ดินาโม ซาเกร็บ : สโมสรที่ปั้นเด็กสู่ระดับโลกมากมายด้วยงบแค่ 45 ล้านบาท

ดินาโม ซาเกร็บ : สโมสรที่ปั้นเด็กสู่ระดับโลกมากมายด้วยงบแค่ 45 ล้านบาท

ดินาโม ซาเกร็บ : สโมสรที่ปั้นเด็กสู่ระดับโลกมากมายด้วยงบแค่ 45 ล้านบาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีเรื่องเล่าขานจากคาบสมุทรบอลข่าน ถิ่นของทีมฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมและดีที่สุดในประเทศโครเอเชีย นั่นคือสโมสร ดินาโม ซาเกร็บ ทีมที่สร้างนักเตะทีมชาติโครเอเชียชุดรองแชมป์โลก 2018 เกือบทั้งชุด

มาริโอ มานด์ซูคิช, อิวาน เปริซิช, มาเตโอ โควาซิช และ ลูก้า โมดริช คือหนึ่งในผลผลิตจากอะคาเดมีของ ดินาโม ซาเกร็บ ที่ใช้งบประมาณกับระบบเยาวชนปีละ 1.3 ล้านยูโร (ราว 45 ล้านบาท) เท่านั้น และนั่นคืองบประมาณที่เทียบเท่ากับทาง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทีมแชมป์ไทยลีกฤดูกาลที่ผ่านมา 

สโมสรแห่งนี้สร้างระบบเยาวชนที่แข็งแกร่งภายใต้งบประมาณที่จำกัดได้อย่างไร และอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้พวกเขาเลือกที่จะไว้ใจส่งเด็กปั้นลงเล่นแต่กลับได้แชมป์ลีกแทบทุกปี

สโมสรที่ไร้ความกังวลเรื่องอนาคต

"หลายสโมสรทั่วโลกสามารถเรียนรู้วิธีการสร้างทีมของ ดินาโม ซาเกร็บ ได้ในเรื่องของการทำงานเกี่ยวกับผู้เล่นอายุน้อยๆ พวกเขาทำมันได้ดีและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลเกี่ยวกับอนาคตของสโมสรเลย"  


Photo : NK Dinamo Zagreb

นี่คือคำพูดที่ยืนยันว่ารากฐานของทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศโครเอเชียทีมนี้แข็งแกร่งแค่ไหน เมียร์โก โจซิช คือชายผู้คลุกคลีกับฟุตบอลเยาวชนทั้งในนามทีมชาติและสโมสร เขาเคยเป็นผู้จัดการทีมชุดเยาวชนของ ดินาโม ซาเกร็บ ในช่วงปี 2006-07 และหนึ่งในนักเตะที่เขาดูแลมาเองกับมือคือ ลูก้า โมดริช แข้งบัลลงดอร์ปี 2018

โครเอเชีย เป็นประเทศเล็กที่มีประชากรราว 4 ล้านคนเท่านั้น แต่ในเรื่องของฟุตบอลนั้นประชากรของ โครเอเชีย ถือเป็นประชากรคุณภาพ พวกเขาคือประเทศที่คลั่งฟุตบอล และแทบไม่เล่นกีฬาอื่นๆ เลย ครั้งหนึ่ง เวดราน ชอร์ลูก้า กองหลังชุดรองแชมป์โลก 2018 ที่เคยเล่นให้กับทีมดังอย่าง แมนฯ ซิตี้ และ สเปอร์ส เล่าถึงวัยเด็กของเขาอย่างน่าสนใจ ถึงวัฒธรรมของพ่อแม่ชาวโครเอเชียที่พร้อมจะสนับสนุนให้ลูกเป็นนักฟุตบอลอาชีพ

"เมื่อคุณลืมตาดูโลกสิ่งแรกที่คุณจะได้จากพ่อคือลูกฟุตบอล มันอยู่ในสายเลือดของพวกเรา (ชาวโครแอต) ทุกคน บนท้องถนนคุณจะเห็นเด็กๆ กำลังเตะฟุตบอลกัน และฐานะที่เคยเป็นเด็กคนหนึ่ง พวกเราอยากที่จะยิงประตูได้และเล่นเป็นกองหน้า นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงมีผู้เล่นเกมรุกดีๆ มากมาย" ชอร์ลูก้า กล่าวถึงวัฒนธรรมอันเป็นที่มาของฉายา "บราซิลแห่งยุโรป"


Photo : www.squawka.com

เมื่อมีวัตถุดิบดีๆ แล้ว ตอนนี้ก็เป็นหน้าที่ของสโมสรที่มีวิสัยทัศน์ซึ่งจะหยิบเอาวัตถุดิบคือเด็กๆ เหล่านั้นมาพัฒนาให้เป็นนักฟุตบอลที่มีความสามารถ และก็เป็น ดินาโม ซาเกร็บ ที่ไวที่สุดในเรื่องนี้ พวกเขาพร้อมลงทุนทั้งในเรื่องของแรงเงิน และการศึกษาที่ตรงจุดเพื่อให้รู้ว่าทำอย่างไรเด็กๆ จึงจะเก่งขึ้น

"ความท้าทายในการสร้างพื้นฐานในระดับล่างสุดของปิระมิด คือกลุ่มเด็กในเมืองที่ไม่เข้าใจเรื่องการเคลื่อนที่และมีความสามารถทางด้านกีฬาน้อย แต่ในกรุงซาเกร็บมันแตกต่างออกไป หลายพื้นที่ในเมืองนี้ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย แต่มันกลับส่งผลในแง่การพัฒนา เพราะเด็กๆ ที่นี่จะได้ออกกำลังกายทุกวัน โดยเฉพาะเรื่องของฟุตบอลนั้นพวกเขาจะมีเกมให้เล่นตลอดนั่นคือ สตรีทฟุตบอล (ฟุตบอลข้างถนน) ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าเด็กๆ จะถูกรบกวนด้วยเทคโนโลยีบ้างก็ตาม" อิวาน เคปซิก้า ผู้ช่วยผู้อำนวยการทีมอะคาเดมีกล่าว

ดินาโม ซาเกร็บ เข้าใจถึงวัฒนธรรมฟุตบอลข้างถนนของเด็กๆ ในท้องที่ พวกเขารู้ว่าการเล่นฟุตบอลข้างถนนวันละหลายๆ ชั่วโมงโดยไม่ได้รับการแนะนำที่ถูกต้อง อาจจะไม่ใช่เส้นทางที่ถูกต้องนัก ดังนั้นในช่วงแรกเริ่มของการฝึก พวกเขาจะปล่อยให้เด็กได้ลงเล่นเกมที่ไม่ได้เป็นทางการมากนัก แต่จะมีผู้เชี่ยวชาญที่จะคอยสอดแทรกความรู้ให้ทีละนิดๆ มาช่วยดูแล จนเมื่อมีความเข้าใจในฟุตบอลของของ ดินาโม ซาเกร็บ มากขึ้นแล้ว เด็กๆ จะมีโอกาสฝึกจริงจังและลงแข่งขันแบบเป็นทางการมากขึ้น 

ส่วนที่สองที่ทำให้เยาวชนของ ดินาโม ซาเกร็บ ใช้งานได้และขายคล่องมือคือระบบการปล่อยยืมตัวไปยังที่ต่างๆ พวกเขาอยากจะให้เด็กๆ ได้สัมผัสบรรยากาศฟุตบอลอาชีพให้เร็วที่สุด เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีเล่นจากเด็กชายให้เป็นลูกผู้ชาย ดินาโม ซาเกร็บ รู้ว่านักเตะทุกคนไม่ได้มีอัตราพัฒนาการในระดับเดียวกัน ดังนั้นการส่งยืมตัวจะมีผลเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาจะได้เจอกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง ได้รับความกดดันและเร่งเร้าที่มากขึ้น ซึ่งการยืมตัวนี้เองคือสิ่งที่ ดินาโม ซาเกร็บ ใช้เป็นสะพานจากชุด B ไปยังชุดใหญ่ และวัดนักเตะของพวกเขาว่าเด็กคนนี้ดีพอที่จะเล่นให้กับทีมชุดใหญ่หรือยัง


Photo : scsport.ba

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ลูก้า โมดริช มิดฟิลด์ที่เป็นเด็กตัวเล็กและผอมบาง ในวันที่เขาย้ายจาก ซาเกร็บไปเล่นให้สเปอร์ส กลุ่มนักวิจารณ์เดิมพันว่าเขาจะไปไม่รอดกับฟุตบอลที่หนักหน่วง ทว่า ซาเกร็บ คิดเรื่องนี้ไว้แล้วเพราะพวกเขาเคยส่ง โมดริช ในวัยแค่ 17 ปีไปเล่นในลีกบอสเนียฯ กับทีม HŠK Zrinjski Mostar ซึ่งลีกบอสเนียฯ นั้นขึ้นชื่อเรื่องเกมที่โหดร้ายเข้าบอลกันแบบไร้ปราณี จนมีคำกล่าวติดปากในทีมอะคาเดมีของ ซาเกร็บ ว่า "ถ้าคุณเล่นที่บอสเนียฯ ได้ คุณสามารถเล่นลีกไหนก็ได้บนโลกนี้" ซึ่งตัวของ โมดริช นั้นเองได้วิชาจากที่นั่น และปีที่เขาถูกส่งยืมตัวจบลงด้วยการที่เขากลายเป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของสโมสร

"เมื่อมีคนบอกว่าผมตัวเล็กและแข็งแรงไม่พอที่จะทำผลงานในพรีเมียร์ลีก มันยิ่งกระตุ้นให้ผมเอาจริง ตอนนี้ผมว่าคนพวกนั้นคิดผิดแล้วล่ะ" โมดริช เคยให้สัมภาษณ์กับ เดลี เมล์ ในช่วงแรกที่เขาย้ายไปอังกฤษ 

การส่งนักเตะให้แต่ละทีมยืมตัวของ ดินาโม ซาเกร็บ ไม่ได้เกิดขึ้นมั่วๆ อย่างแรกเลย พวกเขาต้องมั่นใจในเด็กของตัวเอง จากนั้นประเมินทีละสเต็ปว่าหากไปเล่นให้ทีมนี้, ลีกนี้ เด็กๆ จะได้อะไรกลับมา สิ่งที่ได้มาสามารถแก้ไขจุดอ่อนของพวกเขาได้หรือไม่ และสุดท้ายพวกเขาจะประเมินกันว่าเด็กๆ มีคุณสมบัติ 3 ข้อครบหรือไม่ได้แก่ ทักษะการเอาตัวรอด, ประสบการณ์ และการปรับตัวเพื่อเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ ถ้าใครดีพอนั่นหมายความว่าโอกาสเล่นเกมลีกของเด็กๆ เหล่านั้นมาถึงแล้ว 


Photo : bleacherreport.com

ทั้งหมดอ่านแล้วดูเหมือนว่ามันจะง่ายดายเหลือเกิน สำหรับการผลิตนักเตะชั้นดีเพื่อใช้งานหรือขายต่อ อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเป็นราชาทีมอะคาเดมีของ ดินาโม ซาเกร็บ นั้นไม่ได้สวยงามไปหมดเสียทีเดียว

ทุกสิ่งทุกอย่างต้องใช้เงินในการสร้าง และคอนเน็คชั่นที่แข็งโป๊กในการดำเนินงานเรื่องต่างๆ ให้ลุล่วงแบบไร้ปัญหา ... แล้วพวกเขาเอาเงินเหล่านั้นมาจากไหน? 

มาเฟียแห่งโครแอต

เรื่องราวความยิ่งใหญ่ในโครเอเชียของ ดินาโม ซาเกร็บ กลายเป็นที่คลางแคลงใจของเพื่อนร่วมลีก เพราะคนๆ หนึ่งที่ชื่อว่า ซดราฟโก้ มามิช ผู้อำนวยการสโมสรที่แต่งตั้งตัวเองขึ้นมารับตำแหน่งนี้ และชายคนนี้คือหนึ่งในผู้บริหารด้านฟุตบอลที่มีหมายจับติดตัวมากที่สุดในประเทศโครเอเชีย


Photo : www.101greatgoals.com

จริงๆ แล้ว มามิช ไม่ได้เป็นแค่ผู้บริหารทีมฟุตบอลเพียงอย่างเดียว เขาคือผู้ร่ำรวยจากการทำเงินในช่วง '90s ที่คาบเกี่ยวกับสงครามในคาบสมุทรบอลข่าน ไม่มีใครรู้ว่าธุรกิจของเขาคืออะไร แต่ที่แน่ๆ คือเมื่อเขามีเงิน เขาเริ่มจับทีมฟุตบอลมาสร้างทันทีและทีมนั้นคือ "โครเอเชีย ซาเกร็บ" ซึ่งเป็นชื่อเดิมก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น ดินาโม ซาเกร็บ ในภายหลัง

การเปลี่ยนชื่อสโมสรทำให้กลุ่มแฟนบอลไม่พอใจ ทว่าสิ่งที่ มามิช ทำนั้นมีที่มา เขาเปลี่ยนชื่อทีมเป็น ดินาโม (แปลว่า "พลังจากการเคลื่อนไหว" - Power in Motion) เพราะฟุตบอลนอกจากจะเป็นกีฬา มันยังสามารถเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกฝังค่านิยมรักชาติ ศรัทธาในภาครัฐด้วย ที่น่าแปลกคือหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็มีข่าวว่า ดินาโม ซาเกร็บ กลายเป็นทีมที่รัฐบาลโปรดปรานไปเรียบร้อยแล้ว

การเข้ามาของ มามิช คือจุดเปลี่ยนอย่างแท้จริง เขาขายนักเตะสร้างเงินได้มากมายทั้ง บอสโก้ บาลาบัน ไป แอสตัน วิลล่า (7.8 ล้านยูโร), เอดูอาร์โด้ ดา ซิลวา ไปอาร์เซน่อล (13.5 ล้านยูโร), เวดราน ชอร์ลูก้า ไป แมนฯ ซิตี้ (13 ล้านยูโร), เดยัน ลอฟเรน ไป ลียง (8 ล้านยูโร), มาริโอ มานด์ซูคิช ไป โวล์ฟสบวร์ก (7 ล้านยูโร), และ มาเตโอ โควาซิช ไป อินเตอร์ (11 ล้านยูโร) เป็นต้น  


Photo : www.goal.com

ทว่าแก่นของเรื่องไม่ใช่ตรงนั้น เพราะแฟนบอลตั้งคำถามเซ็งแซ่ว่า คุณเอาเงินที่ได้มาไปเก็บไว้ที่ไหนหลังจากขายนักเตะเสียมากมาย? หลายแหล่งอ้างอิง (BBC, FourFourTwo, Croatia weekly) ยืนยันว่าการเข้ามาของ มามิช นั้นมาในรูปแบบคล้ายๆ การฟอกเงิน เพราะเจ้าตัวนั้นมีเพาเวอร์ในวงการการเมืองด้วย และอิทธิพลที่เขามีทำให้เงินทั้งหมดที่ขายนักเตะดังๆ ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลแบบหน้าตาเฉย 

โรมาน่า อีเบล นักข่าวจากสำนักข่าวในประเทศอย่าง Jutarnji ได้ทำการเจาะลึกเรื่องฉาวดังกล่าวและเธอมั่นใจมากว่า ดินาโม ซาเกร็บ มีรายได้ที่ไม่ได้เสียภาษีมากถึงราว 1,300 ล้านคูน่า (ราว 160 ล้านปอนด์) นอกจากนี้ พวกเขายังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐถึง 360 ล้านคูน่า (45 ล้านปอนด์) ส่วนเงินที่ขายนักเตะได้แบบไม่เสียภาษีนั้นไม่ได้ถูกส่งไปยังสโมสรเท่านั้น แต่ยังมีการแบ่งเก็บส่วนตัวโดยโอนมอบให้ในบัญชีของน้องชายที่ชื่อ โซรัน มามิช อีกด้วย 


Photo : arhiva.nacional.hr

นอกจากเรื่องภายในแล้ว มามิช ยังจัดจ้างระบบเอเย่นต์ที่บริหารงานโดย มาริโอ มามิช ลูกชายของเขา ซึ่ง "ว่ากันว่า" มีการบีบบังคับให้นักเตะในทีมยกเลิกสัญญากับเอเย่นต์เก่า เพื่อเซ็นสัญญากับบริษัทเอเย่นต์ของ มามิช ผู้ลูก ซึ่งผู้เล่นจะต้องยอมรับสัญญาที่จะต้องแบ่งค่าจ้าง 25% ให้กับบริษัทเอเย่นต์ ... หากใครไม่ยอมต้องโดนขายทิ้งลูกเดียว และนั่นคือเหตุผลที่ นิโค้ ครานชาร์ ย้ายออกจากทีมไปอยู่กับทีมคู่แข่งร่วมลีกอย่าง ไฮจ์ดุ๊ก สปลิต ในปี 2005  

ด้วยอำนาจที่ มามิช มี ไม่จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม ดินาโม ซาเกร็บ จึงกลายเป็นแชมป์แล้วแชมป์เล่าสำหรับการแข่งขันในประเทศ นอกจากนี้เงินทุนที่เอามาลงทุนกับระบบอะคาเดมี เพื่อสร้างนักเตะสำหรับใช้งานในชุดใหญ่และขายต่อให้กับทีมระดับหัวแถวของยุโรปในยุคที่เขาเป็นผู้บริหาร ก็มีโอกาสสูงมากว่าจะไม่ใช่เงินที่ขาวสะอาดจากคดีต่างๆ ที่ติดตัวเขา

ทุกวันนี้เป็นอย่างไร?

ความเป็นมาเฟียของ ซดราฟโก้ มามิช ทำให้เขาไม่ถูกชะตากับ เซลโก้ โยวาโนวิช รัฐมนตรีกีฬาประจำประเทศโครเอเชีย ที่หมายจะล้างบางระบบ มามิช ในฟุตบอลโครเอเชีย


Photo : kamenjar.com

"ฟุตบอลโครเอเชียเป็นเหมือนหนองน้ำเน่าขนาดใหญ่ที่ต้องได้รับการทำความสะอาด สหพันธ์ฟุตบอลรับรู้ดีถึงเรื่องนี้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างแต่พวกเขาต่างก็เป็นพวกเดียวกัน ถ้าพวกเขายังไม่รู้ตัวเองว่าไร้ความสามารถ พวกเขาก็ควรจะรีบลาออกไปซะ" โยวาโนวิช ท่านรัฐมนตรีออกโรงลุยเอง และเหตุผลที่เขาพูดอย่างนั้นก็เพราะว่า มามิช ไม่ใช่แค่ผู้บริหารของ ซาเกร็บ แต่เขาเป็นรองประธานสหพันธ์ฟุตบอลโครเอเชียด้วย 

ตัวของ มามิช นั้นแสดงออกตอบกลับอย่างแข็งกร้าว โดยการโจมตีไปที่เชื้อชาติของรัฐมนตรีกีฬาที่เป็นชาว เซอร์เบีย และมองว่า โยวาโนวิช ไม่มีความสามารถพอที่จะนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีของประเทศ ที่สำคัญคือเขาไม่คิดว่าใครจะทำอะไรเขาได้  

จากคำยืนยันของ BBC บอกได้ว่า แฟนฟุตบอลในโครเอเชีย รวมถึงแฟนบอลของ ดินาโม ซาเกร็บ เอง รับรู้ดีอยู่แก่ใจว่าสโมสรของเขาเป็นสถานที่ซุกซ่อนความผิดของ มามิช มาเป็นเวลาอันยาวนาน แม้ไม่พอใจแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ 

จนกระทั่งในปี 2015 ในที่สุด มามิช ก็โดนลงดาบ เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานยักยอกเงินจำนวนหลายล้านยูโรออกจากสโมสร ผ่านค่าธรรมเนียมในการซื้อ-ขาย นักเตะของ ดินาโม ซาเกร็บ ซึ่งในวันที่ถูกประกาศจับ เขาเลือกที่จะไม่แก้ต่างให้ตัวเองว่า "ผิดหรือไม่" แต่กลับอพยพลี้ภัยไปอยู่ประเทศใกล้เคียงอย่าง บอสเนียฯ ซึ่งตัวเขาเองก็ถือสัญชาติอยู่ และนั่นทำให้ทางโครเอเชียยังไม่สามารถขอตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีได้ เนื่องจากบอสเนียฯ ไม่ยินยอม

กลุ่มแฟนบอลของ ซาเกร็บ ตั้งกลุ่มขึ้นมาใหม่ชื่อว่า ‘Dinamo, That’s Us’ เพื่อบีบให้สโมสรไล่ มามิช และทีมงานออกจากทีมไป 


Photo : www.croatiaweek.com

น่าเสียดายที่สุดท้ายการปลดออกก็เป็นการปลดเพื่อลดกระแสเท่านั้น มามิช โดนถอดชื่อในปี 2016 แต่ก็กลับเข้ามานั่งตำแหน่งที่ปรึกษาของสโมสรใหม่ในอีกไม่กี่ปีต่อมา 

"น่าผิดหวังที่สโมสรไม่ตอบสนองคำขอของเรา เรามีความสุขที่ได้กดดันสโมสรที่จะทำให้ ซดราฟโก้ มามิช รวมถึง โซรัน มามิช และ ดาเมียร์ เวอร์บาโนวิช ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสโมสร เพราะหากเป็นสมัยก่อนเราคงไม่มีสิทธิ์ได้ทำอย่างนี้" ยูราจ โคซิช ประธานกลุ่ม ‘Dinamo, That’s Us’ กล่าว

ภายใต้ความวุ่นวายในระบบบริหาร ระบบอะคาเดมีและพัฒนาเยาวชนของ ดินาโม ซาเกร็บ ยังคงเดินหน้าต่อไป ปัจจุบันนักเตะของ ดินาโม ซาเกร็บ ยังคงเป็นสินค้าขายดีไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่ออดีต ในฤดูกาลที่ผ่านมา บอร์น่า โซซ่า, อันเต โคริช, และ ฟิลิป บันโควิช ได้ย้ายไปอยู่กับทีมใหญ่ในยุโรปอย่าง สตุ๊ตการ์ท, โรม่า และ เลสเตอร์ ซิตี้ ตามลำดับ และทำเงินให้สโมสรเกือบ 30 ล้านยูโร


Photo : www.barcaforum.com

ขณะที่ในฤดูกาลปัจจุบันพวกเขายังมี "ของดี" ที่รอทำเงินอีกไม่น้อยโดยเฉพาะ ดานี่ โอลโม่ ตัวรุกทีมชาติสเปนชุดยู 21 ที่เพิ่งคว้าแชมป์ยุโรปและรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมในนัดชิงชนะเลิศเมื่อช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook