เทคนิคการอ่านหนังสือแบบนักเรียนญี่ปุ่น
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ca/0/ud/277/1389081/readjapan.jpgเทคนิคการอ่านหนังสือแบบนักเรียนญี่ปุ่น

    เทคนิคการอ่านหนังสือแบบนักเรียนญี่ปุ่น

    2018-03-11T09:00:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    5a9378a195fbc_5a93780c0ffbb_1

    ดิฉันเพิ่งผ่านฤดูมรสุมในการสอบมาค่ะ เลยอยากแบ่งปันวิธีการอ่านหนังสือแบบคนญี่ปุ่นดูเพราะตั้งแต่ดิฉันมาเรียนที่ญี่ปุ่น ก็สังเกตได้ว่านักเรียนญี่ปุ่นมีเทคนิคการอ่านหนังสือที่น่าสนใจที่เด็กไทยอย่างเราสามารถนำไปปรับใช้ได้ไม่มากก็น้อย บางอย่างอาจจะยากไปในตอนแรกๆแต่พอลองทำดูก็ได้ผลกับคนขี้เกียจอย่างเราเหมือนกันนะ ไปลองดูกันเลย

     1

    มีสมาธิจดจ่อ ทำอะไรทำทีละอย่าง

    เชื่อว่าอาการนี้ใครหลายๆคนในยุคนี้ก็เป็นกัน นั่นคือ ไม่สามารถทำอะไรทีละอย่างได้ กระวนกระวายตอนที่มือถือห่างตัว ต้องทำนู่นทำนี่ไปด้วยหลายอย่างแม้กระทั่งตอนที่ต้องใช้สมาธิอย่างเวลาอ่านหนังสือ ดิฉันคนหนึ่งละที่ติดนิสัยอ่านหนังสือไปด้วยเล่นมือถือไปด้วย เดี๋ยวตอบแชท เช็คเมล์ หาข้อมูลนู่นนี่ไปด้วย ซึ่งถามว่าเป็นสิ่งดีมั้ย คงไม่แน่ๆ ชีวิตที่มีการ Multitasking มากเกินไปอาจจะดูเหมือนเป็นคนเก่ง แต่หลายคนก็ไม่ได้ทำทุกงานออกมาดีนะในเวลาที่ Multitask แถมแย่สุดๆคือบางทีทำไม่เสร็จสักอย่างด้วย ซึ่งวิธีแก้ก็คือการทำอะไรแค่ทีละอย่างนั่นเอง รับรองว่าถ้าทำได้ชีวิตจะดีขึ้นเยอะ 

    แต่ในยุคสมัยที่มีสิ่งล่อใจมากมายอยู่แค่ปลายนิ้ว พูดง่ายกว่าทำเยอะ เราจะทำยังไงล่ะ เพื่อนชาวญี่ปุ่นของดิฉันมีไอเดียดีๆ เช่นการตั้งกฎกับตัวเองว่าจะปิดมือถือหรือเปิดโหมดเครื่องบินเวลาอ่านหนังสือ เพื่อจะได้ไม่วอกแวก มีสมาธิมากขึ้น หากอยากค้นหาข้อมูลในเน็ต ก็จะลิสต์ไว้ แล้วเอามาหาทีเดียว จะไม่เปิดเน็ตค้างเอาไว้ ถือเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ลองทำดูนะ

    อ่านทีละนิดแต่หนักแน่น

    คนญี่ปุ่นเชื่อว่าคนเราจะมีสมาธิได้อย่างมากก็ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยอมรับกันทั่วไปในญี่ปุ่น สังเกตได้จากแต่ละคลาสแทบทั้งหมดในมหาวิทยาลัยจะมีระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ถ้าเทียบกับมหาลัยไทยละก็บางที่มีคาบที่ปาไป 3 ชั่วโมงเลยทีเดียว เรียนกันยาวไป ดังนั้นคนญี่ปุ่นจะใจจดใจจ่อกับการอ่านให้เต็มที่แต่จะใช้เวลาไม่นานในแต่ละครั้ง

    ใครว่ายากเกินไปให้ลองทีละ 15 นาที ซึ่ง 15 นาทีแรกเป็นเวลาวัดใจ ถ้าทำได้ละก็อีก 15 นาทีต่อมาก็จะง่ายขึ้น ทำต่อไปจนค่อยๆครบ 1 ชั่วโมงในที่สุด และอย่าลืมเทคนิคการทำทีละอย่างที่บอกไปข้างต้นนะ

    อ่านสารบัญก่อน

    ก่อนจะอ่านหนังสือสักเล่มให้เราอ่านที่สารบัญก่อนเข้าโหมดอ่านจริงจัง เพราะจะได้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้เขียนถึงอะไรบ้าง ว่าง่ายๆก็เหมือนเรากำลังจีบใครอยู่ เราก็ต้องอยากรู้ข้อมูลพื้นฐานของเขาและเธอ เช่น ชื่ออะไร เป็นคนที่ไหน มีแฟนหรือยังและมีพื้นเพเป็นคนอย่างไร พอเทียบเป็นเรื่องแฟนแล้วเข้าใจได้ทันทีเลยใช่มั้ยล่ะว่าทำไมต้องอ่านสารบัญ

    การอ่านสารบัญก็จะทำให้เราเข้าใจรายละเอียดคร่าวๆ ช่วยให้เราจับใจความได้ว่าเนื้อหาที่สำคัญมีอะไรบ้างและช่วยให้คุ้นเคยกับเนื้อหาได้ง่ายขึ้น

    2

    อ่านล่วงหน้าและทบทวนย้อนหลัง

    ญี่ปุ่นมีคอนเซ็ปท์ที่เรียกว่า โยะชู-ฟุคุชู (予習復習) ในกรณีของนักเรียนอย่างเราๆ คำว่าโยะชู หมายถึงการอ่านเตรียมมาก่อนเข้าเรียน ส่วนฟุคุชู หมายถึงการทบทวนสิ่งที่เรียนแล้วอีกครั้ง สำหรับการทบทวนหรือฟุคุชู นั้นนักเรียนไทยส่วนใหญ่ทำกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือโยะชู ค่ะ เพราะเป็นอะไรที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน

    จริงๆไม่เฉพาะแต่คนญี่ปุ่นเท่านั้นที่มักจะอ่านหนังสือล่วงหน้าก่อนเข้าคลาส เท่าที่ดิฉันสังเกตนักเรียนฝรั่งหลายคนก็ติดนิสัยอ่านหนังสือล่วงหน้ามาก่อนเข้าคลาสเช่นกัน สรุปว่าทำกันทั้งโลกค่ะแต่คนไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรมักให้ครูสอนก่อนทีนึงแล้วค่อยกลับไปอ่านซ้ำหลังคลาสอย่างเดียว ซึ่งคงไม่ได้ผลเท่ากับอ่านทั้งก่อนและหลังคลาสค่ะ

    สำหรับข้อดีนั้น การอ่านมาก่อนทำให้เข้าใจเนื้อหาได้ถูกต้องมากขึ้น และยังกระตุ้นให้เราเกิดความสงสัย เกิดการตั้งคำถามในสิ่งที่อ่านมา เหมือนเวลาเราอ่านรีวิวร้านอาหารในเน็ตก่อนมาลองกินจริงๆไงล่ะ แล้วพอเวลามาที่ร้านจริงๆเราก็มักจะตั้งข้อสงสัยได้ว่า เอ๊ะทำไมไม่เหมือนในรีวิว แบบนี้เคยเป็นกันทุกคนใช่มั้ยล่า การอ่านมาก่อนจะทำให้เราฉุกคิดและสามารถตั้งถามคำถามกับอาจารย์ได้ในคลาส ประหยัดเวลาในการทำความเข้าใจไปอีกด้วย เป็นวิธีเรียนที่ไม่ยากแต่มีเหตุผลมากๆเลยนะ

    ตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่า "หนังสือไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด"

    เวลาอ่านหนังสือให้ตั้งสมมติฐานกับตัวเองไว้ก่อนเลยว่า แม้ข้อมูลจะเขียนไว้ในหนังสือแต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่างจะถูกต้องเสมอไป วิธีการคิดแบบนี้ ทำให้เรา "ตื่น" ค่ะ เพราะสมองจะทำงานตลอดเวลา ไม่ใช่เพียงอ่านข้ามไปข้ามมาแล้วก็ลืม เปรียบเทียบกันง่ายๆวิธีการอ่านหนังสือโดยตั้งสมมติฐานก็เหมือนเวลาที่เพื่อนสาวโสดคนสนิทลงรูปเค้กน่ารักๆแต่(แอบ)ถ่ายติดนาฬิกาข้อมือของชายหนุ่มนิรนามมาด้วย สมองของเราจะสั่งการทันทีว่ามันต้องมีอะไรแน่ๆ แล้วเราก็ค้นหาความจริงไปไม่หยุดยั้ง...เช่นกันกับเทคนิคการตั้งสมมติฐาน... 

    ถ้าอ่านหนังสือได้แบบนี้รับรองไม่เบื่อและจำได้ทุกรายละเอียดแน่นอน

    3

    แผ่นพลาสติกสีแดง สำหรับปิดคำ ท่องจำ

    ญี่ปุ่นเป็นประเทศแห่งเครื่องเขียน ดังนั้นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เราอ่านหนังสือได้ดีขึ้นจึงมีเยอะมากๆ หนึ่งในนั้นคือการใช้แผ่นพลาสติกสีแดงที่นักเรียนญี่ปุ่นฮิตกันมาก ไม่ว่าจะเด็กประถมหรือนักศึกษาก็ชอบใช้กันทั้งนั้น วิธีการใช้ก็ง่ายๆ เพียงแค่ใช้ปากกาเน้นข้อความสีเขียวหรือแดงบนตัวหนังสือส่วนที่เราต้องการท่องจำ (หรือถ้าเขียนโน้ตเอง ให้เขียนข้อความที่ต้องการจำด้วยปากกาสีแดง) แล้วเวลาเราจะกลับมาท่อง ก็เพียงใช้แผ่นพลาสติกสีแดงปิด ทีนี้เราก็จะมองไม่เห็นข้อความนั้นๆ เหมือนเป็นการเล่นเกม ชวนให้เราคิด สนุกแถมทำให้จำได้ง่ายอีกด้วย

    4

    การ์ดจำคำศัพท์

    อีกหนึ่งอย่างคือการ์ดคำศัพท์หรือแฟลชการ์ด เป็นกระดาษเล็กๆนำมาร้อยด้วยห่วง ขนาดพอดีมือ อ่านได้แม้กระทั่งในรถไฟเบียดๆ เวลาคนญี่ปุ่นเรียนภาษาต่างประเทศอันนี้จะฮิตมากๆ โดยเฉพาะกับคำศัพท์ ด้านหน้าเขียนคำศัพท์ ด้านหลังก็เขียนความหมายหรือตัวอย่างวิธีใช้ รอรถไฟไปก็หยิบมาเดาคำศัพท์ แฟลชการ์ดนี้มีขายอยู่มากมายทั้งตามร้านเครื่องเขียนทั่วไปหรือร้านร้อยเยนก็หาได้ไม่ยาก ในไทยเองก็มีนะ

     5

    แอพช่วยเรียน

    ส่วนใครที่อยากจะเข้มงวดกับตัวเองขึ้นมาหน่อย ตอนนี้มีแอพมากมายที่มีไว้บันทึกความคืบหน้าในการอ่านหนังสือของตัวเอง 

    เช่นแอปพลิเคชั่นในภาพที่ชื่อว่า 目標達成タイマー (Mokuhyo-tassei Timer) สามารถบันทึกจำนวนชั่วโมงการอ่านหนังสือแต่ละวิชาในแต่ละวัน แสดงออกมาเป็นกราฟเข้าใจง่าย เหมาะมากกับคนที่ต้องการบริหารเวลา ดูว่าวิชาไหนเราใช้เวลาในการอ่านมากน้อยเป็นต้น ใครกำลังเตรียมสอบแบบเอาจริงเอาจังหรือจะเอาไว้แข่งอ่านหนังสือกับเพื่อน แบบนี้ก็สะดวกและสนุกไปอีกแบบนะเออ~ แน่นอนว่าเราไม่ต้องใช้แอพนี้ก็ได้ ยังมี Study App อื่นๆที่ทำหน้าที่คล้ายๆกันแต่เป็นภาษาอังกฤษนะคะ หลายคนอาจจะคิดว่าแอพและสมาร์ทโฟนทำให้เราไม่สามารถจดจ่อกับการเรียนได้ แต่วิธีใช้ที่ดีก็มีค่ะ ลองดูนะ

    แปลงโซเชียลเป็นแรงบันดาลใจ

    ในเมื่อติดโซเชียลกันทุกคนแล้ว ก็ลองใช้มันให้เป็นประโยชน์สิ! 

    เดี๋ยวนี้ตาม IG มีคนที่กำลังเตรียมตัวสอบ ที่คอยโพสต์ความคืบหน้าว่าแต่ละวันอ่านไปได้ถึงไหน วันนี้อ่านไปกี่ชั่วโมง มีการรีวิวหนังสือ เทคนิคต่างๆ บางคนถ้าฝีมือดีก็ทำโน้ตสรุปเป็นภาพน่ารักๆโพสต์ลงโซเชียล (แบบตัวอย่างข้างบน) หรือแม้กระทั่งรีวิวเครื่องเขียน อุปกรณ์ช่วยในการอ่านหนังสือก็มี ตอนนี้เริ่มมีนักเรียนญี่ปุ่นหันมาอัพเรื่องราวการเตรียมสอบเพิ่มมากขึ้น ได้อ่านเรื่องราวพวกเขาก็ช่วยให้เรารู้สึกมีแรงบันดาลใจ รู้สึกมีเพื่อนที่เตรียมสอบเหมือนกัน หรือใครที่อัพเองก็เป็นการสร้างกำลังใจที่ดีไปอีกแบบ ใครสนใจก็ลองเสิร์ชหาโดยแทก #studygram หรือ #勉強垢 ในอินสตาแกรมได้เลยจ้า

    สรุป

    เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับวิธีการอ่านหนังสือแบบเด็กนักเรียนญี่ปุ่น อาจเหมือนบ้างต่างบ้างกับบ้านเรา แต่ที่เห็นได้ชัดเจน คือความตั้งใจจริง ดิฉันเชื่อว่าถ้ามีแรงใจเต็มร้อยใครจะสมองดีหรือไม่ดียังไงก็สามารถฝ่าฟันกับอุปสรรคในการเรียนไปได้สบายๆ อย่าลืมหยิบเอาเทคนิคไปลองใช้กันดูนะคะ