"วงศ์ทรัพย์ วงศ์ทรัพย์อินทร์" : นักแบดมินตันวัย 14 ที่ลาออกจากโรงเรียนมาเพื่อล่าฝัน

"วงศ์ทรัพย์ วงศ์ทรัพย์อินทร์" : นักแบดมินตันวัย 14 ที่ลาออกจากโรงเรียนมาเพื่อล่าฝัน

"วงศ์ทรัพย์ วงศ์ทรัพย์อินทร์" : นักแบดมินตันวัย 14 ที่ลาออกจากโรงเรียนมาเพื่อล่าฝัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิ่งใดที่เราไม่ชอบมากที่สุดในวัยเด็ก? เชื่อว่าคำตอบของใครหลายคน คงเป็นเสียงนาฬิกาปลุกในยามเช้า ที่เป็นเหมือนคำสั่งให้เราลุกจากที่นอนไปอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อเตรียมตัวไปโรงเรียน ตั้งแต่ท้องฟ้ายังไม่สว่าง

ท่ามกลางความงุนงงสงสัยว่า เราจะตื่นกันตั้งแต่ตีห้าไปเพื่ออะไร หลายคงมีความคิดสักแวบขึ้นมาในหัว ถึงการนอนอยู่ที่บ้าน เพื่อเล่นกีตาร์ เล่นเกม หรือเล่นกีฬาที่เรารักทั้งวัน โดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเรียนบางวิชาในรั้วการศึกษา ที่เราไม่เคยเอามาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง

 

พบกับเรื่องราวของ อัพ - วงศ์ทรัพย์ วงศ์ทรัพย์อินทร์ นักกีฬาแบดมินตันรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ที่ออกจากการศึกษาภาคปกติ เพื่อมาใช้ชีวิตแบบเด็กโฮมสคูล ไม่ต้องเสียเวลาเรียนหนังสือ 5 วันต่อสัปดาห์ หรือเมาขี้ตาเปลี่ยนเสื้อผ้าไปเคารพธงชาติให้ทันเวลา เพื่อหันหน้าสู่เส้นทางแห่งความฝัน ที่เขาเลือกเดินได้ด้วยตัวเอง

เส้นทางสู่ชีวิตนอกโรงเรียนของน้องอัพเป็นอย่างไร? บทเรียนใหม่ที่ได้จากสนามแบดมินตัน แตกต่างจากในรั้วโรงเรียนมากน้อยแค่ไหน? ติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากน้องอัพ และครอบครัวของเขาไปพร้อมกัน...

สู่เส้นทางโฮมสคูล

“น้องอัพเริ่มเล่นแบดมินตัน ตอนอายุ 6 ขวบ ตอนนั้นเขาอยู่โรงเรียนปกติ เรียนมาจนถึง ป.1 อัพเริ่มตีแบดจริงจัง ฝึกซ้อม 6 วันต่อสัปดาห์ กลายเป็นว่าเวลาบีบบังคับชีวิต” นวลนรี สวัสดิบุตร คุณแม่ของน้องอัพ ย้อนเล่าเหตุผลที่พาลูกชายก้าวสู่ระบบโฮมสคูล

 1

น้องอัพเริ่มต้นเล่นกีฬาแบดมินตัน หลังได้รับแรงบันดาลใจจากคุณพ่อ ที่ชอบเล่นกีฬาแบดมินตัน และต้องการส่งเสริมให้ลูกชายเล่นกีฬา เพื่อบรรเทาอาการภูมิแพ้ที่ทำให้เขาต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยกว่าเด็กทั่วไปในวัยเด็ก

เมื่อขึ้นสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 น้องอัพที่เคยเล่นกีฬาเพื่อรักษาสุขภาพ เริ่มหลงรักแบดมินตันอย่างจริงจัง และมีความฝันที่อยากจะเป็นนักกีฬาอาชีพ

เขาฝึกฝนอย่างหนักเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศบนเส้นทางแบดมินตัน ด้วยการฝึกซ้อมทั้งในรูปแบบเดี่ยวและกลุ่ม เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ น้องอัพใช้เวลาทั้งหมดหลังเลิกเรียน ตั้งแต่เวลาบ่ายสามโมงเย็นจนถึงสองทุ่ม อยู่กับสนามแบดมินตันเพียงอย่างเดียว

“ทุกวันที่โรงเรียน น้องอัพเลิกเรียนสี่โมงเย็น แต่พอถึงเวลาบ่ายสาม เราต้องมาซ้อมเดี่ยวก่อนไปเรียนกลุ่ม อัพก็เลยต้องขอครูเลิกโรงเรียนก่อนคนอื่น เพื่อเดินทางมาสนามแบดมินตัน” คุณแม่ของน้องอัพกล่าวถึงการแบ่งเวลา ขณะน้องอัพเรียนอยู่ในระบบปกติ

“การเลิกโรงเรียนก่อนคนอื่น ผมมองว่ามันไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการเรียนครับ พอซ้อมเสร็จ ผมต้องกลับมาทำการบ้านต่อ ผมรู้สึกว่ามันเยอะ แต่ละวันต้องนั่งทำจนดึก ตื่นวันถัดมา ผมก็ไม่มีแรงจะไปซ้อมตอนเย็น” น้องอัพกล่าวเสริมคุณแม่ ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขณะเรียนอยู่ในระบบ

 2

“ทุกวันน้องอัพต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่ง เพื่อไปโรงเรียน ซ้อมเสร็จกลับถึงบ้านประมาณสามทุ่มครึ่ง นั่งทำการบ้านต่อ กว่าจะได้นอนก็ไม่ต่ำกว่าสี่ทุ่มครึ่ง แม่เห็นแล้ว แม่ก็สงสารเขานะ” คุณแม่ของน้องอัพกล่าว

ชีวิตของน้องอัพยังคงเป็นแบบนี้ไปจนกระทั่งเขาขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 คุณพ่อและคุณแม่จึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร เพื่อช่วยให้น้องอัพได้โฟกัสกับการฝึกซ้อมแบดมินตันอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยขนาดนี้

ในช่วงเวลานั้นเอง คุณพ่อและคุณแม่ของน้องอัพได้รู้จักกับการเรียนแบบโฮมสคูล ทั้งสองจึงเริ่มศึกษา เพื่อดูว่าการศึกษาด้วยตัวเองที่บ้านแบบนี้ จะสามารถเข้ามาตอบโจทย์ชีวิตลูกชายของพวกเขาได้หรือไม่

“คุณพ่อมาบอกแม่ว่า เดี๋ยวนี้เขามีเรียนโฮมสคูลนะ แม่เลยไปหาข้อมูลเพิ่มในเพจเฟซบุ๊ก สมาคมบ้านเรียนแห่งประเทศไทย แม่โทรไปปรึกษาเขาจนได้ข้อมูลว่า มันมีการเรียนที่เราไม่ต้องเข้าโรงเรียน และวางระบบได้เองตามความต้องการ” คุณแม่น้องอัพอธิบายถึงจุดเด่นของการเรียนแบบโฮมสคูล

“การเรียนแบบโฮมสคูล เราไม่จำเป็นต้องเรียนตามระบบให้ครบทั้ง 8 สาระ เราไม่จำเป็นต้องเรียนทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ เราสามารถเลือกได้ว่าอยากให้ลูกเรียนมากน้อยแค่ไหน”

 4

ความแตกต่างสำคัญของการเรียนแบบโฮมสคูล นอกจากจะสามารถศึกษาด้วยตัวเองที่บ้าน ไม่ต้องเข้าโรงเรียนเหมือนกับเด็กปกติทั่วไป นักเรียนในระบบโฮมสคูล ยังสามารถกำหนดแผนการศึกษาได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ทั้ง วิชาที่ต้องการศึกษา หรือวันและเวลาที่ต้องการเข้าเรียน

เมื่อเขียนแผนการศึกษาของตัวเองทั้งหมดออกมา ขั้นตอนต่อไปคือการยื่นแผนการศึกษาแก่เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อตรวจสอบว่าแผนที่แต่ละครอบครัวยื่นมา มีความเหมาะสมหรือไม่ 

หลังผ่านการรับรอง แต่ละครอบครัวจะได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนของตัวเองขึ้นมา เพื่อทำการสอนบุตรหลาน ตามรูปแบบของการศึกษาโฮมสคูล

“น้องอัพ เขาอยากเป็นนักกีฬาแบดมินตัน เขาไม่ได้อยากเป็นหมอ วิชาอย่างวิทยาศาสตร์ เขาไม่ต้องเรียนขนาดนั้น เรื่องไหนที่เขาอยากรู้ อัพอ่านเพิ่มเองจากอินเตอร์เน็ตได้”

“สำหรับน้องอัพ แม่จัดการให้เขาเรียนแค่ ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ เรียนเฉพาะ วันศุกร์ วันเสาร์ บางวันอาจจะเปลี่ยนบ้าง แล้วแต่การฝึกซ้อมแบดมินตันของเขา”

“เราเลือกเขียนแผนให้มันสอดคล้องกับความต้องการ แม่มองว่าการเรียนแบบโฮมสคูล มันสนับสนุนในสิ่งที่น้องอัพต้องการได้” 

หลังปรึกษากันในครอบครัว น้องอัพลาออกจากโรงเรียนหลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เพื่อเข้าศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กับการศึกษาแบบโฮมสคูล ภายใต้โรงเรียนส่วนตัวที่ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านวงศ์ทรัพย์” ที่น้องอัพสามารถหันไปโฟกัส บนเส้นทางแบดมินตันได้เต็มที่หลังจากนี้

โรงเรียนแบดมินตัน

“ก่อนจะออกมาเรียนโฮมสคูล พ่อก็ถามอัพนะว่า ถ้าออกมามาเรียนโฮมสคูล เพื่อซ้อมแบดอย่างเดียว มันหนักมากนะ รับได้ไหม” ศราวุฒิ วงศ์ทรัพย์อินทร์ คุณพ่อของน้องอัพ เกริ่นถึงบทเรียนที่น้องอัพ ต้องเจอบนสนามแบดมินตัน

 6

เพื่อฉวยโอกาสจากการไม่ต้องเสียเวลาไปโรงเรียนอย่างเด็กคนอื่น ครอบครัวของน้องอัพ จึงฝากฝังลูกชายให้ไปกินนอนอยู่กับกับโรงเรียนสอนแบดมินตัน S 29 เพื่อใช้ชีวิต 24 ชั่วโมง อยู่กับลูกขนไก่ ฝึกฝนให้เขาเป็นยอดนักแบดมินตันตามความฝัน

“เราคุยกับโค้ช ให้เขาวางแผนการซ้อมทั้งหมด เพราะเวลาอัพเริ่มไปแข่ง เขาแพ้ยับเยิน ไม่ตกรอบแรก ก็ตกรอบสอง พอเขาแพ้ เขาอยากจะพัฒนา เราก็ย้ายเขามาอยู่กับโค้ช” คุณแม่น้องอัพกล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจพาน้องอัพออกจากบ้าน มากินนอนกับโค้ชในโรงเรียนสอนแบดมินตัน

“มันเหมือนเรียนหนังสือเลยนะ ซ้อม ตั้งใจ ไม่เล่น ถ้าต้องการเป็นมืออาชีพ การซ้อมมันก็เหมือนการเรียนหนังสือ ตั้งใจ โฟกัส ต้องทำให้ดี โค้ชเห็นว่าเบสิคอัพยังไม่ดี เขาจึงวางโปรแกรมให้ แม่ก็ปล่อยเขามาอยู่กับโค้ชตั้งแต่ 9 ขวบปลายๆ จนถึงอายุ 11 ขวบ”

กิจวัตรประจำวันของน้องอัพ กับการเข้าศึกษาวิชาแบดมินตัน ทุกวันเด็กชายวัย 9 ขวบ ต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 เพื่อซ้อมในช่วงเช้าเวลา ตี 5 ถึง 7 โมงเช้า หลังจากนั้นกินข้าวและหลับพักผ่อน เพื่อตื่นมาซ้อมอีกครั้งในเวลา 9 โมงเช้า เมื่อซ้อมเสร็จจึงได้โอกาสนอนยาวถึง 5 โมงเย็น ก่อนตื่นมาซ้อมในรอบเย็นจนถึง 2 ทุ่ม

 8

“ซ้อมหนักแทบทุกวัน ทั้งเหนื่อย ทั้งเหงา เลยครับ” น้องอัพเล่าถึงการฝึกซ้อมสุดหฤโหด หลังออกจากบ้านมาใช้ชีวิตบนสนามแบดมินตัน

“ทุกวัน น้องอัพต้องวิ่งรอบสนามแบด 100 รอบ วันไหน มือแตก มือพอง โค้ชก็เรียกให้อัพไปซ้อม เจ็บก็ต้องตี หยุดซ้อมไม่ได้” น้องอัพอมยิ้ม ขณะที่คุณพ่อกล่าวเสริมถึงโปรแกรมการซ้อมในวัยเด็กของเขา

“พันทั้งมือเลยครับ (น้องอัพทำท่าชี้ที่มือให้ดู) ผมมือพอง โค้ชกระชาก (ผ้าพันแผล) ออกเลยครับ โค้ชบอก เจ็บก็ต้องทน”

“ผมก็เข้าใจโค้ชนะครับ เพราะถ้าเกิดมือพองขึ้นมาตอนแข่ง มันก็ต้องอดทนจริงๆ ครับ ตอนซ้อมผมยังมองมือได้ รู้สึกเจ็บได้ แต่ตอนแข่งเราต้องมีสมาธิ อดทนอย่างเดียว”

บทเรียนศึกษาในสนามแบดมินตัน ช่วยให้น้องอัพเป็นนักกีฬาที่เก่งขึ้นได้ตามเป้าหมาย จากที่ไม่เคยไปไกลกว่าการแข่งขันในรอบแรกหรือรอบสอง น้องอัพคว้าเหรียญทองแรกในชีวิต ในการแข่งขันรายการ เชียงราย โอเพ่น ในปี 2558 ก่อนก้าวสู่อีกขั้นของเส้นทางนักแบดมินตัน ด้วยการเดินทางสู่ประเทศอินโดนีเซีย 

 9

“น้องไปอยู่อินโดนีเซียคนเดียว ตอนอายุ 10 ขวบ อยู่ประมาณ 3 เดือน ไปอยู่เพื่อซ้อมกับอะคาดามีสอนแบดมินตัน” คุณแม่ของน้องอัพกล่าว

“จุดเริ่มต้นมาจากเรารู้จักโค้ชอินโดนีเซียคนหนึ่ง ที่เข้ามาสอนแบดมินตันในประเทศไทย แล้วเขากำลังจะกลับไปอยู่บ้านหนึ่งเดือน แม่ก็เลยฝากอัพไปอยู่กับเขาก่อน ให้ไปลองอยู่ก่อนหนึ่งเดือน”

“หนึ่งเดือนนั้น อัพต้องไปอยู่อะคาเดมีคนเดียว เพราะพี่โค้ชเขาแยกกลับบ้านไป แต่ถ้ามีปัญหาอะไร สามารถโทรหาโค้ชคนนี้ได้ พอครบหนึ่งเดือน โค้ชเขาต้องกลับมาทำงานเมืองไทย แม่ก็เลยถามอัพว่า จะอยู่อินโดนีเซียต่อไหม”

“อัพก็บอกว่าอยู่ต่อ แม่ถามอีกว่าต้องอยู่คนเดียวนะ ไม่มีคนช่วยเหลือได้แล้วนะ เพราะว่าโค้ชกลับมาแล้ว อัพก็โอเค”

 10

Suryanaga Badminton Club คือสโมสรแบดมินตันชื่อดังในเมืองซูราบายา ประเทศอินโดนีเซีย นักกีฬาแบดมินตันมากมายจากหลายประเทศทั่วโลก ต่างหลั่งไหลเดินทางมาที่สโมสรแห่งนี้ เพื่อยกระดับความสามารถของตัวเองบนสังเวียนลูกขนไก่ โดยน้องอัพเองคือหนึ่งในคนมากมายเหล่านั้น

“ตอนแรกผมก็ไม่ได้มั่นใจ เรื่องที่จะอยู่ต่างประเทศคนเดียว เพราะเมืองที่ผมไปอยู่มันต่างจังหวัดด้วยครับ คนที่นั่นไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ ผมมีรูมเมทเป็นคนสโลวาเกีย มีแค่เขาที่พูดภาษาอังกฤษได้” น้องอัพเล่าถึงประสบการณ์ที่อินโดนีเซียให้ฟัง

“ตอนนั้นผมคิดถึงบ้านมาก มันหนักกว่านอนกับโค้ชที่ไทยอีกครับ แต่ผมอยากเปิดประสบการณ์ และเรียนรู้รูปแบบการเล่นใหม่ๆ ผมเลยตัดสินใจไปอยู่คนเดียว”

สิ่งที่น้องอัพได้รับมา มีค่ายิ่งกว่าการพัฒนาฝีมือบนสนามแบดมินตัน นั่นคือประสบการณ์ใช้ชีวิตนอกสนาม หลังฝ่าฝืนกฎห้ามออกจากที่พัก เพื่อไปเดินตลาดเพียงลำพัง น้องอัพถูกกระชากสร้อยโดยโจรเจ้าถิ่น แถมยังต้องต่อสู้กับรุ่นพี่ในโรงเรียน ที่คอยรังแกเพื่อไถเงินค่าขนม

 12

“การไปอยู่ที่อินโดนีเซียแค่สามเดือน มันไม่ได้ทำให้อัพเก่งขึ้น แต่มันเป็นการเปิดโลกทัศน์ของเด็กคนหนึ่งให้เห็นว่า คนที่นู่นเขาเป็นอย่างไร ฝึกกันขนาดไหน” คุณแม่น้องอัพกล่าวถึงสิ่งที่ลูกชายได้มาจากอินโดนีเซีย

“ทุกคนที่นั่นต้องออกจากบ้าน มานอนคนเดียวเหมือนกัน ใช้ชีวิตไม่ต่างจากอัพ ถ้าลูกต้องการจะเปิดโลก ลูกดูชีวิตของคนที่นี่ เรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง เอามาพัฒนาตัวเอง”

แรงสนับสนุนความฝัน

ทุกวันนี้ น้องอัพกำลังอยู่บนเส้นทางสู่การเป็นนักกีฬาเยาวชนทีมชาติ ในปี 2562 ที่ผ่านมา น้องอัพประสบความสำเร็จจากการแข่งขันมากมายหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น รายการ SCG Junior Badminton Championship 2019, Yonex Singha Roza BTY Junior International Challenge และ การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 35

 14

น้องอัพสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศในรุ่นชายเดี่ยว จากการแข่งขันที่กล่าวมาได้ทั้งหมด เขาจึงก้าวเป็นนักแบดมินตันที่มีคะแนนสะสมเป็นอันดับหนึ่ง ในรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ของประเทศไทยในขณะนี้

“ตอนนี้ผมให้คะแนนตัวเอง 8 เต็ม 10 ครับ ยังมีจุดด้อยเล็กน้อยที่ต้องปรับอีกเยอะ เป้าหมายของผมคือการคว้าแชมป์โลก ซึ่งยังอยู่ไกลพอสมควร ผมพยายามพัฒนาไปถึงจุดนั้นทีละก้าว ตั้งใจซ้อม แก้ไขจุดบอดของตัวเองให้เร็วที่สุด”

“จุดอ่อนสำคัญตอนนี้ของผมคือเรื่องร่างกาย ผมไปแข่งที่อินโดนีเซีย กลับมาผมรู้เลยว่าความอึดผมยังไม่ได้ เหนื่อยง่ายกว่าคนอื่น ผมตั้งเป้าหมายว่าแข่งผ่านไปหนึ่งชั่วโมง ต้องยังกระโดดตบได้สบายๆ”

 16

นอกจากความมุ่งมั่นอันเป็นจุดแข็งสำคัญของน้องอัพ แรงสนับสนุนจากครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่พาน้องอัพมาถึงทุกวันนี้ เมื่อได้รู้จุดอ่อนของลูกชาย คุณพ่อและคุณแม่ของน้องอัพ จึงลงทุนจ้างนักวิทยาศาสตร์การกีฬา และคู่ซ้อมระดับเยาวชนทีมชาติ เพื่อมาช่วยเหลือและพัฒนาน้องอัพ ให้ก้าวสู่ตำแหน่งแชมป์โลกตามที่เขาฝันไว้

“มีนักวิทยาศาสตร์การกีฬา เข้ามาดูแลสมรรถภาพ ดูแลกล้ามเนื้อของอัพ อาทิตย์ละสามวัน ที่บ้านจ้างเองตั้งแต่ 12 ขวบ เป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่เฉพาะทางเรื่องแบดมินตัน เข้ามาดูร่างกายเขาในวันจันทร์ อังคาร และพฤหัสบดี” คุณแม่ของน้องอัพกล่าว

“ทุกวันนี้ เราให้อัพซ้อมแบดอย่างน้อยวันละ 4 ชั่วโมง กับคู่ซ้อมที่เราคิดว่าพัฒนาเขาได้ แม้แต่ช่วงเทศกาล น้องอัพเอารองเท้าไปวิ่งด้วยตัวเอง” 

“เขารู้ตัวเองว่าถ้าเขาหยุดซ้อม เขาจะไม่เหมือนเดิม เขากังวลกับการไปเที่ยว ซีเรียสมาก เขากลัวกลับมาเล่นได้ไม่ดีเหมือนเดิม”

“ผมเป็นคนขาดซ้อมไม่ได้ ถ้าผมหยุดวิ่งสักวันสองวัน ผมกลับมาตี มันตีไม่เหมือนเดิม“ น้องอัพกล่าวเสริมถึงความมุ่งมั่นบนเส้นทางนักกีฬา

 18

ไม่ใช่แค่เรื่องกีฬาที่คุณพ่อและคุณแม่ของน้องอัพ ยังคงสนับสนุนไม่เปลี่ยนแปลง ด้านการศึกษา ครอบครัวยังใส่ใจในการจ้างครูต่างชาติเจ้าของภาษา เพื่อมาสอนวิชาภาษาอังกฤษแก่น้องอัพ ถึงสนามแบดมินตัน เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการฝึกซ้อม ขณะศึกษาวิชาตามแบบการเรียนที่ครอบครัวเขียนขึ้นเอง

“มีครูพิเศษมาสอนถึงสนามแบด ภาษาอังกฤษเรียนกับคุณครูชาวต่างชาติ อาทิตย์ละสองวัน เลขอาจจะเรียนบ้างไม่เรียนบ้าง” คุณแม่ของน้องอัพกล่าวถึงแรงสนับสนุนด้านการเรียน

“เรียนภาษาอังกฤษวันศุกร์ 5 โมงเย็น ถึง 6 โมงเย็น วันเสาร์ 10 โมง ถึงเที่ยงครึ่ง เราเรียนได้ทั้งปีโดยที่ไม่มีปัญหาอะไร เพราะโฮมสคูลไม่มีปิดเทอม ช่วงไหนแข่ง เราก็หยุดได้ ไปเรียนทีหลังเอา”

 19

ความตั้งใจที่ชัดเจนและไม่เคยเปลี่ยนไปของน้องอัพ ตั้งแต่วันแรกที่เล่นแบดมินตันในวัย 6 ขวบ กระทั่งตอนนี้ที่อายุ 14 ปี ส่งผลให้แรงสนับสนุนที่ครอบครัวมีให้กับลูกชาย ไม่เคยเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน 

ครอบครัวของน้องอัพเลือกทำในสิ่งที่ใครหลายคนไม่กล้า คือการสนับสนุนความฝันของเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งอย่างสุดความสามารถ อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพาน้องอัพสู่ระบบโฮมสคูล การศึกษาที่ใครหลายคนมองว่าไร้ระเบียบ และไม่สามารถพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพได้ เท่ากับการศึกษาในระบบปกติ

 20

ตลอดเวลาที่พูดคุยกับครอบครัวของน้องอัพ พวกเขาแสดงความรู้สึกออกมาเสมอว่า ความฝันของลูกชายมีความหมายมากกว่าทุกสิ่ง ทุกคนในครอบครัว เชื่อว่าการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดแค่ในโรงเรียน 

น้องอัพอาจไม่มีความสามารถ ในวิชาวิทยาศาสตร์ สุขศึกษา หรือ ภาษาไทย มากเท่าเด็กทั่วไป แต่บทเรียนที่เขาได้จากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ในโฮมสคูลและสนามแบดมินตัน ช่วยให้เขาเติบโตเป็นนักกีฬาที่มีความสามารถ และเดินตามความฝันของตัวเองได้ แบบที่ไม่ต้องเสียใจภายหลัง

“แม่เชื่อใจเขานะ (หยุดคิดสักพัก) เพราะแม่เห็นเขามุ่งมั่น เราก็คอยสนับสนุนอยู่ข้างๆ” คุณแม่ของน้องอัพกล่าว

 21

“ตัวแม่เองแม่ไม่เคยรู้ว่า ตัวเองชอบเป็นอะไร ไม่รู้ว่างานที่เราทำทุกวันนี้ แม่ชอบจริงหรือเปล่า หรือแค่เอาสิ่งที่เรียนมาทำงานหาเงิน”

“ตอนนี้ในเมื่อพ่อกับแม่รู้แล้วว่า ลูกเราชอบอะไร พ่อแม่มีหน้าที่คอยสนับสนุน จะไปได้ไกลแค่ไหน นั่นคือพลังของตัวเขาเอง แต่ต่อให้ไปได้ไม่ไกล แม่คิดว่า เราก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจ ขอแค่ให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ มันก็พอแล้ว”

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ ของ "วงศ์ทรัพย์ วงศ์ทรัพย์อินทร์" : นักแบดมินตันวัย 14 ที่ลาออกจากโรงเรียนมาเพื่อล่าฝัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook