สรรพากรบี้เก็บ "ภาษีกวดวิชา" ปีนี้ 2,000 รายระทึก รายเล็ก-กลางอ่วม

สรรพากรบี้เก็บ "ภาษีกวดวิชา" ปีนี้ 2,000 รายระทึก รายเล็ก-กลางอ่วม

สรรพากรบี้เก็บ "ภาษีกวดวิชา" ปีนี้ 2,000 รายระทึก รายเล็ก-กลางอ่วม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

สรรพากรทุบโต๊ะ กฎหมายใหม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เริ่มนับหนึ่งเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาทันที ปัดข้อเสนอเลื่อนจัดเก็บไปปีหน้า เรียกกวดวิชา 2,000 แห่งติวเข้ม ด้านผู้ประกอบการเร่งปรับแผนรัดเข็มขัด หวั่นขึ้นราคาค่าคอร์สกำลังซื้อหด


นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า วันที่ 28-29 เม.ย. 2558 นี้ กรมสรรพากรจะเชิญผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาที่มีอยู่ราว 2,000 ราย มารับฟังคำชี้แจงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี และให้ข้อแนะนำเรื่องภาษี ที่กรมสรรพากร เช่น การลงบัญชีที่ถูกต้องต้องทำอย่างไร เป็นต้น โดยจะมีการจัดสัมมนา 4 รอบ รอบละ 500 ราย ส่วนในต่างจังหวัดจะให้ความรู้ผ่านช่องทางอื่น ๆ เช่น ทางเว็บไซต์ยูทูบ ทางสรรพากรแชนเนล และสรรพากรพื้นที่ เป็นต้น


กม.ใหม่มีผลหักภาษีทันที

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาจะเริ่มนับวันจัดเก็บหลังจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยก่อนหน้านั้นจะยังคงได้รับยกเว้นเหมือนเดิม

"กรมจะพิจารณาเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงหลังมีประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ต้องเสียตามกฎหมายใหม่ และช่วงก่อนจะมีประกาศก็ยังคงยกเว้นให้ จะเหมือนกับกรณีการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กับ Non-BOI ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้เสียภาษี ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีธุรกิจเฉพาะแน่นอน จะมีเฉพาะภาษีเงินได้ โดยกรณีเป็นบริษัทต้องเสียภาษีนิติบุคคล หากเป็นบุคคลก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา"

นายประสงค์กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาจะเสนอให้เลื่อนการเก็บภาษีไปอีก 1 ปี คงทำไม่ได้เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางดังกล่าวแล้ว โดยเรื่องนี้เป็นข้อเสนอมาจากทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ใช่กรมสรรพากรเป็นผู้เสนอ


สช.ติวเข้ม ร.ร.กวดวิชา

ด้านความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชา นายอนุสรณ์ ศิวะกุลนายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา เปิดเผยว่า วันที่ 23-24 เม.ย.นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะจัดฝึกอบรมความรู้เรื่องการจัดทำบัญชีและงบดุลให้กับผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชา ประมาณ 200 คน จากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จากนั้นวันที่ 28-29 เม.ย กรมสรรพากรจะชี้แจงแนวทางการจัดเก็บภาษี เพื่อให้โรงเรียนกวดวิชาแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

"เราเห็นว่าระยะห่างระหว่างการคุยกับ สช.กับกรมสรรพากรมีแค่ 5 วัน ถือว่าน้อยเกินไป จึงทำเรื่องไปทาง สช. เพื่อขอเลื่อนวันประชุมมาเป็นวันที่ 16-17 เม.ย. ตอนนี้กำลังรอข้อสรุปว่าได้หรือไม่ เพราะมองว่าวันประชุมของ สช. โรงเรียนกวดวิชาจะมีการพูดคุยกันเพื่อหาข้อสรุป หรือข้อเสนอกับกรมสรรพากรเพิ่มเติม"

ขณะเดียวกันจะหารือ สช. ถึงเรื่องรูปแบบบัญชีสำหรับโรงเรียนที่มีหลายสาขาว่า จะรวมกันทำเป็นบัญชีเดียวกันได้หรือไม่ เพราะหากแยกหลายบัญชีจะเป็นภาระ ตลอดจนเรื่องบัญชีสินทรัพย์จะเป็นอย่างไร ในกรณีของโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนรูปแบบบุคคลธรรมดา และต้องการเปลี่ยนเป็นนิติบุคคล รวมถึงระยะเวลาของการเริ่มต้นบัญชีภาษีว่าให้เริ่มปีหน้าได้หรือไม่ เพื่อจะได้เตรียมตัวจัดการระบบ


รายกลาง-รายเล็ก อ่วม

"ที่เราเป็นห่วงคือโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นรูปแบบบุคคลธรรมดา มีกำไรไม่มาก แต่ต้องมีภาระภาษีเยอะ จะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร อยากให้กรมสรรพากรช่วยขยายฐานภาษีขั้นแรกให้กว้างขึ้น เพื่อให้เขามีภาระภาษีลดลง สำหรับโรงเรียนขนาดกลาง และใหญ่ที่จดทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดา ส่วนใหญ่จะมีเงินได้สุทธิโดยเก็บภาษีเกิน 20% อยู่แล้ว ดังนั้นคาดว่ากลุ่มนี้น่าจะโยกไปเป็นนิติบุคคลมากขึ้น เพราะการจัดเก็บภาษีล็อกไว้ที่ 20% ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นในการบริหารจัดการ"

นายอนุสรณ์กล่าวว่า คาดว่าโรงเรียนกวดวิชาน่าจะถูกจัดเก็บภาษี 8-9% ซึ่งโรงเรียนกวดวิชาแต่ละแห่งจะผลักภาระภาษีไปให้ผู้บริโภคไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดโรงเรียนนั้น ๆ ว่าจะสามารถแบกรับ

ภาษีได้มากน้อยแค่ไหน บางแบรนด์อาจสามารถรับได้ โดยปรับการบริหารจัดการลดต้นทุน อาจไม่ผลักภาระภาษีไปยังผู้บริโภค ขณะเดียวกันกลไกตลาดจะช่วยกำกับดูแลค่าเรียนระดับหนึ่ง

ผมคิดว่าทุกแบรนด์จะผลักภาษีให้ผู้บริโภคเท่าที่จำเป็นและให้น้อยที่สุด เพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคแน่นอน ทำให้กำลังซื้อลดลงอีก ซึ่งเป็นประเด็นที่โรงเรียนกวดวิชาเป็นห่วงกัน"


ติวเตอร์แห่จดทะเบียนนิติฯ

นายมนตรี นิรมิตศิริพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันกวดวิชา วี บาย เดอะเบรนกล่าวในทำนองเดียวกันว่า โรงเรียนกวดวิชาประมาณ 90% เป็นรูปแบบบุคคลธรรมดา คาดว่าจะเปลี่ยนมาเป็นนิติบุคคลมากขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือทรัพย์สินที่โอนมาเป็นของบริษัทจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมหรือไม่ และสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ตามหลักการตามบัญชีหรือไม่ หากไม่สามารถทำได้ โรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งจะอยู่ไม่ได้และหายไปจากตลาด เพราะยังมีข้อจำกัดเรื่องกำไรจาก สช.ที่กำหนดให้ไม่เกิน 20%

"เมื่อต้องเสียภาษี จากนี้ไปต้องบริหารงานด้วยความรัดกุม และลดต้นทุนลง อะไรที่เคยแจกเยอะ ๆ อย่างพวกของแถมจะลดลง หรือการแข่งขันกันเรื่องราคา รวมถึงการซื้อ 1 คอร์ส แถมฟรีอีก 1 คอร์ส คงไม่ค่อยเห็นแล้ว เพราะต้องคิดดี ๆ ก่อนทำโปรโมชั่น มิฉะนั้นจะอยู่ไม่ได้"


สำรวจค่าคอร์สโรงเรียนดัง

ขณะที่นายธเนศ เอื้ออภิธร ผู้อำนวยการ-ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาเอ็นคอนเส็ปท์มองว่า ถ้ากรมสรรพกรเลื่อนจัดเก็บภาษีไปเป็นปี 2559 จะส่งผลดีต่อโรงเรียนกวดวิชา เพราะจะได้เตรียมความพร้อมในการจัดทำบัญชี และเมื่อเริ่มต้นปี 2559 โรงเรียนกวดวิชาที่ต้องการขึ้นค่าเรียนก็สามารถปรับราคาได้เลย อย่างไรก็ตามการขึ้นค่าเรียนต้องทำเรื่องเสนอ สช.ก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันค่าเล่าเรียนวิชาเคมี อ.อุ๊ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลายเริ่มต้นจากคอร์สปรับพื้นฐาน 5,000 บาท/76 ชั่วโมง, คอร์สเอ็นทรานซ์ 12,500 บาท/200 ชั่วโมง และคอร์สตะลุยโจทย์ 5,400 บาท/72 ชั่วโมง

ส่วนค่าเล่าเรียนภาษาอังกฤษของโรงเรียนกวดวิชาเอ็นคอนเส็ปท์ เริ่มต้นจากคอร์สแอดมิสชั่น GAT, ONET 6,900 บาท/90 ชั่วโมง, GAT Inside 3,500 บาท/35 ชั่วโมง และคอร์สตะลุยโจทย์แอดมิสชั่น ONET 3,500 บาท/40 ชั่วโมง ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ของสถาบันกวดวิชา วี บาย เดอะเบรน ราคาเริ่มต้น คอร์สปรับพื้นฐาน (แคลคูลัส) 2,700 บาท/38 ชั่วโมง, คอร์สแอดมิสชั่น (ทุกบท) 9,800 บาท/209 ชั่วโมง และคอร์สตะลุยโจทย์ 3,800 บาท 53 ชั่วโมงครึ่ง

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาที่ ครม.เห็นชอบ เมื่อ 10 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างรอบังคับใช้ มี ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่... (พ.ศ. ...) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร รวม 5 ฉบับ (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการโรงเรียนเอกชนและปรับปรุงการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook