พระเอกเหนือดรีมทีม : การสู้แค่ตายในโอลิมปิก 1992 ของลิธัวเนียยุคสร้างชาติ

พระเอกเหนือดรีมทีม : การสู้แค่ตายในโอลิมปิก 1992 ของลิธัวเนียยุคสร้างชาติ

พระเอกเหนือดรีมทีม : การสู้แค่ตายในโอลิมปิก 1992 ของลิธัวเนียยุคสร้างชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ดรีมทีม" คือชื่อเรียกของทีมบาสเกตบอลชายทีมชาติสหรัฐอเมริกา ที่แข่งขันในมหกรรมโอลิมปิกที่ บาร์เซโลน่า เมื่อปี 1992 ด้วยเหตุผลที่พวกเขาเรียกตัวเอาสตาร์ระดับแถวหน้าของ NBA อย่าง แลร์รี่ เบิร์ด, คาร์ล มาโลน, สก็อตตี้ พิพเพ่น, แมจิค จอห์นสัน แม้กระทั่งผู้เล่นที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง ไมเคิล จอร์แดน ติดทีมมาด้วย

 

ด้วยสตาร์ระดับโลกที่เล่นในลีกอาชีพที่ดีที่สุดในโลก บวกกับกฎของการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้นักกีฬาอาชีพเข้าแข่งขันได้ ทำให้ "ดรีมทีม 1992" ชุดนี้กลายเป็นทีมที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุด พวกเขาเข้าสู่การแข่งขันด้วยแสงจากสปอตไลท์ทุกตัวที่ส่องมา ทว่าเมื่อการแข่งขันเริ่มขึ้นกลับมีชาติเล็กชาติหนึ่งที่ยิ่งเล่นก็ยิ่งเปล่งออร่าความเป็นพระเอกออกมา และสุดท้ายเรื่องราวของพวกเขา "ทีมชาติลิธัวเนีย" สามารถชนะใจคนทั้งโลก ชนิดที่ว่า "ดรีมทีม" ยังต้องยอม

ลิธัวเนีย ในวันตั้งไข่

ประเทศลิธัวเนีย ถือกำเนิดขึ้นบนโลกนี้ในปี 1918 ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากการแยกตัวออกมาจากจักรวรรดิรัสเซียครั้งนั้น ลิธัวเนีย ก็กลายเป็นประเทศอิสระแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ ในยุค 1920s' และ 1930s' ทว่าจากนั้นไม่นาน การยึดอำนาจ ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตโดยผู้นำ โจเซฟ สตาลิน ก็ทำให้ ลิธัวเนีย เปลี่ยนไป พวกเขาถูกบีบรัดจากอำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่าจนกลายเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ และการขาดซึ่งอิสรภาพ

 1

การอยู่ภายใต้การปกครองทำให้ ลิธัวเนีย ไม่ได้เป็นประเทศที่มีความโดดเด่นทางกีฬามากมายนัก แต่จะพูดอย่างนั้นก็ไม่ถูกเสียทีเดียวเพราะนักกีฬาเก่งๆ ของพวกเขามักจะถูกส่งไปเล่นในนามสหภาพโซเวียตอยู่เสมอ ลิธัวเนีย โดนแย่งชิงความสำเร็จภายใต้การกดขี่ของค้อนและเคียวที่เอาความสำเร็จไปคนเดียวทั้งหมด ... โดยเฉพาะกีฬาบาสเกตบอล

เดิมทีนั้น ลิธัวเนีย เป็นประเทศที่มีบาสเกตบอลเป็นกีฬายอดนิยมและเป็นเหมือนวัฒนธรรมของพวกเขาจนมีคำพูดของชาวลิธัวเนียที่บอกว่า "บาสเกตบอลคือศาสนาที่สองของชาวลิธัวเนียทุกคน"  

บาสเกตบอลเริ่มเป็นที่นิยมในลิธัวเนียในช่วงที่ประเทศยังเป็นอิสระหรือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีโค้ชและนักบาสชาวอเมริกันหลายคนเข้ามาแข่งขันในรายการของชาติที่อยู่ในคาบสมุทรบอลติก และเมื่อการแข่งขันนั้นเข้มข้นเพราะผู้เล่นจากต่างแดน ทำให้ชาวลิธัวเนียชื่นชอบบาสเกตบอลขึ้นมา ยิ่งเมื่อ ลิธัวเนีย คว้าแชมป์รายการ ยูโรบาสเกต ในช่วงปี 1937 และ 1939 ยิ่งทำให้กระแสแรงขึ้นมาก และลูกเด็กเล็กแดงต่างเลือกที่จะเล่นกีฬาบาสเกตบอลก่อนกีฬาชนิดอื่นๆ 

 2

ลิธัวเนีย มีนักบาสเกตบอลเก่งๆ หลายคนในยุคนั้นโดยเฉพาะ พรานาส ลูบินาส ที่ถูกเรียกว่าผู้เล่นที่ดีที่สุดในยุโรปเป็นสตาร์เบอร์ 1 ของทีม และจากความสำเร็จยุคนั้น ลิธัวเนีย ควรจะเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จกับบาสเกตบอลยิ่งกว่านี้ แต่ก็น่าเสียดายที่การรวมอาณาจักรของสหภาพโซเวียตเกิดขึ้นและบดขยี้ความฝันทุกอย่างของวงการบาสลิธัวเนียทิ้งไป

แม้จะไม่มีทีมบาสเกตบอลของตัวเองตั้งแต่ปี 1939 จนถึงปี 1991 แต่ความนิยมของคนที่นี่ไม่เคยลดลงไป พวกเขาไม่เคยหยุดเล่นบาสเกตบอล แม้ว่าจะต้องลงแข่งขันภายใต้ชื่อของคนที่กดขี่พวกเขาอย่างสหภาพโซเวียตก็ตาม ...

เมื่อโซเวียตล่มสลาย

การที่โซเวียต รวบรวมเอานักบาสเก่งๆ จาก ลิธัวเนีย และประเทศอื่นๆ ในการปกครองไปแข่งขันในนามของสหภาพ จึงทำให้ โซเวียต มีทีมบาสที่แข็งแกร่งและเคยคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาแล้วในปี 1972 ด้วยการเอาชนะต้นตำรับกีฬายัดห่วงอย่าง สหรัฐอเมริกา 

 3

แรกเริ่มเดิมทีนั้น โอลิมปิก ไม่ใช่กีฬาที่เปิดพื้นที่สำหรับนักกีฬาอาชีพ เพราะจุดมุ่งหมายนั้นคือกีฬาเพื่อสร้างความเป็นเลิศ และด้วยคำว่า "สร้างความเป็นเลิศ" นั้นเองที่สามารถนำไปตีความได้หลายรูปแบบ เพราะการที่ตัวแทนจากชาติต่างๆ คว้าเหรียญทองและประสบความสำเร็จในกีฬาของมวลมนุษยชาติ มันสามารถบอกถึงความยิ่งใหญ่และความมีอำนาจของประเทศนั้นๆ ได้ นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา และ สหภาพโซเวียต ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาในยุคสงครามเย็นเอาจริงเอาจังมากเกินกว่าปกติในยามที่ต้องส่งนักกีฬามาแข่งกัน   

แต่นั่นแทบไม่ใช่เรื่องที่อเมริกาต้องเป็นกังวลเลย พวกเขามีมาตรฐานที่แข็งแกร่งอยู่แล้วและเป็นทีมเต็งในทุกครั้งที่มีการแข่งขัน แม้ตามกฎของโอลิมปิกในยุคนั้น จะไม่อนุญาตให้นักกีฬาอาชีพ โดยเฉพาะใน NBA ลงแข่งขันก็ตาม ... ใช้ตัว NBA ไม่ได้ก็ช่างปะไร แค่ผู้เล่นระดับมหาวิทยาลัยก็สามารถเอาชนะคู่แข่งได้อย่างไม่ยากเย็น และแนวคิดของสหรัฐอเมริกา ในโอลิมปิกปี 1988 ที่กรุงโซลก็ยังใช้นโยบายเดิม

อย่างไรก็ตามทุกอย่างที่คิดว่าง่ายนั้นก็ไม่จริง เพราะในการแข่งขันครั้งนี้ โซเวียต ขนเอาชุดผู้เล่นที่ดีที่สุดมาแข่งขัน เนื่องจากนักกีฬาของพวกเขาทุกคนไม่ได้มีสังกัดทีมใน NBA เรื่องกฎห้ามผู้เล่นอาชีพจึงไม่มีผลแต่อย่างใด นำโดยดาวรุ่งอย่าง ซารูนัส มาร์ซิอูลิโอนิส ซึ่งภายหลังเป็นผู้เล่นระดับ NBA และ อาวีดราส ซาโบนิส ผู้เล่นดาวรุ่งที่ถูกกล่าวขานว่าจะเก่งไม่แพ้ตำนานของ NBA อย่าง คารีม อับดุล จาบบาร์ กับ ชาคีลล์ โอนีลล์ ทีมชุดนี้ของ โซเวียต สามารถเอาชนะ อเมริกา ได้ในรอบรองชนะเลิศ... และที่สำคัญที่สุดคือ  4 จาก 5 ผู้เล่นตัวหลักของโซเวียตชุดเหรียญทองโอลิมปิกคราวนั้นมีสัญชาติ ลิธัวเนีย

 4

ทว่าช่วงเวลาความสำเร็จของโซเวียตกับบาสเกตบอลนั้นจบลงอย่างรวดเร็ว เพราะหลังจากคว้าเหรียญทองได้เพียง 3 ปี สหภาพโซเวียต ก็ล่มสลายในปี 1991 เมื่อนั้นเองบาสเกตบอลของทีมชาติ ลิธัวเนีย ก็ได้กลับมาหายใจด้วยจมูกของตัวเอง หลังเฝ้ารอมาอย่างยาวนาน

เราจะไปโอลิมปิก

ซารูนัส มาร์ซิอูลิโอนิส คือคนแรกที่พยายามจะรวบรวมเอานักบาสของลิธัวเนียมารวมเป็นทีมอีกครั้งเพื่อแข่งขันในโอลิมปิกครั้งต่อไปที่ บาร์เซโลน่า แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าการรวมทีมคือเรื่องงานบริหารและเงินทุน เนื่องจาก ลิธัวเนีย เปรียบเหมือนกับประเทศเกิดใหม่หลังจากการล่มสลายของ โซเวียต พวกเขาต้องสู้และเสียสละเลือดเนื้อของคนในประเทศเนื่องจาก โซเวียต ยังส่งรถถังเข้ามากดดัน สุดท้ายชาวลิธัวเนียไม่ถอยแม้แต่ก้าวเดียวจนกระทั่งโซเวียตยอมอ่อนข้อและให้ ลิธัวเนีย กลายเป็นอิสระ ได้รับเอกราชในปี 1990 และสหพันธ์บาสเกตบอลของประเทศสามารถกลับมาดำเนินงานได้อีกครั้งในปีถัดมา 

 5

ลิธัวเนีย ไร้ซึ่งเงินทุนสำหรับการส่งทีมบาสฯ เข้าแข่งขันโอลิมปิกในปี 1992 ดังนั้นมันจึงเป็นหน้าที่ของนักบาสเกตบอลระดับแถวหน้าของประเทศที่ต้องช่วยกันทำทุกทางเพื่อหาเงินมาส่งทีมไปแข่งขันให้ได้ เพราะการแข่งขันครั้งนี้มีความหมายมาก ไม่ใช่ในแง่ของกีฬาอย่างเดียว แต่มันคือการปลุกใจชาวลิธัวเนียทั้งประเทศให้รู้ว่าพวกเขาสามารถหลุดพ้นช่วงเวลาที่แย่ๆ ได้ หากทุกคนร่วมมือกัน

มาร์ซิอูลิโอนิส ที่เล่นให้กับ โกลเด้น สเตท วอร์ริเออร์ส ทีมใน NBA ณ เวลานั้น เริ่มต้นด้วยการขอความช่วยเหลือจาก ดอนนี่ เนลสัน ผู้ช่วยโค้ชในทีม เพื่อทำการเรี่ยไรและระดมเงินทุนผ่านการลงข้อความผ่านหนังสือพิมพ์ในอเมริกา ซึ่งสำหรับชาวอเมริกันแล้วแม้มองเผินๆ อาจจะไม่เกี่ยวอะไรกับ ลิธัวเนีย ทว่าพวกเขาก็อยากจะสนับสนุน ลิธัวเนีย เพราะทั้งคู่ต่างมีศัตรูเป็นคนเดียวกันนั่นคือ โซเวียต นั่นเอง 

ข่าวการระดมทุนของ ลิธัวเนีย เริ่มโดนใจอเมริกันชนมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อความในหนังสือพิมพ์กลายเป็นกระแสใหญ่ หลังจากนั้นไม่นานพวกเขาก็ได้รับโทรศัพท์จากวงร็อคสัญชาติอเมริกันอย่าง Grateful Dead ที่โด่งดังมากๆ ตั้งแต่ยุค '70s-'90s โดยวงดนตรีวงนี้เสนอตัวช่วย ลิธัวเนีย หาเงินเพื่อไปแข่งขันในโอลิมปิกให้ได้ เพราะสมาชิกในวงนั้นล้วนแต่ชื่นชอบกีฬาบาสเกตบอลและชื่นชมในความใจสู้ของผู้เล่นและชาวลิธัวเนียทุกคน 

 6

"พวกเขาต้องการความช่วยเหลือในช่วงปี 1892 วงการบาสลิธัวเนียอับจนหนทางมาก พวกเขาไม่มีเงินสนับสนุนจากรัฐเลย และสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของพวกเขาช่วงนั้นก็ต้องบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ลำบากมากๆ" มิกกี้ ฮาร์ท สมาชิกของวงกล่าวกับ CNN

เส้นสายของวง Grateful Dead นำมาซึ่งความช่วยเหลืออีกหลายทาง พวกเขาติดต่อไปยัง เกร็ก สเปียร์ส ศิลปินจากนิวยอร์กเพื่อออกแบบเสื้อมัดย้อมที่ชื่อรุ่น "skully" ออกมาเพื่อทีมบาสลิธัวเนียโดยเฉพาะเพื่อวางขายสมทบทุนสำหรับการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งปัจจุบันเสื้อมัดย้อมรุ่น "skully" กลายเป็นแรร์ไอเทมในหมู่นักสะสมไปแล้วในเวลานี้ 

การช่วยเหลือและสนับสนุนจากวง Grateful Dead และ อเมริกันชนทั้งหลาย ทำให้ยอดเงินรับบริจาคแก่ ลิธัวเนีย เพิ่มขึ้นและสามารถทำได้ตามเป้า พวกเขาพร้อมแล้วสำหรับ โอลิมปิก ... แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ชาว ลิธัวเนีย เท่านั้นที่เชียร์ทีมชาติของเขาพวกเพราะกลุ่มคนอเมริกันหลายคนก็เลือกที่จะเชียร์ ลิธัวเนีย อีก 1 ทีม ขณะที่ผู้ช่วยเหลืออย่างวง Grateful Dead ก็กลายเป็นวงยอดนิยมในหมู่ชาวลิธัวเนียเช่นกัน

ดรีมทีมที่แท้จริง 

แม้จะเข้าไปแข่งขันในโอลิมปิกได้ แต่ในตอนแรก ลิธัวเนีย ไม่ได้รับการคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จอะไรนัก เพราะเต็ง 1 และ เต็ง 2 ยังคงเป็นทีมเดิมนั่นคือ สหรัฐอเมริกา ที่เก็บความแค้นมาตั้งแต่ปี 1988 หลังจากพ่ายแพ้ให้โซเวียตในรอบรองชนะเลิศ จนครั้งนี้พวกเขาต้องส่งสตาร์ระดับ NBA อย่าง ไมเคิล จอร์แดน, สก็อตตี้ พิพเพ่น, แลร์รี่ เบิร์ด และ แมจิค จอห์นสัน มาทวงแค้นแบบชุดใหญ่ 

 7

ส่วนเต็ง 2 อย่าง โซเวียต ต้องเปลี่ยนชื่อทีมเป็น ยูนิฟาย ทีม (Unified Team) เพราะแต่ละประเทศที่แยกตัวออกมาเหล่านั้นส่วนใหญ่ยังสมัครสมาชิกโอลิมปิกไม่ทันในช่วงคัดเลือกนักกีฬาเข้าแข่งขัน เลยต้องลงแข่งในนามทีมรวมชาติอดีตสหภาพโซเวียตไปพลางๆ ก่อน

ลิธัวเนีย ที่นำโดยอดีตผู้เล่นชุดเหรียญทองของโซเวียต ทำได้ดีในรอบแบ่งกลุ่มด้วยการชนะ 4 และแพ้ 1 นัดต่อ ยูนิฟาย ทีม จนสามารถทะลุเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศได้ แต่ก็ต้องเจอกับของแข็งอย่างอเมริกาชุดดรีมทีม ดังนั้นโอกาสเอาชนะของ ลิธัวเนีย จึงน้อยมากๆ และไม่ใช่เกมที่ดูสูสีอะไรมากนักในสายตาของเหล่านักวิจารณ์ทั้งหลาย

อย่างไรก็ตามเรื่องราวของ ลิธัวเนีย "ดรีมทีมแห่งความใจสู้" กลายเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง เพราะก่อนจะแข่งขันกับ อเมริกา ผู้เล่นอย่าง จอร์แดน หรือคนอื่นๆ ในทีมต่างยิ้มแย้ม ทักทาย และถ่ายรูปร่วมกัน ราวกับเป็นการแสดงความยินดีที่ ลิธัวเนีย สามารถยืนด้วยขาของตัวเอง และมาถึงจุดๆ นี้ได้ 

ส่วนผลการแข่งขันในวันนั้น แม้ดรีมทีมจากอเมริกา เอาชนะไปได้ 127 ต่อ 76 คะแนน แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่าผิดหวังอะไรเลยสำหรับ ลิธัวเนีย เพราะพวกเขายังมีโอกาสได้เหรียญทองแดงอยู่ และคู่แข่งที่รออยู่คือ "ยูนิฟาย ทีม" โจทก์เก่าของพวกเขาเอง

เมื่อไร้ผู้เล่นจาก ลิธัวเนีย แล้ว ยูนิฟาย ทีม ก็ไม่ได้แข็งแกร่งจนถึงขั้นเอาชนะไม่ได้ เกมวันนั้นผู้เล่นเหรียญทองของโซเวียตในปี 1988 ที่กลับมาเล่นให้ ลิธัวเนีย ในวันนี้ต่างโชว์ลีลาเหนือชั้นและเค้นฟอร์มยกระดับขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียง สุดท้าย ลิธัวเนีย สามารถเอาชนะ ยูนิฟาย ทีม ไปได้ด้วยคะแนนฉิวเฉียด 82 ต่อ 78 คะแนน และคว้าเหรียญทองแดงไปครองในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกของพวกเขาที่กว่าจะมาได้ต้องรวมหัวช่วยกันแทบทุกฝ่ายตั้งแต่ผู้เล่นไปจนถึงแฟนๆ

 8

แม้จะเป็นเหรียญทองแดง แต่สำหรับชาว ลิธัวเนีย นี่คือเหรียญทองของพวกเขา การรวมกันลุกขึ้นสู้ตั้งแต่วันที่ล้มลุกคลุกคลานสู่วันที่เดินขึ้นมารับเหรียญรางวัลบนโพเดียมพร้อมกับสวมเสื้อมัดย้อมรุ่น "skully" ที่ทำให้พวกเขาได้มาแข่งครั้งนี้ เหนือชาติที่เคยกดขี่พวกเขาอย่าง สหภาพโซเวียต 

ผู้เล่นของ ลิธัวเนีย แสดงความยินดีผ่านสีหน้ามากกว่าทีมอื่นๆ ที่เดินขึ้นไปรับเหรียญรางวัล เห็นได้ชัดว่าตอนนี้มีหลายคนกำลังสนุกสนานกับสิ่งทีเกิดขึ้นในโอลิมปิก 1992 ที่ บาร์เซโลน่า ครั้งนี้ 

"สิ่งที่พวกเราแสดงออกคือตัวแทนแห่งความสุขอย่างแท้จริง" ซารูนัส มาร์ซิอูลิโอนิส ชายผู้เป็นต้นคิดเรื่องนี้ กล่าวพร้อมกับรอยยิ้ม

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ พระเอกเหนือดรีมทีม : การสู้แค่ตายในโอลิมปิก 1992 ของลิธัวเนียยุคสร้างชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook