รวม 15 อาชีพในกลุ่มศิลปะ
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ca/0/ud/277/1385045/istock-486389169(1)(1).jpgรวม 15 อาชีพในกลุ่มศิลปะ

    รวม 15 อาชีพในกลุ่มศิลปะ

    2017-05-22T06:00:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    15 อาชีพในกลุ่มศิลปะ ครอบคลุมในทุกสายงาน



    1.จิตรกร

    ลักษณะงาน
    เขียนภาพทิวทัศน์ ภาพเหมือน ภาพหุ่นนิ่ง ภาพแบบแอบสแตรกท์ และภาพองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกัน ด้วยสีน้ำมัน สีน้ำ หรือสีอย่างอื่น ร่างภาพองค์ประกอบเป็นเส้นโครงภายนอกลงบนผ้าใบหรือบนสิ่งอื่น เพื่อเขียนภาพจากแบบ จากภาพภูมิประเทศ หรือจากความทรงจำ ป้ายสีลงบนวัสดุที่ใช้เขียนภาพ จัดแนวเส้นในภาพให้มีสี แบบ และมวลที่กลมกลืนประสานกันอย่างสวยงาม อาจชำนาญในการใช้สี หรือในประเภทของงานที่ทำ และอาจมีชื่อเรียกตามความชำนาญ อาจจัดภาพฉากหลังและจัดที่สำหรับ แสดงสินค้าเพื่อใช้ในงานการค้า อาจซ่อมสิ่งที่ชำรุดเสียหายและซ่อมภาพเขียนที่ซีดจาง

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    มีจินตนาการสูง และสามารถถ่ายทอดจินตนาการออกมาเป็นผลงานได้ มีความถนัดและมีความรู้ทางศิลปะ ชอบและสนใจสิ่งสวยงามในแง่วรรณคดี ดนตรี และศิลปะ

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายศิลป มีความสนใจและถนัดทางศิลปะ ศึกษาต่อ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ คณะวิจิตรศิลป หรือคณะศิลปกรรม ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาลและเอกชน

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    รับราชการ ทำงานเอกชน หรือเป็นศิลปินอิสระ

    2.ประติมากร

    ลักษณะงาน
    ทำงานศิลปะเกี่ยวกับการปั้น สร้างหุ่นจำลอง อนุสาวรีย์ ภาพวาดหรืองานมัณฑนศิลป์ โดยทั่วไปเป็นแบบลอยตัวหรือแบบนูน ด้วยการแกะสลักหิน สลักไม้ปั้นด้วยดินเหนียว หรือด้วยกรรมวิธีที่คล้ายคลึงกัน คัดเลือกวัสดุที่มีสัดส่วน และคุณภาพตามที่ต้องการ ร่างแบบของงานที่จะทำ แล้วใช้ขี้ผึ้งหรือปูนพลาสเตอร์
    จำลองแบบตามอัตราส่วน วัดสัดส่วนด้านนอกจากแบบแล้วเอาสัดส่วนจากแบบไปทำเครื่องหมายเป็นจุด ๆ ลงบนแท่งวัสดุที่จะใช้ ใช้เครื่องมือที่พอเหมาะสลักหรือขึ้นรูป พยายามจัดเส้นและมวลให้อยู่ในตำแหน่งที่ กลมกลืนและสวยงาม ประกอบขั้นสุดท้าย และตกแต่งผิวให้เรียบร้อย อาจทำแบบด้วยดินเหนียวหรือขี้ผึ้ง เพื่อใช้เป็นแบบหล่อสำหรับงานหล่อเครื่องประดับ อาจชำนาญในการแกะสลักวัสดุชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    มีความรู้และความถนัดทางช่าง มีศิลปะ มีสุนทรียะ คือ การเข้าถึงความหมายและคุณค่าของงานทางด้านศิลปะ ชอบและสนใจในสิ่งที่สวยงามต่าง ๆ ทางด้านวรรณคดีดนตรี และศิลปะ และมีความเข้าใจดีว่า วรรณคดี ดนตรี และศิลปะแขนงอื่น ๆ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร มีความสามารถในการสร้างสรรค์งานจากวรรณคดีและเสียง
    ดนตรี หรือสิ่งสวยงามอื่น ๆ สามารถแสดงออกถึงความประทับใจในความรู้สึกต่าง ๆ ในด้านอารมณ์ออกมา เป็นรูปปั้น มีจินตนาการสูง มีมโนภาพ สามารถสร้างสรรค์ผลงานอันเกิดจากจินตนาการให้เป็นจริงขึ้นได้ ยอมอุทิศเวลาให้กับความคิดจินตนาการ สร้างและค้นคว้าประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ให้ทันสมัยและเหมาะสม

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    ศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี เช่นที่ วิทยาลัยช่างศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง ศึกษาระดับปริญญาตรี ที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาลและเอกชน

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    สามารถประกอบอาชีพ เช่น ช่างศิลป์ ครู-อาจารย์ ช่างปั้นหุ่น หรือประกอบอาชีพอิสระผลิตงานด้านศิลปะ ปั้นรูปเพื่อนำไปตกแต่งสถานที่ต่าง ๆ

    3.มัณฑนากร (Interior Designer)

    ลักษณะงาน
    ศึกษาโครงสร้างของงานและดำเนินการออกแบบตกแต่ง จัดหาเครื่องตกแต่งภายใน เพื่อตอบสนองงานนั้นๆ ให้ตรงเป้าหมายและประโยชน์ใช้สอย ประมาณราคาและควบคุมการตกแต่งรวมถึงการติดต่อประสานกับผู้ทำงานระบบต่าง ๆ ตั้งแต่อาคารที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน รวมถึงอาคารสาธารณะ หรือสถานบริการที่มีลักษณะพิเศษ เช่น พิพิธภัณฑ์ สนามบิน เป็นต้น

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    ต้องมีความรู้และเข้าใจถึงลักษณะงาน และสภาพแวดล้อมของงานนั้น ๆ มีทักษะและมีความเข้าใจทางด้านศิลปะในเชิงสร้างสรรค์ และมองการณ์ไกล สามารถเปิดรับความรู้ใหม่ๆ ได้ ต้องเป็นนักตั้งปัญหาที่ดีและมีความละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงการมีรสนิยมที่ดีด้วย มีมนุษยสัมพันธ์ดีในการติดต่อประสานงานกับทุกฝ่าย ชอบและสนใจสิ่งสวยงามด้านศิลปะ ดนตรี และวรรณคดี เข้าใจงานช่างเทคนิค เพื่อทำงานร่วมกันได้ในสาขาเกี่ยวข้องกัน และติดตามความเคลื่อนไหวของวงการและการเปลี่ยนแปลงของศิลปะการออกแบบ การตลาด และธุรกิจ

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพต้องมีพื้นฐานทางศิลปะและเป็นบุคคลที่ละเอียด ถี่ถ้วนมีหัวก้าวหน้า จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายศิลป เข้าศึกษาต่อคณะมัณฑนศิลป์ ในสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ระยะเวลาตามหลักสูตรมีทั้งที่เปิดสอน 4 ปี และ 5 ปี ในระดับปริญญาตรี และ 2 ปี ในระดับปริญญาโท สามารถเสริมประสบการณ์ได้โดยการเข้าฝึกงานกับบริษัทที่ดำเนินกิจการด้านนี้อยู่ ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งของไทยและต่างชาติ การสมัครเข้าศึกษาใช้การสอบคัดเลือกกับทบวงมหาวิทยาลัย

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    มัณฑนากรเป็นอาชีพที่ต้องให้บริการแนะนำและแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์แก่ผู้ว่าจ้างสำหรับความก้าวหน้าในอาชีพมัณฑนากรนั้นขึ้นอยู่กับว่ามัณฑนากรผู้นั้นเป็นผู้ที่มีความละเอียด ถี่ถ้วน และมีความคิดเชิงสร้างสรรค์ที่ดีหรือไม่ รายได้ของอาชีพนี้ค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา เป็นมัณฑนากร หรือนายช่างออกแบบตกแต่งภายในของหน่วยราชการ สำนักงาน หรือห้างร้านต่าง ๆ หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว ศึกษาต่อปริญญาโทและเอก ทั้งในและต่างประเทศ

    4.นักออกแบบผลิตภัณฑ์

    ลักษณะงาน
    ออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ของตกแต่ง หีบห่อ กราฟิก เครื่องประดับโลหะหรือพลาสติก เป็นต้น เขียนแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และควบคุมดูแลการผลิตให้เป็นไปตามแบบ เพื่อให้ได้งานในลักษณะที่ต้องการ

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    รักการเรียนรู้ ช่างสังเกต และมีเหตุผล สามารถปรับเปลี่ยนในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัว มีความเชื่อมั่น มีศักยภาพทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ตรงต่อเวลา รักษาความถูกต้อง และรับผิดชอบต่อสังคมในการออกแบบอย่างมีวิจารณญาณ

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทยาศาสตร์ หรือสายศิลป มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถแสดงให้ทราบได้บนกระดาษ เข้าศึกษาต่อภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    การออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่มีจุดอิ่มตัว เนื่องจากสังคมยังมีความต้องการสิ่งใหม่ๆ ต่อไปเรื่อยตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป งานออกแบบก็จะอยู่คู่ยุคสมัยต่อไปเรื่อยไม่มีวันจบ สามารถประกอบอาชีพเป็นนักออกแบบ หัวหน้า ผู้เชี่ยวชาญ ผู้กำหนดทิศทาง ศึกษาต่อระดับ ปริญญาโทและเอก ทั้งในและต่างประเทศ

    5.ศิลปินสาขาทัศนศิลป์

    ลักษณะงาน
    ผลิตผลงานศิลปกรรมที่มีคุณค่าทางความงาม และความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชน

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    เป็นผู้มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ ทางด้านศิลปะ มีทักษะในการนำเสนอความคิดอย่างมีรสนิยม มองการณ์ไกลและสามารถเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ ได้

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    มีความตั้งใจจริง มีความรู้พื้นฐานทางศิลปกรรม เข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาด้านศิลปกรรม ซึ่งมีทั้งของรัฐและเอกชน ใช้เวลาในการศึกษา 4 ปี ในระดับปริญญาตรี และ 2 ปี ในระดับปริญญาโท

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    เป็นศิลปิน ความสำเร็จในอาชีพขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัว

    6.นักออกแบบนิเทศศิลป์ (Visual Communication Designer)

    ลักษณะงานมี 3 ลักษณะ ได้แก่
    1.1 การออกแบบเลขศิลป์ทางการพิมพ์ ได้แก่ การออกแบบเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร หนังสือ ภาพโฆษณา เครื่องหมายการค้า บรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์เบ็ดเตล็ด
    1.2 การออกแบบเลขศิลป์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การออกแบบที่แสดงสินค้า นิทรรศการ ตัวอักษรสัญลักษณ์ของอาคารสถานที่ เครื่องหมายจราจร แผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในที่สาธารณะ
    1.3 การออกแบบหัวเรื่องภาพยนตร์และโทรทัศน์ ภาพนิ่งโฆษณาทางโทรทัศน์ และภาพยนตร์โฆษณา

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    มีความคิดสร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง มีทักษะทางวิชาชีพโดยสามารถสื่อสารได้ชัดเจนและตรงเป้าหมาย รอบรู้ในเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความใฝ่รู้ในเรื่องต่างๆ รอบตัว ช่างสังเกต มีทักษะทางภาษาดี มีจริยธรรมโดยไม่ลอกเลียนความคิดของผู้อื่น และมีสำนึกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีวินัยของนักออกแบบ คือ ตรงต่อเวลา มีความพร้อมในการทำงาน และไม่เอาเปรียบลูกค้า

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    ควรเป็นผู้ที่มีความต้องการเป็นนักออกแบบนิเทศศิลป์ เข้าใจลักษณะงาน หน้าที่และความรับผิดชอบของวิชาชีพนี้ เข้าศึกษาระดับปริญญาตรี (4 ปี) สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน ในระหว่างภาค ฤดูร้อน สามารถสร้างเสริมประสบการณ์โดยฝึกงานในด้านที่ตนเองสนใจ และถนัดกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ บริษัทออกแบบกราฟฟิก บริษัทโฆษณา บริษัทผู้ผลิตสื่อโฆษณา สำนักพิมพ์หรือองค์กรอื่น ๆ การคัดเลือก เข้าศึกษาจะต้องสอบวิชาพื้นฐานทางศิลปะและความถนัดทางศิลปะเฉพาะด้านเพิ่มเติม

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    ทำงานเป็นนักออกแบบในสาขาที่เกี่ยวข้องในหน่วยงานรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ที่ดำเนินกิจการทางด้านการออกแบบกราฟิก การพิมพ์และการโฆษณาหรืออาจเป็นเจ้าของกิจการเอง ความสำเร็จในอาชีพขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัว และการพัฒนาตนเองให้มีความเหมาะสมในการเป็นหัวหน้างานได้ สามารถศึกษาต่อใน
    ระดับปริญญาโทและเอก ในประเทศและต่างประเทศ

    7.นักแสดง

    ลักษณะงาน
    แสดงบทบาทต่าง ๆ ในการแสดงละครหรือภาพยนตร์ ซ้อมบทบาทที่ต้องแสดงโดยการศึกษาเนื้อเรื่องและบทที่ได้รับมอบหมายให้แสดง แสดงบทตลก บทที่เคร่งเครียด โดยการใช้ถ้อยคำหรือกิริยาท่าทางแสดงประกอบ อาจร้องเพลง เต้นรำหรือฟ้อนรำ อาจชำนาญในการแสดงบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการแสดงประเภทใดประเภทหนึ่ง และอาจมีชื่อเรียกตามบทบาทหรือประเภทของการแสดง

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    มีความถนัดทางศิลป มีสุนทรียะ สนใจสิ่งสวยงาม ดนตรี วรรณกรรม มีอารมณ์อ่อนไหว มีจินตนาการสูง มีความคิดสร้างสรรค์ และไม่ลอกเลียนแบบใคร

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายศิลป (ภาษา) มีความถนัดและสนใจด้านศิลปะ ศึกษาต่อสาขาดนตรีไทย สาขาดนตรีสากล สาขาศิลปการละคร สาขาสื่อสารการแสดง คณะครุศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ หรือคณะนิเทศศาสตร์ ทั้งในสถาบันอุดมศึกษา ของรัฐและเอกชน

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    รับราชการหรือทำงานเอกชน เป็นนักแสดง นักร้อง นักดนตรี โอกาสก้าวหน้าขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้แสดง และความนิยมของผู้ชม

    8.ช่างตกแต่งหน้าร้าน (นฤมิตศิลป์)

    ลักษณะงาน
    เขียนภาพศิลป์ และจัดแสดงหน้าร้านหรือสถานที่แสดงสินค้าอื่น ๆ เขียนภาพสเกตซ์และแผนผังการแสดง ออกแบบและให้สีสินค้าที่นำออกแสดงตลอดจน เครื่องติดตั้งอยู่กับที่หรือแผ่นป้ายโฆษณา จัดสีให้กลมกลืนกันและออกแบบให้มีสินค้าที่จะนำออกแสดง และสร้างเครื่องติดตั้งอยู่กับที่ ให้คำแนะนำชี้แจงและควบคุมคนงานในการจัดวางสิ่งของที่นำออกแสดง และสร้างเครื่องติดตั้งอยู่กับที่ จัดฉากหลังและเครื่องติดตั้งอยู่กับที่ไว้ตามที่ต่าง ๆ และจัดวางสินค้าโดยเน้นให้เห็นอย่างเด่นชัด อาจออกแบบและให้มีเครื่องหมายของห้างร้าน หรือป้ายแสดงรายการ หรือออกแบบและให้สีสำหรับการตกแต่งภายใน

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    1. เป็นผู้มีความสนใจและมีทักษะในวิชาศิลปกรรม
    2. มีนิสัยและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการแสดงออกทางศิลปะ
    3. มีความรู้และความสามารถทางด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาไทยและ ภาษาอังกฤษ
    4. มีคุณธรรม จริยธรรม และมีความรับผิดชอบ
    5. มีบุคลิกภาพดี และมีมนุษยสัมพันธ์
    6. มีความอดทน และขยันหมั่นเพียร

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    1. สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ
    2. ศึกษาต่อในสาขาวิชา นฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะเวลาการศึกษาอบรมประมาณ 4 ปี

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    สามารถประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยการรับออกแบบตกแต่งหน้าร้าน รายได้และความก้าวหน้าขึ้นอยู่กับผลงาน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน

    9.ผู้แสดงระบำ (รำฟ้อน)

    ลักษณะงาน
    แสดงระบำ (รำฟ้อน) ในฐานะเป็นผู้แสดงเดี่ยว ผู้แสดงร่วมคู่ หรือเป็นกลุ่มฝึกฝนตามแบบฝึกหัด เพื่อให้ร่างกายทุกส่วนมีความว่องไว อ่อนไหว ดูนุ่มนวล มีพลัง (กล้ามเนื้อ) ทั้งแขนและขา หมั่นฝึกซ้อมเป็นประจำ แสดงระบำทั้งในด้านการเต้นแบบวิสุทธิศิลป์ หรือแบบประยุกต์ เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกทั้งร่างกายและใบหน้า ตามบทเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ อาจขับร้องเพลง หรือนำสิ่งที่เหมาะสมมาประกอบในการแสดงระบำด้วย โดยปกติมักจะเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามแบบอย่างของการแสดงระบำ เช่น ท่าเต้นรำแบบทั่ว ๆ ไป นาฏศิลป์ไทย หรือการร่ายรำแบบพื้นเมือง และอาจมีชื่อเรียกตามแบบอย่างของการแสดงระบำ

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    1. เป็นผู้ที่มีความสนใจและมีทักษะในวิชานาฏยศิลป์
    2. มีความอดทน ขยัน และมีความรับผิดชอบต่อการฝึกฝนทักษะทางด้านนาฏศิลป์
    3. มีสุขภาพอนามัยทางร่างกายและทางจิตใจดี
    4. มีมนุษยสัมพันธ์และบุคลิกภาพดี
    5. มีความเชื่อมั่นในตนเองและกล้าแสดงออก
    6. มีคุณธรรม จริยธรรม และซื่อสัตย์

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    1. สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
    2. ศึกษาต่อในสาขาวิชา นาฏศิลป์หรือนาฏยศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันราชภัฏและวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ ระยะเวลา การศึกษาประมาณ 4 ปี

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    - รับราชการในหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย เป็นต้น หรือรับจ้างบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านการแสดงนาฏศิลป์ ในโรงแรม ภัตตาคาร หรือสวนอาหาร

    10.นักดนตรี

    ลักษณะงาน
    เป็นผู้ปฏิบัติเครื่องดนตรีตั้งแต่ 1 เครื่องขึ้นไป โดยไม่คำนึงว่าเป็นผู้แสดงเดี่ยว ผู้เล่นแนวคลอ หรือเป็นนักดนตรีประจำอยู่ในวงดุริยางค์ วงดนตรีหรือกลุ่มดนตรีประเภทใด ฝึกฝนและหมั่นซ้อมตามบทเพลง รู้วิธีการเทียบเสียงให้ถูกต้องตามระดับเสียงของเครื่องดนตรี และเล่นดนตรีด้วยการอ่านโน้ตเพลง หรือจากความจำ โดยทั่วไปอาจมีชื่อเรียกตามชื่อของเครื่องดนตรีที่ปฏิบัติอยู่ เช่น นักไวโอลิน นักเซลโล่ นักเป่าคาลิเน็ต เป็นต้น

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    มีความขยันหมั่นเพียร อดทน มีมนุษยสัมพันธ์ดี คล่องแคล่ว ทันสมัย มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงออก และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    ศึกษาต่อในคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือสถาบันราชภัฏฯ

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    ประกอบอาชีพเป็นนักดนตรี ตามวงดุริยางค์ วงดนตรีหรือกลุ่มดนตรี ตามความสามารถในเครื่องดนตรีที่ตนถนัด

    11.ประยุกต์ศิลป์

    ลักษณะงาน
    สร้างงานศิลป หรือออกแบบงานประยุกตศิลป์ ซึ่งหมายถึง งานที่มีประโยชน์ใช้สอยเฉพาะกรณี เฉพาะโอกาสหรือสถานที่ เรื่องราวที่กำหนด เช่น ภาพผนังของสถาบันวิจัยทางการประมงจะต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในน้ำ หรืองานศิลปที่ใช้สื่อเฉพาะพิเศษ เช่น สิ่งทอหรือประติมากรรมแก้ว

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    คุณสมบัติสำคัญ 3 ประการที่ผู้ศึกษาจะต้องมี คือ
    1. ความรอบรู้ชำนาญในวิชาการทางศิลป เพื่อสร้างรูปทรงของงานศิลป ออกแบบองค์ประกอบของงานบัณฑิตในสาขานี้ต้องมีความรู้ทั้งในด้านวิจิตรศิลป และความรู้ประกอบอื่น ๆ ที่เพียงพอในการสร้างงานที่มีการประยุกต์เฉพาะกรณี
    2. ต้องมีความรอบรู้ในเนื้อหา เรื่องราวของงานเป็นอย่างดี
    3. มีคุณธรรมสูง รู้เท่าทันที่จะไม่นำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด หรือเปิดโอกาสให้ผู้อื่นฉวยโอกาสนำไปใช้ในทางที่ผิด

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    ผู้สนใจศึกษาในสาขานี้ต้องมีความเข้าใจว่า อาชีพศิลปิน สาขาประยุกตศิลป์นี้โดยธรรมชาติของเนื้อหาประกอบด้วยวิชาการที่กว้างขวางหลายสาขา และไม่หยุดนิ่ง จึงควรเตรียมตัวดังนี้
    1. พัฒนาตนเองให้มีความรอบรู้ สามารถดึงความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ได้ตลอดเวลา เช่น ต้องมีความรู้ภาษาต่างประเทศดีพอควรเพื่อค้นคว้าอ่านวารสาร เอกสารต่าง ๆ
    2. มีความชำนาญเฉพาะด้านอื่นๆ เพียงพอ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ ความรู้ทางวัสดุศาสตร์ที่เกี่ยวกับงานของตน
    3. มีการฝึกอบรมในบริษัท รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนการสัมมนามากมายซึ่งบัณฑิตในสาขานี้ต้องตื่นตัวและแสวงหา

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    บัณฑิตที่จบในสาขานี้มีโอกาสทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน งานในภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ ของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาบันหรือ ท้องถิ่นต่าง ๆ การสร้างหรือการออกแบบสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้และมีคุณค่าทางความงาม เช่น ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ที่มีความสวยงาม และมีสัญลักษณ์เป็นพิเศษ บัณฑิตที่ได้พัฒนาศักยภาพของตนทั้งในด้านอาชีพและการบริหาร ความเป็นผู้นำย่อมมีโอกาสเลื่อนขึ้นไปเป็นหัวหน้าหน่วยงาน มีความมั่นคงในอาชีพการงานได้เช่นเดียวกับศิลปะสาขาอื่น ๆ

    12.ช่างเขียนแบบโฆษณา (ศิลปะไทย) ลักษณะงาน

    เขียนและออกแบบภาพเพื่อลงในหนังสือ วารสาร แผ่นป้ายโฆษณา แผนภูมิ ฉลากปิดภาชนะ ศึกษารายละเอียดต่าง ๆ หรือปรึกษางานกับผู้ควบคุมงาน หรือลูกค้า เพื่อพิจารณากำหนดความคิดที่จะออกแบบแผนภาพ และเนื้อที่ที่ใช้ในการเขียนภาพ ข้อความต่างๆที่เกี่ยวกับการเขียนภาพ ทำความเข้าใจในข้อความที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะนำมาเขียนภาพประกอบเสร็จแล้วนำเสนอลูกค้าเพื่อพิจารณาอนุมัติ เลือกใช้เครื่องเขียน เช่น ดินสอ หมึก สีน้ำมัน สำหรับเขียนภาพที่ต้องการ อาจชำนาญในการเขียนภาพประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ภาพประกอบเรื่อง หรือภาพโฆษณา

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    1. เป็นผู้มีความสนใจและมีทักษะในวิชาศิลปะไทย
    2. มีนิสัยและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการแสดงออกทางศิลปะไทย
    3. มีคุณธรรม จริยธรรม และมีความอดทน
    4. เห็นคุณค่าและความสำคัญของศิลปะไทย
    5. มีมนุษยสัมพันธ์ดี

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    1. สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
    2. ศึกษาต่อในสาขาวิชา ศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 4 ปี หรือคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 5 ปี

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    1. ภาครัฐ รับราชการในหน่วยงานที่ทำหน้าที่เผยแพร่การทำงานหรือการให้บริการ เช่น ศูนย์สารสนเทศของหน่วยงานต่าง ๆ ศูนย์วิเทศสัมพันธ์ เป็นต้น
    2. ภาคเอกชน เข้าทำงานในบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการโฆษณาหรือการประชาสัมพันธ์
    3. ประกอบอาชีพส่วนตัวโดยการรับทำป้ายโฆษณาหรือออกแบบโฆษณาต่าง ๆ

    13.นักออกแบบเครื่องเคลือบดินเผา

    ลักษณะงาน
    เป็นอาจารย์สอน ศิลปิน เป็นนักออกแบบเซรามิกส์ และสามารถทำต้นแบบจนถึงขบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ได้

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    เป็นผู้มีความคิดในเชิงสร้างสรรค์ รักงานศิลปะ ชอบค้นคว้า ทดลองประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ แปลกๆ มีความสนใจและติดตามงานศิลปะอื่นๆ มีความอดทน และสู้งานหนัก

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายศิลป หรือสายวิทยาศาสตร์ หรืออาชีวะศิลป์ ปวช.ที่มีความสามารถทางด้านศิลปะ ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าศึกษาต่อสาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รับนักศึกษา ปีละประมาณ 25 คน โดยผ่านการสอบคัดเลือกของทบวงมหาวิทยาลัย

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    เป็นมัณฑนากร หรือนักออกแบบเซรามิกส์ ในหน่วยงานของราชการ โรงงานอุตสาหกรรมเซรามิกส์ หรือประกอบธุรกิจส่วนตัวหรือเป็นศิลปินอิสระศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในประเทศหรือต่างประเทศ คุณลักษณะที่สำคัญที่สุดที่มีผลต่อความสำเร็จ คือ จะต้องมีทัศนคติอันดีเลิศต่องานที่ทำ รักงานที่ทำ มีความอดทน และสู้งานหนัก

    14.นักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม

    ลักษณะงาน
    ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เช่น เครื่องเรือน เครื่องนุ่งห่ม เครื่องปั้นดินเผา เครื่องแก้ว เครื่องเพชรพลอย สิ่งทอ สิ่งถัก และเครื่องใช้ภายในบ้านเรือน โดยออกแบบให้มีรูปลักษณะที่สวยงามและใช้ประโยชน์ได้ด้วย พิจารณาถึงจุดมุ่งหมาย ต้นทุน รายการทางเทคนิคต่างๆ วิธีการผลิต และความพอใจของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ ร่างแบบแสดงลักษณะ รูปร่าง ขนาดและรายการอื่นๆ ของผลิตภัณฑ์ นำภาพเขียนเสนอขอความเห็นชอบจากฝ่ายจัดการหรือลูกค้า และดัดแปลงแก้ไข แบบเท่าที่จำเป็น อาจชำนาญการออกแบบผลิตภัณฑ์ประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    1. มีความคิดสร้างสรรค์ และมีจินตนาการ
    2. มีความสามารถและทักษะในการออกแบบผลิตภัณฑ์
    3. มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบ
    4. มีความสนใจทางด้านศิลปะการสื่อความหมายประเภทต่าง ๆ
    5. มีความรู้กว้างขวาง และสนใจที่จะใฝ่หาความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างจริงจัง
    6. มีคุณธรรม และจริยธรรม

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    1. สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
    2. ศึกษาต่อในสาขาวิชา ศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ใช้เวลาในการศึกษา 5 ปี

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    สามารถประกอบวิชาชีพอิสระ รับราชการ หรือทำงานบริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เช่น เครื่องเรือน เครื่องแก้ว เครื่องเพชรพลอย เครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น

    15.นักออกแบบเครื่องแต่งกาย
    ลักษณะงาน
    สร้างแบบผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ออกแบบโดยพิจารณาถึงจุดมุ่งหมาย ต้นทุน รายการทางเทคนิคต่างๆ วิธีการผลิต และความพอใจของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย ร่างแบบ นำภาพเขียนเสนอขอความเห็นชอบจากฝ่ายจัดการหรือลูกค้า และต้องดัดแปลงแก้ไขแบบตามความจำเป็น

    คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
    เป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบ ประณีต มีใจรักและสนใจในวิทยาการและแฟชั่นใหม่ ๆ เสมอ มีมนุษยสัมพันธ์ดี ใจเย็น มีศิลปะ และมีรสนิยมการแต่งกายดี

    การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ
    ศึกษาต่อสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์-เกษตร คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาบ้านและชุมชน คณะมนุษยศาสตร์ หรือสาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ ในสถาบันอุดมศึกษา

    แนวทางในการประกอบอาชีพ
    เป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายของห้องเสื้อ สถาบันสอนการออกแบบ เป็นนักออกแบบอิสระ หรือ ประกอบอาชีพส่วนตัว เปิดห้องเสื้อออกแบบเครื่องแต่งกาย

    ขอขอบคุณ

    ภาพ :istockphoto