ช่องว่างระหว่างวัยแต่ใจเดียวกัน

ช่องว่างระหว่างวัยแต่ใจเดียวกัน

ช่องว่างระหว่างวัยแต่ใจเดียวกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ EDUCATION IDEA โดย ดร.เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชโย krukate@hotmail.com

เมื่อวันก่อน ครูเคทได้มาบรรยายเรื่องการบริหารจัดการโลจิสติกส์การค้าให้กับนักศึกษา MBA ภาคปกติของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง นักศึกษาภาคปกตินี้จะมีอายุไม่มาก ส่วนใหญ่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน อายุจัดอยู่ในกลุ่มGen Y เมื่อบรรยายปูพื้นถึงเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และผลกระทบต่อธุรกิจการค้าและโลจิสติกส์ พบว่านักศึกษากลุ่มนี้ไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับอาเซียนเลย ไม่รู้แม้กระทั่งว่าอาเซียนมีประเทศสมาชิกกี่ประเทศ อย่าว่าแต่จะให้วิเคราะห์ผลกระทบอะไรเลย

ปัญหาการขาดความรู้รอบตัวของนักศึกษานี้ เป็นสิ่งที่ครูเคทคาดเดาได้ก่อนล่วงหน้า แต่อดสะท้อนใจ และรู้สึกเป็นห่วงอนาคตของชาติไม่ได้

จึงพานคิดต่อไปว่าเมื่อเด็กรุ่น Gen Y เหล่านี้จบออกมาทำงาน จะส่งผลอะไรต่อองค์กรที่พวกเขาเข้าไปทำงานบ้าง เพราะแค่นี้เวลาครูเคทคุยกับผู้บริหารหรือหัวหน้างานรุ่น Baby Boomer และ Gen X ในองค์กรต่าง ๆ ทุกคนพากันบ่นถึงการมีโลกส่วนตัว และสอนอะไรไปก็ไม่เข้าหัวของเด็ก Gen Y ในองค์กร

ความจริงคนรุ่น Gen Y ไม่ใช่คนหัวช้าในการเรียนรู้ จะว่าไปพวกเขาฉลาดมากทีเดียว เพียงแต่ปัญหาช่องว่างระหว่างรุ่นของคนในองค์กรปรากฏให้เห็นชัดเจนในยุคนี้

ทำให้คนทั้ง 3 รุ่น ซึ่งมีมุมมองต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อโลกแตกต่างกัน พบว่าความไม่เหมือน และไม่เข้าใจกันนี้ กลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบันเป็นคนรุ่น Baby Boomer (BB) และ Gen X ซึ่ง BB จะเป็นคนรุ่นที่ทำงานหนัก แต่ไม่เครียด เพราะมุ่งแข่งขันกับตนเอง หรือมุ่งไปให้ถึงเป้าหมาย

ส่วน Gen X เป็นคนรุ่นที่ได้เรียนรู้การทำงานหนักจาก BB มองเห็นศักยภาพของตนเองในการต่อยอดศักยภาพของ BB และตระหนักในพลังของตนที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook