โบลโซนาโร : ผู้ร้ายชาวโลกต้นเหตุเผาป่าฝนแอมะซอน ที่แข้งดังบราซิลหลายคนเคยหนุนหลัง

โบลโซนาโร : ผู้ร้ายชาวโลกต้นเหตุเผาป่าฝนแอมะซอน ที่แข้งดังบราซิลหลายคนเคยหนุนหลัง

โบลโซนาโร : ผู้ร้ายชาวโลกต้นเหตุเผาป่าฝนแอมะซอน ที่แข้งดังบราซิลหลายคนเคยหนุนหลัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ผมขอให้คุณเข้าใจไว้เรื่องหนึ่ง คุณจะโหวตเพื่อเลือกประธานาธิบดี ไม่ใช่พ่อของคุณ" นี่คือคำกล่าวของ ริวัลโด้ อดีตนักเตะบราซิลชุดแชมป์โลกปี 2002 ฝากถึงชาวบราซิลทุกคนก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศเมื่อปี 2018 ... และคนที่เขาพูดถึงคือ ชาอีร์ โบลโซนาโร ผู้นำที่โดนพูดถึงมากที่สุดในโลก ณ เวลานี้ จากความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับปอดของโลกอย่าง ป่าฝนแอมะซอน

ป่าฝนแอมะซอนเป็นที่อยู่อาศัยของกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตบนโลก และถูกเรียกว่าเป็นปอดของโลก เพราะผลิตก๊าซออกซิเจนให้โลกถึง 20 เปอร์เซนต์ ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่จากการโดนไฟไหม้ลุกลามครั้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยคาดว่าขณะนี้มีพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ไปแล้วกว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร

ทุกสายตาจากทั่วโลกจับจ้องมายังรัฐบาลบราซิลว่าเป็น "ต้นเหตุ" ของการเกิดไฟไหม้ใหญ่ครั้งนี้ ... เขาทำอะไรทำไมไฟจึงไหม้ป่า? และเขาเอาชนะการเลือกตั้ง พร้อมเอาชนะใจนักฟุตบอลชื่อดังของประเทศ จนกลายเป็นหัวคะแนนของเขาได้อย่างไร?  

เรื่องธรรมดา ที่ลุกลามภายในปีเดียว

ปกติแล้ว ไฟป่าถือเป็นเรื่องปกติของป่าแอมะซอนในช่วงหลังจากเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป นี่คือช่วงฤดูแล้งและมันจะดำเนินไปจนถึงเดือนตุลาคม ปีก่อนก็ไม่ต่างกันมีเหตุเพลิ่งไหม้ในป่าแอมะซอนให้เห็นเสมอ... ทว่าในปี 2019 มันมีความไม่ปกติเกิดขึ้น


Photo : www.boredpanda.com

สิ่งที่ผิดปกติอย่างแรกเลยคือตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ สถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติของบราซิล พบว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ในป่าแอมะซอนมากถึง 74,155 ครั้งในปีนี้ มากที่สุดในประวัติศาสตร์ และเพิ่มจากปี 2018 ถึง 84% และนี่คือจำนวนครั้งที่มากที่สุดในรอบ 30 ปีอีกด้วย

USA Today สื่อจากอเมริกาแจกแจงว่าเหตุการณ์นี้เกิดจากการที่มี "กลุ่มคน" กลุ่มหนึ่งพยายามเคลียร์พื้นที่ป่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ในการทำธุรกิจใดๆ ก็ตาม พวกเขาเริ่มโค่นต้นไม้มากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมด และจากนั้นการทำผิดพลาดประการที่สองก็ตามมา เมื่อมีการโค่นต้นไม้แล้วไม่มีการเก็บกวาดออกจากพื้นที่ จนท้ายที่สุดต้นไม้เหล่านั้นก็แห้งและกลายเป็นเชื้อไฟชั้นดี ... และพวกเขาชี้ว่าเหตุที่มันเป็นก็เช่นนั้นเพราะนโยบายของรัฐบาลบราซิล ที่นำโดยประธานาธิบดี ชาอีร์ โบลโซนาโร  

เรื่องดังกล่าวทำให้ โบลโซนาโร ออกงิ้วเต้นโผงผางทันที เขาห้ามคนในรัฐบาลให้สัมภาษณ์และแสดงความเห็นกับสื่อเด็ดขาด มีเพียงเขาเท่านั้นที่จะเป็นคนชี้แจงข้อเท็จจริง และสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้การทำงานของรัฐบาล จะเพื่อป้องกันการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน หรือจะเพราะความละเอียดอ่อนและผลกระทบจากการให้สัมภาษณ์ก็ตาม แต่เมื่อประธานาธิบดีคนเดียวที่มีสิทธิ์พูดแบบนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลบราซิลจะต้องวางแผนเป็นอย่างดีในแต่ละการให้สัมภาษณ์ของ โบลโซนาโร 


Photo : www.pinknews.co.uk

ทว่าความจริงแล้วมันแทบไม่ได้ต่างอะไรกับการตอบคำถามแบบกำปั้นทุบดินแม้แต่น้อย...

"สำหรับคำถามเกี่ยวกับไฟไหม้ป่าแอมะซอนในมุมมองของผม ผมคิดว่ามันเริ่มจากพวกองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) เพราะอะไร? เพราะพวกเขาสูญเสียรายได้ไป และสุดท้ายพวกเขาโทษรัฐบาลพร้อมนำปัญหาเข้ามาสู่ประเทศบราซิล" ชาอีร์ กล่าวกับสภาอุตสาหกรรมเหล็กในเมืองบราซิเลีย 

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรสูญเสียรายได้ การวางเพลิงเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล ... นี่คือสิ่งที่ โบลโซนาโร แสดงความคิดเห็นออกมาด้วยตัวเอง และเมื่อถูกถามต่อไปว่าเขามีหลักฐานอะไรบ้างในการกล่าวหาองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรว่าเป็นคนสร้างสถานการณ์ทั้งหมดขึ้น คำตอบของ โบลโซนาโร คือ "ไม่มี นั่นคือข้อสันนิษฐานของผมเท่านั้นเอง" นอกจากนี้เจ้าตัวยังเคยแว้งกัดเหล่าคนที่วิจารณ์เขาผ่านการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ด้วยว่า "ก่อนหน้านี้ผมถูกตราหน้าว่าเป็น 'มือเลื่อย' ตอนนี้ก็มาหาว่าผมเป็น 'มือเผา' อีก"

แล้วรัฐบาลเกี่ยวอะไร?

แน่นอนหากไฟไหม้ป่าแอมะซอนเป็นเรื่องปกติแล้วล่ะก็ การจะโทษรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่แฟร์

อย่างไรก็ตามวิกฤติไฟไหม้แอมะซอนครั้งนี้เป็นเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ทีละชิ้น...ทีละชิ้น และเมื่อจิ๊กซอว์หลายชิ้นมารวมกัน กลับพบว่ามันมีหลายอย่างที่ลงล็อคจนไม่อาจจะคิดเป็นอื่นได้ 


Photo : www.theonion.com

"ป่าแอมะซอนเปลี่ยนไปเลย ระบบนิเวศจากเดิมนั้นเคยเป็นระบบที่ทนไฟ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นระบบนิเวศที่เสี่ยงต่อการติดไฟแทน" ไนเจล ไซเซอร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่โครงการ Rainforest Alliance บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงจากปี 2018 กับปี 2019 ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาที่พอดีกันเป๊ะกับที่รัฐบาลของ โบลโซนาโร่ ชนะเลือกตั้งในช่วงเดือนตุลาคมปี 2018 และเรื่องนี้มันเกี่ยวกับเขาเต็มๆ

ชาอีร์ โบลโซนาโร นักการเมืองขวาจัดฉายา "โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งบราซิล" เขาเป็นอดีตร้อยเอกแห่งกองทัพบกบราซิล ตัวของ โบลโซนาโร นั้นยกย่องระบอบเผด็จการและเชิดชูกองทัพตั้งแต่วันแรกที่เล่นการเมืองและลงพื้นที่หาเสียง 

สิ่งที่คนบราซิลหลายคนรับไม่ได้ในตัวของ โบลโซนาโร คือการเป็นคนปากจัดขวานผ่าซาก และมักให้สัมภาษณ์ที่ฟังแล้วต้องหยุดคิดให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวดูถูกเพศหญิง ด้วยการพูดถึงนักการเมืองหญิงผู้หนึ่งว่า "ไม่คุ้มค่าที่จะข่มขืน" ในช่วงปี 2003, กลุ่ม LGBT หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศก็โดนด้วย หลังจากเขาให้สัมภาษณ์ว่าเขายอมให้ลูกชายเสียชีวิตในอุบัติเหตุเสียดีกว่าที่ลูกจะเป็นเกย์ ส่วนอีกหนึ่งในกลุ่มคนที่โดนเหยียดคือชนเผ่าท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าแอมะซอนกว่า 1 ล้านคน ซึ่ง โบลโซนาโร บอกว่าหากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมด้วยการเลี้ยงวัวและทำเหมืองแร่ ... ส่วนกลุ่มชนเผ่ามีให้เลือก 2 ทางคือ ปรับตัว หรือไม่ก็ตายไปเสียแค่นั้นเอง ซึ่งคำกล่าวนี้เองที่ทำให้มันชัดเจนว่าเขาแทบไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อมเลยแม้แต่นิดเดียว


Photo : jovempan.uol.com.br

ทุกอย่างดูเข้าเค้าไปหมด ว่านโยบายของรัฐบาลบราซิลคือจุดเริ่มต้นโดยตรงกับเหตุไฟไหม้ป่าแอมะซอนที่เป็นปอดของโลก ... ทว่าทั้งๆ ที่ทุกอย่างชัดเจนขนาดนี้ เหตุใดเขาจึงชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 55.2% จากประชาชนทั้งประเทศ อีกทั้งผู้สนับสนุนเขายังเป็นนักฟุตบอลชื่อดังของบราซิลมากมาย ไม่ว่าจะ โรนัลดินโญ่, ริวัลโด้, มาร์กอส คาฟู, ริคาร์โด้ กาก้า, เนย์มาร์, วินิซิอุส จูเนียร์ และ ลูคัส มูร่า กันล่ะ?

จุดแข็งและการฉวยโอกาส

"ที่นี่บราซิล" ประโยคดังกล่าวถูกพูดขึ้นโดย โดมินิค โทเร็ตโต้ ตัวละครเอกแฟรนไชส์ Fast and Furious ในภาค 5 ที่บอกถึงความ "เถื่อน" ในชุมชนท้องถิ่นที่ยากจนของประเทศบราซิล ประเทศที่เป็นฉากสำคัญในเรื่อง ซึ่งในฉากดังกล่าวทุกคนที่อยู่ร่วมเหตุการณ์สู่วาทะเด็ดนี้ ชักปืนขึ้นมาราวกับว่า ปืน นั้นคือสิ่งที่หาได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อ


Photo : edition.cnn.com

สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความจริงก็ไม่ต่างจากในหนังมากนัก เพราะบราซิล เป็นหนึ่งใน 20 ประเทศของโลกที่มีอัตราการฆาตกรรมและอาชญากรรมสูงที่สุด และในปี 2018 มีการจัดอันดับเมืองที่อันตรายที่สุดในโลกก็พบว่ามีเมืองจากประเทศบราซิลถึง 7 เมืองที่พาเหรดเข้ามาติดอันดับทั้ง นาตาล, ฟอร์ตาเลซา, เบเลม, วิกตอเรีย ดา กอนกีสต้า, มาเชโย, อาราคาจู และ เฟย์รา เด ซานตาน่า 

และสิ่งเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้เหล่าชนชั้นกลางขึ้นไป ซึ่งรวมถึงนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย ต่างเลือกเทใจให้กับฝั่งรัฐบาลขวาจัดของ โบลโซนาโร แม้จะขวานผ่าซาก แต่พวกเขาเหล่านั้นต่างคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเล่นไม้หนัก ปราบปรามมาเฟีย, ทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์, คืนความยุติธรรมและความปลอดภัยกลับสู่ประเทศของพวกเขา

"เพื่อบราซิลที่ดีกว่า ผมต้องการความสงบสุข ความปลอดภัย และคนที่สามารถให้ความสุขกับเราได้ ผมเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในบราซิล และผมต้องการบราซิลที่ดีกว่าสำหรับประชาชนทุกคน" โรนัลดินโญ่ อดีตนักฟุตบอลอันดับ 1 ของโลกที่กลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิดหลังจากเล่นในยุโรปมาอย่างยาวนาน โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์พร้อมภาพที่เขาสวมเสื้อหมายเลข 17 ซึ่งเป็นหมายเลขผู้สมัครเลือกตั้งของ โบลโซนาโร นั่นเอง 


Photo : www.torcedores.com

ในรายของ โรนัลดินโญ่ นั้นหนุนหลังอย่างเต็มที่ เพราะ "เหยินน้อย" ได้ติดต่อกับโบลโซนาโร มาตั้งแต่ปี 2017 และมีรายงานว่า เขาพร้อมที่จะสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในรัฐมินาส เกไรส์ ภายใต้สังกัดพรรคปาตริโอตา ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาเช่นเดียวกับโบลโซนาโร ด้วย 

"ทรัมป์แห่งบราซิล" ประกาศอย่างชัดเจนว่าต่อไปนี้ทุกสิ่งที่เขาทำ เขาจะไม่สนสายตาประชาคมโลก มีแต่การทำให้ บราซิล เป็นประเทศที่ดีขึ้นเท่านั้นที่เป็นเป้าหมายของเขา

"เราจะไม่สนสังคมนิยม, คอมมิวนิสต์, ประชานิยม และลัทธิคตินิยมของพวกฝ่ายซ้ายอีกต่อไป เราต้องการจะเปลี่ยนชะตาของบราซิลเท่านั้น" โบลโซนาโร กล่าวยืนยันอีกครั้งหลังจากชนะการเลือกตั้ง 

นโยบายที่ดูสุดโต่งนี้ได้คะแนนจากประชาชนเข้าไปอีก เพราะเป็นการเอาจุดอ่อนของรัฐบาลชุดเก่า (ฝ่ายซ้าย) มาขยี้ซ้ำ เพราะภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีหญิง ดิลมา รุสเซฟฟ์ จากพรรคแรงงาน ได้ก่อปัญหาทางเศรษฐกิจ ราคาสินค้าส่งออกดิ่งลงเหว อีกทั้งยังมีการหักหลังประชาชนชั้นรากหญ้า ด้วยการตัดโครงการต่างๆ ที่เคยช่วยคนจนในอดีต หนักเข้าไปอีก คือ การเกิดปัญหาคอรัปชั่นภายใน จนทำให้เกิดตัวเลขการติดสินบนมากกว่า 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 289,000 ล้านบาท) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองทำให้ประชาชนหมดความเชื่อถือและเริ่มเปิดรับความโหดของทรัมป์แห่งบราซิลมากขึ้น แม้จะมีฝั่งตรงข้ามโต้แย้งว่าแล้วการนำคนที่ไม่มีกาละเทศะไม่เคยให้เกียรติคนอื่นมาเป็นผู้นำแบบนี้มันถูกหรือ? ก็ตาม


Photo : www.torcedores.com

"ปัญหาของประเทศบราซิลจริงๆ แล้ว คือ วิกฤติเศรษฐกิจ, ปัญหาตกงาน, ปัญหาความรุนแรง, สุขภาพ, การศึกษา และคอรัปชั่น แต่สิ่งที่เราถกเถียงกันอยู่ คือ อุดมการณ์เรื่องเพศ, การเหยียดผิว-เพศ แต่ผมขอให้คุณเข้าใจไว้เรื่องหนึ่งนะ คุณจะโหวตเพื่อเลือกประธานาธิบดี ไม่ใช่พ่อของคุณ"

"เราต้องการเขา (โบลโซนาโร) มาแก้ไขปัญหาประเทศให้เรา ไม่ใช่คำสอนเรื่องค่านิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเรารู้กันดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะจากที่บ้านหรือที่โรงเรียน ถ้าเรามัวแต่เสพคำคมอุดมคติ ไม่แคล้วเราคงต้องติดคุกที่ กูรีตีบา เหมือนกับอดีตประธานาธิบดี ลูล่า (อดีตหัวหน้าพรรคแรงงาน) กันหมด" 

นี่คือคำกล่าวของ ริวัลโด้ อดีตนักเตะทีมชาติบราซิลชุดแชมป์ฟุตบอลโลกปี 2002 และเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ (นักเตะที่ดีที่สุดในโลก) อีก 1 สมัย ตัวของ ริวัลโด้ นั้นเติบโตมาจากครอบครัวรากหญ้าซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคฝ่ายซ้าย แต่สุดท้ายแล้ว ริวัลโด้ ก็เหมือนคนบราซิลอีกหลายคนที่ต้องการรัฐบาลที่เด็ดขาดและจัดการกับปัญหาได้จริง ไม่ใช่แค่สัญญาลมปากเหมือนที่ผ่านๆ มา 

ไฟไหม้ที่ป่าแต่ร้อนถึงสภา... 

หลังจากได้รับตำแหน่ง โบลโซนาโร เลือกใช้มาตรการรุนแรงกับปัญหาอาชญากรรมและมาเฟียตามที่สัญญาไว้ ทว่าความจริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะกลุ่มอาชญากรจับมือกันท้าทายรัฐบาล โบลโซนาโร ตั้งแต่ต้นปี 2019 ด้วยการ ก่อเหตุโจมตีและปล้นธนาคาร, ร้านค้า รวมถึงเผารถบัส เกือบ 80 ครั้ง จนทำให้ประชาชนไม่กล้าออกจากบ้าน ถนนสายหลักเงียบเหมือนกับป่าช้า ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลก็จัดหนักด้วยการส่งกำลังทหารเข้าไปจัดการด้วยกำลังพลกว่า 300 นาย แทนที่การปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจที่คาดว่าไม่น่ารับมือไหว ซึ่งทหารก็จัดการได้อย่างรวดเร็วจนได้รับคำชมจาก โบลโซนาโร 


Photo : www.businessinsider.com.au

อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเพียงเรื่องเดียวที่รัฐบาลทำได้ตามสัญญาเพราะเรื่องอื่นๆ นั้นแทบไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นเลย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและนโยบายเพื่อประชาชนอย่างการปฎิรูปเรื่องเงินบำนาญที่ได้ให้คำมั่นไว้ก่อนรับตำแหน่ง 

"ความรู้สึกในสถานการณ์ตอนนี้คือ เลวร้ายยิ่งกว่าช่วงก่อนเลือกตั้งเสียอีก" ราฟาเอล อัลคาดิปานี่ รองศาสตราจารย์จากมูลนิธิ Getulio Vargas ให้สัมภาษณ์กับ BBC

"เราทุกคนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม แต่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของประเทศไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเปลี่ยนแปลงในด้านใดเลย เขาล้มเหลวและรัฐบาลของเขากำลังสูญเสียความเชื่อมั่น ชาวบราซิลคาดหวังมากจากเขา" 

แน่นอน ไฟไหม้ป่าแอมะซอนกลายเป็นเรื่องล่าสุดที่ส่งผลเสียต่อชื่อเสียงและความไว้วางใจของรัฐบาล โบลโซนาโร ไม่ใช่แค่กับคนบราซิลเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบมาถึงนคร เซา เปาโล โดยตรงทั้งเรื่องสภาพอากาศที่ย่ำแย่และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะตอนนี้ทั้งโลกกำลังเพ่งเล็งและขุดคุ้ยถึงความเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ของรัฐบาลบราซิล จนทำให้เรื่องบานปลายยากจะแก้ไขอีกด้วย

"เขาคือผู้ที่ทำลายแอมะซอนและปล่อยให้มีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างสบายใจเฉิบ นับตั้งแต่นาย โบลโซนาโร และรัฐบาลของเขาเข้ามารับตำแหน่ง พวกเขารื้อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมทิ้งหมดเลย" ดานิคลี่ย์ อากียาร์ จากองค์กร กรีนพีซ บราซิล กล่าว และหลังจากนั้นผู้นำหลายประเทศก็เริ่มวิจารณ์ตามๆ กันมาทั้ง ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และนายแอนโตนิโอ กูเตเรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทวีตแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ไฟไหม้ป่าแอมะซอนที่รุนแรงที่สุดในปีนี้  


Photo : www.boredpanda.com

สิ่งที่ โบลโซนาโร ตอบกับสื่อในตอนนี้ มีเพียงคำตอบที่ไม่ตรงคำถาม เขาใช้ทวิตเตอร์ตอบโต้ มาครง ว่าพยายามใช้เหตุไฟไหม้แอมะซอนเพื่อหาเสียงให้ตัวเอง พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับการล่าอาณานิคมที่ชาติในยุโรปทำกับชาติในอเมริกาใต้เมื่อครั้งอดีตอีกด้วย ... ที่ตลกร้ายยิ่งกว่านั้นคือ โบลโซนาโร ยังกล่าวหา สถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยอวกาศ (Inpe) ที่เปิดเผยข้อมูลความสูญเสียของเหตุไฟป่าครั้งนี้ว่าพยายามบ่อนทำลายชาติทั้งๆ ที่ข้อมูลของ Inpe เป็นข้อมูลที่แม่นยำมากกว่า 95% ก็ตาม และเรื่องนี้จบลงด้วยการที่ผู้อำนวยการของ Inpe ซึ่งนำเสนอข้อมูลให้สื่อทั่วโลกได้รับรู้ปัญหาโดนไล่ออกจากตำแหน่งอีกต่างหาก

หากคุณจะถามว่า แล้วกลุ่มคนดังหรือนักเตะที่มีชื่อเสียงที่หนุนหลัง โบลโซนาโร แบบเต็มพิกัดมีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง คำตอบคือ โรนัลดินโญ่, เนย์มาร์ หรือ ริวัลโด้ ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้เลยแม้แต่คนเดียว ... ส่วนสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็มีได้หลายทาง และหนึ่งในนั้นคือพวกเขาอาจจะเกิดอาการ "กลืนไม่เข้าคายไม่ออก" ซึ่งก็ไม่รู้ว่าแท้ที่สุดแล้วจะใช่สาเหตุนี้หรือไม่? 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook