กกพ.ปรับโครงสร้างค่าไฟใหม่-คาดราคาพุ่ง

กกพ.ปรับโครงสร้างค่าไฟใหม่-คาดราคาพุ่ง

กกพ.ปรับโครงสร้างค่าไฟใหม่-คาดราคาพุ่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กกพ. เชื่ออนาคตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้ยาก คาดไทยหันใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เตรียมเดินหน้าทำโครงสร้างค่าไฟใหม่ พร้อมเริ่มใช้งวด ก.ย.-ธ.ค. 61 เชื่อส่งผลต้นทุนค่าไฟสูง

นายพรเทพ โชตินุชิต ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะรองโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า หรือช่วงกลางแผนพีดีพี การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่มีสัญญาเดินเครื่อง 20 ปี จะลดลงและอาจหมดไป และมีโอกาสถูกแทนด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบกับต้นทุนผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นเหตุผลในการยกเลิกค่าไฟฟ้าฐานราคาเดียวทั่วประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ที่ 3.7556 บาทต่อหน่วย และเข้าสู่การคิดค่าไฟฟ้ารายภูมิภาค เพราะต้องดูทั้งการผลิตและการใช้ของแต่ละพื้นที่

อย่างไรก็ตาม กกพ.อยู่ระหว่างจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่เพื่อบังคับใช้ช่วง 3 ปีข้างหน้า (2561-2564) โดยมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแล้ว คาดว่าจะสามารถประกาศใช้อย่างเป็นทางการช่วงกลางปี 2561 เพื่อบังคับใช้กับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติงวดสุดท้ายของปี คือ ก.ย. - ธ.ค. 2561

นายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวในการสัมมนารับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ครั้งที่ 1 ว่า ข้อเสนอแนวทางปฏิรูปจะแบ่งเป็น 4 ด้าน เสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานปลายเดือน ธ.ค. 2560 คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อบังคับใช้ช่วงเดือน เม.ย. 2561 ระยะเวลาบังคับใช้แผน 5 ปี

โดยทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐอย่างเป็นทางการในรูปคณะที่ปรึกษาหรือแต่งตั้งคณะกรรมการของภาคประชาสังคม และมีคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรองรับ

ข้อ 2. ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า ทั้งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยรัฐบาล และเสนอให้กำหนดเกณฑ์การออกประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเสนอที่ตั้งโรงไฟฟ้า

ขณะที่ข้อ 3. จัดสรรค่าภาคหลวงสู่ชุมชนที่เกิดประโยชน์สูงสุด และเจาะจงในพื้นที่ตั้งปิโตรเลียมมากขึ้น โดยควรยกเลิกส่งค่าภาคหลวงให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในจังหวัดที่ตั้งของปิโตรเลียม และนำเงินส่งให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลในพื้นที่ผลิต 20% ให้ อบต.หรือเทศบาลจังหวัด 20% และให้ อบต.ทั่วประเทศ 15% และข้อที่ 4. ส่งเสริมและสร้างระบบธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการองค์กร

"กรรมการปฏิรูปด้านพลังงาน อยู่ใน 11 ด้านของกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเชื่อว่าแผนงานดังกล่าวจะสามารถปฏิรูปด้านพลังงานของประเทศได้อย่างดี" นายมนูญ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook