เตือนครีมทาผิวขาว พบสารสเตียรอยด์-วัตถุกันเสีย อันตรายต่อผิวหนัง

เตือนครีมทาผิวขาว พบสารสเตียรอยด์-วัตถุกันเสีย อันตรายต่อผิวหนัง

เตือนครีมทาผิวขาว พบสารสเตียรอยด์-วัตถุกันเสีย อันตรายต่อผิวหนัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 และสสจ.เพชรบุรี สุ่มเก็บครีมทาผิว 11 ตัวอย่างพบสารสเตียรอยด์ วัตถุกันเสียเจือปน ชี้อันตรายต่อผิวหนัง


เมื่อวันที่ 5 มกราคม ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่าวัยรุ่น นักศึกษาไทย มีค่านิยมอยากมีผิวขาวใสหรือที่เรียกว่าผิวมีออร่า จนทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาว ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะครีมกระปุก หรือครีมที่ขายเป็นกิโลกรัมและแบ่งขายเป็นกระปุกหรือเป็นขวดที่ไม่มีฉลาก อย่างเมื่อเร็วๆนี้ มีรายงานที่จ.เพชรบุรี พบกลุ่มวัยรุ่นอายุ16-18 ปี มีอาการแพ้ ผิวหนังมีผื่นคัน และแตกเป็นลายที่บริเวณขา ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องสำอาง โดยนักเรียนให้ข้อมูลว่าส่วนใหญ่ซื้อครีมจากร้านค้าแผงลอยในตลาดนัด รองลงมาคือร้านจำหน่ายเครื่องสำอางที่น่าเชื่อถือ ร้านเสริมสวย ร้านชำทั่วไป สั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ต และซื้อจากเพื่อนและญาติ ซึ่งหากตรวจพบมีสารต้องห้ามผสมอยู่ ผู้จำหน่ายจะมีโทษปรับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศกระทรวงฯฉบับ 7 ว่าด้วยการกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป

น.ส. จารุวรรณ ลิ้มสัจจะสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 กล่าวว่า ล่าสุดศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)เพชรบุรี กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เก็บตัวอย่างครีมทาผิวต่างๆ ในท้องตลาดจำนวน 11 ตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารอันตรายต้องห้าม โดยแบ่งเป็น 1.ครีมผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่ไม่มีฉลาก 2.ครีมผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่มีฉลาก แต่ไม่ได้จดแจ้ง 3.ครีมที่มีฉลากภาษาจีน และ 4.ครีมที่มีฉลากภาษาจีนที่เป็นยาใช้ภายนอก ผลการตรวจพบมีสารสเตียรอยด์ชนิดโคลเบทาซอล โพรพิโอเนต (Clobetasol propionate) ในครีมทั้ง 11 ตัวอย่าง และยังพบสารคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซึ่งจัดเป็นยาในทุกตัวอย่าง และบางตัวอย่างยังใส่วัตถุกันเสีย คือ เมทิลพาราเบน (Methylparaben) และโพรพิลพราราเบน (Propylparaben) ด้วย

"สารโคลเบทาซอล โพรพิโอเนต จัดเป็นยาสเตียรอยด์ใช้รักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โดยสารชนิดนี้เมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้ผิวหนังบางลง เกิดจ้ำเลือดง่าย มีรอยแตกที่ผิวหนัง โดยในปี 2557 ศูนย์ฯจะร่วมกับกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สสจ. ทั้งเพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม สุพรรณบุรี เก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์เครื่องสำอางอันตรายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพต่อไป" น.ส.จารุวรรณ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook