"จุฬาฯ-สกอ."ร่วมพัฒนาโปรแกรมกันก็อปปี้"วิทยานิพนธ์" ลองใช้ตั้งแต่ปี′56 ได้ผลเยี่ยม!

"จุฬาฯ-สกอ."ร่วมพัฒนาโปรแกรมกันก็อปปี้"วิทยานิพนธ์" ลองใช้ตั้งแต่ปี′56 ได้ผลเยี่ยม!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) นายพินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการโครงการพัฒนาระบบเพื่อกำกับคุณภาพมาตรฐานจัดทำและบริหารการจัดการวิทยานิพนธ์สำหรับสถาบันอุดมศึกษาร่วมกับนพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เกี่ยวข้อง ว่า

การกำกับดูแลการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพ ยังคงมีปัญหา หนึ่งในปัญหาเหล่านั้นคือการคัดลอกวิทยานิพนธ์ สะท้อนถึงการผลิตบัณฑิตที่ไม่มีคุณภาพ ทั้งนี้ การพัฒนาระบบเพื่อกำกับคุณภาพมาตรฐานฯ ครั้งนี้ ถือเป็นทรัพยากร และการพัฒนาฐานข้อมูลร่วมกัน อีกทั้ง อาจส่งผลโดยอ้อมในการกำกับดูแล และป้องกันการจ้างทำวิทยานิพนธ์ รวมถึง ลดจำนวนการคัดลอกผลงานทางวิชาการได้

นายอมร เพชรสม รักษาการผู้อำนวยการวิทยทรัพยากร จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯ ได้พัฒนาโปรแกรมการตรวจจับการลักลอบวรรณกรรมภาษาไทย ชื่อ "อักขราวิสุทธิ์" และอนุญาตให้สถานศึกษารัฐ และเอกชนร่วมใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษาร่วมใช้งานประมาณ 60 แห่ง

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบวรรณกรรมตั้งแต่ต้นทาง จุฬาฯ จึงพัฒนาการโปรแกรมการเขียนวิทยานิพนธ์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่กับโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ เพื่อให้การเขียนวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปใช้งานได้กับวิทยานิพนธ์ของปริญญาโท และปริญญาเอกของจุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2556 และมีวิทยานิพนธ์ผ่านโปรมแกรมทั้งสองกว่า 4,000 เล่ม ทำให้ได้วิทยานิพนธ์ที่ได้มาตรฐาน และผ่านการตรวจสอบการคัดลอก และลอกเลียนวรรณกรรม ทั้งตั้งใจ และที่ไม่ตั้งใจ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า จุฬาฯ ได้เริ่มพัฒนาโปรแกรมการเขียนวิทยานิพนธ์ และการตรวจสอบการคัดลอกวรรณกรรม โดยมีความร่วมมือจากคณะอักษรศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านอักษร และคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook