'ธีระชัย'เตือน ธ.ก.ส.กู้เงินระบบอินเตอร์แบงก์เสี่ยงผิดทางอาญา

'ธีระชัย'เตือน ธ.ก.ส.กู้เงินระบบอินเตอร์แบงก์เสี่ยงผิดทางอาญา

'ธีระชัย'เตือน ธ.ก.ส.กู้เงินระบบอินเตอร์แบงก์เสี่ยงผิดทางอาญา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อดีตรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เตือน ธ.ก.ส.กู้เงินผ่านระบบอินเตอร์แบงก์เสี่ยงมีความผิดทางอาญา ด้านธนาคารออมสินยันปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. วงเงิน 20,000 ล้านบาท ไม่มีกระทรวงการคลังค้ำประกันและไม่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง กล่าวถึงประเด็นที่ธนาคารออมสินปล่อยเงินกู้ผ่านระบบอินเตอร์แบงก์ ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ว่า ปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องหลายหมื่นล้านบาท แต่กลับไปกู้เงินให้มีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น ย่อมอยู่ในข่ายที่น่าสงสัย เพราะ ธ.ก.ส.ดำเนินการโครงการนี้ตามคำสั่งของรัฐบาล จึงต้องแยกบัญชีออกจากธุรกิจที่ทำอยู่ปกติ และการกู้ยืมเพื่อโครงการนี้ก็มีการอนุมัติและค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อนการดำเนินงาน ดังนั้นหากเกิดความเสียหายกับการกู้เงินในครั้งนี้ ทางบอร์ดบริหารและผู้จัดการของ ธ.ก.ส.ต้องแบ่งกันรับผิดชอบทางแพ่ง เพราะที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ไม่เคยมีการโอนรายการข้ามจากบัญชีปกติ ไปใช้ในบัญชีนโยบายทางการ หากมีการใช้วงเงินที่ผิดจากการทำธุรกิจแบบปกติ ก็จะเข้าข่ายถูกสงสัยว่าร่วมมือกับรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดผลดีแก่พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่ความผิดทางอาญา 

ด้านนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยืนยันว่า ธนาคารได้ปล่อยเงินกู้ในระบบอินเตอร์แบงก์ให้กับ ธ.ก.ส.ไปแล้ว 5,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา จากยอดวงเงินที่อนุมัติทั้งหมด 20,000 ล้านบาท โดยไม่มีกระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกัน และการปล่อยกู้ในครั้งนี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว แต่ต้องการช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับ ธ.ก.ส.เท่านั้น ส่วนปัญหาการต่อต้านจากสหภาพแรงงานธนาคารออมสินต่อการปล่อยเงินกู้ให้โครงการรับจำนำข้าว ตนได้เจรจากับสหภาพแรงงานฯ แล้ว ถึงการปล่อยกู้ในครั้งนี้ และยืนยันว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว 

ขณะที่นายประสิทธิ์ พาโฮม ประธานสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. กล่าวว่า ทางสหภาพฯ จะตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ธ.ก.ส.ได้เข้าไปกู้เงินระบบอินเตอร์แบงก์กับธนาคารออมสิน โดยคาดว่าจะทราบรายละเอียดที่แท้จริงในวันจันทร์ที่ 17 ก.พ.57 แต่เท่าที่ตรวจสอบขณะนี้ยังไม่พบว่ามีเงินโอนเข้ามาหรือจ่ายออกไปสำหรับโครงการจำนำข้าวแต่อย่างใด หากธนาคารดำเนินการกู้เงินดังกล่าวจริง จะต้องตรวจสอบว่ากู้ไปดำเนินงานด้านใด เนื่องจากการปล่อยกู้ลักษณะนี้มีจุดประสงค์เพื่อเสริมสภาพคล่อง และต้องเสียดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ ซึ่งขณะนี้ธนาคารไม่ได้มีปัญหาด้านสภาพคล่อง อีกทั้งต้องตรวจสอบว่ามีกฎหมายใดที่รองรับการกู้และใช้จ่ายเงินในครั้งนี้ หากมีปัญหาในทางปฏิบัติ ทางฝ่ายบริหารหรือผู้ที่เข้าไปดำเนินการกู้เงินจะต้องรับผิดชอบ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook