม่มีแรงผลักดันที่จะเปลี่ยนแปลงที่ของเราให้ดีขึ้น ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกท้อแท้กับสิ่งที่ไม่เคยรู้สึกว่าเป็นของเรามาก่อนเลย

Voice Online : การตกเป็นผู้ต้องหาจากกิจกรรมช่วงเย็นวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมาได้เรียนรู้อะไรบ้าง

อุ้ม MBK39 : นอกจากกำลังใจจากทุกคน ครั้งนี้เรามองเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในสังคม มันน่าสนใจมาก ก่อนเราจะไปถึงงานเย็นวันนั้น เพื่อนเล่าให้ฟังว่า เนี่ยคนมาเยอะมากเลยนะ บางคนที่ดูเหมือนจะไม่สนใจก็มา พอไปถึงในงาน เราก็ได้คุยกับพี่คนหนึ่ง ใครไม่รู้ที่เจอตรงนั้น แต่คงไม่ใช่ทหารหรอก (ขำ) เขาก็ยังบอกเลยว่าพนักงานออฟฟิศหรือคนที่ไม่ได้ค่อยสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก เขาก็มาดูและสนใจ เพราะพวกเขาเริ่มรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่กระทบเขาจริงจังแล้ว วันนั้นสิ่งที่เราได้รับนอกจากกำลังใจแล้ว คือ ความหวัง มันทำให้เรารู้สึกว่าบางทีประเทศมันก็ยังมีหวัง แบบ... ไปเมืองนอกดีไหม เอ้... เริ่มลังเล ไปดีไหมนะ? หรือบางทีเราอาจจะสามารถทำอะไรได้จริงๆ ในฐานะคนธรรมดาที่ไม่ใช่นักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงหรือนักการเมืองใด หลายคนอาจจะไม่มี แต่เรามีความหวังค่ะ

เราไม่เชื่อว่าประเทศไทยมันไม่มีความหวัง มันมีอะ มันมี เราไม่อยากทิ้งไปแล้วปล่อยให้เป็นเหมือนบ้านร้าง เรามั่นใจว่ามันต้องใช้เวลาแหละ เรายอมรับ เพราะรุ่นเราก็เป็นผลลัพธ์จากความนู่นนี่นั่นที่ผ่านมาหลายปี ยอมรับว่ามันไม่ง่ายที่จะแก้ไข แต่ถ้าเราจับจุดได้และแก้มันจริงๆ สุดท้ายคนที่เป็นผลลัพธ์อย่างพวกเราก็อาจจะสร้างอะไรดีๆ ขึ้นมาได้ และนั่นแหละคือความหวังค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook