เมื่อมาตรการป้องกัน “COVID-19” ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เมื่อมาตรการป้องกัน “COVID-19” ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เมื่อมาตรการป้องกัน “COVID-19” ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาตรการล็อกดาวน์ ปิดเมือง ปิดประเทศกำลังกระจายไปในหลาย ๆ เมืองทั่วโลก ผู้คนหลายสิบล้านคนต้องเผชิญหน้ากับการถูกควบคุมอย่างเข้มงวดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตำรวจในหลายประเทศต่างก็ได้รับคำสั่งให้ดูแลควบคุมพฤติกรรมของประชาชนด้วยวิธีการสุดโต่งแม้แต่ในรัฐเผด็จการเอง

ในประเทศเคนยา เจ้าหน้าที่ตำรวจ “แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง” หลังจากเด็กชายอายุ 13 ปีถูกยิงเสียชีวิตที่ระเบียงบ้านของตัวเองในเมืองไนโรบี หลังจากที่ตำรวจออกตรวจพื้นที่เพื่อบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวในช่วงไวรัสโคโรนา

“พวกเขาตะโกนและทุบตีเราเหมือนเราเป็นวัวเป็นควาย ถึงแม้เราจะเป็นพลเมืองที่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วก็ตาม” ฮุสเซน โมโย พ่อของยาซิน เด็กชายที่ถูกยิงเสียชีวิต กล่าว

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สร้างความกังวลมากขึ้นในเรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจทั่วโลกที่ใช้การลงโทษอย่างป่าเถื่อนและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อบังคับใช้มาตรการกักตัวต่อกลุ่มคนจนและกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง รวมไปถึงกลุ่มคนหลายสิบล้านคนที่ยังต้องปากกัดตีนถีบเพื่อเลี้ยงปากท้องแม้จะต้องฝ่าฝืนกฎการปิดเมืองก็ตาม

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่วิดีโอที่แสดงภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศอินเดีย นั่งยองอยู่ข้างถนน ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังฉีดสเปรย์น้ำยาเคมีใส่คนกลุ่มนี้ เพื่อฆ่าเชื้อโรคพวกเขาก่อนจะเดินทางกลับบ้านเกิด คนงานกลุ่มนี้ที่เพิ่งเดินทางจากกรุงเดลี ชุ่มโชกไปด้วยน้ำยาฟอกผ้าขาว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผิวหนัง ดวงตา และปอดของพวกเขาได้ เช่นเดียวกับรัฐปัญจาบ ที่ลงโทษคนฝ่าฝืนกฎการกักตัวด้วยการให้กระโดดกบ พร้อมตะโกนว่า “เราเป็นศัตรูของสังคม เรานั่งอยู่ในบ้านไม่ได้”

กลยุทธ์ลดทอนความเป็นมนุษย์ที่คล้ายคลึงกันถูกตำรวจของประเทศปารากวัยนำไปใช้เช่นเดียวกัน โดยประชาชนที่ฝ่าฝืนกฎการกักตัวจะถูกลงโทษด้วยการกระโดดตบและถูกข่มขู่ด้วยที่ช็อตไฟฟ้า ประชาชนบางคนต้องตะโกนว่า “ฉันจะไม่ออกจากบ้านอีกแล้ว” ขณะที่นอนคว่ำหน้าลงกับพื้นถนน

ถึงแม้ว่าความพยายามที่จะป้องกันการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาจำเป็นต้องแลกด้วยอิสรภาพส่วนบุคคลหลายอย่าง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของ UN ก็เสนอให้หลายประเทศบังคับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่าง “เหมาะสม จำเป็น และไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์”

การลงโทษในลักษณะนี้มักจะถูกใช้กับกลุ่มคนจน ที่ไม่สามารถหยุดทำงาน หรือคนที่จำเป็นต้องเดินเท้าจากในเมืองเป็นระยะเวลาหลายวันเพื่อกลับบ้านเกิด เพราะงานที่เคยทำในเมืองได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส ขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนของประชาชนจากหลายประเทศว่ารัฐบาลให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่ต้องสูญเสียรายได้จากการระบาดของโรค COVID-19 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

พวกเขาบอกให้คุณอยู่แต่ในบ้าน เพื่อปกป้องครอบครัวของคุณเอง แต่สำหรับคนจนแล้ว เราต้องออกไปทำงานหาเงิน ถ้าไม่ออกไป เราก็จะอดตาย” อัลเบอร์โต รูซ สมาชิกองค์การสังคมของผู้อยู่อาศัย กล่าว

ในประเทศฟิลิปปินส์ ตำรวจจับกลุ่มคนที่ฝ่าฝืนกฎการเคอร์ฟิวไว้ในกรงสุนัข ขณะที่บางคนก็ถูกบังคับให้นั่งอยู่กลางแดดเพื่อเป็นการลงโทษ เกาะลูซอน ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศถูกประกาศปิดเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม และประชาชนกว่า 40 ล้านคนต้องกักตัวอยู่ในที่พักอาศัย แต่การอยู่ในบ้านคงจะเป็นความสะดวกสบายหากบ้านของคุณมีพื้นที่มากพอ แต่สำหรับคนที่ต้องอาศัยอยู่ในห้องเล็ก ๆ กับสมาชิกครอบครัวแล้ว ความร้อนในเมืองมะนิลาก็น่าจะเกินทนทีเดียว

นักกิจกรรมในเคนยาเตือนว่านโยบายความรุนแรงที่ใช้ ไม่เพียงแต่สร้างความตื่นตระหนกและหวาดกลัวให้กับประชาชน แต่มีความเสี่ยงที่จะทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเพิ่มสูงขึ้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตำรวจในเมืองโมมบาซายิงแก็สน้ำตาใส่ผู้โดยสารเรือเฟอร์รี่ ส่งผลให้คนหลายร้อยคนมีอาการไอและยกมือเช็ดน้ำตา นอกจากนี้ยังมีวิดีโอที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบองตีประชาชนอีกด้วย

“หากการปฏิบัติการถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องประชาชนจากการระบาดของเชื้อไวรัส ผลที่ได้รับการปฏิบัติเช่นนี้คือสิ่งที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง” สมาชิกกลุ่มปฏิรูปตำรวจคนหนึ่ง ชี้

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่ารัฐบาลในหลายประเทศอาจใช้ช่วงเวลาของการระบาดใหญ่ครั้งนี้เพื่อเพิ่มอำนาจของตัวเองและใช้กฎหมายจัดการกลุ่มผู้เห็นต่าง ดังเช่น ประเทศฮังการีที่ผ่านกฎหมายมาตรการใหม่ โดยรวมถึงโทษจำคุกกรณีส่งต่อข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง และให้อำนาจบริหารแก่นายวิกตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรี ภายใต้ประกาศภาวะฉุกเฉินที่ไม่มีเวลาสิ้นสุดที่แน่ชัด

ประเทศฟิลิปปินส์และประเทศไทยได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จเป็นการชั่วคราว รวมไปถึงอำนาจในการปราบปรามการส่งต่อข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่กว้างมากและสร้างความกังวลให้กับนักกิจกรรมหลายคนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจนำไปใช้ในทางที่ผิด

องค์การฮิวแมนไรตส์วอตช์ ระบุว่า รัฐบาลควรทำการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ขณะที่ข้อจำกัดในสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ เช่น การจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว สามารถจัดเป็นข้อจำกัดที่สมเหตุสมผล อย่างไรก็ตามองค์การก็เรียกร้องให้มีการจัดการอย่างโปร่งใสและ “เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” ของประชาชนด้วยเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook