กรมอนามัยหนุนเด็กไทยกินอาหารแคลเซียมสูงลดภาวะเตี้ย อ้วน

กรมอนามัยหนุนเด็กไทยกินอาหารแคลเซียมสูงลดภาวะเตี้ย อ้วน

กรมอนามัยหนุนเด็กไทยกินอาหารแคลเซียมสูงลดภาวะเตี้ย อ้วน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมอนามัย สธ.ส่งเสริมให้เด็กไทยกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเพื่อให้ร่างกายเติบโตสมวัย ลดปัญหาภาวะเตี้ย อ้วน ย้ำต้องทำคู่กันไปทั้งการกินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและเพิ่มความสูงได้

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เด็กไทยกำลังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านการเจริญเติบโตของร่างกาย จากข้อมูลการเฝ้าระวังติดตามการเจริญเติบโตในเด็กนักเรียนอายุ 6-12 ปี ในปี 2555 พบว่านักเรียนมีภาวะอ้วนจำนวน 187,000 คน เตี้ยจำนวน 254,620 คน และผอมจำนวน 99,112 คน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะเด็กนักเรียนที่เตี้ยและผอมจะมีสติปัญญาด้อย เรียนรู้ช้า ภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ยังพบว่าการบริโภคอาหารที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างแคลเซียมยังน้อยอีกด้วย โดยเฉพาะการดื่มนม ซึ่งคนไทยดื่มนมเฉลี่ยคนละ 14 ลิตรต่อปี ในขณะที่อัตราการดื่มนมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี และทั่วโลกเฉลี่ยคนละ 103.9 ลิตรต่อปี ซึ่งต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลก 4-7 เท่า ส่งผลให้เด็กไทยเมื่อมีอายุ 18 ปี มีความสูงเฉลี่ยค่อนข้างเตี้ย โดยผู้ชายสูงเฉลี่ย 167.1 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157.4 เซนติเมตร

นพ.พรเทพกล่าวอีกว่า แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีปริมาณมากที่สุดในร่างกาย ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูก เนื่องจากร้อยละ 99 ของแคลเซียมอยู่ที่กระดูกและฟัน แต่การที่ร่างกายจะเจริญเติบโตได้ดีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความสูง นอกจากเกิดจากกรรมพันธุ์แล้ว การเจริญเติบโตด้านความยาวของกระดูก อาหาร และการออกกำลังกายก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งสารอาหารที่สร้างความแข็งแรงของกระดูกมีหลายชนิด เช่น โปรตีน ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ฟลูออไรด์ ทองแดง แมงกานีส วิตามินซี วิตามินดี และวิตามินเค

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวันตามช่วงอายุ คือ เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 500 มิลลิกรัม อายุ 4-8 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 800 มิลลิกรัม อายุ 9-18 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม

หากร่างกายขาดแคลเซียมจะทำให้กระดูกไม่แข็งแรง หักง่าย เป็นตะคริว มือจับเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก และหัวใจเต้นผิดปกติ จึงควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เล่นกีฬาประเภทที่สามารถช่วยเพิ่มความสูงและความแข็งแรงของกระดูกได้ เช่น บาสเกตบอล วอลเลย์บอล หรือออกกำลังกายรูปแบบต่าง ๆ เป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน และที่สำคัญการกินอาหารอย่างเดียวโดยไม่ออกกำลังกายไม่ทำให้สูงแต่จะทำให้อ้วนแทน หรือออกกำลังกายอย่างเดียวโดยกินอาหารไม่เพียงพอก็จะทำให้ผอมและไม่สูง ดังนั้น การกินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างเพียงพอจะส่งผลให้ร่างกายสุขภาพดีและมีส่วนช่วยให้สูงด้วย


ที่มา : สำนักข่าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook