“หมอวรวิทย์” วีรบุรุษของคนไร้สัญชาติที่ชายแดนไทย

“หมอวรวิทย์” วีรบุรุษของคนไร้สัญชาติที่ชายแดนไทย

“หมอวรวิทย์” วีรบุรุษของคนไร้สัญชาติที่ชายแดนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ชีวิตที่อยู่เพื่อคนอื่น คือชีวิตที่มีคุณค่า” คงไม่เกินไปนักหากจะยกให้เป็นคำจำกัดความของ “นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์” หรือ “หมอตุ่ย” ผู้ที่ใช้เวลาครึ่งชีวิตไปกับการช่วยเหลือคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรด้านสาธารณสุขในถิ่นทุรกันดาร

พวกเขาเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่มีตัวตนในสารบบ แต่สำหรับหมอตุ่ย ทุกชีวิตมีคุณค่าเสมอในฐานะมนุษย์และเพื่อนร่วมโลก

ที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เขตติดต่อชายแดนพม่า ห่างจากตัวเมืองแม่สอดเป็นระยะทางกว่า 4 ชั่วโมง เส้นทางเลียบเขาคดเคี้ยวนับพันโค้ง บางช่วงไม่มีถนนตัดผ่าน กลายสภาพเป็นบ่อโคลนขนาดยักษ์เมื่อฤดูฝนมาเยือน ตัดขาดทุกการเข้าถึง

ในรัศมี 150 กิโลเมตร โรงพยาบาลอุ้มผางคือที่พึ่งหนึ่งเดียวของชาวบ้านเกือบ 70,000 ชีวิตในยามเจ็บป่วย โดยเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ เป็นคนไทยตามกฎหมาย ในขณะที่มากกว่าครึ่งมีสถานะ “บุคคลหมายเลข 0” หรือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ไม่มีตัวตนในทางกฎหมาย และมันคือสิ่งที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์เลือก

คนเหล่านี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในป่าที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ของเครือข่ายไหนเข้าไปถึง และมันคงไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาคิดจะเรียกร้อง ในเมื่อยังต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพอย่างอาหารและยารักษาโรค

หมอตุ่ยอธิบายว่า “ปัญหาหลักๆ มาจากความไร้สัญชาติ เส้นแบ่งประเทศทำให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เพราะเส้นแบ่งประเทศมันมาทีหลัง คนพวกนี้เขาอยู่กันมาก่อน พอมีเส้นแบ่งก็กลายเป็นคนไร้สัญชาติ เพราะชาวกะเหรี่ยงไม่มีประเทศเป็นของตัวเอง”

ถึงแม้ว่าบางคนจะเกิดในเขตชายแดนไทย แต่นั่นก็ไม่สามารถทำให้รอดพ้นจากสถานะบุคคลหมายเลข 0 เพราะพ่อแม่ของเขาไม่มีเงินมากพอที่จะไปแจ้งเกิดในตัวอำเภอ

“มีพ่อลูกคู่หนึ่ง พ่ออายุ 80 มีบัตรประชาชน ลูกอายุ 48 แต่คลอดในป่า พ่อไม่มีเงินไปแจ้งเกิด ลูกก็ไม่มีบัตร พอลูกเป็นโรคไตวาย ต้องฟอกไตตลอด รัฐไม่ได้ดูแลค่าใช้จ่ายตรงนี้ ทั้งที่มันก็ชัดเจนว่าเขาเป็นคนไทย ดังนั้น ต้องหยุดสภาวะไร้สัญชาติให้ได้”

“30 ล้านบาท” คือค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่โรงพยาบาลอุ้มผางแบกรับเอาไว้ในแต่ละปี มันเกิดจากการรักษาบุคคลไร้สัญชาติที่รัฐไม่ได้ให้ความคุ้มครอง ทำให้โรงพยาบาลมีปัญหาเรื่องเครดิตกับบริษัทยา เพราะไม่มีเงินจ่ายตามกำหนด

ถึงจะเป็นอย่างนั้น หมอตุ่ยก็ยังเลือกที่จะให้การรักษากับทุกคนโดยไม่เลือกชาติพันธุ์ เพราะความเจ็บป่วยคือสัจธรรมหนึ่งเดียวสำหรับทุกชีวิต “เราทนดูเขาตายไม่ได้ เขามีตา หู จมูก ปาก เหมือนเรา ต้องการปัจจัยสี่เหมือนเรา หายใจเหมือนเรา จะทนดูเขาตายได้จริงๆ เหรอ”

ย้อนกลับไปเมื่อ 24 ปีที่แล้ว หมอตุ่ยเลือกที่จะมาเป็นแพทย์ใช้ทุนตามกำหนด 1 ปีที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ “มันเป็นที่ที่ไม่มีใครแย่ง” และสำหรับพื้นที่ที่เงียบเหงาแบบนี้ เวลาแค่ 1 ปีก็ยังมากเกินไปด้วยซ้ำสำหรับหมอมือใหม่จากเมืองกรุง

24 ปีผ่านไป หมอตุ่ยยังเป็นที่พึ่งของชาวบ้านที่นี่เช่นเดิม และไม่คิดจะจากไป ด้วยเหตุผลที่ว่า “คนที่นี่ต้องการความช่วยเหลือ”

“สภาพสังคมบังคับให้เราก้มมองแต่ตัวเอง แต่อยู่อุ้มผางทำให้เราเงยหน้ามองอย่างอื่นที่ไม่เคยมอง เห็นคนจน เห็นคนเหยียบกับระเบิดขาขาดทั้งสองข้าง เห็นคนคลอดลูกตาย เห็นคนหามกันออกมาจากในป่ามาส่งโรงพยาบาล เลยคิดว่าเป็นหมอก็มีประโยชน์ดี คิดว่าตัวเองมีประโยชน์กับที่นี่” เขาเล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต

หมอตุ่ยเล่าว่า ในวันที่ยังเป็นนิสิตแพทย์ เขามักจะโดดเรียนเพื่อไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เพราะไม่ชอบวิชาท่องจำ แม้แต่การสอบเข้าคณะแพทย์ก็ยังเกิดจากความไม่ตั้งใจ เขาต้องทนเรียนให้จบ คิดจะลาออกก็หลายครั้ง

จนกระทั่งเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 6 มีหน้าที่รักษาคนไข้อย่างจริงจัง เขาจึงเริ่มเห็นประโยชน์ของการเป็นหมอ ในฐานะผู้ที่มีโอกาสได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

ด้วยเหตุที่ไม่ได้มีอุดมการณ์อยากช่วยเหลือผู้อื่นตั้งแต่แรก หมอตุ่ยจึงปฏิเสธคำยกย่องจากใครต่อใครที่บอกว่าเขาเป็นผู้มีอุดมการณ์สูงส่ง และเป็นผู้เสียสละ

“ก็ผมไม่ได้เสียสละอะไร ผมแค่ใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ หลายๆ คนบอกว่าผมเสียสละ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะผมไม่ได้เสียอะไร ยังมีข้าวกิน มีที่นอน มีงานทำ เจ็บป่วยก็มียารักษา”

เจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงพยาบาลทราบกันดีว่า เงินเดือนของหมอตุ่ยส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งเป็นค่ารักษาพยาบาลสำหรับคนไร้สัญชาติและคนยากจน ใครจะปฏิเสธได้ว่านี่ไม่ใช่คุณสมบัติของผู้เสียสละ แม้เจ้าตัวจะไม่ยอมรับก็ตาม

จะมีสักกี่คนที่ยินดีสละเวลาและรายได้ที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองให้กับคนแปลกหน้าเป็นประจำทุกๆ เดือน ไม่เว้นแม้กระทั่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนฝั่งพม่า เพียงเพราะว่าพวกเขาต่างก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา

หลายปีก่อนมีหญิงชาวพม่าหอบลูกน้อยอายุ 7 วัน เดินฝ่าป่าดงเป็นเวลา 12 ชั่วโมง เพื่อมาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ความผิดปกติของลูกทำให้เธอรอช้าไม่ได้ เด็กน้อยไม่กินนม ไม่ส่งเสียงร้อง เนื้อตัวเริ่มมีสีเขียวคล้ำเป็นจุดๆ บ่งบอกถึงความล้มเหลวของระบบการรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย

เธอคลอดลูกในป่าโดยอาศัยความช่วยเหลือของหมอตำแย โชคร้ายที่การใช้ไม้ไผ่ตัดสายสะดือทำให้เด็กติดเชื้อบาดทะยักอย่างรุนแรง และใกล้จะเสียชีวิตเต็มที สัญชาตญาณของความเป็นแม่คือแรงผลักดันที่ทำให้เธอมาไกลถึงที่นี่

“โรงพยาบาลฝั่งพม่าค่อนข้างแย่ ที่นี่จะปลอดภัยกับลูกตัวเองมากกว่า เป็นสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของมนุษย์ ถ้าเป็นเราก็คงทำเหมือนกัน จะเป็นคนเชื้อชาติไหนก็รักลูก อยากให้ลูกปลอดภัย เราควรจะดีใจที่เขาเห็นเราเป็นที่พึ่ง” คุณหมอเล่าย้อนไปในวันนั้น

โชคดีที่รักษาชีวิตเด็กเอาไว้ได้ เคสนี้จบด้วยค่าใช้จ่ายราวๆ 200,000 บาท แต่งานของหมอตุ่ยยังไม่จบ นอกจากจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว โครงการอบรมหมอตำแยก็ได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก

“ตั้งแต่วันนั้นผมก็บอกให้เจ้าหน้าที่เอาชุดทำคลอดไปให้หมอตำแยที่ฝั่งพม่า ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากนั้นก็ไม่เห็นเคสแบบนี้อีก”

ทุกวันนี้ หมอตุ่ยอยู่ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาล ไม่ได้ออกตรวจคนไข้ แต่เป็นผู้ผลักดันอยู่เบื้องหลังเพื่อให้คนเบื้องหน้าทำงานได้ง่ายขึ้น บทบาทหน้าที่เปลี่ยนไป แต่ความมุ่งหวังไม่เคยเปลี่ยนแปลง ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ และยังมีคนอีกมากที่ต้องการความช่วยเหลือ

เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ความคาดหวังของสังคมอาจบังคับให้เรามุ่งหน้าไปหาความสำเร็จ แต่แท้ที่จริงแล้ว สาระสำคัญของชีวิตอาจจะอยู่ที่การเงยหน้าขึ้นมามองไปรอบๆ เพื่อซึมซับความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เป็นที่พึ่งของผู้อื่นดูบ้าง

“ชีวิตที่อยู่เพื่อคนอื่น คือชีวิตที่มีคุณค่า”

ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์
นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก
คุณจันทราภา จินดาทอง นักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลอุ้มผาง
คุณยานี เผ่าอุ้มผาง เจ้าพนักงานสาธารณสุข

ร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลอุ้มผางได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook