โทษแรง! ขับรถ “ชนแล้วหนี” มีโทษหนักกว่าที่คิด

โทษแรง! ขับรถ “ชนแล้วหนี” มีโทษหนักกว่าที่คิด

โทษแรง! ขับรถ “ชนแล้วหนี” มีโทษหนักกว่าที่คิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     หลายครั้งที่เรามักพบเห็นข่าวอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ผู้กระทำผิดกลับหนีหายไปหน้าตาเฉย ซึ่งส่วนมากมักออกมาอ้างในภายหลังว่ากลับไปตั้งหลักที่บ้านเฉยๆ และมีอีกหลายกรณีที่ไม่สามารถตามหาผู้กระทำผิดได้อีกเลย แต่รู้หรือไม่ว่าการชนแล้วหนีถือเป็นความผิดทางอาญา มีอายุความยาวนานถึง 15 ปีเลยทีเดียว

     หากขับรถประสบอุบัติเหตุ สิ่งที่จะต้องทำคือการหยุดรถเพื่อตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิดก็ตาม เพราะหากขับรถหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุไปดิ้อๆ อาจถูกสันนิษฐานว่าเป็นฝ่ายผิด หรือครอบครองสิ่งผิดกฎหมายใดๆ อยู่ภายในรถ ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 78 ที่ระบุว่า

     "ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ ในทางซึ่งก่อให้เกิดความ เสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ หรือสัตว์ และให้ความช่วยเหลือตามสมควร พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตน และหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย”

     โดย พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน 78 จนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     นอกเหนือจากความผิดที่ระบุไว้ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกแล้วนั้น การชนแล้วหนียังถือเป็นความผิดทางอาญา มีอายุความนานถึง 15 ปี อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังมีอำนาจยึดรถคันที่ใช้ขับหลบหนีได้ หากผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุไม่แสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 6 เดือนนับแต่วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้กระทำความผิดหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดและให้ตกเป็นของรัฐโดยทันที

     ดังนั้น หากขับรถประสบอุบัติเหตุต้องไม่หลบหนี แม้ว่าจะเป็นฝ่ายผิดก็ตาม เพราะความผิดฐานขับรถโดยประมาทนั้น ผู้กระทำผิดไม่ใช่อาชญากร การแสดงตนในที่เกิดเหตุและช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างเหมาะสมจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา และยังเป็นประโยชน์ในกรณีถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook