รู้จัก “นินจา” สายลับไร้เงาที่เป็นมากกว่าตัวละครในการ์ตูน

รู้จัก “นินจา” สายลับไร้เงาที่เป็นมากกว่าตัวละครในการ์ตูน

รู้จัก “นินจา” สายลับไร้เงาที่เป็นมากกว่าตัวละครในการ์ตูน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

istock-655092138

เชื่อว่าคนไทยจำนวนมากน่าจะรู้จักคุ้นเคยกับคำว่า “นินจา” ไม่ว่าจะเป็นภาพของชายในชุดสีเข้มรัดกุม พร้อมผ้าปิดหน้า ที่ปรากฏตัวในยามวิกาล และมีอาวุธคู่กายคือ “ดาวกระจาย” หรือภาพของนินจาในการ์ตูนญี่ปุ่น อย่างนินจาฮัตโตริ หรือนักเรียนนินจารันทาโร ที่นอกจากจะไม่มีความน่าเกรงขามใดๆ แล้ว ยังพกพาความเพี้ยนและความฮามาอย่างเต็มที่ กลายเป็นภาพจำที่เมื่อพูดถึงนินจา ก็ต้องมีตัวการ์ตูนเหล่านี้แทรกเข้ามาในบทสนทนาเสมอ

แต่รู้หรือไม่ว่าที่จริงแล้ว นินจาไม่ใช่แค่บุคคลลึกลับที่กระโดดไปมาตามหลังคาบ้านเรือน เดินบนผิวน้ำ หรือหายตัวได้เท่านั้น แต่มีบทบาทอย่างมากในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และยังมีหลักการที่ลึกซึ้งไม่แพ้นักรบชั้นสูงอย่างซามูไร นินจาตัวจริงเป็นอย่างไรกันแน่ และแตกต่างจากนินจาที่เราเห็นในภาพยนตร์อย่างไร “อะชุระนินจา” ซึ่งเป็นกลุ่มนินจาที่สืบทอดวิชานินจายุคโบราณ จะมาเล่าให้เราฟังเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่เหล่านินจาจะมาเปิดนิทรรศการ “Ninja Maze… The Big Adventure” ในเดือนหน้า

กลุ่มอะชุระนินจา จากหมู่บ้านนินจาอิงะ จังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่นกลุ่มอะชุระนินจา จากหมู่บ้านนินจาอิงะ จังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น

“สมัยก่อน นินจาจะคล้ายกับสายลับ ส่วนใหญ่ทำงานให้กับไดเมียว หรือขุนนางที่ปกครองแคว้น ทำหน้าที่หาข้อมูลเกี่ยวกับฝ่ายศัตรู โดยวิธีการปลอมตัวหรือลักลอบเข้าไปสืบข้อมูลในพื้นที่ของฝ่ายตรงข้าม” ศาสตราจารย์ยามาดะ ยูจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านนินจาจากมหาวิทยาลัยมิเอะ กล่าวกว้างๆ ถึงหน้าที่ของนินจา ซึ่งเป็นอาชีพที่มีบทบาทในช่วงยุคกลางของญี่ปุ่น โดยมีหลักฐานระบุว่ามีการฝึกวิชานินจาตั้งแต่ยุคเซ็งโงะกุ ใน ศตวรรษที่ 15 – 17 ซึ่งเป็นยุคที่บ้านเมืองระส่ำระสาย เนื่องจากอำนาจการปกครองของโชกุนเสื่อมลง ทำให้เหล่าไดเมียวผู้ครองแคว้นต่างพากันตั้งตนเป็นอิสระ และต่อสู้กันเอง ซึ่งไดเมียวเหล่านี้นี่แหละที่เป็น “นายจ้าง” ของนินจา

ในขณะที่ซามูไรเป็นนักรบที่จับอาวุธต่อสู้กับศัตรูซึ่งหน้าเพื่อปกป้องเจ้านาย นินจากลับมีหน้าที่ที่แตกต่างออกไป คือเป็นสายลับที่เก็บข้อมูลเชิงลึกด้วยวิธีการต่างๆ เช่น จารกรรมข้อมูล การแฝงตัวไปอยู่ในฝ่ายข้าศึก เพื่อหาจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม หรือตัดทอนกำลังโดยการก่อวินาศกรรม ลอบสังหาร และสู้รบแบบกองโจร รวมทั้งการวางกลยุทธ์พร้อมวิเคราะห์แผนด้านการทหารของศัตรู คือเป็นวิธีการแบบ “ลับๆ” นั่นเอง

“งานหลักของนินจาจะเป็นการเก็บข้อมูลและนำข้อมูลนั้นมาให้นายจ้าง หลักสำคัญก็คือการทำทุกวิถีทางเพื่อให้งานสำเร็จ ต้องอดทน ไม่ย่อท้อ และมีไหวพริบ นินจาถือเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ แต่ไม่ได้อยู่เบื้องหน้าเหมือนซามูไร และขณะที่เก็บข้อมูลสำคัญที่อาจจะทำให้ฝ่ายตนชนะได้ นินจาต้องพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับศัตรู และนำข้อมูลไปส่งให้ผู้ว่าจ้างให้ได้” ศาสตราจารย์ยามาดะกล่าว

iStockphoto

เมื่อกล่าวถึงเรื่องราวการสู้รบในยุคโบราณ ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงการฝึกวิทยายุทธต่างๆ นินจาก็มีหลักสูตรของตัวเองที่เรียกว่า “นินจุทสึ” (Ninjutsu) ซึ่งเป็นศิลปะในการทำสงคราม ที่มีการพัฒนาขึ้นในเมืองอิงะ จังหวัดมิเอะ ซึ่งเป็นดินแดนแห่งนินจา โดยมีรากฐานมาจากตำราพิชัยสงครามของจีน ผสมผสานเข้ากับชูเก็นโด หรือวิชาที่ต้องฝึกบนภูเขา กลายเป็นวิชาว่าด้วยการปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอด ที่ช่วยให้นินจาสามารถเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และรับมือกับสถานการณ์อันตราย ผ่านหลักการทั้งด้านกายภาพและจิตวิทยา รวมทั้งสามารถรอคอยจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการตอบโต้ โดยไม่สูญเสียพลังงานหรือแหล่งพลังงานใดๆ ต่างจากศิลปะการต่อสู้ที่ต้องเผชิญหน้ากับศัตรูและต่อสู้ด้วยศิลปะป้องกันตัว

นอกจากนี้ การฝึกนินจุทสึคือ “ศิลปะการล่องหน” คือการทำให้ตัวเองเป็นเหมือนผีในสายตาของศัตรู เนื่องจากเป้าหมายหลักไม่ใช่การจับอาวุธต่อสู้ แต่เป็นการนำข้อมูลที่ได้ไปส่งให้ผู้ว่าจ้าง จึงต้องรักษาตัวให้รอด เพื่อให้งานสำเร็จ ทำให้พวกเขาต้องหลบหนีเก่ง

“นินจุทสึ คือการรวบรวมวิชาต่างๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน อาจจะเป็นวิชาใช้อาวุธ หรือวิชาทำอาหาร วิชาแพทย์ วิทยาศาสตร์ มารวมกัน เพราะงานหลักของนินจาคือต้องเก็บข้อมูลให้ผู้ว่าจ้าง ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ต้องทำ ถ้าเจอสถานการณ์ที่ต้องต่อสู้ ก็จะมีโอกาส 50/50 ที่อาจจะเสียชีวิต และหากไม่สามารถส่งข้อมูลไปให้ถึงผู้ว่าจ้างหรือคนที่ไว้วางใจเราได้ ก็ถือว่าล้มเหลว” ศาสตราจารย์ยามาดะกล่าว

iStockphoto

สำหรับรายวิชาในหลักสูตรนินจุทสึนี้ วิชาพื้นฐานที่ศาสตราจารย์ยามาดะถือว่าจำเป็นอันดับหนึ่ง คือ “การขัดเกลาจิตวิญญาณ” เพราะหลักการสำคัญของนินจาคือจิตใจที่เข้มแข็ง อดทน มุ่งมั่นเพื่อให้งานสำเร็จ ก่อนที่จะเรียนวิชาขั้นต่อไป เช่น การใช้อาวุธ การต่อสู้ด้วยมือเปล่า การปลอมแปลงและเลียนแบบบุคคล การล่องหนและแทรกซึม การขี่ม้า ฝึกการเคลื่อนที่ในน้ำและเหนือผิวน้ำ กลยุทธ์ จารกรรม การหนีและปกปิดร่องรอย การพยากรณ์อากาศ การใช้ประโยชน์จากภูมิศาสตร์

และนอกจากนินจาในสังกัดเจ้านายแล้ว ยังมีนินจาอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ขึ้นตรงต่อระบบการปกครอง เรียกว่า “อิงะนินจา” เป็นกลุ่มนินจาที่ปกครองตัวเองอยู่ในเมืองอิงะ จังหวัดมิเอะ ที่มีตระกูลนินจาอาศัยอยู่มากมาย และยังมีการสืบทอดวิชานินจากันจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีลักษณะพิเศษคือมีความเป็นทีมเวิร์กมากกว่านินจากลุ่มอื่นๆ และยังเชี่ยวชาญเรื่องเวทมนตร์ เช่น คาถาป้องกันตัวที่เรียกว่า “กูจิ โกชินโบ” หรือเก้าอักษรปกป้องตนเอง ได้แก่ “ริน เฮียว โต จา ไค จิน เรตสึ ไซ เซ็น” วิธีการคือใช้มือทำสัญลักษณ์ นิ้วชี้ นิ้วกลาง ยกขึ้นเสมือนดาบ ขณะเปลี่ยนท่าไปจนครบเก้าตัวอักษร

“สมัยก่อน การฝึกนินจาจะเป็นการฝึกในตระกูลตั้งแต่เด็กเลย วิชาที่ฝึกก็มีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือการฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง ฝึกความคิด แล้วก็เรื่องร่างกายก็จะตามมาเอง ที่จริงก็พูดยาก เพราะขณะที่ผมเติบโต ผมก็ซึมซับความเป็นนินจาในตัวเลย ทุกอย่างในชีวิตประจำวันคือการฝึกทั้งหมด” คุณอุกิตะ ฮันโซ หัวหน้ากลุ่มอะชุระนินจา กล่าวถึงวิถีการเป็นนินจาที่สืบทอดกันในครอบครัวของตนเอง

คุณอุกิตะ ฮันโซ หัวหน้ากลุ่มอะชุระนินจาคุณอุกิตะ ฮันโซ หัวหน้ากลุ่มอะชุระนินจา

และที่จริงแล้ว นินจาจะต้องกระโดดไปมาหรือเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วแต่เงียบกริบอย่างในภาพยนตร์จริงหรือไม่ คำตอบคือจริง นินจาต้องมีการเคลื่อนไหวที่ไร้เสียง ซึ่งมีวิธีการหลักๆ อยู่ 5 วิธี ได้แก่ “เท้าเบา” คือการค่อยๆ ถ่ายน้ำหนักลงบนพื้น โดยเริ่มจากนิ้วเท้า “เท้าลอย” การวางเท้าจากปลายนิ้ว “สุนัขวิ่ง” การคลานเข่าในที่ที่ไม่สามารถยืนได้ “สุนัขจิ้งจอกวิ่ง” คือการใช้ปลายมือและเท้าคลานในที่ที่ไม่สามารถยืนได้ และ “กระต่ายเดินบนพื้นหญ้า” คือการเดินด้วยหลังมือ หรือใช้มือรองเท้าขณะเดิน นอกจากนี้ นินจายังได้ชื่อว่าเป็นคน “ฝีเท้าไว” เพื่อส่งข้อมูลอย่างรวดเร็ว และยังต้องฝึกการหายใจ 2 ทาง ด้วยจังหวะ “หายใจเข้า – ออก – ออก – เข้า – ออก – เข้า- ออก-เข้า –เข้า – ออก” เพื่อเพิ่มออกซิเจนในปอด และช่วยให้มีสมาธิ รวมทั้งต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 60 กก. เพราะต้องหลบซ่อนบนห้องใต้หลังคา ใต้พื้น หรือพรางตัว ทำให้ในบางพื้นที่มีการเรียกนินจาว่า “คนผอม” ด้วย

นินจาส่วนใหญ่จะต้องมีน้ำหนักไม่มาก เพื่อความคล่องตัวในการปีนป่ายตามอาคารGettyimagesนินจาส่วนใหญ่จะต้องมีน้ำหนักไม่มาก เพื่อความคล่องตัวในการปีนป่ายตามอาคาร

นอกจากวิถีสายลับสุดระทึกใจแล้ว นินจายังมีวิถีชีวิตยามว่างเว้นจากงานที่เรียบง่ายตามสไตล์ชาวไร่ชาวนา เพื่อปกปิดไม่ให้ผู้อื่นรู้ตัวตนที่แท้จริง แต่เมื่อมีผู้บุกรุก บ้านเรือนหน้าตาธรรมดาจะกลับกลายเป็นค่ายกลที่จู่โจมศัตรูและปกป้องทรัพย์สินในบ้าน นอกจากนี้ อุปกรณ์การเกษตรต่างๆ เช่น ที่คีบถ่าน เชือกตะขอ พื้นรองเท้าแบบมีปุ่ม กรรไกรปากโค้ง หรือตะขอมือ ที่ใช้ทำงานในไร่นาอย่างแนบเนียน ก็จะเปลี่ยนเป็นอาวุธชั้นดีทันที

“อาวุธของนินจาคืออุปกรณ์ทำไร่ทำนา เพราะเดิมก็เป็นชาวนา สาเหตุที่ไม่ใช้ดาบก็เพราะว่าอุปกรณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ใช้อยู่ประจำ ก็จะคล่องมือมากกว่า” ศาสตราจารย์ยามาดะอธิบาย

ดาวกระจาย หรือชูริเคน หนึ่งในอาวุธคู่กายของนินจาiStockphotoดาวกระจาย หรือชูริเคน หนึ่งในอาวุธคู่กายของนินจา

แม้ในปัจจุบันนี้จะไม่มีสงคราม นินจาจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แต่หมู่บ้านนินจาอิงะกลับยังคงสืบทอดวัฒนธรรมนี้จากรุ่นสู่รุ่น เพียงแต่เปลี่ยนจากบทบาทสายลับเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อเผยแพร่ศิลปะการเป็นนินจาผ่านวิถีชีวิตในหมู่บ้าน พิพิธภัณฑ์ และการแสดงต่างๆ โดยศาสตราจารย์ยามาดะรับหน้าที่วิจัยและเผยแพร่เรื่องราวของนินจา ส่วนคุณอุกิตะนั้น ทำหน้าที่ประมวลข้อมูลทั้งหมดออกมาเป็นการแสดงสุดอลังการ

“ทั้งผมและทีมงานจะต้องฝึกวิชานินจาก่อนจะมาทำการแสดง เพราะเวลาที่เราต้องพบปะผู้คน เราจำเป็นต้องใช้จิตวิทยาในการเข้าถึงผู้ชม และส่งต่อให้ผู้ชมรู้จักนินจามากขึ้น และการฝึกนินจุทสึของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับจุดเด่นของแต่ละคน เช่นศาสตราจารย์ยามาดะเป็นด็อกเตอร์ ก็ต้องฝึกนินจุทสึด้านความคิด ส่วนผมแข็งแรงว่องไว ก็จะเป็นด้านร่างกาย คนนี้เป็นผู้หญิง ก็เป็นเรื่องการโปรยเสน่ห์” คุณอุกิตะกล่าวพร้อมชี้ไปที่ “คุโนะอิจิ” หรือนินจาหญิง ชื่อคุณคาโอรุ อดีตนักแสดงผู้ชื่นชอบศิลปะการเป็นนินจา

“สาเหตุที่มาฝึกนินจาเพราะว่าชอบ ก่อนหน้านี้รู้จักคำว่านินจาเหมือนกัน แต่ไม่รู้ลึกๆ ว่านินจาคืออะไร เลยมาฝึก พอมาฝึกก็รู้เลยว่าโหดกว่าที่คิด เราโดนมาเยอะมาก พูดตรงๆ เลย คือนึกว่าจะตายแล้ว” คุณคาโอรุตอบ ซึ่งคุณอุกิตะก็เสริมอย่างภาคภูมิใจว่าวิธีการฝึกของเขานั้นเข้มงวดจริงๆ

“มันไม่เหมือนกับที่เห็นในการ์ตูนนะ น่าจะหนักกว่าประมาณร้อยเท่า” คุณอุกิตะกล่าวเสียงดัง

คุโนะอิจิ คาโอรุคุโนะอิจิ คาโอรุ

อย่างไรก็ตาม การฝึกนินจาที่เข้มงวดกลับเปลี่ยนชีวิตคนได้ ซึ่งนินจาหนุ่มอย่างคุณฮาเกะตาโร ผู้ซึ่งชื่นชอบการ์ตูนเกี่ยวกับนินจา การเล่นเกม และหลงใหลใน “ลุค” เท่ๆ ของนินจา จนกระทั่งตัดสินใจมาฝึกในที่สุด

“เมื่อก่อนผมเป็นคนที่โลกส่วนตัวสูงมาก ไม่ชอบออกไปไหน ไม่ชอบเจอผู้คน ตั้งแต่ฝึกนินจาก็เป็นคนที่เปิดเผยมากขึ้น เพราะการเป็นนินจาต้องเข้าหาผู้อื่นเพื่อหาข้อมูล เหมือนได้เปลี่ยนตัวเอง” คุณฮาเกะตาโรกล่าว
ด้านคุณคาโอรุก็กล่าวเสริมว่า “เมื่อก่อนเราจะเป็นคนที่ ถ้ามุ่งมั่นจะทำอะไรแล้ว เราจะพุ่งไปเลย ไม่หยุดเลย ไม่รู้ว่ามากไปหรือน้อยไป ไม่รู้ลิมิตตัวเอง แต่พอฝึกนินจาทำให้รู้จักสมดุลของสิ่งต่างๆ ทุกอย่างต้องมีสมดุล และเหมือนเพิ่มความอดทนให้ตัวเองด้วย

ฮาเกะตาโรฮาเกะตาโร

แม้วิชานินจาจะมีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี แต่คุณอุกิตะกล่าวว่าวิชานี้สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมากมาย
“วิชานินจาช่วยได้หลายอย่างครับ ทั้งวิธีการมีปฏิสัมพันธ์กับคน ต้องเป็นคนที่เป็นมิตร เพราะงานของนินจาเป็นสายลับ ต้องหาวิธีคุยกับคนเพื่อที่จะล้วงข้อมูล และก็ต้องเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นได้ มีมารยาทที่ดี รู้บุญคุณคน คล้ายๆ วิถีพุทธของไทยด้วย” คุณอุกิตะทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook