เทคนิคเรียนเก่ง ความจำดี

เทคนิคเรียนเก่ง ความจำดี

เทคนิคเรียนเก่ง ความจำดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพิ่มประสิทธิภาพการเรียน

หลักการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนหนังสือ 6 ประการซึ่งมีผู้นำไปปฏิบัติแล้วได้ผลดีมีดังนี้

1. สะสม(Gradual) เรียนอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะสมวันละนิดไม่ใช่หักโหมก่อนสอบ
2. ทำซํ้า( Repetition) ทบทวน ท่อง และทำแบบฝึกหัดซํ้า ๆ
3. ย้ำรางวัล(Reinforcement) ควรให้รางวัลตัวเองเมื่อ ทำงานสำเร็จในแต่ละครั้งเพื่อให้ขยันขึ้น
4. ขยันคิด(Active Learning) จงใส่ใจคิดตามเสมออย่าฟังหรืออ่านไปเรื่อย ๆ
5. ฟิตปฏิบัติ(Practice) ต้องลงมือปฏิบัติให้เกิดความชำนาญไม่ใช่รู้แต่ทฤษฏีอย่างเดียว การลงมือปฏิบัติจริงจะทำให้จำแม่นยำเกิดการถ่ายโยงความจำระยะสั้นให้เป็นระยะยาว
6. หาทางบังคับตัวเอง (Stimulus Control) โดยอาศัยการจัดสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเร่งและกระตุ้นจากหลักการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียน 6 ประการดังกล่าว ถ้าเราปฏิบัติตนให้ถูกวิธี เราจะประสบผลสำเร็จ มีผู้เสนอข้อปฏิบัติตนที่ดีไว้มากมาย


ต่อไปนี้เป็นข้อปฏิบัติตนที่ได้คัดเลือกให้ท่านลองนำไปปฏิบัติดูเพียง 5 ข้อ

ข้อปฏิบัติตนของการเป็นผู้เรียนที่ดี

1. เวลาฟังอาจารย์สอนหรือเวลาอ่าน ต้องคิดตาม ถาม จด ตลอดเวลา ถ้าไม่เข้าใจควรจดคำถามไว้เพื่อคิดค้นคว้าหรือถามผู้รู้ต่อไป
2. หามุมที่ใช้เป็นที่ดูหนังสือหรือทำการบ้านที่จะทำให้มีประสิทธิภาพ
3. จัดเวลาสำหรับทบทวนสิ่งที่เรียนมา หรืออ่านล่วงหน้าสิ่งที่จะเรียนต่อไป และถ้าปฏิบัติตามที่กำหนดได้ควรให้รางวัลตัวเอง เช่น ได้ขนม ได้เล่น
ได้ฟังเพลง ดูทีวี ได้ออกกำลัง เป็นต้น ถ้าทำไม่ได้ตามกำหนดควรหาเวลาชดเชย
4. ท่องหนังสือกับเพื่อน อย่าหวงวิชา แบ่งปันความรู้อธิบายให้กันและกัน อย่าช่วยเหลือเพื่อนในทางที่ผิด เช่น ทุจริตเวลาสอบ หรือให้ลอกงานโดยไม่เข้าใจ
5. ฝึกศึกษาด้วยตนเอง มิใช่ต้องเรียนจากครูเพียงอย่างเดียว การศึกษาด้วยตนเองต้องใช้สมาธิมาก ต้องทำความเข้าใจจดสาระสำคัญต่าง ๆ
ลงในโน้ตย่อ จดสิ่งที่ไม่เข้าใจไว้ค้นคว้าต่อไปขอให้ท่านลองปฏิบัติตาม 5 ข้อนี้ โปรดสำรวจตัวท่านเองทุกสัปดาห์ว่า ท่านยังขาดข้อใดบ้างพยายามปรับปรุงทำให้ได้ ต้องอดทน แม้ว่าจะเป็นนิสัยเดิมก็ตาม ถ้าท่านทำได้รับรองว่าท่านจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในการเรียนคนหนึ่งแน่นอน

หากท่านยังไม่สามารถปฏิบัติตนดังกล่าวได้ ท่านต้องหาสาเหตุอื่น ๆอีกเช่น


ท่านขาดแรงจูงใจในการเรียนหรือไม่
เวลาทำใจไม่จดจ่อ (ขาดสมาธิ) ใช่หรือไม่
อ่านเท่าไรก็ไม่จำ (อ่านไม่เป็น) ใช่หรือไม่
คิดเท่าไรก็ไม่ออก ใช่หรือไม่


ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับตัวท่านแล้วท่านจะต้องหาทางแก้ไขและฝึกฝนตนเองในจุดที่ท่านบกพร่องเช่นในด้านความจำ เป็นสิ่งสำคัญมากในการเรียนคณิตศาสตร์ เราต้องทำความเข้าใจก่อนแล้วจำ

ทำอย่างไรเราจะจำดี

จากการศึกษาของนักจิตวิทยาเกี่ยวกับการจำการลืมของมนุษย์พบว่า คนเรามีอัตราการจำหรือลืมดังนี้

เมื่อเวลาผ่านไป หนึ่งวัน คนเราจะจำเรื่องราวที่ตนอ่านไปได้ประมาณ 50% และลดลงไปอีกครึ่งหนึ่งทุก ๆ 7 วัน จนในที่สุด จะนึกไม่ออกเลยเมื่อผ่านไป 21 วัน ทางแก้การลืมความรู้ก็คือไปทบทวนทันทีที่เราเรียนในแต่ละ วันเพื่อมิให้เกิน 24 ชั่วโมง จากนั้นเราทิ้งช่วงไปทบทวนรวบยอดในวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ เพื่อมิให้เกิน 7 วัน ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์จะทบทวนสิ่งที่เรียนมาทั้งสัปดาห์

เนื่องจากแต่ละวันความรู้จะพอกพูนขึ้นไปเรื่อย ๆ เราควรทำโน้ตย่อและทบทวนจากโน้ตย่อสาระสำคัญ จะช่วยให้เราเสียเวลาทบทวนน้อยลง

บทความโดย : ผ.ศ.ดร.สมวงษ์ แปลงประสพโชค
ที่มา : ศูนย์พัฒนาสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ พระนคร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook