เส้นทางจักรพรรดิคอร์ทแบดของ "หลิน ตัน" ที่ต้องแลกกับน้ำตาผู้เป็นแม่

เส้นทางจักรพรรดิคอร์ทแบดของ "หลิน ตัน" ที่ต้องแลกกับน้ำตาผู้เป็นแม่

เส้นทางจักรพรรดิคอร์ทแบดของ "หลิน ตัน" ที่ต้องแลกกับน้ำตาผู้เป็นแม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ผมไม่ใช่อัจฉริยะ ผมแค่โชคดีที่สามารถตระหนักได้ว่าความฝันของผมคืออะไร และผมทำงานหนักเพื่อมันเสมอ"

หากคุณเปิดประวัติของนักกีฬาระดับโลกแทบทุกคนศึกษาดู จะเห็นได้ว่าไม่มีใครเลยที่มาถึงจุดสูงสุดได้โดยที่ไม่พยายาม, ไม่เคยลำบาก และไม่เคยเสียสละ แต่สำหรับ หลิน ตัน ยอดนักแบดมินตันชาวจีนนั้นมีเรื่องราวที่ยากลำบากยิ่งกว่านั้น เพราะไม่ใช่แค่เขาคนเดียวที่ต้องเสียสละตัวเอง

 

นี่คือเรื่องราวอันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ "ซูเปอร์แดน" คือหนึ่งในใต้หล้า มันคือวันที่ผู้เป็นแม่ของเขาส่งลูกชายสุดที่รักให้เข้าไปเป็นหนึ่งในโครงการฝึกความเป็นเลิศ สร้างนักกีฬาชั้นยอดของกองทัพจีน 

ภายใต้กฎเกณฑ์แบบทหาร "หลิน ตัน" ในวัยเด็กต้องเจอกับอะไรบ้าง และคนที่ต้องเสียสละมากกว่าอย่างแม่ของเขานั้นต้องแลกกับอะไร กว่าที่ลูกชายจะได้เป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก

พลังแห่งรัฐบาลจีน

หลิน ตัน เกิดมาในครอบครัวนักดนตรี พ่อและแม่ของเขาถือเป็นนักเปียโนมือเอกแห่งมณฑลฝูเจี้ยน ดังนั้นเขาจึงมีวัยเด็กที่ไม่ได้ยากจนข้นแค้นมากมายนัก 

 1

เกา ซิวหยู ผู้เป็นแม่ คือคนที่อยู่ดูแลลูกของเธออย่างใกล้ชิด ในช่วงที่คลอด หลิน ตัน เธอออกมาเป็นแม่บ้านเต็มเวลาและพยายามฝึกให้ หลิน ตัน เล่นเปียโนตามเส้นทางของพ่อและแม่ ทว่าเมื่อเด็กน้อยโตขึ้นและได้ลองหยิบไม้แบดมินตันมาหวดดู เขากลับพบว่านี่ต่างหากคือสิ่งที่ทำให้เขาสนุกมากกว่าการเป็นนักดนตรี

แม่ของ หลิน ตัน ไม่ได้บังคับหรือเลือกทางให้ลูกของเธอเดิน เธอปล่อยให้ หลิน ตัน เรียนรู้ทั้งสองสิ่งไปพร้อมๆ กัน แต่เมื่อเด็กน้อยโตขึ้น กลับยิ่งแสดงความสามารถด้านการเล่นแบดมินตันที่โดดเด่น เขาตัวสูง รวดเร็ว และมีการตัดสินใจที่ดีกว่าเด็กรุ่นเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อนั้นกองทัพจีนก็ยื่นข้อเสนอให้กับผู้เป็นแม่และบอกว่า "เราจะทำให้ลูกของคุณเป็นแชมป์โลก"

"โค้ชมาบอกฉันว่า หลิน ตัน เป็นเด็กที่มีความสามารถโดดเด่นมาก การปล่อยให้เขาอยู่ในหมู่บ้านนี้เห็นทีจะเป็นเรื่องที่เสียโอกาสและเสียเวลา พวกเขาบอกว่าจะให้ลูกย้ายไปเป็นนักกีฬาเยาวชนในสังกัดของกองทัพตั้งแต่อายุแค่ 9 ขวบ" เกา ซิวหยู ย้อนความพร้อมๆ กับเปิดรูปภาพของ หลิน ตัน ในวัยเด็กที่ละไมด้วยรอยยิ้ม

อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปช่วงเวลานั้น เกา ซิวหยู ต้องเครียดหนักกับข้อเสนอของกองทัพในนาม "People's Liberation Army Sports Team" เพราะลูกคือทุกอย่างของเธอ การส่งลูกชายที่เป็นความหวังของตระกูลไปสู่การดูแลของคนแปลกหน้าคือสิ่งที่ทำใจยาก และที่ใครต่อใครก็รู้กัน คือความเข้มข้นในแคมป์เก็บตัวนักกีฬาของกองทัพมีสูงมาก พวกเขาจะฝึกเด็กๆ หนักเหมือนกับฝึกผู้ใหญ่ และยังมีระบบคัดออกแบบไม่ง้อใครหากเด็กคนไหนทำไม่ได้ตามมาตรฐานที่วางไว้ 

รัฐบาลจีนเริ่มมีนโยบายเรื่องความเป็นเลิศทางกีฬาหลังจากการแข่งขันโอลิมปิก 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ พวกเขาให้งบสนับสนุนการฝึกเยาวชนระดับหัวกะทิทั่วประเทศกว่า 30,000 คน รวมแล้วเป็นเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างนักกีฬาระดับโลกทั้ง กรีฑา, ยิมนาสติก, ว่ายน้ำ และ แบดมินตัน มายาวนานหลายปี และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม จีน จึงกลายเป็นชาติที่ได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันโอลิมปิกเป็นอันดับต้นๆ เสมอมา หากมีนักกีฬาคนใดที่เดินไปถึงจุดที่คว้าเหรียญทองได้ พวกเขาจะได้รับเกียรติยศ, ชื่อเสียง และเงินทองกลับมาให้ครอบครัวแบบคุ้มค่ากับช่วงเวลาที่สูญเสียไป

 2

โดยเด็กที่ยอมเสียสละตัวเองจะได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน นอกจากด้านเทคนิคของกีฬาแต่ละประเภทแล้ว พวกเขาจะต้องทดสอบและเรียนรู้กับโค้ชต่างชาติ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา รวมถึงการเคี่ยวเข็ญให้เป็นคนที่มีสภาพจิตใจแข็งแกร่งผ่านโค้ชจิตวิทยาระดับมืออาชีพอีกด้วย

การผลักดันเรื่องนี้ยังทำมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโรงเรียนกีฬาภายใต้การบริหารของรัฐบาลจีนมากกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งทุกโรงเรียนมีเป้าหมายเดียวกันคือผลิตนักกีฬาเพื่อเข้าแข่งโอลิมปิกให้ได้ โดยหลังจากพัฒนาโครงการต่อไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้มีเยาวชนลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรดังกล่าวมากกว่า 400,000 คน 

"มันยอดเยี่ยมมากที่เราจะค้นหาเด็กที่มีขีดความสามารถในด้านกีฬา มันคือเรื่องที่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศให้ประสบควาสำเร็จได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว" หวู ยี่กาง ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ บอกกับ Washington Post ก่อนเขาจะปิดท้ายเป็นนัยๆ ว่าแม้จะเป็นโครงการที่ดี แต่ก็อาจจะไม่ใช่โครงการที่ใครต่อใครสามารถยอมรับได้ทั้งหมด 

"ในทางกลับกัน การฝึกอบรมนักกีฬาในจีนถือเป็นปัญหา แต่ละโรงเรียนเน้นการฝึกความเป็นเลิศเพียงอย่างเดียวจนหลงลืมหลายสิ่งที่เด็กต้องการไป ... นั่นคือมุมทางศีลธรรมที่มีต่อเด็กๆ เหล่านั้น"

เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นภาพการฝึกของเด็กๆ ภายใต้การดูแลของรัฐบาลและกองทัพจีนมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะกีฬาอย่าง ยิมนาสติก ที่เด็กบางคนสามารถบิดตัวได้ราวกับไร้กระดูก และที่สำคัญ มีหลายรูปหลายภาพที่เราได้เห็นน้ำตาของเด็กๆ เหล่านี้

"หนักหนาเกินกว่าเด็กปกติจะรับได้" กับ "อนาคตอันสดใสที่รออยู่ของหลิน ตัน" นั่นคือสิ่งที่ เกา ซิวหยู ต้องเลือกและวางเดิมพันสำหรับลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเธอคนนี้

แม่... ผมไม่อยากไป 

เกา ซิวหยู ใช้เวลาคิดอยู่นาน เธอเชื่อว่าลูกชายของเธอควรจะได้รับการฝึกที่มีคุณภาพ และมั่นใจว่าแม้จะลำบากกับเส้นทางที่เลือก แต่ลูกชายของเธอจะต้องทนได้ ... ต่อให้จะต้องเสียน้ำตาไปบ้างก็ตาม

 3

ถึงกระนั้น คำพูดของ หลิน ตัน ที่บอกว่า "แม่ครับ...แต่ผมคิดถึงแม่นะ" ก็ทำให้จิตใจเธออ่อนระทวย และเกือบเผลอคิดว่าการตัดสินใจของตัวเองเป็นสิ่งที่ผิด อย่างไรก็ตามเมื่อตกปากรับคำไปแล้ว มีแต่สู้เท่านั้นที่สองแม่ลูกจะทำได้ 

"ฉันบอก ตัน ว่า 'ไม่เป็นไรลูก เอาไว้แม่จะไปเยี่ยมหนูบ่อยๆ นะ' แน่นอนฉันต้องโกหกเขาบ้าง เพื่อให้เขายอมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ได้" ผู้เป็นแม่ยอมรับทั้งน้ำตา เธอโกหกลูกชายเพราะเมื่อยกลูกชายให้ศูนย์ฝึกแล้ว หลิน ตัน จะต้องเชื่อฟังผู้ฝึกสอนที่อยู่ข้างใน และการไปเยี่ยมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่คิดจะไปก็ไปได้อย่างที่เธอบอกกับเขา

หลิน ตัน ในวัย 9 ขวบแพ็คกระเป๋าและเดินทางเข้าสู่แคมป์เพียงลำพัง ตอนนี้เขาเป็นสมบัติของชาติแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายแล้วฝันการเป็นนักแบดอันดับ 1 ของโลกจะเป็นจริงหรือไม่ แต่เขารู้ว่าจะต้องสู้ให้ถึงที่สุด เมื่อเห็นภาพในตอนโบกมือลาที่แม่ของเขาส่งยิ้มให้ทั้งน้ำตาราวกับจะบอกให้เขารู้ว่า "อดทนเข้าไว้นะลูก"

แม้จะเป็นเด็กติดแม่ แต่เมื่อลงไปยืนในสนามแข่งขัน หลิน ตัน จะกลายเป็นคนละคน เขาทนได้กับคำสอนที่มาในรูปแบบของคำด่าทอ และผ่านไปได้สบายๆ กับการฝึกร่างกายที่หนักหน่วงแบบที่ไม่เคยเจอ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาแทบจะทนไม่ได้เลยคือตลอด 1 สัปดาห์แรก ทุกครั้งที่หัวถึงหมอนและล้มตัวนอนด้วยความเหนื่อยล้า ไม่มีคืนใดเลยที่เขาจะไม่คิดถึงแม่ ...

"ผมต้องหากระดาษมาเขียนจดหมายถึงแม่เกือบทุกคืน หวังในใจเสมอว่าขอให้แม่รีบมารับผมกลับบ้าน" หลิน ตัน เล่าถึงความหลังที่เขาต้องหาทางระบายความรู้สึก เพราะทางศูนย์ฝึกเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้คุยกับผู้ปกครองผ่านโทรศัพท์เท่านั้น แม้จะดูโหดร้ายแต่นั่นคือส่วนหนึ่งของการเป็นมืออาชีพ

 4

"ฉันโทรหา ตัน ได้สัปดาห์ละครั้ง" เกา ซิวหยู ยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่ใช่เฉพาะลูกชายที่กำลังสู้เพื่อฝันอยู่เท่านั้น แม้แต่คนรออย่างเธอเองก็ไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้น 1 ครั้งต่อสัปดาห์จึงเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองแม่ลูกรู้ว่าพวกเขาคิดถึงกันขนาดไหน 

"แค่แม่รับโทรศัพท์แล้วบอกว่าฮัลโหล ... แค่นั้นเองความรู้สึกของผมก็พรั่งพรูออกมาจนผมเก็บมันไว้ไม่ได้ ผมคุยกับแม่ได้แค่ไม่กี่ประโยค หลังจากนั้นแทนที่เราจะคุยกันกลายเป็นผมร้องไห้ให้แม่ฟัง และเสียงที่ตอบกลับมาจากแม่ก็ไม่ต่างกัน... แม่ก็ร้องไห้ไปพร้อมๆ ผมเลย" หลิน ตัน เล่าความหลัง

อัจฉริยะล้ม...

"ทุกครั้งที่คุยกับตันในช่วงแรกๆ ฉันรู้เสมอว่าเขาร้องไห้ เพราะเสียงของเขาสั่นเครือตลอด ฉันเองก็ไม่ต่างกันนักหรอกแต่เขาเปลี่ยนไปมากในช่วง 6 เดือนให้หลัง โค้ชบอกว่าเขาเป็นนักกีฬาที่ดีมากๆ" สิ่งที่แม่เล่ามาแทบไม่ต้องมีคำบรรยายเพิ่มเติม ทั้ง 2 คนต้องเจอกับช่วงเริ่มต้นที่ยากลำบาก จนกระทั่ง 6 เดือนต่อมา ทุกอย่างก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ หลิน ตัน กลายเป็นเด็กแถวหน้าของโรงเรียน และเขาก็ฟูมฟายคิดถึงแม่ คิดถึงบ้านน้อยลง

 5

นี่คือช่วงเวลาที่เป็นโหมดฝึกซ้อมเต็มรูปแบบ หากจะถามว่า หลิน ตัน สู้แค่ไหน ก็คงต้องบอกว่าเขาสู้แค่ตายนั่นแหละ เขาเป็นเด็กที่บอกตัวเองเสมอว่า "เรายังไม่เก่ง" ดังนั้นเขาจึงทุ่มเทกับการซ้อมมากจนทุกคนเห็นพัฒนาการที่โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามสไตล์การเล่นของ หลิน ตัน ถูกเรียกว่าอัจฉริยะ ในช่วงเวลาที่เขาพีคที่สุดแทบไม่มีใครต่อกรกับเขาได้ง่ายๆ ชัยชนะสบายๆ เกิดขึ้นเสมอ นอกจากนี้เขายังเป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์ตัวพ่อ เขาชอบทำให้แฟนๆ ตื่นเต้นด้วยแอ็คชั่นสวยๆ อย่างการพุ่งไปรับลูกตบ จนได้รับฉายาว่า "ซูเปอร์แดน" และสื่อทั่วโลกยอมรับว่านี่คือความสามารถในระดับอัจฉริยะชัดๆ

"ผมไม่ใช่อัจฉริยะ" นี่คือคำตอบกับสื่อแบบหน้าตาเฉยของ หลิน ตัน ก่อนจะขยายความว่า "อัจฉริยะไม่มีจริง ไม่ว่าผมหรือนักแบดจากจีนคนอื่นๆ พวกเรามาถึงจุดนี้ได้เพราะเราซ้อมกันหนักมาก เราผ่านการฝึกฝนมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานยิ่งกว่าชาติอื่นๆ เราเติบโตพร้อมกับเทคนิค, แท็คติก และจิตวิทยา รวมถึงสั่งสมประสบการณ์ผ่านการแข่งขันในแต่ละเกม" เคล็ดลับของ หลิน ตัน มีแค่นั้นเองจากคำบอกเล่าของเขา

หลิน ตัน คว้าเกือบทุกแชมป์ในระดับเยาวชนก่อนเทิร์นโปรในปี 2003 และก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับท็อปของประเทศจีน ซึ่งหลังจากขึ้นเป็นผู้เล่นอาชีพได้เพียงปีเดียว เขาก็ติดทีมชาติจีนไปแข่งขันในศึกโอลิมปิกปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ โดยสิ่งที่สมาคมแบดของจีนวิเคราะห์และวางแผนไว้คือ หลิน ตัน จะต้องเป็นมือ 1 และความหวังสูงสุดที่จะเอาเหรียญทองการแข่งขันครั้งนั้น

 6

แฟนๆ แบดชาวจีนเองก็เห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาของ หลิน ตัน แล้ว เพราะก่อนหน้าการแข่งขันในปีนั้น เขาสามารถคว้าแชมป์ชายเดี่ยวในรายการที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง ออล อิงแลนด์ นอกจากนี้ยังพาทีมจีนคว้าแชมป์ โธมัส คัพ ที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นรายการที่ทีมจีนไม่เคยสัมผัสแชมป์มาแล้วเป็นเวลาถึง 14 ปี 

อย่างไรก็ตามอย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น ... การจะเป็นราชาของโลกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะก่อนที่จะเข้าสู่โอลิมปิก เขาเกิดบาดเจ็บในรายการ มาเลเซีย โอเพ่น และต้องพักรักษาตัวอยู่พักใหญ่ ก่อนจะผ่านฟิตนาทีสุดท้ายได้ไปแข่งขันในโอลิมปิกเป็นครั้งแรกของตัวเอง... ซึ่งผลที่ออกมาย่ำแย่เกินกว่าที่ใครคาดไว้ เขาแพ้และตกรอบแรกแบบช็อคแฟนๆ รวมถึงตัวของเขาเองด้วยที่รู้สึกผิดหวังครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต

สู้เขานะลูก

"ตอนปี 2004 ทุกคนในประเทศนี้คิดว่าเขาแข็งแกร่งทั้งเรื่องของฝีมือและสภาพจิตใจ จนไม่มีใครคิดไว้ล่วงหน้าว่าเขาจะตกรอบแรก แต่ฉันรู้ว่าเขาไม่ได้จิตใจแข็งแกร่งเสมอไปหรอก" แม่ของ หลิน ตัน เล่าถึงช่วงเวลาที่ลูกชายถึงจุดดำดิ่งด้านอารมณ์

 7

หลิน ตัน เองยอมรับว่า โอลิมปิก 2004 เปลี่ยนเขาไปแทบจะเป็นคนละคน 4 ปีที่อยากจะแก้มือในโอลิมปิก 2008 ที่ประเทศจีนบ้านของเขา คือช่วงเวลาที่ยาวนานและทรมานเกินไป ตัวของเขานั้นฟุ้งซ่านและสับสนว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับความพ่ายแพ้นั้น แม้ตัวของ หลิน ตัน จะทุ่มเทกับการฝึก แต่ความรู้สึกผิดปกติซ่อนอยู่ในใจ มีแม่ของเขาคนเดียวเท่านั้นที่รู้ว่าลูกชายกำลังต้องการสิ่งที่เธอเคยมอบให้ในวันที่เขายังเป็นเด็ก สิ่งนั้นคือ "การปลอบ" เหมือนกับตอนที่เขาร้องไห้จะกลับบ้านตั้งแต่อายุ 9 ขวบ 

"ฉันบอกเขาว่าอย่าคิดอะไรให้หนักสมองจนเกินไป นี่แค่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดเท่านั้น ลูกกลับมาทำตัวเหมือนเดิม เล่นให้ดีเหมือนเดิมเถอะ" 

แม้จะไม่ได้เป็นนักกีฬาแต่ เกา ซิวหยู ก็ผ่านโลกมามากพอจนเข้าใจว่าความผิดหวังคือธรรมชาติของมนุษย์ เธอรู้ว่าไม่มีนักกีฬาคนไหนบนโลกนี้ที่ไม่เคยพ่ายแพ้และผิดหวัง  แต่ในเวลาเดียวกันเธอก็มั่นใจในตัวลูกชายคนนี้ว่า หลิน ตัน ไม่ใช่คนใจเสาะ เขาจะไม่ยอมแพ้และจะกลับมาใหม่ได้แน่นอน

4 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก หลิน ตัน ในเวอร์ชั่นที่ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นจากความพ่ายแพ้ในปี 2004 กลับมาลงแข่งขันอีกครั้งในโอลิมปิกปี 2008 หนนี้เขามาในเวอร์ชั่นที่เหมาะสมกับฉายา ซูเปอร์แดน อย่างแท้จริง เพราะเขาลุยรวดเดียวเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศซึ่งเป็น "ดรีมไฟนอล" ของคอแบดมินตัน เป็นการเจอกับระหว่าง หลิน ตัน และ ลี ชอง เหว่ย จาก มาเลเซีย 2 ยอดกระบี่แห่งยุคที่กำลังพิสูจน์ตัวเองว่าใครคือหมายเลข 1 ของโลกที่แท้จริง

หลิน ตัน โชว์ความเหนียวหนึบและหนักหน่วงทั้งในเกมรับและรุกจน ลี ชอง เหว่ย ที่ว่าแน่ๆ ยังแพ้ไป 2 เกมรวดด้วยสกอร์ที่แสนขาดลอย 21-12 และ 21-8 ชัยชนะดังกล่าวทำให้ หลิน ตัน เป็นผู้เล่นจีนคนแรกที่คว้าเหรียญทองให้กับทีมชาติในประเภทชายเดี่ยวถัดจากปี 2000

 8

"นี่แค่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดเท่านั้น" สิ่งที่ผู้เป็นแม่บอกคือเรื่องจริงทั้งหมด หลังจากเหรียญทองโอลิมปิกครั้งนั้น หลิน ตัน กลายเป็นเจ้ายุทธภพของวงการแบด แม้เป็นนักกีฬาที่มีความเป็นศิลปินสูง อยากแข่งก็แข่ง ไม่อยากแข่งก็ถอนตัว แต่ในเรื่องของฝีมือแล้วทุกคนบนโลกนี้ต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ "ของจริง"

การก้าวผ่านความล้มเหลวในปี 2004 ของ หลิน ตัน มีแม่อยู่เบื้องหลังอีกครั้ง น่าแปลกที่ทุกคำซึ่งแม่บอกกลายเป็นเรื่องจริงทั้งหมดในเวลาต่อมา ... หลิน ตัน ผู้เก่งที่สุดในโลกได้รับคำชี้แนะจากนักเปียโนที่รู้จักเขาดีที่สุด จะว่าแบบนี้คงไม่ผิดนัก

"ช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ผ่านไป ผมแทบไม่ได้ผ่อนคลายเลยในเวลานั้น ก็มีแต่ตอนที่อยู่กับแม่เท่านั้นแหละที่ผมรู้สึกว่าความสงบมันกลับมา เวลาที่ผมอ่อนไหวปลายทางที่ผมจะไปคือการกลับบ้าน จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของแม่ที่จะทำให้ผมใจเย็นลงและมีสติในก้าวต่อไป" หลิน ตัน ให้สัมภาษณ์ใน สารคดี "Raising an Olympian"

 9

เมื่อถามแม่ของ หลิน ตัน ว่ารู้สึกอย่างไรที่เห็นลูกชายมาถึงจุดนี้ได้ เธอบอกว่าเธอไม่ได้รู้สึกแปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เธอรู้ว่า หลิน ตัน มีเลือดนักสู้ และเมื่อเหยียบคอร์ทแบด เขาเป็นเหมือนนักรบไร้พ่าย นั่นคือเหตุผลที่ลูกชายของเธอคู่ควรกับทุกรางวัลที่ได้รับทั้งในทีมชาติและในการแข่งขันระดับอาชีพ 

สิ่งสุดท้ายที่ผู้สัมภาษณ์ในสารคดีเรื่องสั้นเรื่องดังกล่าวถามกับ เกา ซิวหยู คือ "แล้วรางวัลใดคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในมุมมองของเธอผู้เป็นแม่" ... เธอนิ่งไปสักพักและตอบกลับสั้นๆ ว่า 

"ความสำเร็จที่สุดคือวันที่ฉันปล่อยเขาออกจากอ้อมอก" เธอว่าแบบนั้นก่อนจะหันไปมองลูกชายด้วยรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจ 

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ เส้นทางจักรพรรดิคอร์ทแบดของ "หลิน ตัน" ที่ต้องแลกกับน้ำตาผู้เป็นแม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook