"มาลาลา ยูซัฟไฟ" เด็กหญิงหัวใจสิงห์

"มาลาลา ยูซัฟไฟ" เด็กหญิงหัวใจสิงห์

"มาลาลา ยูซัฟไฟ" เด็กหญิงหัวใจสิงห์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คํากล่าวสุนทรพจน์ที่เปี่ยมไปด้วยความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นและทรงพลังยิ่งของ มาลาลา ยูซัฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถาน วัยเพียง 16 ปี บนเวทีสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ได้รับการลุกขึ้นยืนปรบมือให้พร้อมกันเสียงดังกึกก้องจากผู้เข้าร่วมฟังการกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าว นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นว่าเด็กหญิงตัวเล็กๆ ผู้นี้ได้รับการยอมรับชื่นชมจากผู้คนบนเวทีโลกเยี่ยงไร

สุนทรพจน์ของมาลาลาในวันนั้นเน้นย้ำให้เห็นจุดยืนในแนวทางของเธอที่จะใช้การศึกษาเป็นอาวุธในการทำสงครามต่อสู้กับการไม่รู้หนังสือและความรุนแรงจากการก่อการร้ายที่เคยมุ่งหมายเอาชีวิตของเธอมาแล้ว

"ผู้ก่อการร้ายคิดว่าพวกเขาจะเปลี่ยนเป้าหมายและความมุ่งมาดปรารถนาของฉันได้ แต่ไม่มีอะไรในชีวิตฉันที่เปลี่ยนไปยกเว้นความอ่อนแอ ความหวาดกลัว และความสิ้นหวังที่ดับดิ้นไป แต่ความเข้มแข็ง พละกำลังและความกล้าหาญกลับก่อเกิดขึ้นมาแทน"

มาลาลากล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้นเมื่อปีที่แล้ววันที่เธอถูกมือปืนทาลิบันยิงโจมตีบนรถนักเรียนขณะเธอกำลังจะกลับบ้านในหุบเขาสวาทเขตปกครองที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานติดกับพรมแดนอัฟกานิสถานที่เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธทาลิบัน

กระสุนนัดหนึ่งเจาะฝังเข้าที่ศีรษะของมาลาลาอาการของเธอสาหัสเป็นตายเท่ากันร่างของเธอถูกส่งไปผ่าตัดเอากระสุนออกที่โรงพยาบาลทหารปากีสถานในเบื้องต้น

ก่อนที่เธอจะถูกส่งตัวไปเข้ารับการผ่าตัดอีกหลายครั้งที่โรงพยาบาลในอังกฤษและพักฟื้นอยู่ที่นั่นจนอาการดีขึ้น

สาเหตุที่ทำให้มาลาลาตกเป็นเป้าสังหารของกลุ่มทาลิบันถูกระบุว่าเป็นเพราะการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวของมาลาลาในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิทางการศึกษาให้แก่เด็กผู้หญิงในปากีสถานที่ถูกลิดรอนย่ำยีนั่นเป็นการท้าทายกลุ่มติดอาวุธทาลิบันที่มีอิทธิพลควบคุมอยู่ในพื้นที่นั้นซึ่งไม่ต้องการให้เด็กผู้หญิงได้มีการศึกษาจึงได้ใช้กำลังโจมตีทำลายโรงเรียนหญิงล้วนหลายแห่งในพื้นที่ดังกล่าว

ทำให้มาลาลาต้องลุกขึ้นมาต่อสู้โดยผ่านงานเขียนที่เป็นบันทึกชีวิตประจำวันของเธอเกี่ยวกับ"ชีวิตภายใต้อิทธิพลครอบงำของกลุ่มทาลิบัน"โดยมีสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษเป็นผู้นำออกเผยแพร่เป็นภาษาอุรดูในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมปี 2552

นั่นทำให้โลกได้ตระหนักรับรู้ถึงการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างมาลาลา และทำให้เธออยู่ในความสนใจของโลกนับแต่นั้น

"หนังสือและปากกาเป็นอาวุธที่ทรงพลานุภาพที่สุดของเรา เด็กหนึ่งคน ครูหนึ่งคน หนังสือเล่มหนึ่งและปากกาด้ามหนึ่งสามารถเปลี่ยนโลกได้ การศึกษาเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหา" นั่นเป็นอีกถ้อยความในสุนทรพจน์ของมาลาลาที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการที่จะใช้การศึกษาเป็นอาวุธในการแก้ปัญหาต่างๆแทนที่จะใช้ความรุนแรง

ซึ่งรวมถึงการติดอาวุธทางการศึกษาให้แก่ลูกหลานของกลุ่มทาลิบันกลุ่มผู้ก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย

เสียงเรียกร้องของมาลาลาได้รับการขานรับเป็นอย่างดีจากยูเอ็นที่ถือเอาฤกษ์วันที่12กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดครบอายุ 16 ปีของมาลาลาพอดี ประกาศให้เป็น "วันมาลาลา" หรือวันเพื่อการศึกษาของเด็กทั่วโลก

โดยตั้งเป้าหมายให้เด็กทุกคนในโลกทั้งหญิงและชายได้เข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงภายในปี2558ทั้งนี้ จากข้อมูลในปัจจุบันที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และองค์การพิทักษ์เด็กที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านการศึกษาของเด็กทั่วโลกว่า มีเด็กมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนเด็ก 28.5 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่ได้รับการศึกษาในภาคบังคับคือระดับประถมศึกษา โดยอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำถึงต่ำปานกลางในประเทศต่างๆ

ในจำนวนนี้ 44 เปอร์เซ็นต์อยู่ในภูมิภาคซับ-ซาฮารา ทวีปแอฟริกา, 19 เปอร์เซ็นต์อยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันตก และอีก 14 เปอร์เซ็นต์อยู่ในประเทศอาหรับ

เป็นที่น่าคิดว่าการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างหาญกล้าของมาลาลาได้รับเสียงชื่นชมยกย่องจากคนทั่วโลกจนถึงขั้นมีชื่อของเธออยู่ในรายนามที่จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลโนเบล

แต่ในดินแดนมาตุภูมิของมาลาลาเองกลับแสดงปฏิกิริยาได้อย่างน่าผิดหวังโดยมีชาวปากีสถานเพียงกลุ่มเล็กๆที่ชื่นชมกับความกล้าหาญของเธอที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้กับเด็กและสตรีในปากีสถาน

แต่คนส่วนใหญ่กลับตั้งข้อกังขาในตัวเธอบ้างกล่าวหาว่าการกล่าวสุนทรพจน์ของมาลาลาบนเวทียูเอ็นเป็นการแสดงละครแค่ฉากหนึ่ง

ขณะที่ยังมีกลุ่มคนที่ไพล่คิดไปถึงขั้นว่ามาลาลาอาจเป็นเจ้าหน้าที่ซีไอเอที่สหรัฐอเมริกาใช้เป็นเครื่องมือมาทำลายประเทศชาติและยังมีการตั้งทฤษฎีสมคบคิดสุดเหลือเชื่อเกี่ยวกับตัวมาลาลาไปต่างๆนานา

เช่นว่าการที่เธอถูกยิงโจมตีเป็นการจัดฉากเพื่อที่ตัวเธอเองจะได้พาสปอร์ตอังกฤษเพื่อจะได้หนีออกไปจากปากีสถาน

แต่เชื่อว่าไม่ว่าท่าทีของคนในชาติจะเป็นอย่างไรหรือเธอจะต้องเผชิญกับอุปสรรคหนักหนาแค่ไหนคงจะไม่สามารถสั่นคลอนเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ผู้มีหัวใจอันแข็งแกร่งผู้นี้ที่จะกลับไปต่อสู้เพื่อให้เด็กๆ ได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันถ้วนทั่วทุกคนได้


ที่มา มติชนสุดสัปดาห์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook