“คนไร้บ้าน” ปัญหาที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ช่วงโควิด-19 เท่านั้น

“คนไร้บ้าน” ปัญหาที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ช่วงโควิด-19 เท่านั้น

“คนไร้บ้าน” ปัญหาที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ช่วงโควิด-19 เท่านั้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายประเทศทั่วโลกเผชิญหน้ากับปัญหา “คนไร้บ้าน” ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม โดยเฉพาะในประเทศร่ำรวยที่คนไร้บ้านกลายเป็น “ข้อเท็จจริง” ของสังคมสมัยใหม่ คนไร้บ้านถูกมองว่าเป็นชายขอบของสังคม คนไร้ตัวตนกลุ่มนี้มักถูกหลงลืมจากสังคม และคนที่มองเห็นพวกเขาก็มักจะรีบเดินผ่านไปให้เร็วที่สุด ขณะที่หลายรัฐบาลทั่วโลกก็ระบุว่าปัญหาคนไร้บ้านไม่มีทางแก้ไขได้

แต่ในช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 ระบาด กลุ่มคนไร้บ้านเริ่มได้รับการมองเห็นในฐานะปัญหาของระบบสุขภาพที่ต้องได้รับการแก้ไข หากคนที่อาศัยอยู่ข้างถนนคือคนที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อและแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้มากที่สุด พวกเขาต้องทำการกักตัวหรือรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างไร อีกทั้งพวกเขาจะสามารถดูแลความสะอาดของตัวเองอย่างไร หากพวกเขาไม่มีที่ล้างมือ ที่ซักผ้า หรือที่ชำระล้างร่างกาย

บ้านฉุกเฉินอาจไม่ใช่คำตอบในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะการให้คนไปอยู่รวมกันมาก ๆ ในพื้นที่จำกัดอาจมีความเสี่ยงให้โรคโควิด-19 ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ดังที่เกิดขึ้นแล้วในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลายประเทศก็แก้ไขปัญหาที่พักของประชาชนหลายพันคน ด้วยการใช้โรงแรม ห้องพัก Airbnb และพื้นที่อื่น ๆ ที่สามารถทำการรักษาระยะห่างทางสังคมได้ ทว่า การแก้ปัญหาในลักษณะนี้เป็นเพียงมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น

หลายประเทศทั่วโลกได้ดำเนินการแก้ไขและดูแลกลุ่มคนไร้บ้าน เช่น เนเธอร์แลนด์ ที่ใช้งบประมาณกว่า 200 ล้านยูโร เพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน ซึ่งรวมไปถึงความต้องการในช่วงโควิด-19 และการแก้ปัญหาในระยะยาว ขณะที่สหราชอาณาจักร ก็ทุ่มงบประมาณ 3.2 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือให้คนไร้บ้านสามารถทำการกักตัวได้ พร้อมกับใช้งบอีก 492 ล้านปอนด์เพื่อลดปัญหาคนไร้บ้านในประเทศ ส่วนฝรั่งเศส ได้ผ่านงบประมาณกว่า 50 ล้านยูโร และใช้โรงแรมหลายร้อยห้องเพื่อรองรับประชาชนที่ไม่มีบ้าน รวมถึงมอบบัตรกำนัลมูลค่ารวมกว่า 15 ล้านยูโรเพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถซื้ออาหารและของใช้ส่วนตัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ รวมไปถึงรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาที่ใช้วิธีการเดียวกันในการรับมือกับปัญหาคนไร้บ้านในภาวะวิกฤติเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามที่จะช่วยเหลือคนไร้บ้าน แต่ก็เป็นการช่วยเหลือระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งตามกฎว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ระบุว่า รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกคนตามสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับ ระบบสุขภาพเป็นหนึ่งเหตุผลของการดูแลประชาชน แต่ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในขณะที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับวิกฤติระบบสุขภาพ คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อภาวะวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายลง รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านอย่างไร

ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัส มีแนวโน้มที่จะเพิ่มภาระทางการเงิน โดยเฉพาะในเมืองที่มีค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลให้ประชาชนอีกหลายครอบครัวต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ดังนั้น วิธีการรับมือกับปัญหาคนไร้บ้านในระยะยาวของรัฐบาลจึงควรพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ด้วย เพราะการมีบ้านอยู่คือสิทธิมนุษยชน และสิทธิมนุษยชนต้องมีอยู่ต่อไปแม้สังคมจะกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคระบาดก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook