"ตำนานรักมะเมียะ" กับเรื่องจริงของคนอื่น

"ตำนานรักมะเมียะ" กับเรื่องจริงของคนอื่น

"ตำนานรักมะเมียะ" กับเรื่องจริงของคนอื่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย วิภา จิรภาไพศาล wipha_ch@yahoo.com
มติชนรายวัน วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

คำสอนหนึ่งที่ได้ยินกันมานานคือ "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์" หากวันนี้ที่ชวนท่านผู้อ่านไปร่วมกันค้นหาความสนุกจากโศกนาฏกรรมรักของ "มะเมียะ"

เจ้าหญิงบัวชุมและเจ้าน้อยศุขเกษม

ความสนุกที่ว่าไม่ได้เกิดจากการเห็นความทุกข์ของผู้อื่น แล้วสบายใจ หากเป็นความสนุกที่มีการโต้แย้ง ถกเถียงกันด้วยหลักฐานเอกสารทางวิชาการถึง "ตำนานรักมะเมียะ" ที่วรชาติ มีชูบท เขียนไว้ในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนกุมภาพันธ์นี้ ในบทความชื่อว่า "ตำนานรักมะเมียะ เรื่องราวความรักของผู้ใด?"

เนื้อเรื่องบอกเล่ากันทั่วไปที่เราท่านทราบกันคือ นางสาวมะเมียะ บ้านอยู่มะละแหม่ง พบรักกับเจ้าน้อยศุขเกษม ลูกอุปราชเมืองเชียงใหม่ที่ไปเรียนหนังสือที่นั่น เมื่อเรียนจบเจ้าน้อยศุขเกษมจะกลับเชียงใหม่ ได้พามะเมียะกลับมาด้วย แต่ทางบ้านไม่ยอมรับจึงต้องส่งกลับ สุดท้ายเจ้าน้อยศุขเกษมตรอมใจตาย ส่วนมะเมียะไปบวชชี

ส่วนเนื้อหาที่ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง เรียบเรียงกล่าวถึงเรื่องมะเมียะว่า

เมื่อ พ.ศ.2441 เจ้าแก้วนวรัฐฯ น้องชายของเจ้าอุปราช (สุริยะ) เมืองเชียงใหม่ ส่งเจ้าน้อยศุขเกษม บุตรชายอายุ 15 ปี ไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์แพทริก (St. Patrick′s School) เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า พ.ศ.2445 เมื่อเจ้าน้อยศุขเกษมมีอายุ 19 ปี ได้ออกไปเดินเที่ยวในตลาดจึงพบมะเมียะ แม่ค้าขายบุหรี่อายุ 15 ปี ทั้งคู่ต่างก็ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน

เจ้าน้อยศุขเกษมอายุ 20 ปี ต้องกลับเชียงใหม่ จึงแอบพามะเมียะกลับมาด้วย เมื่อกลับมาถึงจึงทราบว่าบิดาและมารดาได้หมั้นหมายผู้หญิงไว้ให้แล้ว เจ้าน้อยศุขเกษมเล่าเรื่องที่ลักลอบนำมะเมียะกลับมาให้ที่บ้านฟัง ผลก็คือท่านไม่ยอมรับมะเมียะเป็นสะใภ้ และให้ส่งตัวกลับทันที

(ซ้าย บน) ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง (ขวาบน) เรือแม่ปะหรือเรือหางแมงป่องที่ใช้ขึ้นล่องในแม่น้ำปิง (ซ้ายล่าง) มุมหนึ่งในโรงเรียนเซนต์แพทริก เมืองมะละแหม่ง (ขวาล่าง) คุ้มริมปิงของเจ้าแก้วนวรัฐฯ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของตลาดนวรัฐ

ด้วยเวลานั้นอังกฤษกำลังแผ่อิทธิพลในคาบสมุทรมลายู มะเมียะเป็นคนบังคับของอังกฤษ การให้พักในคุ้มเจ้าอาจกลายเป็นคดีระหว่างประเทศได้ เจ้าน้อยศุขเกษมจะต้องเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในอนาคต ถ้าเลือกมะเมียะเป็นภรรยา อังกฤษอาจถือโอกาสเข้าแทรกแซงการเมือง จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับล้านนาต้องเสื่อมทรามลง ก่อนจะส่งมะเมียะกลับ พระสงฆ์ที่มีวิชาทางเวทมนตร์ประกอบพิธีรดน้ำมนต์เรียกขวัญให้เจ้าน้อยศุข เกษม ไล่ผีสางนางไม้ที่ทำให้ลุ่มหลงมะเมียะ เช้าวันที่มะเมียะออกเดินทาง ประชาชนจำนวนมากแห่แหนกันไปที่ "ประตูหายยา" มะเมียะลาเจ้าน้อยศุขเกษมด้วยการสยายผมออกเช็ดเท้าเจ้าน้อยศุขเกษม

มะเมียะรอเจ้าน้อยศุขเกษมไปรับกลับเชียงใหม่ตามสัญญา แต่ไร้วี่แวว จึงได้ตัดสินใจบวชชี ภายหลังได้ข่าวว่าเจ้าน้อยศุขเกษมเข้าพิธีสมรสกับหญิงอื่น แม่ชีมะเมียะจึงเดินทางมาเชียงใหม่เพื่อพบเจ้าน้อยศุขเกษม แต่เจ้าน้อยศุขเกษมไม่ยอมมาพบ สุดท้ายมะเมียะจึงเป็นแม่ชีตามความตั้งใจจนกระทั่งถึงแก่กรรมใน พ.ศ.2505 รวมอายุได้ 75 ปี

ขณะที่นักวิชาการชาวเชียงใหม่ท่านหนึ่งลงพื้นที่ สืบหาข้อมูลในพม่า เขาเดินทางไปวัดพระธาตุไจ้ตาหล่าน เมืองมะละแหม่ง (วัดที่เชื่อว่ามะเมียะไปบวชอยู่) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2545 เจ้าอาวาสวัดดังกล่าวเล่าว่า

ตำนาน รักมะเมียะกับเข้าน้อยศุขเกษม ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง เขียนและขยายความเพิ่มเติมไว้ในหนังสือ "ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่" ตีพิมพ์และเผยแพร่ พ.ศ.2523

ประมาณ พ.ศ.2504-5 ที่วัดมีแม่ชีชราอยู่แล้วรูปหนึ่ง ชื่อด่อนังเหลี่ยน อายุราว 70 ปี บวชเป็นรูปชีมาช้านานแล้ว แม่ชีรูปนี้บวชเมื่อยังเป็นสาว ชอบมวนบุหรี่และมีคนมารับไปขายเป็นประจำ ภายหลังแม่ชีรูปนั้นก็เสียชีวิตลง ที่วัดก็ไม่มีแม่ชีต่อมาอีกเลย ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นมะเมียะ

เมื่อ นักวิชาการท่านนั้นเดินทางกลับมา ได้นำผลการศึกษาค้นคว้าเรื่องแม่ชีด่อนังเหลี่ยนมาเผยแพร่ ทำให้เรื่องราวความรักของมะเมียะและเจ้าน้อยศุขเกษมดูน่าเชื่อถือและเป็น จริงมากขึ้น มีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงการพลัดพรากของเจ้าอุตรการโกศลและมะเมียะกันอย่าง ยิ่งใหญ่ในเดือนเมษายน พ.ศ.2546

ปราณีก็เคยยืนยันกับเหนือฟ้า ปัญญาดี จากหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือว่า

"คุณ ปราณีบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นภายในคุ้มเมืองเชียงใหม่ เรื่องราวต่างๆ จึงรู้กันแต่ภายใน คนภายนอกไม่เคยได้เห็นหน้าหรือรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของสาวพม่าคนนั้นเลย เพราะอาจถูกห้ามไม่ให้พูดถึง..." (หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ ฉบับประจำวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2548)

หากผู้เขียน (วรชาติ มีชูบท) ชวนเราให้เห็นข้อเท็จจริงที่ค้นคว้าจากเอกสารชั้นต้น เอกสารชั้นรองหลายสิบรายการเพื่ออธิบายเรื่องนี้ ซึ่งขอยกเพียงฉากไฮไลต์ที่เจ้าน้อยศุขเกษมจำใจส่งมะเมียะกลับพอสังเขปดังนี้

"ประตูหายยา" ที่เจ้าน้อยศุขเกษมไปส่งมะเมียะ และชาวเมืองเชียงใหม่จำนวนมากไปเฝ้ารอดูว่าเธอสวยเพียงใดนั้นเป็นเรื่องผิด วิสัย ตามความเชื่อของคนเชียงใหม่ ประตูหายยาเป็น "ประตูผี" สำหรับส่งศพออกนอกเมือง ยิ่งเป็นการเดินทางไปเมืองมะละแหม่ง ควรเลือกใช้ "ประตูท่าแพ" เพื่อลงเรือแม่ปะตามแม่น้ำปิงไปเมืองระแหง แล้วเปลี่ยนไปใช้ทางบก ใช้ช้างเดินทางไปด่านแม่สอดสู่เมืองมะละแหม่ง เป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุด

การที่มะเมียะสยายผมออกเช็ดเท้าเจ้าน้อยศุขเกษมด้วยความอาลัยรักนั้น วรชาติตั้งข้อสังเกตว่า

"เหตุการณ์ตอนนี้ให้เผอิญไปพ้องกับเหตุการณ์ที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงสยายพระเกศาเช็ดพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวกราบถวายบังคมลาที่สถานีรถไฟหลวงสามเสน ก่อนที่จะประทับขบวนรถไฟพิเศษเสด็จไปยังสถานีปากน้ำโพ เพื่อเปลี่ยนไปประทับกระบวนเรือเสด็จไปนครเชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2451"

ส่วนประเด็นที่ชวนฉงนอื่นอีกมากมาย เช่น อายุของเจ้าน้อยศุขเกษม?, การไปเรียนที่เมืองมะละแหม่ง? ฯลฯ แต่ที่ถือว่าเป็นหมัดน็อกเลยก็คือ "ตำนานรักนี้เป็นเรื่องจริงของคนอื่น"

ซึ่งทั้งหมดนี้รอให้ช่วยกันอ่าน ช่วยกันวินิจฉัยในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook