ความเป็นมา ปางพระพุทธรูปประจำวันเกิด ของคนทั้ง 7 วัน

ความเป็นมา ปางพระพุทธรูปประจำวันเกิด ของคนทั้ง 7 วัน

ความเป็นมา ปางพระพุทธรูปประจำวันเกิด ของคนทั้ง 7 วัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อไปทำบุญที่วัด ก็จะได้เห็นพระพุทธรูปประจำวันเกิด ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะ และเคารพบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยส่วนมากจะมีด้วยกัน 8 ปางคือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ และมีพุธกลางคืนเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ปาง ซึ่งแต่ละปางนั้นก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป มาดูกันว่าความเป็นมาของแต่ละปางนั้นเป็นอย่างไร

พระพุทธรูปประจำวันเกิด

พระประจำวันอาทิตย์ ได้แก่ ปางถวายเนตร

โดยปางถวายเนตร จะมีลักษณะที่อยู่ในอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้ง 2 ข้าง พระหัตถ์ประสานไว้อยู่หน้าตัก พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมอยู่บนพระหัตถซ้าย มาจากเมื่อครั้งพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้ประทับเสวยวิมุตติสุข หรือก็คือความสุขอันเกิดจากความสงบ อยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นได้เสด็จไปประทับยืน ณ กลางแจ้งทางทิศอีสานของต้นศรีมหาโพธิ์ โดยสถานที่ยินประทับนี้เรียกว่า "อนิมิสเจดีย์" และได้ และทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิ์ดังกล่าวโดยไม่กระพริบพระเนตรเลยเป็นเวลา 7 วัน

พระประจำวันจันทร์ ได้แก่ ปางห้ามญาติ หรือปางห้ามสมุทร

โดยจะมีลักษณะแตกต่างกันอยู่คือ ปางห้ามญาติ จะยกยกพระหัตถ์ข้างขวาข้างเดียว ขณะที่ปางห้ามสมุทรจะยกพระหัตถ์ขึ้นทั้ง 2 ข้าง แต่ทั้ง 2 ปางนั้นจะอยู่ในอิริยาบถยืน และพระหัตถ์ที่ยกขึ้นจะอยู่เสมออก ซึ่งปางห้ามญาตินั้น มาจากเมื่องครั้งพระญาติฝ่ายพุทธบิดา กรุงกบิลพัสดุ์ และพระญาติฝ่ายพุทธมารดา กรุงเทวทหะ ได้ทะเลาะกันเรื่องการแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี เพื่อจะนำน้ำไปทำการเพาะปลูก เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงเตรียมที่จะเปิดศึกกัน จนพระพุทธองค์ได้ไปเจรจาห้ามทัพเพราะไม่อยากให้ญาติต่อสู้กันเอง

ส่วนปางห้ามสมุทร มาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์ ได้เสด็จไปโปรดพวกชฎิล (นักบวชประเภทหนึ่ง เกล้าผมมุ่นเป็นมวยสูงขึ้น มักถือลัทธิบูชาไฟ) 3 พี่น้อง ได้แก่ อุรุเวลกัสสปะ, นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ เพราะ 3 พี่น้องนั้นตั้งตนเป็นใหญ่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา โดยมีบริวารอีก 1,000 คน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงพุทธปาฏิหารย์เพื่อทำลายทิฐิมานะของชฎิลทั้งหลาย ทั้งการห้ามฝน ห้ามลม ห้ามพายุ และห้ามน้ำไม่ให้ท่วมบริเวณที่ประทับ เมื่อพวกชฎิลเห็นดังนั้น ก็รู้สึกเกิดความอัศจรรย์เป็นอย่างมาก จึงยอมบวชเป็นพุทธสาวก

พระประจำวันอังคาร ได้แก่ ปางไสยาสน์

โดยจะมีลักษณะบรรทมตะแคงขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนหมอน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย ส่วนพระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างหมอน ซึ่งความเป็นมาจะมี 2 นัยยะ คือ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระจุนทะเถระ ปูอาสนะระหว่างต้นรังคู่หนึ่ง แล้วทรงประทับ บรรทมแบบสีหไสยาสน์ ตั้งพระทัยว่าจะไม่ลุกอีก ซึ่งการสร้างปางนี้ จึงเสมือนเป็นการรำลึกถึงการเสด็จดับขันธปรินิพพาน

พระประจำวันพุธ ได้แก่ ปางอุ้มบาตร

โดยจะมีลักษณะที่อยู่ในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างถือบาตรไว้ ส่วน พระประจำวันพุธกลางคืน ได้แก่ ปางป่าเลไลยก์ มีลักษณะที่อยู่ในอิริยาบถนั่งประทับบนก้อนหิน พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำเข่า พระหัตถ์ขวาวางหงายบนเข่า

มาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์ได้สำแดงอิทธิปาฏิหารย์เหาะขึ้นไปในอากาศต่อหน้าพระประยูรญาติทั้งหลายเพื่อให้คลายทิฐิ พร้อมทั้งได้เทศนาสั่งสอนว่าด้วยเรื่องพระเวสสันดรชาดก ครั้นเสร็จสิ้นต่างพากันแยกย้ายกลับโดยไม่มีผู้ใดทูลอาราธนาให้ฉันพระกระยาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น

ด้วยเข้าใจผิดคิดว่าพระองค์ และพระสาวกจะต้องฉันภัตตาหารที่มีเตรียมไว้ในพระราชนิเวศน์เอง แต่พระองค์กลับพาพระภิกษุสาวกเสด็จจาริกไปตามถนนหลวงเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ (สัตว์ผู้ควรแก่การแนะนำสั่งสอน) อันเป็นกิจของสงฆ์ นับว่าเป็นครั้งแรกที่ประชาชนได้เห็นได้เห็นพระจริยาวัตรขณะอุ้มบาตรโปรดสัตว์ จึงต่างกันแซ่ซ้องสรรเสริญ และเมื่อพุทธบิดาทรงทราบเข้า ก็เข้าใจผิดว่าพระองค์ออกไปขอทานชาวบ้าน พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงอธิบายถึงการออกบิณฑบาตว่าเป็นการออกไปเพื่อโปรดสัตว์ ไม่ใช่การขอทาน

พระประจำวันพุธกลางคืน ได้แก่ ปางป่าเลไลยก์

มาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์ประทับอยู่เมืองโกสัมพี แล้วพระภิกษุซึ่งมีอยู่มากรูปด้วยกันชอบทะเลาะเบาะแว้งกัน พระองค์จึงเสด็จไปประทับอยู่ในป่าที่ชื่อว่าปาลิไลยกะตามลำพัง เวลานั้นได้มีพญาช้างชื่อเดียวกับป่ามาคอยปรนนิบัติ และพิทักษ์พระพุทธองค์ ต่อมาพญาลิงเห็นเช่นนั้น ก็เกิดกุศลจิตทำตามอย่างบ้าง  ขณะที่ชาวบ้านเมื่อไม่เห็นพระพุทธเจ้า และทราบเหตุก็พากันติเตียน และไม่ทำบุญกับพระเหล่านั้น พระเหล่านั้นจึงสำนึก และได้ขอให้พระพุทธองค์เสด็จกลับมา ซึ่งพญาช้างก็ได้ตามมาส่งเสด็จ และเกิดความเสียใจ ด้วยความอาลัยอาวรณ์ จึงสิ้นลมในที่สุด และด้วยผลบุญที่ทำไว้ จึงได้ไปเกิดเป็น "ปาลิไลยกเทพบุตร"

พระประจำวันพฤหัสบดี ได้แก่ ปางสมาธิ

โดยจะมีลักษณะที่อยู่ในอิริยาบถนั่งสมาธิ พระบาทขวาทับอยู่พระบาทซ้าย ส่วนพระหัตถ์ซ้อนกันอยู่บนตัก มาจากเมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงประทับขัดสมาธิบนบัลลังก์หญ้าคาใต้ต้นมหาโพธิ์ ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา และได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 หรือที่เรียกว่า "วันวิสาขบูชา"

พระประจำวันศุกร์ ได้แก่ ปางรำพึง

มีลักษณะที่อยู่ในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้ง 2 ยกประสานขึ้นที่อก โดยเป็นพระหัตถ์ขวา ทับพระหัตถ์ซ้าย มาจากเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้ไม่นาน ก็ได้ทรงคิดพิจารณาว่า ธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งยากเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจ จึงคิดจะไม่แสดงธรรมแล้ว เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมทราบเรื่อง ก็ได้มากราบทูลให้แสดงธรรมต่อ ด้วยเหตุผลที่ว่าในโลกนี้ยังมีบุคคลที่มีกิเลสเบาบางสามารถฟังธรรมของพระองค์เข้าใจได้อยู่ จึงทรงรำพึงถึงธรรมเนียมพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อน ว่าตรัสรู้แล้วย่อมแสดงธรรมโปรดสัตว์เพื่อประโยชน์สุขแก่โลก จึงทรงเปลี่ยนพระทัย และออกไปแสดงธรรมต่อ

พระประจำวันเสาร์ ได้แก่ ปางนาคปรก

โดยจะมีลักษณะที่อยู่ในอิริยาบถนั่งสมาธิ คล้ายกับปางสมาธิ จุดเด่นที่สำคัญคือจะมีญานาคแผ่ขึ้นจากไหล่ปรกพระเศียรอยู่ มาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์เมื่อทรงตรัสรู้ได้ไม่นาน และได้ไปประทับอยู่ใต้ต้นจิก ขณะนั้นได้เกิดฝนตกลงมายาวนาน 7 วัน และได้มีพญานาคนาม มุจลินท์นาคราช แสดงอิทธิฤทธิ์เข้าไปวงขนดกายเป็นวงกลม 7 รอบ และแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าไว้ จนกระทั่งฝนหยุดตกจึงได้แปลงร่างเป็นมาณพเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook