รองเท้าเบาช่วยให้วิ่งได้เร็วขึ้นจริงหรือ?

รองเท้าเบาช่วยให้วิ่งได้เร็วขึ้นจริงหรือ?

รองเท้าเบาช่วยให้วิ่งได้เร็วขึ้นจริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงการวิ่ง เชื่อว่าทุกคนคงเห็นตรงกันว่า อุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดของกีฬาชนิดนี้หนีไม่พ้น "รองเท้า"

สาเหตุนั้นไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย เพราะรองเท้า คือสิ่งที่สวมเข้ากับเท้า อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการเคลื่อนไหวไปข้างหน้าของการวิ่ง รวมถึงยังเป็นเครื่องป้องกันเท้าของเราจากอันตรายต่างๆ ที่อยู่บนพื้น หรือแม้แต่ลอยมาตกใส่อีกด้วย

 

และหากพูดถึงการเคลื่อนไหว หลายคนคงทราบดีว่า น้ำหนักที่เบากว่าย่อมทำให้เคลื่อนที่ได้เร็วกว่า แต่สำหรับการวิ่งล่ะ? รองเท้าที่เบาช่วยให้วิ่งได้เร็วขึ้นจริง หรือมีปัจจัยอย่างอื่นให้เราต้องคำนึงถึงอีก?

การพัฒนาที่มาพร้อมการแข่งขัน

อันที่จริง หากจะสืบสาวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรองเท้าที่ใช้ในการวิ่งนั้น เราสามารถย้อนกลับไปได้กว่าศตวรรษ ตั้งแต่ปี 1832 ที่ เวท เว็บสเตอร์ ผลิตพื้นยางที่สามารถติดกับรองเท้าแบบไหนก็ได้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนามาเป็นรองเท้าผ้าใบ หรือ Sneakers ที่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในปี 1892 หรือจะเป็นในปี 1852 ที่บริษัท บูลตัน (รีบอค ในปัจจุบัน) ผลิตตะปู หรือเดือยที่ใช้สำหรับตอกลงไปในพื้นรองเท้า เพื่อช่วยในเรื่องของการยึดเกาะพื้นให้มากขึ้น

 1

อย่างไรก็ตาม กว่าที่วิวัฒนาการของรองเท้าวิ่งจะเริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ก็ต้องรอจนถึงยุค 1920s เมื่อ อาดิ ดาสเลอร์ พัฒนารองเท้าผ้าใบที่มีจุดประสงค์แตกต่าง แบบหนึ่งให้นักวิ่งระยะไกลใส่ อีกแบบให้นักวิ่งระยะสั้นใส่ และผ่านการพิสูจน์คุณภาพในสนามจริง เมื่อ เจสซี่ โอเว่นส์ ยอดนักวิ่งแอฟริกัน-อเมริกัน สามารถคว้าเหรียญทองในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลินด้วยรองเท้าของดาสเลอร์ ความสำเร็จดังกล่าวได้เป็นจุดเริ่มต้นสู่การก่อตั้งแบรนด์ อาดิดาส ในปี 1948

ทว่าเวลาผ่านไป การผลิตรองเท้าวิ่งนั้นหากจะเรียกว่าเป็น "สงคราม" คงไม่ผิดอะไร จากการที่มีผู้ผลิตหน้าใหม่สู่ท้องตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พูม่า ที่เกิดขึ้นจากการแตกคอของ อาดิ และ รูดี้ สองพี่น้องตระกูลดาสเลอร์ จนฝ่ายหลังตัดสินใจแยกตัวออกมาทำแบรนด์เสียเอง, โอนิซึกะ ไทเกอร์ส จากญี่ปุ่น หรือแม้แต่ ไนกี้ ของสหรัฐอเมริกา ที่เดิมทีเคยเป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ โอนิซึกะ ในแดนลุงแซม แต่ความขัดแย้งทางธุรกิจทำให้ตัดสินใจผลิตรองเท้าขึ้นมาแข่งเสียเอง

ไม่เพียงเท่านั้น การแข่งขันยังขยายวงสู่เทคโนโลยีด้วยเช่นกัน เพราะจากเดิมที่ใช้ยางกับหนังหรือผ้าใบประกอบรองเท้า ก็เริ่มมีการคิดค้นวัสดุใหม่ๆ มาใช้ เริ่มตั้งแต่พื้นรองเท้าที่มีการพัฒนาโฟมมาใช้แทนยาง รวมถึงไอเดียแหวกแนวอย่างการอัดอากาศเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้น อย่างเช่นเทคโนโลยี Air อันลือลั่นของไนกี้ เช่นเดียวกับวัสดุห่อหุ้มเท้าที่ไม่ได้มีเพียงแค่ผ้าใบกับหนังแล้ว แต่ยังมีพลาสติกที่สามารถลดน้ำหนักลงไปได้มากอีกด้วย

ยิ่งเบายิ่งเร็วจริงหรือ?

การแข่งขันที่ยิ่งมีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในวงการรองเท้าวิ่ง ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รองเท้าวิ่งเริ่มที่จะมีน้ำหนักน้อยลงเรื่อยๆ เห็นได้จากรองเท้าที่ คลาเรนซ์ เดมาร์ เจ้าของแชมป์ บอสตัน มาราธอน 7 สมัย และนักวิ่งอีกหลายคนสวมใส่ในการแข่งขันปี 1920 ซึ่งผลิตจากหนังและพื้นยางจนมีน้ำหนักราวข้างละ 10 ออนซ์ หรือราว 280 กรัม

 2

กาลเวลาผ่านไปเกือบ 100 ปี บริษัทผู้ผลิตรายต่างๆ ก็ได้เอาน้ำหนักมาเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อแข่งขันทางการตลาด โดยบางบริษัทถึงกับโฆษณาว่า รองเท้าของพวกเขาหนักข้างละไม่ถึง 3 ออนซ์ หรือราว 85 กรัมเสียด้วยซ้ำ

หากคิดเป็นบัญญัติไตรยางค์ง่ายๆ หมายความว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถทำให้รองเท้าวิ่งยุคนี้ เบาจนขนาดที่มีน้ำหนักเพียง 1 ใน 3 ของรองเท้ายุคเก่า แต่น้ำหนักที่เบาลงจะช่วยให้นักวิ่งสามารถวิ่งเร็วได้ถึงขนาดไหนกัน?

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ ได้ทำการทดลองเมื่อปี 2016 ด้วยการนำนักวิ่ง 18 คนมาทดสอบด้วยการวิ่งจับเวลาระยะทาง 3,000 เมตร ณ สนามในร่ม โดยทุกคนจะต้องลงทำเวลาสัปดาห์ละครั้งรวม 3 สัปดาห์ 

เนื่องจากทีมวิจัยต้องการที่จะใช้ "น้ำหนักของรองเท้า" เป็นตัวแปรหลักของการทดลอง พวกเขาจึงได้เตรียมรองเท้าให้อาสาสมัครคนละ 3 คู่ ซึ่งทีมวิจัยได้ใส่ตัวแปรเป็นตะกั่วถ่วงน้ำหนักติดในรองเท้า 2 คู่ ด้วยน้ำหนักที่ไม่เท่ากัน คู่หนึ่งถูกถ่วงน้ำหนักเพิ่ม 3.5 ออนซ์ (ราว 100 กรัม) ต่อข้าง อีกคู่ถูกถ่วงเพิ่ม 10.6 ออนซ์ (300 กรัม) ต่อข้าง

การใส่ตัวแปรดังกล่าว ทำให้มีรองเท้า 3 แบบที่นักวิ่งต้องใช้ แบบแรกคือรองเท้าปกติมาตรฐานโรงงาน หนักข้างละ 8 ออนซ์ หรือราว 230 กรัม แบบสอง น้ำหนักเพิ่มเป็น 11.5 ออนซ์ หรือราว 330 กรัมต่อข้าง และสุดท้าย หนักข้างละ 18.6 ออนซ์ หรือ 530 กรัม

ซึ่งผลการทดสอบก็ให้ผลที่ชัดเจน เพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงกับเวลาที่ทำได้ โดยน้ำหนักของรองเท้าที่มากกว่าเดิม 3.5 ออนซ์ต่อข้าง ทำให้นักวิ่งวิ่งได้ช้ากว่าเดิม 1% จากเวลาที่ทำด้วยรองเท้าสเปกโรงงาน ไม่ถูกปรับแต่งเพิ่ม

จากผลการทดลองดังกล่าว ทีมวิจัยได้นำตัวเลขไปคำนวณต่อยอดและพบว่า สำหรับรองเท้าวิ่งน้ำหนักเบา ที่เบากว่ารองเท้าวิ่งโดยทั่วไปถึง 3.5 ออนซ์ต่อข้างแล้ว คนที่สวมใส่จะสามารถวิ่งระยะมาราธอน 42.195 กิโลเมตรได้เร็วกว่าตอนใส่รองเท้าแบบธรรมดาถึง 57 วินาทีเลยทีเดียว

"ยิ่งเบายิ่งดี" จริงหรือ?

จากการทดลองที่กล่าวไปข้างต้น คงไม่เป็นที่สงสัยแล้วว่า น้ำหนักที่เบากว่า คือสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถวิ่งได้เร็วกว่าเดิมจริงแท้ 100%

 3

ทว่าแม้การใส่รองเท้าวิ่งที่เบา จะช่วยทำเวลาได้ดีขึ้นจริง แต่เบากว่า ก็ไม่ได้ดีกว่าเสมอไป...

โค้ชเป้ง - สาธิก ธนะทักษ์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังที่ช่วยให้ "ตูน บอดี้สแลม" อาทิวราห์ คงมาลัย วิ่งจากใต้สุดถึงเหนือสุดของประเทศไทย 55 วัน 2,215 กิโลเมตร ในโครงการ "ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ" เมื่อปี 2018 เปิดเผยกับทีมงาน Main Stand ว่า 

"ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า รองเท้าวิ่งที่มีขายตามท้องตลาดในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะแบรนด์ไหนก็ตาม จะถูกออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์เฉพาะ รุ่นนึงอาจจะทำเพื่อวิ่งในเมืองหรือ City Run อีกรุ่นอาจจะทำเพื่อวิ่งมาราธอน อีกรุ่นทำไว้สำหรับการวิ่งเทรล (Trail running - การวิ่งในสภาพภูมิประเทศ)"

"และเมื่อพูดถึงรองเท้าที่เบา แน่นอนว่ามันต้องมีข้อแลกเปลี่ยนที่ช่วยให้รองเท้าเบาลง ส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของความทนทาน สังเกตว่ารองเท้าสายทำความเร็วจะมีอายุการใช้งานที่สั้น คล้ายๆ กับรองเท้าสตั๊ดในกีฬาฟุตบอลบางรุ่นที่เบาสุดขีด แต่ใส่ได้เพียง 10 นัดแล้วก็พัง อีกส่วนคือทางผู้ผลิตก็จะตัดทอนในส่วนการรองรับแรงกระแทก หรือ Cushioning ให้น้อยลง แต่ในกรณีหลัง เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ก็ทำให้รองเท้าสามารถรับแรงกระแทกได้ดีเทียบเท่าหรือดีกว่าในอดีตเสียอีก"

"ทีนี้ในการวิ่ง โดยธรรมชาติแล้วมันจะมีอยู่ช่วงจังหวะหนึ่งที่เท้าทั้งสองข้างจะอยู่ไม่ติดพื้นเสมอ และเวลาที่เท้าลงถึงพื้นเนี่ย มันจะมีแรงกระแทกใส่เท้าของเรา 2-3 เท่าของน้ำหนักตัว ในกรณีของคนที่น้ำหนักตัวเยอะ อาจจะซัก 100 กิโลกรัม แรงที่กระแทกใส่จากการวิ่งอาจมากถึง 200-300 กิโลกรัม พอซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ โอกาสบาดเจ็บของนักวิ่งก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย"

 4

ในประเด็นนี้ ทีมวิจัยจาก Sansom Institute for Health Research มหาวิทยาลัยเซาธ์ ออสเตรเลีย ได้ทำการศึกษานักวิ่ง 61 คนเป็นระยะเวลา 26 สัปดาห์เมื่อปี 2018 ก่อนจะพบว่า นักวิ่งที่มีน้ำหนักตัวมาก จะมีโอกาสได้รับบาดเจ็บจากการวิ่งเมื่อใส่รองเท้าที่มีน้ำหนักเบามากกว่านักวิ่งที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าอย่างชัดเจน โดยนักวิ่งที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 85 กิโลกรัม ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของผู้ชายในประเทศออสเตรเลีย จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะบาดเจ็บเวลาใส่รองเท้าวิ่งน้ำหนักเบามากกว่านักวิ่งที่มีน้ำหนักตัวน้อยถึง 3 เท่าเลยทีเดียว

เลือกรองเท้าอย่างไรถึงจะเหมาะ?

แม้ผลการทดลองและวิจัยจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ยิ่งรองเท้าเบา ก็ยิ่งวิ่งได้เร็วขึ้น แต่ในทางกลับกัน แต่ละคนก็มีปัจจัยหลายอย่างที่แตกต่างกัน จึงนำมาซึ่งคำถามที่ว่า "แล้วเราควรจะเลือกรองเท้าอย่างไรถึงจะเหมาะกับตัวเองที่สุด?"

 5

ศาสตราจารย์ จอห์น บัคลี่ย์ ผู้อำนวยการโครงการ Alliance for Research in Exercise, Nutrition and Activity (ARENA) ของมหาวิทยาลัยเซาธ์ ออสเตรเลียเผยว่า "สิ่งสำคัญที่ต้องคิดถึงในการหารองเท้าวิ่ง ไม่ใช่ค่า BMI หรือ ดัชนีมวลร่างกาย แต่เป็นน้ำหนักของผู้สวมใส่เองครับ เพราะแม้คนนั้นจะมีค่า BMI ปกติ แต่ส่วนสูงที่มากในหลายคน บางครั้งก็มาพร้อมกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการเลือกรองเท้าที่เหมาะสม จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บได้"

ทว่าสำหรับโค้ชเป้งแล้ว เจ้าตัวมองว่า แม้เรื่องน้ำหนักตัวจะเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ตัวผู้สวมใส่เอง...

"สำหรับผมมองว่า ไม่ใช่แค่น้ำหนักตัวครับ แต่เป็นทั้งร่างกายของผู้สวมใส่เลยที่ต้องเอามาพิจารณาในการหารองเท้า เราอาจจะเห็นว่า รองเท้าแต่ละรุ่นก็ถูกทำมาสำหรับวัตถุประสงค์ที่แตกต่าง หรือสำหรับคนที่มีรูปเท้าต่างกัน รุ่นนี้เหมาะกับคนเท้าแบน รุ่นนี้เหมาะกับคนเท้าโค้งด้านนอก แต่ที่สำคัญกว่าคือ เราต้องประเมินหาขีดจำกัดและสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในการวิ่งของแต่ละคนเสียก่อน"

"ปัญหาของในการวิ่งบางคนอาจเกิดจากพันธุกรรมของเชื้อชาติ บางคนอาจเกิดจากร่างกายที่ไม่แข็งแรงในบางจุด ขณะที่บางคนอาจเกิดจากนิสัยที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้อาจต้องให้นักวิทยาศาสตร์การกีฬา, แพทย์ หรือโค้ชมาช่วยดู รวมถึงฝึกซ้อม บริหารร่างกายให้แข็งแรงขึ้น มีทักษะที่ดีขึ้น"

"เพราะจุดหนึ่งของการวิ่งที่แตกต่างจากกีฬาอื่นๆ คือ มันเป็นการเคลื่อนไหวซ้ำๆ หากเรามีทักษะมากขึ้น เราก็จะสามารถพลิกแพลง เปลี่ยนสไตล์การวิ่งให้เข้ากับสถานการณ์ที่ต่างกันได้ นอกจากจะช่วยให้เรามีโอกาสบาดเจ็บน้อยลง จากการที่ไม่จำเป็นต้องทำท่าซ้ำๆ เดิมๆ จนโดนแรงกระแทกสะสมแล้ว ก็จะช่วยให้เราทำเวลาได้ดีขึ้นด้วยเช่นกันครับ"

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ รองเท้าเบาช่วยให้วิ่งได้เร็วขึ้นจริงหรือ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook