เปิดใจ ′คนสัก′ เมื่อสังคมไม่ต้องการ "มันก็แค่ความชอบส่วนตัว"

เปิดใจ ′คนสัก′ เมื่อสังคมไม่ต้องการ "มันก็แค่ความชอบส่วนตัว"

เปิดใจ ′คนสัก′ เมื่อสังคมไม่ต้องการ "มันก็แค่ความชอบส่วนตัว"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สรวิศ รุ่งเลิศมณีพงศ์

"..บ้างก็ว่าฉันเป็นคนอย่างนั้น บ้างก็ว่าฉันเคยทำอย่างนี้
ว่ากันว่าฉันเป็นคนไม่ดี ว่าแต่ว่าไม่เคยคุยกับฉันซักที"

ส่วนหนึ่งจากเพลง "น้ำลาย" ของวงซิลลี่ ฟูล ที่บอกเล่าถึงการถูกตัดสินจากคนในสังคมทั้งที่ยังไม่รู้จักกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ "ขมขื่น" อยู่มิใช่น้อย อาทิ ถูกตัดสินจากแนวคิดทางการเมือง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หน้าตา และทรงผม

รวมไปถึงเรื่อง "รอยสัก"

หลังจากที่สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยได้จัดประชุมผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการวิทยาลัยเอกชนที่เปิดสอนด้านช่างอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อหารือเรื่องพฤติกรรมนักเรียนนักศึกษาที่ส่งผลต่อการเกิดเหตุทะเลาะวิวาท นำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สินและชีวิต กระทั่งข้อสรุปว่าจะไม่รับนักเรียนที่มี "รอยสัก" เข้าเรียนในปีการศึกษา 2559

กระแสต่อต้านได้ตามมาแทบทันควัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรอยสัก เพราะพวกเขาได้ถูกตัดสินจากคนกลุ่มหนึ่งของสังคม ตัดสิทธิพื้นฐานในการเรียนหนังสือที่พวกเขาพึงได้รับ

เสียงสะท้อนจากคนเหล่า "คนสัก" เป็นเช่นไร แท้จริงแล้วการมี "รอยสัก" เท่ากับเป็น "คนไม่ดี" หรือไม่

และประวัติศาสตร์ในอดีตพูดถึงคนมีรอยสักไว้ว่าอย่างไร

ร่วมรับฟังจากพวกเขากัน ณ ที่นี้


"ปริญญ์" การสักไม่ได้ทำให้ "คนโง่"
ความชื่นชอบ ไม่ใช่อาญากรรม

"Don′t judge a book by it cover."

"สังคมไทยมักตัดสินคนจากภายนอกอยู่ตลอด ยังไม่ทันรู้จักแค่เห็นคนมีรอยสักก็มองคนคนนี้เป็นคนเลวไว้ก่อน"

ปริญญ์ เจียรมิ่งขวัญ วิศวกรหนุ่ม สังกัดบริษัทอุตสาหกรรมการบินแห่งหนึ่ง ได้เริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงสภาพของสังคมไทย ที่คนมีรอยสักอย่างเขามักถูก "ตัดสิน" จากคนในสังคม อีกทั้งเนื่องด้วยรูปร่างที่สันทัด กำยำ ประกอบกับลวดลายของลายสักสไตล์ญี่ปุ่นที่เขามี ทำให้หลายคนมองชายคนนี้ราวกับ "ยากูซ่า"

"หลายคนมองอย่างนั้นนะ คือผมก็ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นคนที่ดีมาก แต่การสักและการใช้ชีวิตของผมก็ไม่เคยทำร้ายใคร"

"คนที่ตัดสินคนที่มีรอยสักไปแล้ว นั่นแหละคือคนที่ทำร้ายคนอื่น"

ส่วนกรณีที่โรงเรียนอาชีวะเอกชนมีมาตรการไม่รับนักเรียนที่มี "รอยสัก" เข้าเรียนนั้น ยังไม่ทันถามได้จบประโยค ก็แว่วเสียงถอนหายใจเฮือกใหญ่แทรกเข้ามาให้ได้ยินก่อน

"มันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา"

"บางทีคนไม่มีรอยสัก อาจจะเป็นคนที่ทะเลาะวิวาทกับคนอื่นก็ได้ และที่สำคัญมีรอยสักไม่ได้หมายความว่าโง่ หรือเป็นคนเลวจนเรียนหนังสือไม่ได้"


ปริญญ์ เจียรมิ่งขวัญ - นันทวิช เหล่าวิชยา

ปริญญ์ เล่าให้ฟังว่าเขาสักมาตั้งแต่ ม.3 ที่ต้นขา ก่อนที่เพิ่มลวดลายขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็ไม่ได้มีปัญหากับการเรียนแต่อย่างใด

"ตอนขึ้น ม.ปลาย ก็เรียนได้ไม่มีปัญหา จบมาก็เรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระหว่างเรียนก็สักเพิ่มตลอด เรียนจบมาก็มีงานทำ ก็ไม่เห็นว่าการสักจะเป็นปัญหากับการเรียนหนังสือ"

ปริญญ์บอกว่าอีกว่า หากถามว่าจะแก้ปัญหาค่านิยมทางลบเกี่ยวกับคนสักอย่างไร เขาบอกว่าคงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะคนไทยส่วนมากยังคงยึดอยู่กับความเชื่อเดิมๆ อีกทั้งคนที่มีรอยสักที่ประสบความสำเร็จในรูปแบบที่สังคมต้องการยังไม่มีมากนัก

"คนที่สักแล้วมีชื่อเสียงส่วนมากเป็นดารา นักกีฬา ไม่ก็นักดนตรี ดังนั้นคนที่ไม่ได้เป็นสามอาชีพนี้ ถ้าสักก็จะถูกมองอีกแบบหนึ่ง"

"ความจริงสุดท้ายแล้ว การสักมันไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายแต่เป็นความชื่นชอบส่วนบุคคล มันก็แค่นั้น"

"ความเลวร้ายที่แท้จริงคือการตัดสินคนอื่นตามกรอบของตนเองมากกว่า"

สื่อกับ ′รอยสัก′
การสร้างภาพลบ ที่ยากจะลบล้าง

"สื่อมีส่วนที่จะประกอบสร้างความจริงทางสังคมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรอยสักหรือ กรณีอื่นๆ ก็ตาม"

นันทวิช เหล่าวิชยา หัวหน้าภาควิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เริ่มต้นเล่าถึงการประกอบสร้างความจริงทางสังคมอย่างน่าสนใจ ก่อนที่จะยกตัวอย่างว่า หากเราจะมองว่าผู้หญิงคนหนึ่งสวย เราก็จะนึกถึงผู้หญิงผิวขาว ผมยาว ตัวผอม เพราะว่าสื่อนำเสนอว่าคนที่มีรูปลักษณ์แบบนี้คือนางเอก เราจึงรับรู้ว่าแบบนี้คือสวย

เช่นเดียวกันคนที่มีรอยสัก เวลาปรากฏตัวอยู่ในละคร หรือรายการต่างๆ ก็จะพบว่ามีภาพลักษณะที่ปรากฏตัวออกสื่อในเชิงลบ

"ดังนั้นเมื่อสื่อนำเสนอในทางลบบ่อยเข้า มันก็จะมีการประกอบสร้างความจริงว่า เฮ้ย ถ้าเกิดใครมีรอยสักแสดงว่าเป็นคนไม่ดีแน่ๆ"

"ถ้าเกิดมีคนหนึ่งสัก อีกคนหนึ่งไม่สัก คนที่จะถูกตั้งคำถามคือคนที่มีรอยสักอยู่เสมอ"

นันทวิช จึงยืนยันว่าสื่อมีส่วนในการทำให้เกิดภาพลบกับคนที่มีรอยสักอย่างแน่นอน


สมฤทธิ์ ลือชัย (ภาพจากเฟซบุ๊ก Sa-nguan Khumrungroj)

อีกมุมหนึ่งในฐานะ "ครู" นันทวิช มองกรณีมาตรการของไม่รับนักเรียนที่มี "รอยสัก" ว่า จริงๆ แล้ว ทุกคนควรมีโอกาสและสิทธิทางการศึกษา เราไม่ควรจะไปกีดกันเขาด้วยเรื่องของรอยสัก ซึ่งเป็นเรื่องเล็กๆ

"บางคนมีรอยสักแต่มีความประพฤติดีก็มีถมไป ส่วนคนที่ไม่สักแต่มีความประพฤติแย่ก็มี ถ้าจะให้คนมองอาชีวะในภาพบวกมันมีสิ่งอื่นให้ทำได้อีกมากกว่าจะมาจับจ้องในเรื่องรอยสัก"

ก่อนที่นันทวิชจะเสริมว่าจริงๆแล้วอาชีวะมีส่วนสำคัญในการสร้างบุคลากรออกมาขับเคลื่อนประเทศมาก ดังนั้นตามหลักการทางการศึกษาแล้วสิ่งที่ควรมุ่งเน้นไม่ควรที่จะเป็นที่มาของนักเรียน แต่กระบวนการในการผลิตต่างหากที่สำคัญที่สุดในการสร้างผลลัพธ์

"ถ้าเกิดเราอยากให้เด็กอาชีวะออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ดีมันควรจะอยู่ที่กระบวนการมากกว่าที่จะไปดูว่าที่มาของนักเรียนว่าเป็นอย่างไร"

"ถ้าถามผม ผมว่าเรื่องนี้มันไม่สมเหตุผลสักเท่าไรนัก"


บันทึกจากในอดีต
ความนิยมของ "รอยสัก" สัญลักษณ์ทางความเชื่อ

ในขณะที่ปัจจุบันรอยสักมีภาพในด้าน "ลบ" แต่อดีตในบางพื้นที่การมีรอยสักกลับเป็นภาพในเชิง "บวก"

เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็น "ชาย"

เรื่องนี้ สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ เล่าให้ฟังว่า ในอดีตรอยสักนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชายแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของชาติพันธุ์ ความเชื่อเรื่องความคงกระพัน ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ในทางลบแม้แต่น้อย

สิ่งหนึ่งที่พบได้คือ การให้ความหมายเรื่องรอยสักเปลี่ยนไปในแง่ของวัฒนธรรม สมฤทธิ์ยกตัวอย่างกรณี "ลาวพุงดำ" ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนทางล้านนา ทั้งไทใหญ่ พม่า ไทลื้อและคนลาวบางกลุ่ม

"สมัยโบราณนั้น สักในแง่ของความคงกระพันชาตรีและผู้สักนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เช่น ถ้าคุณเป็นผู้ชายในหมู่บ้านแล้วถ้าคุณไม่สัก คุณก็จะถูกกีดกันจากสังคม ไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะการสักเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ทำให้เราต้องคล้อยตาม และการสักยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นผู้ชาย เสน่ห์มหานิยม ซึ่งเป็นความเชื่อแบบเก่า"

ขณะที่ค่านิยมจากเรื่องของความเป็นชายนั้นผลัดเปลี่ยนไปสู่ค่านิยมที่ว่าคนสักคือคนไม่ดีนั้น สมฤทธิ์อธิบายอย่างเรียบง่ายและชัดเจนว่า บนเขาที่เชียงใหม่เด็กวัยรุ่นยังนิยมไปสักกันอยู่เช่นเดียวกับคนสูงอายุ ตามความเชื่อเดิมและอีกกลุ่มที่สักตามกระแสนิยม

"ฉะนั้น การออกนโยบายว่ามีรอยสักไม่ให้เข้าเรียน ผมถามว่าถ้าเด็กคนไหนมีความเชื่อแบบเก่าแล้วสักเพื่อความเป็นมงคลแบบที่ชุมชนเขาทำล่ะ ถ้าในชุมชนเขา ทั้งพ่อแม่และบรรพบุรุษเขาสักแล้วเขาก็สักตามแสดงว่าเขาผิดหรือ แล้วเขาเองก็เป็นคนดีเขาไม่มีสิทธิเข้าอาชีวะหรือ"

และหากมีผู้ประกาศใช้นโยบายนี้อย่างจริงจัง สมฤทธิ์เป็นอีกหนึ่งคนที่ยืนยันจะต่อต้านอย่างถึงที่สุด แม้เขาจะออกตัวว่าไม่นิยมการสักเลยก็ตาม

"มันไม่ใช่เรื่องเลย กระทรวงศึกษาธิการ ถ้าคุณคิดว่าเขาเป็นคนไม่ดี คุณต้องยิ่งให้การศึกษาเขา ไม่ใช่ไปกีดกัน นี่คืออุดมการณ์ที่ดี"

"คุณต้องโอบอุ้มเขาและให้ความรู้ ชี้ให้เขาเห็น แต่คุณไปสกัดเขาแบบนี้นี่ไม่ใช่การศึกษาแต่นี่คือธุรกิจครับ ถ้าคุณจะทำธุรกิจก็บอกไปเลยว่าธุรกิจ ถ้าคุณคิดจะทำการศึกษาคุณต้องโอบอุ้มเด็กพวกนี้ไม่ใช่มาใช้นโยบายตื้นๆ อย่างนี้ ผมไม่เห็นด้วยกับการที่คุณไปกีดกันอย่างนี้" สมฤทธิ์ย้ำ

นั่นจึงนำมาสู่ข้อเสนอเพียงอย่างเดียวของเขา คือการยกเลิกนโยบายนี้เสีย "ผมยืนยันว่าการศึกษาที่ดีและมีคุณธรรมจะต้องไม่กีดกัน ไม่ใช่เลือกคนที่คิดว่าเป็นคนดีซึ่งดูยากมาก เพียงแค่มีรอยสักกับไม่มีรอยสัก มันบอกได้หรือว่าเป็นคนดี"

"ต้องยกเลิก"

เป็นคำตอบของเขาที่มีต่อนโยบายซึ่งคล้ายจะทอดทิ้งเยาวชนเข้าไปทุกที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook