ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง

ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง

ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อผมเข้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 24 มกราคม 2555 เราทราบดีว่าการศึกษา คือกุญแจสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยขจัดความยากจน เราจึงได้กำหนดเป็นนโยบาย "เราจะดูแลลูกหลานประชาชนเหมือนลูกหลานของเรา เราจะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเยาวชนทั้งภาคเมืองและชนบท โดยให้โอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เราจะปั้นนักศึกษาไทยให้เป็นมืออาชีพ เติบโตเป็นพลเมืองโลกที่ทันสมัย"

เรายึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Center) ดูแลครูอาจารย์เสมือนคนในครอบครัว เพราะไม่มีอะไรที่ทดแทนครูที่เก่งและตั้งใจได้ ต้องไม่มีคอร์รัปชั่น ไม่รีดเลือดกับครู ต้องไม่ปล่อยให้ยาเสพติดแพร่ระบาดในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ให้ช่วยกันลดกฎระเบียบและงานนอกเหนือจากการสอนของครู การเลื่อนวิทยฐานะและตำแหน่ง ให้มีกฎเกณฑ์ที่โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ ลดการใช้ดุลพินิจ ให้มีการจัดฝึกอบรมปฏิบัติธรรม 5 วัน 5 คืน สำหรับครูและผู้บริหารกว่า 120,000 คน เพื่อเพิ่มพูนคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนและในกระทรวงศึกษาธิการ

ในโครงการครูคืนถิ่น เราจึงสามารถทำให้ครูคืนถิ่นได้กว่า 10,000 คน เป็นจำนวนกว่า 5 เท่าของปีก่อนๆ ให้มีการ สร้างพลังครู โดยแก้ปัญหาหนี้สิน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างโอกาส โดยครูจะต้องได้รับความยุติธรรมในหน้าที่การงาน ไม่ต้องวิ่งเต้น เสียทรัพย์สินเงินทอง ให้ทำโครงการครูมืออาชีพ โดยน้องๆ ที่ฝันอยากเป็นครู จะได้เป็นครู จบแล้วมีงานทำ มั่นคงในชีวิต ร่วมสร้างลูกหลานไทยให้เฉลียวฉลาด

โครงการรับครูมืออาชีพ ดำเนินการอย่างโปร่งใส ได้รับครูแล้วกว่า 1,500 คน

การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในระดับก่อนประถมศึกษา เราเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมการเรียนรู้ระดับพื้นฐานในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสาร การเขียน การอ่าน การร้อง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ระดับประถมศึกษา ปรับเวลาของการเรียนการสอน เป็นหลักสูตรคิดเป็น ทำเป็น ลดหลักสูตรท่องจำ รู้ด้วยความเข้าใจ ใช้ปัญญา จินตนาการอย่างไม่สิ้นสุด ให้มีการสอนเนื้อหาครึ่งชั่วโมง อีกครึ่งชั่วโมงให้การถกเถียง แลกเปลี่ยน วิเคราะห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มันสมองของเด็ก ซึ่งกำลังแตกตัว ได้เบ่งบาน บินได้ หรือที่เรียกว่า Fly และนำเทคโนโลยี คือ คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อช่วยให้การเรียนการสอนน่าสนใจ นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน เพราะในแต่ละวิชาจะเป็นภาพเคลื่อนไหว มีเสียงประกอบ เช่น วิชาภาษาอังกฤษ เมื่อฟังเสียง นักเรียนก็จะกล้าพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น สามารถท่องศัพท์มากขึ้น ระดับมัธยมศึกษา รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ โดยวิธีการจับสลากหรือคัดเลือกจากคะแนนสอบคัดเลือกและคะแนน O-Net รับนักเรียนทั่วไปโดยการสอบคัดเลือกจากข้อสอบของโรงเรียนและคะแนน O-Net และรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ โดยเด็กๆ ได้รับการศึกษาเท่าเทียมกันทุกคน มีความรู้ มีจินตนาการ คิดเป็นทำเป็น สามารถแก้ไขปัญหาได้ และให้เกิดการเรียนรู้ในหลายด้าน เช่น ประชาคมอาเซียน ระบอบประชาธิปไตย

ระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เน้นให้เด็กมีความเป็นมืออาชีพ โดยให้เด็กเก่งสามารถเรียนในด้านที่ตนเองสนใจ รู้จักคิดเป็นทำเป็น ส่งเสริมให้เด็กมีความเป็นมืออาชีพในด้านนั้นๆ ให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของผู้จ้างงาน แต่เด็กเก่งอย่างเดียวนั้น คงไม่เพียงพอ ต้องเป็นคนดีด้วย จึงให้นักเรียนนักศึกษาจำนวนมากสามารถเข้ารับการฝึกอบรมปฏิบัติธรรม เพื่อเข้าใจในจริยธรรมคุณธรรม และเป้าหมายของชีวิต

ในกรณีที่นักเรียนนักศึกษาบางส่วนยังมีปัญหาก่อเหตุทะเลาะวิวาท รับน้องใหม่แบบรุนแรง ให้มีการปรับปรุงนิสัย โดยให้เข้ารับการฝึกอบรมวิวัฒน์พลเมืองกับกองทัพบก ให้รับน้องใหม่ในระบบ SOTUS อย่างมีเหตุผล เหมือนประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ขู่ตะคอก ไม่ทำร้ายร่างกาย บังคับให้ดื่มของมึนเมา ไม่ประชุมเชียร์ในเวลาที่น้องต้องทำการบ้าน โดยขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยช่วยกันสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด

ได้มีการดำเนินนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษา 4 ด้าน ส่วนใหญ่ได้ทำสำเร็จไปแล้ว ได้แก่

1) โอกาสเข้าถึงทรัพยากร สิ่งอำนวยความสะดวก ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม ภายใต้โครงการต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุน ได้แก่ โครงการแท็บเล็ตพีซี เพื่อการศึกษา สำหรับนักเรียน ป.1 และ ม.1 ทุกคน เติมภูมิปัญญาด้วยเทคโนโลยี มีความรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งได้ดำเนินการในโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 900,000 เครื่องแล้ว โครงการเรียนดีอย่างมีคุณภาพตั้งแต่อนุบาลจนจบ ม.6 ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเกือบ 50,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา ฟรีค่าเล่าเรียน ฟรีค่าเครื่องแบบ ฟรีค่าอุปกรณ์การเรียน ฟรีค่าหนังสือเรียน และฟรีค่ากิจกรรม ได้เริ่มโครงการห้องการเรียนรู้ มี e-Book, e-Learning เพื่อสร้าง Knowledge Base Society, e-Education เพื่อพลิกโฉมโรงเรียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต โครงการโรงเรียนในฝัน โครงการส่งเสริมให้โรงเรียนมีอิสระเป็นโรงเรียนนิติบุคคลกว่า 60 แห่ง มีคณะกรรมการโรงเรียน (School Board) สามารถบริหารจัดการวางนโยบาย และ

คัดเลือกครูและผู้บริหารโรงเรียนได้เอง

2) โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ได้แก่ ทุนการศึกษาเพื่ออนาคต (กรอ.) Income Contingent Loan เข้าถึงแหล่งทุน เรียนก่อน ผ่อนทีหลัง ส่งคืนเมื่อมีรายได้ กองทุนตั้งตัวได้ มีทุนกว่า 5,000 ล้านบาท เป็นเงินทุนขั้นต้น สำหรับนักศึกษา พร้อมเป็นเจ้าของธุรกิจในอนาคต โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ทุนการศึกษาสานฝันให้เด็กเก่งทุกอำเภอ เรียนต่อต่างประเทศ ได้ส่งนักเรียนกว่า 700 คน ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ เมื่อเดือนกันยายน 2555

3) โอกาสในการเพิ่มพูนและฝึกฝนทักษะ นักเรียนทุกคนสามารถเติบโตได้ในโลกที่เป็นจริง การเรียนรู้บนการทำกิจกรรม (Activity-Based Learning) ได้แก่ ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน Fix-it Center ศูนย์บริการซ่อมสร้าง 20,000 แห่งทั่วประเทศ ฝึกฝนช่างฝีมือ ให้บริการประชาชน โรงเรียนในโรงงาน เรียนรู้จริงในสถานประกอบการ ระหว่างเรียนมีรายได้ จบแล้วได้งานทำ อาชีวะไทย ก้าวไกล ใช้เทคโนโลยี สุภาพบุรุษอาชีวะ มีวินัย เคารพกติกา รักษาคุณธรรม ศูนย์อบรมอาชีวศึกษา พัฒนาอาชีพให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนเรียนรู้ประสบการณ์ก่อนไปประกอบอาชีพ ตั้งสถาบันอาชีวศึกษา 19 แห่ง เพื่อความเป็นเลิศในการเรียนสายอาชีพ ปริญญาตรีสายปฏิบัติการ เติมเต็มความรู้ คู่ความเชี่ยวชาญในอาชีพ เทียบโอนประสบการณ์สายอาชีพ จบ ปวช.ได้ใน 8 เดือน หลักสูตรเทียบโอนเรียนเข้มระยะสั้น เทียบโอนความรู้ทักษะประสบการณ์สายอาชีพ

4) โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษานอกระบบ โดยใช้ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์

แกลอรี่ ศูนย์วัฒนธรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนค้นหาความถนัดของตนเอง เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา และมีสถานที่รวมกลุ่มอย่างสร้างสรรค์ ได้แก่ เรียน ม.6 จบได้ใน 8 เดือน เรียนในเวลา และนอกเวลา เพื่อก้าวทันโลกและทันลูกหลาน ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนกว่า 18 ล้านคน สามารถเทียบโอนความรู้ เรียนจบ ม.6 ได้รวดเร็วขึ้น ทำให้มีกำลังใจในการเรียน และทำให้ประเทศมีประชาชนที่มีความสามารถมากขึ้น

ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน OTOP Mini MBA ได้สอนหลักสูตรเป็นผู้ประกอบการ ฝึกอาชีพเพิ่มพูนทักษะ ผลิตเป็น คิดต้นทุนเป็น ทำบัญชีเป็น ทำการตลาดเป็น เพิ่มรายได้ OTOP ให้แก่ครอบครัว อินเตอร์เน็ตตำบลกว่า 3,000 แห่ง เพื่อค้นหาความรู้ความถนัดของตนเอง เรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา ปรับปรุงศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ 16 แห่งทั่วประเทศ ห้องสมุดหมู่บ้านและชุมชนสร้างเสริมอัจฉริยะ กว่า 40,000 แห่ง ให้ประชาชนได้อ่านหนังสือ มีความรู้พัฒนาตนเองพัฒนาประเทศ

โดย ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook