ตัวโลน สัตว์ที่ติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์

ตัวโลน สัตว์ที่ติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์

ตัวโลน สัตว์ที่ติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวว่า มีเด็กคนหนึ่งถูก "ตัวโลน" จำนวนมาก เกาะอยู่ที่เปลือกตาจนต้องถูกนำส่งโรงพยาบาล และเนื่องจากข่าวนี้ เลยทำให้ผู้คนส่วนใหญ่สนใจเรื่อง"ตัวโลน"กันมากขึ้นว่ามันคือตัวอะไร หน้าตาเป็นแบบไหน จนกลายเป็นคำค้นหาสุดฮิตในGoogle ขึ้นมาทันที วันนี้ Sanook! MEN จึงมีข้อมูลมาฝากแล้วครับ ว่า"ตัวโลน" มันคือตัวอะไร ซึ่งมันก็เป็นพวกเดียวกับเหานั่นเอง

สาเหตุ
เหาและโลนเป็นแมลงไร้ปีกตัวเล็กขนาดประมาณ 1-2 mm อาศัยอยู่กับเส้นผมและขนของมนุษย์ คอยดูดเลือดกินเป็นอาหาร ในน้ำลายมีสารซึ่งระคายเคืองผิวหนังได้ ทำให้เกิดตุ่มคันตรงรอยกัด ตัวเหา (Pediculosis humanus capitis) อาศัยที่เส้นผมบนศีรษะ ลำตัวเรียวยาว มีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว จึงติดต่อกันได้ง่าย ตัวโลน (Phthirus pubis) อาศัยที่เส้นขนบริเวณหัวหน่าว ลำตัวป้อมกลม ติดต่อโดยเพศสัมพันธ์เป็นหลัก

ลักษณะทางคลินิก
เหาพบบ่อยในเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงในชุมชนแออัด ติดต่อจากคนสู่คนโดยการสัมผัสหรือจากการใช้สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับศีรษะร่วมกัน ได้แก่หวี หมวก หมอน เป็นต้น อาการได้แก่ การเกิดตุ่มคันบนศีรษะ ซึ่งหากเป็นมากอาจเกาจนมีน้ำเหลืองไหลและมีการติดเชื้อแทรกซ้อน โลนติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงมักพบในคนวัยหนุ่มสาว ผู้ป่วยมาด้วยอาการคันที่หัวหน่าวและอวัยวะเพศ ตรวจร่างกายพบรอยโรคเป็นตุ่มแดงคัน ใต้ร่มผ้า และมักจะมีรอยเกาและการติดเชื้อด้วย

การวินิจฉัยแยกโรค
ไข่เหาไม่สามารถเลื่อนไปตามเส้นผมได้ ใช้เป็นข้อแตกต่างในการแยกเหาออกจากรังแค

การวินิจฉัย
อาศัยการพบตัวเหา-โลน หรือไข่ ในเหาอาจพบปลอกหุ้มเส้นผม (hair casts) ซึ่งมีสีขาวรูปทรงกระบอกขนาด 2-7 mm อยู่รอบเส้นผม ห่างจากหนังศีรษะ 2-3 cm ส่องด้วย Wood’s lamp จะเรืองแสงสีน้ำเงินอมเหลือง

การรักษา
วิธีการรักษาแบบชาวบ้านคือการโกนผมหรือขนออกหมด ที่จริงเป็นวิธีที่ได้ผลพอควร เพราะเมื่อตัวเหาหรือโลน ไม่มีที่เกาะยึด โรคก็จะหายไปได้
การรักษาด้วยการทายา 0.3% gamma benzene hexachloride gel (Jacutin) โดยถ้าเป็นเหา ให้สระผมให้สะอาดแล้วทายาทั่วศีรษะ ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมงแล้วสระผมซ้ำ ตัวยาจะมีฤทธิ์ฆ่าตัวแก่ จึงจำเป็นต้องรักษาซ้ำอีกครั้งหนึ่งใน 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาที่ตัวอ่อนฟักออกจากไข่ นอกจากนั้นการใช้หวีตาถี่ๆ สางผมให้ไข่หลุดออกมา จะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น
สำหรับผู้ที่เป็นโลน ให้ทายาบริเวณหัวหน่าว ท้องน้อย ก้น และต้นขา ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมงแล้วล้างออก ควรให้ผู้ป่วยมารับการตรวจอีก 1 สัปดาห์ หากยังพบตัวหรือไข่ ควรให้การรักษาซ้ำอีกครั้ง

การป้องกัน
ผู้สัมผัสโรคควรได้รับการตรวจโดยละเอียด ถ้าพบตัวเหา-โลน หรือไข่ ควรให้การรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วย เครื่องใช้ของผู้ป่วยควรน้ำมาล้างทำความสะอาด ส่วนเครื่องนุ่มห่มนั้นควรนำมาซักหรือตากแดดหรือเข้าเครื่องอบผ้าตากปกติก็เป็นการเพียงพอ เพราะตัวแมลงมีชีวิตอยู่นอกร่างกายได้ไม่นาน

ขอบคุณข้อมูลจาก
นายแพทย์กฤษณะ สุวรรณภูมิ
หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
http://www.dlfp.in.th/paper/71

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook