ผงชูรสแห่งความมัน : ทำไมนักมวยต้องท้าต่อยกันผ่านโซเชี่ยลมีเดีย?

ผงชูรสแห่งความมัน : ทำไมนักมวยต้องท้าต่อยกันผ่านโซเชี่ยลมีเดีย?

ผงชูรสแห่งความมัน : ทำไมนักมวยต้องท้าต่อยกันผ่านโซเชี่ยลมีเดีย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กว่าที่ มูฮัมหมัด อาลี จะได้ต่อยกับ โจ เฟรเซียร์ นั้นแสนยากลำบาก พวกเขาต้องสร้างเรื่องราวความบาดหมางหลายปีกว่าจะได้ถ่ายทอดความแค้นของแต่ละคนบนสังเวียนผ่านสื่อที่ดีที่สุดในยุคนั้นอย่าง "โทรทัศน์" ซึ่งเมื่อแฟนได้เห็นและรับรู้เรื่องราวของทั้งสอง ก็เกิดอยากดูขึ้นมาและทำให้ไฟต์นั้นกลายเป็นไฟต์เงินล้านที่ทำเงินมากที่สุดแห่งยุค

ทว่าปัจจุบัน 40 ปีผ่านไป ชนวนเหตุการจัดแมตช์ขึ้นชกระหว่างนักมวยสองคนนั้นง่ายกว่าเดิมมาก เพียงแค่พวกเขามีโทรศัพท์มือถือในมือ พิมพ์ข้อความแสนโอหังเพื่อท้าทาย หรืออัดคลิปสักคลิปหนึ่งเพื่อทำให้คนที่หมายตาเดือดดาล เท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย ... ทำไมยุคนี้มันจึงง่ายขนาดนั้น? 

การตลาดยุคโบราณ "โปรโมเตอร์จัดให้"

"ไฟต์เงินล้าน" หมายถึงการที่นักชกระดับแม่เหล็ก 2 คนขึ้นมาประจันหน้ากันบนเวทีด้วยเดิมพันหลายรูปแบบทั้งเข็มขัดแชมป์และเงินค่าตัว 2 นักชกสู้กันแฟนมวยล้นทะลักเต็มความจุของสนาม ขณะที่แฟนมวยทั่วโลกเกาะติดหน้าจอโทรทัศน์ผ่านการถ่ายทอดสด

นี่คือไฟต์เงินล้านในยุคสมัยเก่า ก่อนที่โลกใบนี้จะได้รู้จักโซเชี่ยลมีเดีย หรือ สื่อสังคมออนไลน์ วิวัฒนาการที่เปลี่ยนยุคสมัยให้รวดเร็วและเข้าทุกคนบนโลกนี้เข้าใกล้กันได้อย่างไม่น่าเชื่อ คนธรรมดาๆสามารถสร้างกระแสบนโลกโซเชี่ยลได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว แล้วแบบนี้นักมวยที่ชื่อชั้นระดับโลกจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการผลัดเปลี่ยนของยุคสมัย?


Photo : Hanibalboxing

นักมวยในยุคก่อนโซเชี่ยลบูมไม่ว่าจะรุ่นใหญ่รุ่นเล็กทั้ง "โกลเด้นบอย" ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า หรือ "ไอออน ไมค์" อย่าง ไมค์ ไทสัน ถือเป็นหนึ่งในประเภทมวยแม่เหล็ก เพราะว่าต่อยที่ไหนหรือกับใครแฟนๆ จะตั้งตารอดูไฟต์ของพวกเขาเสมอ และนอกจากฝีมือของทั้งคู่แล้ว สิ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า "การตลาด" 

การตลาดมวยยุคเก่าๆ ตั้งแต่ '80s เป็นต้นมานั้นมีวิธีการสร้างความสนใจและเรียกคนดูจากการแถลงข่าว โดยกลุ่มโปรโมเตอร์ในยุคนั้นจะต้องทำการบ้านหนักมากในการจัดมวยแต่ละไฟต์ นอกจากนี้พวกเขายังต้องมีอิทธิพลลุกลามไปถึงวงการอื่นๆ อาทิ วงการสื่อและโทรทัศน์ด้วย เพราะการที่นักมวยได้มีเวลาเรียกเรตติ้งผ่านแอร์ไทม์ที่จำกัดจำเขี่ยนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก 

โปรโมเตอร์ที่มีชื่อเสียงอย่าง ดอน คิง คือชายที่พยายามจะทำให้มวยสากลก้าวข้ามกรอบของกีฬาไปสู่วงการบันเทิงให้ได้ เขารู้ดีกว่านักชกที่เก่งอย่างเดียวไม่พอจะเป็นมวยแม่เหล็ก เพราะร้อยทั้งร้อยนิสัยของคนดูมวยส่วนมากจะชอบมวยที่ชกแบบ โหด มันส์ สะใจ และเมื่อคนดูชอบนั่นหมายความว่ามันตอบโจทย์กับช่องโทรทัศน์ต่างๆ ที่พร้อมจะตอบสนองตามเรตติ้งของแฟนๆ นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม ดอน คิง จึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ "มวยไฟต์เตอร์แห่งยุค" มาเป็นนักชกในสังกัดของเขา

ทั้ง มูฮัมหมัด อาลี และ ไมค์ ไทสัน 2 นักชกเฮฟวี่เวตที่ดีที่สุดในยุคของตัวเองเป็นเหมือนอาวุธคู่กาย และเป็นเหมือนไข่ในหินที่ต้องพยายามรักษาให้สุดชีวิต แม้จะต้องใช้วิชามารหลอกล่อทั้งสองคนก็ตาม และถึงความสัมพันธ์จะเปราะบางจนเกือบต้องแตกหักแค่ไหน แต่สุดท้ายเหลี่ยมของโปรโมเตอร์อย่าง ดอน คิง ก็สามารถรักษาลายเซ็นของทั้งคู่ไว้ได้

ปี 1982 อาลี นั้นฟ้องร้อง ดอน คิง เรื่องจ่ายค่าจ้างไม่ครบจำนวนเป็นมูลค่ากว่า 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการขึ้นชกกับ แลร์รี่ โฮมส์ ซึ่งตัวของ ดอน คิง นั้นใช้กลยุทธ์ให้เงินสด 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ กับ เจเรไมอาห์ ชาบาซ เพื่อนสนิทและคนใกล้ตัวถือเอกสารไปให้ อาลี ขณะเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเซ็น ก่อนที่ อาลี ซึ่งไม่รู้ตัวจะเซ็นไปแบบงงๆ จนเป็นเหตุให้ทั้งคู่ไม่กินเส้นกันในช่วงบั้นปลาย เพราะนอกจากเอกสารดังกล่าวจะเป็นการยุติคดีความแล้ว ยังเป็นหนังสือยินยอมให้ ดอน คิง เป็นโปรโมเตอร์ไฟต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

ดอน คิง ใช้งานและทำเงินกับ อาลี จนคุ้มค่า พอถึงวันที่ อาลี ต้องปลดระวางเขาก็หันไปโอ๋ ไทสัน โคตรมวยแห่งยุคคนใหม่แทน ซึ่งในช่วงแรกที่ ไทสัน อยู่กับ ดอน คิง นั้น ทั้งคู่เหมือนเป็นคู่หูทองคำแห่งวงการหมัดมวย ดอน คิง จัดหาคู่ชกและดำเนินการเรื่องการถ่ายทอดสดให้พร้อมสรรพ ขณะที่ ไทสัน มีหน้าที่ขึ้นไปถล่มคู่แข่งด้วยความดุดันของเขา ก่อนที่ทั้งคู่จะแบ่งเงินกัน ซึ่งเรื่องก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก ดอน คิง เอาเปรียบไทสัน จนความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็สิ้นสุดลงไป


Photo : Telegraph

จะเห็นได้ว่านักมวยยุคเก่านั้นจะดังไม่ดังต้องพึ่งฝีมือโปรโมเตอร์เป็นส่วนประกอบหลัก แม้ อาลี และ ไทสัน จะเป็นยอดมวยแต่สุดท้ายพวกเขาก็ต้องยอมให้ ดอน คิง กดขี่เรื่องเงิน เพราะที่สุดแล้วถึงแม้ ดอน คิง จะทำไม่ดีกับพวกเขาแค่ไหน หากยังอยู่กับโปรโมเตอร์คนนี้พวกเขาจะมีไฟต์ทำเงินเรื่อยๆ แม้จะไม่เป็นธรรมบ้าง แต่อย่างน้อยๆ ก็ยังได้เงินเข้ากระเป๋าและได้ชื่อเสียงขึ้นอีกมากโข 

การตลาดยุคใหม่ "ไม่ทำเงิน...ไม่ต้องต่อย"

การถือไมโครโฟนให้สัมภาษณ์ด้วยคำพูดที่เร้าใจ และมีรูปลักษณ์ที่ฉูดฉาด จนบางครั้งขโมยซีนนักมวยไปเลยของ ดอน คิง เริ่มมาตกยุคเอาหลังจากผ่านยุค '90s เป็นต้นมา และคนที่ทำให้มันเปลี่ยนไปคือ อัล เฮย์มอน 

เดิมที อัล เฮย์มอน นั้นไม่ได้มีชื่อเสียงในวงการมวยเลย เขาต่างกับ ดอน คิง โดยสิ้นเชิง เขาไม่ชอบออกตัว เขาไม่ชอบจับไมค์ แต่สิ่งที่เขาทำคือการบริหารทุกอย่างและชักใยอยู่เบื้องหลัง โดย เฮย์มอน นั้นเคยเป็น Music Promotion ของศิลปินดังแห่งยุค '90s อย่าง M.C. Hammer, New Edition, Whitney Houston, Janet Jackson และ Mary J. Blige เขาประสบความสำเร็จอย่างสุดกับสายงานนี้จนสามารถขยายสาขาจากวงการเพลงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในสาขาภาพยนตร์อีกด้วย

กระทั่งปี 2000 วงการมวยเปลี่ยนไปเมื่อเขากระโดดเข้ามาร่วมวงด้วย เขาใช้แนวทางการบริหารธุรกิจบันเทิงมาประยุกต์กับการทำมวย ...

ในโลกของวงการบันเทิง ไม่มีทางที่โปรโมเตอร์ (โปรดิวเซอร์) จะสามารถดังกว่านักร้องหรือดาราได้ และนั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาเป็นกังวล เขาไม่ได้อยากเป็นเหมือน ดอน คิง แต่ชอบกระทำการเงียบๆ ใช้ชื่อเสียงของเหล่าดาราและนักร้องเหล่านี้เดินเกมการตลาดได้อย่างไหลลื่น

สำหรับ อัล มวยเหมือนโชว์โชว์หนึ่ง ไม่ใช่แค่กีฬาที่มีแค่ผลแพ้ชนะและจบแค่นั้น เขาพยายามจะทำให้มวยมีมูลค่าต่อการติดตามด้วยการทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมมากขึ้น สามารถดึงดูดคนดูได้ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นชก การลงทุนกับโปรดัคชั่นคือสิ่งสำคัญมาก เพราะหากทำได้ดีและน่าประทับใจ แฟนมวยจะติดหนึบจนแทบไม่อยากลุกออกจากหน้าจอ 

อัล เป็นยิ่งกว่าโปรโมเตอร์ เขาคือผู้อยู่บนสุดของบ่วงโซ่อาหารของวงการมวย และยังถือสิทธิ์ขาดในการเจรจาต่อรองกับช่อง HBO ที่เป็นขาประจำในการถ่ายทอดสดมวย จนกระทั่งวันหนึ่งเขามีอำนาจมากพอชนิดที่ว่าไม่ต้องเร่ขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้กับช่องไหน แต่จะเอาเงินไปซื้อเวลาออนแอร์ของช่องโทรทัศน์เองเลย จากนั้นจึงค่อยๆ หาเงินจากสปอนเซอร์ภายหลัง

แต่จะทำอย่างไรให้มีสปอนเซอร์ต่อแถวเข้าสนับสนุนได้ล่ะ? ... ง่ายนิดเดียว ของแบบนี้มันต้องสร้างสตอรี่ขึ้นมาให้น่าสนใจเหมือนกับหนังเรื่องหนึ่ง หากมีนักแสดงนำที่ดี ทุกอย่างก็มีแววจะออกมาเป็นบวก อย่างน้อยๆ ก็ในแง่ของผลประกอบการ และตัวเอกที่ อัล สร้างขึ้นมาคือ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ เจ้าของฉายา "เดอะ มันนี่" ผู้ยิ่งใหญ่  


Photo : Boxrec

จุดเปลี่ยนสำคัญคือการทำให้ ฟลอยด์ เปลี่ยนภาพลักษณ์จากนักชกโอลิมปิกตัวทีมชาติสหรัฐอเมริกา เป็นตัวร้ายในภาพยนตร์ฮอลลีวูดซักเรื่อง ด้วยคาแร็คเตอร์ที่ ปากดี, ยะโสโอหัง, ไม่กลัวใคร และที่สำคัญคือเก่งจนยากจะหาคู่ต่อกร 

การสร้างภาพจำให้ ฟลอยด์ กลายเป็นคนที่น่าหมั่นไส้ ทำให้แฟนมวยเฝ้ารอสักวันที่เขาจะโดนน็อกลงไปกองกับเวที แค่นี้ปลาก็กินเบ็ดที่ อัล เฮย์มอน วางไว้แล้ว ... แต่ยังก่อน! กลยุทธ์ของ อัล ไม่จบแค่นั้น แม้ไฟต์ของ ฟลอยด์ จะการันตีรายรับมหาศาล แต่เขาไม่ปล่อยให้ ฟลอยด์ ได้ขึ้นชกมั่วซั่วเด็ดขาด

ทุกวันนี้ไฟต์ป้องกันแชมป์ที่คนทั้งโลกอยากจะเห็นจัดขึ้นยากกว่าแต่ก่อน เพราะไฟต์เหล่านี้ต้องผ่านการคิดวิเคราะห์มาอย่างดีว่าคุ้มหรือไม่ที่เหล่าแชมเปี้ยนจะขึ้นสู่สังเวียน นั่นคือเหตุผลที่ว่าไม ฟลอยด์ ขึ้นชกแค่ปีละไฟต์และบางปีก็ไม่ขึ้นป้องกันแชมป์เลย ซึ่งนั่นแตกต่างกับยุค ดอน คิง มาก เพราะก่อนหน้านี้สัก 20-30 ปีก่อน เหล่าแชมเปี้ยนไม่เคยกลัวที่จะชกกับคนที่อยากจะชกกับพวกเขา


Photo : The Sun

เปรียบเทียบง่ายๆ "มวยยุคเก่าขายความเกรี้ยวกราดของนักชกสองคน" ขณะที่ "มวยยุคใหม่ขายตามกระแสคนดู" เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาสามารถกระตุ้นคนดูให้อยากจ่ายถึงขีดสุดเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราจะได้เห็นแชมป์เดินขึ้นสังเวียนทันที เรียกได้ว่าจะเจ็บตัวทั้งทีต้องได้เงินตอบแทนที่คุ้มค่าก็คงไม่ผิดนัก

โซเชี่ยลมีเดีย ผงชูรสแห่งความมัน

วิธีอันแยบยลของ อัล เฮย์มอน ที่เคยใช้งานมาได้ผลร่วม 20 ปีกำลังเริ่มเสื่อมมนต์ขลัง หลังจากการเข้ามาของโซเชี่ยลมีเดีย ที่ทุกคนบนโลกนี้สามารถสร้างคอนเทนท์ (เนื้อหา) เองได้ และบางครั้งการอัดคลิปด้วยวีดีโอหรือการโพสต์อะไรง่ายๆ ก็กลายเป็นไวรัลที่โด่งดังไปทั่วโลกก็มี

ในวงการมวยทุกวันนี้เราจะได้เห็นว่า "การท้าทายผ่านโซเชี่ยล" มีให้เห็นมากขึ้น และได้ผลในแง่บวกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ "เดอะ มันนี่ ไฟต์" ที่เป็นการครอสโอเวอร์ข้ามวงการระหว่างมวยสากลอย่าง ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ และ คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ จากมวยกรงหรือ MMA คือข้อพิสูจน์ในการใช้โซเชี่ยลมีเดียของนักมวย ว่าเป็นผงชูรสก่อนการสู้จริงได้เป็นอย่างดี 

มวยยุคเก่าก่อนกว่าจะได้จังหวะสร้างกระแสเรียกคนดูต้องรอจนถึงวันแถลงข่าวชกอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากสังเกตจะพบว่า ในวันแถลงข่าวนั้นมักจะมีการตอบโต้ ปะทะคารม และบลัฟกันแหลก หนักข้อเข้าก็ถึงขั้นออกหมัดเลยก็ยังมี อันเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่า "ไฟต์นี้เดือดแน่ ห้ามพลาดเด็ดขาด" ซึ่งนี่คือผงชูรสอย่างเดียวที่วงการมวยยุคเก่าทำได้ สำหรับการสร้างความสนใจและกระตุ้นต่อมความอยากรับชมของคอมวยทั่วโลก 


Photo : Robbresport

แต่ในยุคนี้นักมวยระดับแชมป์โลกกับแฟนมวยอยู่ใกล้กันแค่นิดเดียวเท่านั้น ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ มีผู้ติดตามใน อินสตาแกรม 22.8 ล้านคน ในทวิตเตอร์อีกเกือบ 8 ล้านคน เช่นเดียวกับ แม็คเกรเกอร์ ที่มียอดผู้ติดตามในทวิตเตอร์ 7.7 ล้านคน และใน IG อีก 31.5 ล้านคน นั่นหมายความว่าพวกเขาโพสต์อะไรไม่ว่าจะในทางบวกและทางลบ จะมีประชากรในโลกกว่า 50 ล้านคนที่เห็นสิ่งที่พวกเขาทำ และนี่คือกลุ่มผู้ชมระดับคุณภาพสำหรับการเสนอคอนเทนท์ เพราะผู้รับสารทุกคน "ตั้งใจกดติดตามพวกเขาโดยเฉพาะ"  

ดังนั้นเมื่อมีการท้าทาย ด่าทอ ปลุกปั่น และสร้างกระแสระหว่างคน 2 คน มันจึงเกิดเป็นเรื่องราวที่เป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องรอสำนักพิมพ์เขียนข่าวลงหนังสือพิมพ์ และออกอากาศผ่านรายการโทรทัศน์เหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป ศึกระหว่าง ฟลอยด์ กับ แม็คเกรเกอร์ นั้นกว่าจะเกิดขึ้นได้ ทั้งสองคนผ่านการทวีตและโพสต์รูป/คลิปโจมตีซึ่งกันและกันไม่ใช่น้อยๆ ซึ่งจะบอกว่ามันเป็นการเช็คเรตติ้งก็คงไม่ผิดนัก เพราะเมื่อผู้จัดเห็นถึงกระแสที่ขึ้นเทรนด์โลกโซเชี่ยล ไฟต์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นจริงและทำเงินไปกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เรียกได้ว่าวินๆ กันหมดทุกๆ ฝ่าย นักชกได้เงิน, โปรโมเตอร์ก็เช่นกัน ขณะที่แฟนๆ ก็ได้สนองความต้องการในการดู 2 นักชกที่ปากดีที่สุดเข้าห้ำหั่นกันบนเวที 

โซเชี่ยลมีเดียทำให้คู่ชกแต่ละคู่ได้สร้างสตอรี่ที่น่าสนใจก่อนขึ้นชก มันทำให้คนดูมีอะไรให้ติดตามมากกว่าแพ้-ชนะ หรือได้แชมป์กับเสียแชมป์ มันจะเป็นเหมือนละครเรื่องหนึ่งที่มีพระเอกกับตัวร้ายขึ้นชก เพียงแต่ละครเรื่องนี้ไม่มีตอนจบที่เขียนรอไว้เท่านั้นเอง 


Photo : Twitter jordan Reynold

จอร์แดน เรย์โนลด์ นักชกรุ่นใหม่ที่เป็นแชมป์มวยสากลของสหราชอาณาจักร เล่าถึงเรื่องมวยในยุคสมัยของเขาได้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าโซเชี่ยลมีเดียมีส่วนอย่างมากที่ทำให้นักชกแต่ละคนสามารถสร้างจุดขายและหาแฟนคลับของตัวเองได้ผ่านการตอบโต้ผ่านคอมเมนท์ เขาเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ในยุคก่อนคงเป็นเรื่องยากหากจะพูดขอบคุณแฟนๆ ที่มาเชียร์ แต่ทุกวันนี้โลกโซเชี่ยลทำให้มันง่ายขึ้นและทำให้นักมวยมีโอกาสเป็นขวัญใจแฟนๆ มากขึ้นเป็นเงาตามตัว นอกจากนี้ยังทำให้เกิดไฟต์ที่น่าสนใจตอบโจทย์คนดูมากขึ้นด้วย

"การท้าทายผ่านโซเชี่ยลมีเดียเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมากสำหรับการตั้งต้นไฟต์ 1 ไฟต์ขึ้นมา ผู้คนโดยมากจะรับรู้ร่วมกันว่า "เฮ้ย ไอ้คนนี้มันอยากชกกับผมว่ะ" หรือไม่ก็ "แกพร้อมไหม ฉันอยากจะชกกับแก" โดยมีแฟนๆ เป็นเบื้องหลัง ถ้ายิ่งทั้งคู่มีผู้ติดตามเยอะ ไฟต์ดังกล่าวก็จะเกิดง่ายขึ้นกว่าเดิมอีก อาจจะมีบางกรณีที่จริงบ้างปลอมบ้าง แต่ผมคิดว่าเราจะได้เห็นไฟต์ที่น่าสนใจในอนาคตมากขึ้นผ่านการใช้ทวิตเตอร์ของนักมวยนี่แหละ" จอร์แดน ว่าไว้

ปัจจุบันโลกหมุนไปไกลยิ่งกว่านั้น โซเชี่ยลมีเดียสามารถทำให้วงการมวยเปลี่ยนไปได้มากกว่าแต่ก่อน ทุกวันนี้มีหลายบริษัทชั้นนำเกี่ยวกับมวยที่ใช้ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มในการถ่ายทอดสดแทนการซื้อเวลาออนแอร์ผ่านโทรทัศน์แล้ว ซึ่งผู้เกี่ยวข้องหลายคนเชื่อว่าโซเชี่ยลมีเดียและการท้าทายของนักมวยผ่านทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊คกำลังจะเป็นสิ่งที่ทำให้ มวย ก้าวเข้าสู่ระบบธุรกิจแบบเต็มรูปแบบ

"เมื่อมีโอกาสขึ้นมาสู้กันบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ เราจะกระโดดใส่มันทันที" อาร์ตี้ เปลุลโล่ เจ้าของค่าย แบนเนอร์ โปรโมชั่น ที่เคยเสียเงินกับการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ไปหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอดีตกล่าวถึงโลกยุคใหม่กับวงการมวย

"มุมมองของผมคิดว่าโซเชี่ยลมีเดียคืออนาคตของแทบทุกอย่าง ไม่ใช่แค่มวยเท่านั้น ผมได้เข้ามาสู่ศตวรรษที่ 21 และมีคนบอกผมว่าโซเชี่ยลมีเดียมีอนาคตที่สดใสรออยู่ มันจะทำให้เราขับเคลื่อนองค์กรได้ดียิ่งกว่าเก่า" เปลุลโล่ กล่าว 

โดยในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2017 สถานีโทรทัศน์ Showtime ได้ทดลองถ่ายทอดสดคู่ระหว่าง เอเดรียน โบรเนอร์ กับ เอเดรียน กรานาดอส ผ่านทวิตเตอร์ให้ผู้ชมได้รับชมแบบฟรีๆ และปรากฎว่าได้ผลตอบรับกลับมาดีมากๆ


Photo : ShowTime

"มันเป็นการทดสอบที่ยอดเยี่ยม เราได้ข้อมูลคนดูที่แตกต่างจากการดูใน Showtime เพราะเราพบว่า 3 ใน 4 ของผู้ดูผ่านทวิตเตอร์คือผู้ชมที่อายุต่ำกว่า 35 ปี และ และมันยอดเยี่ยมมาก เมื่อการแข่งขันมวยไปถึงสายตาของกลุ่มผู้ชมที่อายุน้อย" เอสปิโนซ่า รองประธานของ Showtime พูดถึงกระแสที่กำลังจะเปลี่ยนไป

สรุปแล้วการท้าทายผ่านโซเชี่ยลมีเดียของนักมวยนั้น ทำให้พวกเขามีบทบาทกำหนดไฟต์ของตัวเองได้มากขึ้นโดยมีการหนุนหลังจากผู้ติดตาม โดยเฉพาะการตอบโต้ที่เผ็ดร้อนและรุนแรงที่จะนำมาซึ่งกระแสตอบรับ และกระตุ้นความอยากดูของเหล่าคอมวยด้วยแล้ว เห็นได้ชัดว่านี่ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ... การท้าทายคือส่วนหนึ่งของธุรกิจมวยสมัยใหม่ ที่ในอนาคตอาจจะทำเงินได้มากกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัวก็เป็นได้ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook