“โอนเลย” ไม่ “โอนลอย” ทำได้จริงหรือ?

“โอนเลย” ไม่ “โอนลอย” ทำได้จริงหรือ?

“โอนเลย” ไม่ “โอนลอย” ทำได้จริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     สัปดาห์ที่แล้วผมเพิ่งจะนำประเด็นการฝ่าฝืนสัญญาณไฟคนข้ามถนนมาคุยกัน ให้หลังไม่กี่วันก็มีเรื่องเศร้าเกิดขึ้นจนได้ ตามข่าวใหญ่ที่ทุกคนน่าจะทราบกัน ฉะนั้น เริ่มต้นในสัปดาห์นี้ขออนุญาตแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้สูญเสียมา ณ โอกาสนี้ครับ

     ซึ่งก็เป็นอย่างที่ผมคาดไว้ครับ บ้านเราเวลามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที ก็ตื่นตัวกันที งานนี้ภารกิจ “ทาสีทางม้าลาย” เลยกลายเป็นวาระแห่งชาติขึ้นมาเฉยเลย ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วมันควรมาจากจิตสำนึกและวินัยของผู้ใช้รถใช้ถนนมากกว่า

     อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งประเด็นจากข่าว ซูเปอร์ไบค์ ดูคาติ 795 ชนคุณหมอ ก็คือเรื่องของการถือครองกรรมสิทธิ์รถ ที่พอไปไล่เรียงกันแล้ว ปรากฏว่ารถคันนี้ตามทะเบียนยังเป็นชื่อเจ้าของคนเก่าที่ขายไปหลายปีแล้ว ซึ่งศัพท์ในการซื้อขายรถมือสองจะเรียกกันว่าการ “โอนลอย” ครับ

     ว่ากันตามความเป็นจริง การซื้อขายรถด้วยการโอนลอยไม่ใช่เรื่องผิด และถือเป็นเรื่องปกติของการซื้อขายรถมือสองมาแต่ไหนแต่ไรครับ อย่างรถคันเก่าของผมเองที่ขายไปเมื่อปีก่อน ก็ใช้วิธีการเดียวกันนี้ เพียงแต่ว่ามันขึ้นอยู่กับว่าคนที่ซื้อไปแล้วจะจัดการต่อให้เรียบร้อยหรือไม่

     ในมุมของคนขาย การโอนลอย ข้อดีคือสะดวก ขอให้มีการเซ็นเอกสารที่ถูกต้อง ทั้งแบบคำขอโอน (ของกรมการขนส่งฯ) และสัญญาการซื้อขายถูกต้อง คุณจะได้เงินสดทันที ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่ก็มักจะมาหาถึงที่พร้อมจ่ายเงินรับรถขับกลับไป

     ส่วนมุมของผู้ซื้อ ผมคิดว่ามีอยู่ 2 แบบนะครับ คือคนที่ซื้อเพื่อเอาไปใช้งานเองจริง ๆ แม้จะโอนลอยออกไป แต่เขาจะพยายามนำไปจดทะเบียนเปลี่ยนเจ้าของให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ชื่อในเล่มทะเบียนรถคันนั้น ๆ เปลี่ยนจากเจ้าของคนเก่าไปเป็นของตัวเองอย่างถูกต้องสมบูรณ์

     ผู้ซื้อที่โอนลอยอีกแบบก็คือ นายหน้าหรือเต็นท์รถมือสอง ที่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติในธุรกิจนี้ เพราะเขาซื้อรถไปเพื่อนำไปขายต่อ ฉะนั้น เพื่อลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการโอน ก็จะยังไม่มีการนำไปจดทะเบียน จนกว่าจะมีผู้ซื้อรถคันนั้นไปใช้งานจริง ๆ ถึงจะมีการโอนกันเกิดขึ้น

     การซื้อ-ขายรถมือสองในบ้านเราส่วนใหญ่ทำกันแบบนี้ครับ สิ่งสำคัญที่สุดของฝั่งผู้ขาย คือจำเป็นต้องเก็บหลักฐานทั้งหมดเอาไว้ เพราะในทางกฎหมายกรรมสิทธิ์ของรถที่ขายไปอยู่ในมือของผู้ซื้อแบบสมบูรณ์แล้ว แม้จะเป็นการโอนลอย โดยที่ยังไม่เปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียนก็ตาม

     ที่ผมบอกว่าต้องเก็บหลักฐานทั้งหมดเอาไว้ เพราะเมื่อคุณขายรถไป คุณไม่มีทางรู้เลยว่าผู้ซื้อจะนำไปโอนเมื่อไหร่ หรือจะเปลี่ยนมืออีกกี่รอบ รวมถึงรถคันนั้นมีโอกาสที่ถูกขับไปทำผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะหากคุณไม่มีหลักฐานการซื้อขาย ความผิดจะย้อนมาที่เจ้าของรถตามเล่มทะเบียนทันที

    ส่วนฝั่งผู้ซื้อก็ใช่ว่าจะไม่เกิดปัญหานะครับ เพราะหากคุณซื้อและโอนลอยไว้ โดยที่ไม่ไปจดทะเบียน บางทีปล่อยเวลาไว้จนหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ขายหมดอายุ (อาทิ สำเนาบัตรประชาชน) ก็ต้องไปไล่ตามกับผู้ขาย ซึ่งก็จะวุ่นวายและเสียเวลากันไปอีก

     แม้กรมการขนส่งทางบกจะออกมาเตือนให้เลี่ยงการโอนลอยด้วยการให้ “โอนเลย” แต่ในทางปฏิบัติคงเกิดขึ้นน้อยครับ เว้นแต่ว่าทางการจะออกกฎหมายห้าม “โอนลอย” ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook