แบงก์ดอดหั่นดอกเบี้ยฝาก0.50% ไร้แววลดดอกกู้-หวังรักษาสเปรดประคองกำไร

แบงก์ดอดหั่นดอกเบี้ยฝาก0.50% ไร้แววลดดอกกู้-หวังรักษาสเปรดประคองกำไร

แบงก์ดอดหั่นดอกเบี้ยฝาก0.50% ไร้แววลดดอกกู้-หวังรักษาสเปรดประคองกำไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์ดอดหั่น ดบ.ฝากพิเศษ-ฝากประจำ 0.25-0.50% อีกระลอก สบช่องลดต้นทุนการเงิน หลัง กนง.ลดดอกเบี้ยซ้อน 2 ครั้ง แต่เมินลดดอกกู้ หวังรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยเต็มที่

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ต่อปี ครั้งล่าสุดเหลือ 1.50% ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษลงโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 0.25-0.50% ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทิสโก้ ธนาคารยูโอบี และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

ส่วนดอกเบี้ยฝากประจำมีการปรับลดลงบางแห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเกียรตินาคิน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังไม่มีการขยับลงแต่อย่างใด

ด้านนายกฤษณ์ จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจเงินฝาก การลงทุน ประกันภัย และธนบดี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำพิเศษลงตามผลประชุม กนง. เนื่องจากธนาคารต้องบริหารต้นทุนและรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) หรือสเปรด หลังจากช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อไม่ได้เติบโตนัก และสภาพคล่องในระบบยังมีอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก

ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จะทำให้ลูกค้าหันไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้นเขากล่าวว่า ที่ผ่านมามีปริมาณเงินฝากไหลออกไปลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงจนมีนัยสำคัญ เพราะส่วนหนึ่งดัชนีราคาหุ้นก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่ร้อนแรงมาก ขณะที่ยังมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยรายที่มั่นใจออมเงินผ่านเงินฝากมากกว่าลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงสูงแม้จะมีผลตอบแทนที่สูง

"การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งซ้อน เชื่อว่า กนง.น่าจะต้องการกดค่าเงินบาทให้อ่อนลงเพื่อช่วยภาคส่งออก แต่เชื่อว่าคงไม่ได้ช่วยให้การปล่อยกู้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนัก เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวอย่างชัดเจนขนาดนั้น" นายกฤษณ์กล่าว

ขณะที่นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเกียรตินาคินกล่าวว่า ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลงทุกโปรดักต์ เพื่อบริหารจัดการต้นทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเติบโตของสินเชื่อที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก โดยปัจจุบันต้นทุนเงินฝากเฉลี่ยของธนาคารอยู่ที่ 3.1-3.2% ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเทียบกับในระบบที่เฉลี่ยอยู่ที่กว่า 2% เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารต้องการเพิ่มสัดส่วนเงินฝาก Casa (บัญชีออมทรัพย์และบัญชีกระแสรายวัน) จึงเสนอดอกเบี้ยในอัตราที่ค่อนข้างสูง

"ปีที่แล้วดอกเบี้ยเงินฝากเราสูงถึง 4% แต่เมื่อสินเชื่อไม่เติบโต สภาพคล่องเลยดูล้น เราก็เลยต้องบริหารจัดการต้นทุนให้เหมาะสม ต้องปรับลดดอกเบี้ยลงบ้าง แต่ถ้าเทียบแล้วก็ถือว่ายังสูงกว่าตลาด และด้วยความที่เราเป็นแบงก์ขนาดเล็กต้นทุนเราก็ไม่น่าจะลงไปได้อีกเท่าไหร่ ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้นเรายังไม่ได้ปรับลดลง แต่ยืนยันว่าลูกค้ากว่า 80% ของเราจะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ยคงที่จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากนัก"

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาธนาคารมีปริมาณเงินฝากไหลออกไปลงทุนในตราสารอื่น ๆ ค่อนข้างมากประมาณ 1-2 พันล้านบาทต่อเดือน ซึ่งก็ไหลออกเหมือนกันทั้งตลาด

นางธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 1/2558 สินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 21% ใกล้เคียงกับช่วงสิ้นปี 2557 หรือขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ระดับ 94.5%

"เศรษฐกิจไม่เติบโต สินเชื่อชะลอตัวทำให้แบงก์บริหารจัดการสภาพคล่องได้ยากขึ้น เพราะเมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงย่อมส่งผลกระทบต่อ NIM และผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ได้ ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/58 ความสามารถในการทำกำไรของแบงก์ก็ปรับตัวลดลง และยังมีแนวโน้มลดลงอีกในไตรมาส 2 นี้" นางธัญญลักษณ์กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook