เทรปกา : สโมสรที่ถูกแบ่งออกเป็นสองทีมและสองประเทศเพราะสงคราม

เทรปกา : สโมสรที่ถูกแบ่งออกเป็นสองทีมและสองประเทศเพราะสงคราม

เทรปกา : สโมสรที่ถูกแบ่งออกเป็นสองทีมและสองประเทศเพราะสงคราม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลก และหนึ่งในนั้นก็คือสงครามกลางเมืองยูโกสลาเวีย ที่ทำให้ประเทศแตกสลาย

ในอดีตพวกเขาคือประเทศขนาดกลาง ที่ประกอบกันจากรัฐต่างๆ และเขตปกครองตนเอง แต่หลังจากสงครามประกาศเอกราชปะทุขึ้นในปี 1991 ยูโกสลาเวีย ก็เหลือแต่ชื่อ เมื่อถูกแยกออกเป็นหลายๆ ประเทศ อย่าง สโลวีเนีย, โครเอเชีย, มอนเตเนโกร รวมถึง เซอร์เบีย

สงครามไม่เพียงทำให้ประเทศต้องแยกออกเป็นเสี่ยงๆ แต่ยังทำให้สโมสรหนึ่งในโคโซโว อดีตเขตปกครองตนเองของยูโกสลาเวีย ต้องแตกออกเป็นสองทีม และเล่นอยู่ในลีกของประเทศที่ต่างกัน 

และนี่คือเรื่องราวของพวกเขา

ทีมดาวรุ่งจากโคโซโว 

แม้ว่ายูโกสลาเวีย จะถูกเรียกว่าประเทศ แต่พวกเขาคือรัฐและเขตปกครองตนเอง ที่รวมกันเป็นประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย 6 รัฐคือ เซอร์เบีย, โครเอเชีย, สโลวีเนีย, บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา, มอนเตเนโกร, มาซิโดเนีย และ 2 เขตอิสระ คือ วอยวอดีนา และโคโซโว ที่ขึ้นกับเซอร์เบีย 

โดยในโคโซโว พวกเขาก็มีสโมสรหนึ่งที่ชื่อว่า เอฟเค เทรปกา (FK Trepca) ที่ตั้งอยู่ในเมืองมิโตรวิกา ทางตอนเหนือใกล้กับพรมแดนของเซอร์เบีย ซึ่งครั้งหนึ่งสโมสรแห่งนี้ เคยเป็นหนึ่งในทีมที่น่าจับตามองที่สุดของประเทศในทศวรรษที่ 1970 

พวกเขาคือทีมแรกจากโคโซโว ที่สามารถเข้าไปเล่นในลีกสูงสุดยูโกสลาเวียได้สำเร็จในปี 1977 ยิ่งไปกว่านั้นในปีถัดมาพวกเขา ยังไปได้ไกลด้วยการคว้าตำแหน่งรองแชมป์ยูโกสลาฟคัพ แม้จะตกชั้นก็ตาม

Photo : Facebook - Istorija ex yu fudbala

“มันเป็นหนึ่งในลีกที่ดีที่สุดที่เคยมีมา” บาร์เดค เซเฟรี อดีตนักเตะของ เทรปกา ที่เคยเล่นให้ทีมในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ย้อนความหลังกับ The New York Times 

หนึ่งในปัจจัยเติบโตอย่างรุดหน้า คือความเจริญของเมืองมิโตรวิกา เมื่อในอดีตเมืองแห่งนี้คือเมืองที่ร่ำรวยและโด่งดังที่สุดเมืองหนึ่งในยูโกสลาเวีย โดยกว่า 70 เปอร์เซนต์ ของ GDP (ผลิตภันฑ์มวลรวม) มาจากการทำเหมืองที่เต็มไปด้วยแร่สังกะสี, เงิน, ทอง และตะกั่ว  

เหมืองทำให้เมืองและสโมสรฟุตบอลขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเซิร์บ และชาวแอลเบเนีย ได้รับการจ้างงานจากเหมืองแห่งนี้ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังเชียร์ทีมเดียวกัน ซึ่งทำให้แต่ละเกมมีแฟนบอลเข้ามาชมเกมในสนามสูงถึง 20,000 คน

Photo : The New York Times

เซเฟรี เล่าว่าแม้ว่าในทีมจะประกอบไปด้วยผู้เล่นหลายเชื้อชาติ ทั้งเซิร์บ, บอสเนีย, โครแอต, โคโซโว และแอลเบเนีย แต่พวกเขาก็รวมเป็นหนึ่ง อยู่กันแบบพี่น้องราวกับครอบครัวเดียวกัน 

“พวกเราเข้ากันได้เป็นอย่างดี และไม่มีปัญหาใดๆ” เซเฟรี ย้อนความหลัง 

แต่นั่นก็เป็นเรื่องก่อนสงครามเท่านั้น

ชนวนความแตกแยก 

ยูโกสลาเวียถูกปกครองโดยนายพล โจซิป ติโต ผู้นำคอมมิวนิสต์ มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาพยายามรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น แต่ได้กระจายอำนาจให้แต่ละรัฐสามารถปกครองตัวเองได้ 

ทว่าหลังการอสัญกรรมของเขาในปี 1980 ยูโกสลาเวียก็เริ่มตกต่ำมาตั้งแต่ตอนนั้น พร้อมกับการก่อตัวของขบวนการเรียกร้องเอกราชที่ชัดเจนขึ้น และการมาถึงของ สโลโวดาน มิโลเชวิช ผู้นำยูโกสลาเวียคนใหม่ ก็ทำให้ความขัดแย้งเริ่มปะทุรุนแรง 

มิโลเชวิช ปกครองประเทศด้วยนโยบายชาตินิยมทางชาติพันธุ์อย่างสุดโต่ง โดยให้อำนาจและความชอบธรรมกับกลุ่มชาวเซิร์บ และลิดรอนเสรีภาพรัฐอื่นๆ ด้วยการยกเลิกสิทธิ์ในการปกครองตนเองของรัฐต่างๆ

เขายังนำกำลังเข้าปราบปรามเขตปกครองตนเอง รวมไปถึงโคโซโว ซึ่งทำให้ความขัดแย้ง ลุกลามไปถึงสโมสรเทรปกา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งเชื่อมโยงชาวเมืองที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติไว้ด้วยกัน 

Photo : The New York Times

การปราบปราม ทำให้ชาวเมืองเชื้อสายแอลเบเนีย กลายเป็นแกนนำในการต่อสู้กับทางการ และมีบทบาทมากขึ้นในเมืองแห่งนี้ ในขณะเดียวกันชาวเหมืองกว่าพันคนยังได้หยุดงาน 8 วัน 8 คืนเพื่อประท้วงการกระทำของของรัฐ

ก่อนที่ในปี 1991 ความขัดแย้งจะทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อสโลวีเนีย ประกาศแยกตัวเป็นเอกราช จนเกิดเป็นสงครามกลางเมือง ในขณะเดียวกันรัฐอื่นๆ ก็ถูกริดรอนสิทธิอย่างหนัก เช่นเดียวกับโคโซโว ทำให้ผู้เล่นเชื้อสายแอลเบเนีย ของ เอฟเค เทรปกา ตัดสินใจลาออกจากทีม เพราะรับไม่ได้ในเรื่องนี้ รวมถึงเซเฟรีด้วย 

“มันเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองฝั่งเซอร์เบีย พวกเขาบอกว่าถ้าคุณอยากเล่นกับเราต่อไป คุณต้องยอมรับในกฎของเรา รัฐบาลของเรา และเราก็ไม่เห็นด้วย” เซเฟรีกล่าว

Photo : The New York Times

จากนั้นโคโซโว ได้ตั้งลีกขึ้นมา เป็นลีกคู่ขนานกับลีกของทางการ  มันเป็นลีกผิดกฎหมายที่ไม่ได้รับการรับรองจากส่วนกลาง และมักจะถูกตำรวจเข้าจับกุมระหว่างเกมหลายครั้ง

การเลือกอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลกลางทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทีมส่วนใหญ่ไม่มีเงินทุนสนับสนุนมากนัก ต้องเล่นในสนามเก่าๆ และซักผ้าในทะเลสาบที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง ในขณะที่ เอฟเค เทรปกา ยังคงได้เล่นในลีกยูโกสลาเวียต่อไป โดยแทบไม่มีนักเตะเชื้อสายแอลเบเนียแม้แต่คนเดียว 

“ผมรู้สึกขนลุกที่เห็นพวกเขาเล่น เรากำลังเล่นอยู่ในชนบท ได้รับบาดเจ็บ ถูกจับ ถูกกลั่นแกล้ง แต่เราก็ยังเล่นต่อไป” เซเฟรี ย้อนความหลัง 

แต่พวกเขาไม่ต้องการให้มันหยุดอยู่แค่นี้ และเมื่อหลังสงครามโคโซโวสงบ พวกเขาจึงเลือกทำให้สิ่งที่ปรารถนา นั่นคือการสร้างทีมของเมืองขึ้นมาอีกทีม

สองทีม, สองลีก, สองประเทศในเมืองเดียว 

สงครามประกาศเอกราชของสโลวีเนีย เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของสงครามบนแผ่นดินยูโกสลาเวีย เมื่อหลังจากนั้นได้เกิดสงครามประกาศเอกราชอีกหลายครั้ง ทั้งสงครามประกาศเอกราชโครเอเชีย, สงครามแบ่งแยกบอสเนียฯ และสงครามโคโซโว 

ก่อนที่ท้ายที่สุดไฟของสงครามจะมาถึงบทยุติในปี 1999 หลังสงครามโคโซโว จบลงจากการแทรกแซงของนาโต ที่ทำให้ โคโซโว ตกอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสหประชาชาติ 

Photo : These Football Times

หลังสงคราม ชาวโคโซโวเชื้อสายแอลเบเนียที่ลี้ภัยได้อพยพกลับมาที่เมืองมิโตรวิกา รวมไปถึงอดีตผู้เล่น เอฟเค เทรปกา ที่ลาออกจากทีมไป พวกเขาได้ก่อตั้งสโมสรขึ้นมาใหม่อีกทีม และใช้ชื่อว่า “เคเอฟ เทรปกา” (KF Trepca) โดยตราสัญลักษณ์ สีประจำสโมสร หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ เหมือนกับสโมสรเดิมของพวกเขา

พวกเขายังได้สิทธิ์ในการใช้สนามโอลิมปิก สเตเดียม สนามเหย้าเดิมของทีม เอฟเค เทรปกา เมื่อเจ้าของสนามเดิม ที่มีผู้เล่นชาวเซิร์บเป็นส่วนใหญ่ ต้องอพยพขึ้นไปอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำอิบาร์ เพื่อได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลเซอร์เบียหลังสงคราม  

“ตอนที่ผมกลับมาที่นี่หลังสงคราม หญ้าที่นี่สูงมาก สูงจนมองไม่เห็นสะดือตัวเอง” เซเฟรีกล่าว 

“คุณจะมองไม่เห็นอะไรเลย ดังนั้นผู้เล่นทุกคนต้องช่วยกันตัดด้วยตัวเอง เพราะว่านี่คือบ้านของเรา”

Photo : Ultras-Tifo

เคเอฟ เทรปกา ยังได้สิทธิ์ลงเล่นในลีกของโคโซโว ที่ได้รับการรับรองจากยูฟ่า โดยพวกเขาเคยไปไกลถึงตำแหน่งแชมป์ในฤดูกาล 2010 มาแล้ว แต่โชคร้ายที่ตอนนี้ต้องตกลงมาอยู่ในลีกระดับ 2 

ในขณะที่ เอฟเค เทรปกา ซึ่งเป็นทีมดั้งเดิมและยังมีที่ตั้งอยู่ในเมือง มิโตรวิกา ของโคโซโว เหมือนเดิม แต่พวกเขาก็เลือกเล่นในลีกของเซอร์เบียต่อไปหลังสงคราม เพื่อเป็นการประท้วงการมีอยู่ของโคโซโว   

เนื่องจากแม้ว่า โคโซโว จะประกาศเอกราชไปตั้งแต่ปี 2008 โดยมี 112 ประเทศให้การรับรอง แต่เซอร์เบีย ก็ยังมองว่าดินแดนแห่งนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขาอยู่ ซึ่งทำให้ เอฟเค เทรปกา กลายเป็นทีมเดียว ในโคโซโว ที่ต้องเดินทางไปเล่นในระยะทางที่ไกลกว่าทีมอื่น 

Photo : The New York Times

ปีตาร์ มิโลซาฟเยวิช เลขานุการ วัย 76 ปี ของ เอฟเค เทรปกา ที่ออฟฟิศของพวกเขาตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำอิบาร์ กล่าวว่าเขารู้สึกปวดใจที่ได้เห็นนักเตะของ เคเอฟ เทรปกา ลงซ้อมในโอลิมปิก สเตเดียม สนามเก่าของพวกเขา 

“ผมเห็นนักเตะแอลเบเนีย เล่นที่นั่นทุกวัน และผมไม่ได้อยู่ที่นั่น มันคือบ้านของผม และผมร้องไห้ทุกครั้งที่เห็นแบบนั้น” 

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเล่นในลีกใด แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือทั้งสองทีม ยังคงต้องล้มลุกคลุกคลานหลังสงคราม ซึ่งบางทีการรวมทีมอาจจะทำให้พวกเขากลับมาแข็งแกร่งเหมือนในอดีตอีกครั้ง 

แต่มันจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน? 

รียูเนียน?

ปัจจุบัน ทั้ง เคเอฟ เทรปกา และ เอฟเค เทรปกา กลายเป็นเพียงทีมเล็กๆ ในลีกล่าง โดยเคเอฟ เล่นอยู่ในลีกระดับ 2 ของโคโซโว ในขณะที่ เอฟเค วนเวียนอยู่ในลีกระดับ 3-4 ของเซอร์เบีย และมียอดแฟนบอลในสนามแค่เพียงหลักร้อยคนเท่านั้น 

แต่ถึงอย่างนั้น โอกาสที่ทั้งสองทีมจะกลับมารวมเป็นทีมเดียวเพื่อสานต่อความสำเร็จในอดีตยังเป็นเรื่องยาก เมื่อนักเตะส่วนใหญ่ที่เติบโตขึ้นมาในช่วงสงคราม รู้สึกถึงความเข้ากันไม่ได้ของทั้งสองทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเตะของ เอฟเค เทรปกา ที่มองว่าสโมสรที่ตั้งขึ้นมาใหม่เป็นตัวปลอมที่ขโมยทั้งชุดแข่งและสนามของพวกเขาไป 

“พวกเขาเอาสโมสรของเราไป เราเคยเล่นเป็นทีมเดียวกัน แต่มันจะไม่มีทางเกิดขึ้นอีกแล้ว” สตราฮินญา เจดจ์วิช นักเตะของ เอฟเค เทรปกา กล่าวกับ The New York Times  

Photo : Novosti

ภายในเมืองยังถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน โดยมีแม่น้ำอิบาร์เป็นพรมแดนทางธรรมชาติ  ตอนเหนือกลายเป็นถิ่นของ เอฟเค เทรปกา และชาวเซิร์บ ส่วนทางใต้เป็นของ เคเอฟ เทรปกา และชาวแอลเบเนีย ในขณะที่สะพานที่เป็นสิ่งเชื่อมโยงพวกเขาไว้ ก็ถูกปิดจากชาวเซิร์บหลายครั้ง ในการประท้วงการมีอยู่ของโคโซโว 

เช่นเดียวกับชื่อของสนามแข่งยังเป็นอุปสรรค เมื่อหลังสงคราม โอลิมปิก สเตเดียม ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น อาเด็ม ญาชารี ผู้กองตั้งกองทัพปลดปล่อยโคโซโว เขาเป็นฮีโร่ของดินแดนนี้ แต่ถูกมองว่าเป็นผู้ก่อการร้ายของเซอร์เบีย

พวกเขายังมีข้อพิพาทเรื่องที่ เอฟเค เทรปกา ไปเล่นในลีกเซอร์เบีย จากการรับรองของสมาพันธ์ฟุตบอลเซอร์เบีย ทั้งที่มีที่ตั้งสโมสรอยู่ในโคโซโว ที่ทำให้ สมาพันธ์ฟุตบอลโคโซโว เรียกร้องให้ฟีฟ่า และยูฟ่า มาตัดสิน แต่สุดท้ายยูฟ่า ก็ปล่อยให้พวกเขาไปเคลียร์กันเอง  

Photo : YouTube - tornados98

อย่างไรก็ดี พวกเขาก็ยังหวังว่าอย่างน้อยความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาวเซอร์เบีย และชาวแอลเบเนียก็น่าจะดีขึ้น ล่าสุดเมื่อปี 2015 ฟาดิล วอคร์รี ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลโคโซโว เดินทางมาที่เมืองนี้เพื่อหานักเตะชาวเซิร์บไปเล่นให้กับโคโซโว 

ในขณะที่ เซเฟรี ก็ยังติดต่อกับอดีตเพื่อนร่วมทีม ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือ และยังมีความหวังว่าทั้งสองทีม จะสามารถปรองดอง และอยู่ร่วมกันได้อีกครั้ง 

“มีคำเชิญที่เปิดกว้างจากพวกเขา พวกเขาสามารถเข้าร่วมเมื่อไรก็ได้ที่พวกเขาต้องการ” เซเฟรีกล่าวกับ The New York Times 

Photo : The New York Times

บรรยากาศที่ครึกครื้นเหมือนในอดีต เป็นสิ่งที่พวกเขาต่างเฝ้าปรารถนา ภาพของนักเตะต่างเชื้อชาติจากเมืองมิโตรวิกา กอดคอกันลงเล่นอย่างมีความสุข ในสนามที่เต็มไปด้วยแฟนบอล ยังเป็นภาพที่พวกเขาฝันถึง แม้ว่าบางทีมันอาจจะเลือนรางก็ตาม 

“ผมไม่แน่ใจว่าพระเจ้าจะให้ผมมีชีวิตต่อไปอีกนานแค่ไหน แต่ผมจะมีความสุขมากหากวันหนึ่ง จะได้เห็นพวกเราทั้งสองทีมเล่นด้วยกันอีกครั้ง” มิโลซาฟเยวิช ทิ้งท้าย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook