ไขรหัสตามหลักเศรษฐศาสตร์ : ทำไมกองหลังยุคปัจจุบันค่าตัวเฉียด 3 พันล้านได้อย่างง่ายดาย

ไขรหัสตามหลักเศรษฐศาสตร์ : ทำไมกองหลังยุคปัจจุบันค่าตัวเฉียด 3 พันล้านได้อย่างง่ายดาย

ไขรหัสตามหลักเศรษฐศาสตร์ : ทำไมกองหลังยุคปัจจุบันค่าตัวเฉียด 3 พันล้านได้อย่างง่ายดาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณผู้อ่าน เคยเล่นเกมผู้จัดการทีมฟุตบอลยอดฮิตอย่าง Football Manager หรือเกมจัดตัวนักเตะประจำสัปดาห์อย่าง Fantasy Premier League หรือเปล่า ?

เกมที่จำลองให้เราทำหน้าที่เลือกซื้อผู้เล่น ตามตำแหน่งต่างๆ ภายใต้งบประมาณที่กำหนด แน่นอนว่า นักเตะแนวรุกและกองกลาง ย่อมถูกตั้งราคาไว้สูงกว่า เหล่าแข้งแนวรับ รวมถึงผู้รักษาประตู

แต่ในโลกความเป็นจริงของฟุตบอล เพียงช่วงเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการทุบสถิติโลกค่าตัวกองหลัง ถึง 2 ครั้งติดต่อกัน เริ่มจาก มัทไธส์ เดอ ลิกต์ ที่ย้ายไป ยูเวนตุส ด้วยมูลค่า 85.5 ล้านยูโร (ประมาณ 2.9 พันล้านบาท) ในวันที่ 18 ก.ค. ก่อนถูกทำลายโดย แฮร์รี่ แม็กไกวร์ ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในราคา 87 ล้านยูโร (ประมาณ 3 พันล้านบาท) เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 

ทั้งที่สถิติเดิมของ เวอร์กิล ฟาน ไดร์ ปราการหลังสโมสร ลิเวอร์พูล เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ในราคาที่สูงถึง 84.65 ล้านยูโร 

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น 10 อันดับกองหลังที่ค่าตัวแพงสุดตลอดกาลของโลก ทั้งหมดเป็นการซื้อขายในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น เฉพาะแค่ตลาดซื้อขายก่อนเปิดฤดูกาล 2019-20 รอบเดียว มีกองหลังค่าตัวทะลุหลัก 80 ล้านยูโรไปแล้วถึง 3 ราย (ลูกาส์ แอร์กนองเดซ, เดอ ลิกต์, แม็กไกวร์) 

ในประวัติศาสตร์การซื้อขายนักฟุตบอล ไม่เคยมี กองหลังถึง 3 ราย ย้ายทีมด้วยเม็ดเงินที่สูงขนาดนี้ก่อน แต่หากมองปรากฏการณ์นี้ ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เรื่องนี้มีเหตุและผลที่น่าสนใจ และเข้าใจได้ว่า เพราะอะไรกองหลังตัวท็อปยุคนี้ถึงมีค่าหัวมหาศาล จนดูเวอร์เกินจริง

หมายเหตุ : ราคาการซื้อขายทั้งหมดในบทความ อ้างอิงตามเว็บไซต์ Transfermarkt.com

ผันแปรตามยุคสมัย

สัจธรรมอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิต บนโลกที่หมุนด้วยเงิน นั่นคือ ไม่มีสิ่งใดที่จะเหมือนเดิมไปตลอดกาล ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย 

ราคาก๋วยเตี๋ยวเมื่อหลายสิบปีก่อนกับทุกวันนี้ ยังไม่เท่ากัน ทั้งที่ต้นทุนแปรผันเล็กน้อย นับประสาอะไรกับ ธุรกิจที่มีความผันผวนมาก และต้นทุนไม่เคยคงที่อย่าง “ฟุตบอล” กีฬาขวัญใจมหาชนอันดับ 1 


Photo : official manutd

การซื้อขายนักฟุตบอล เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจนี้ นักฟุตบอลเปรียบเสมือนทรัพยากรที่มีมูลค่าสูงสุด พวกเขาสร้างสามารถกำไรมหาศาลแก่สโมสรแค่ชั่วข้ามปี หรืออาจทำให้ทีมขาดทุนย่อยยับ จนล้มละลาย ทั้งหมดแปรผันไปตามผลงาน และปัจจัยภายนอกมากมาย 

ในอดีต การย้ายทีมเป็นเรื่องอิสระ ที่นักฟุตบอลสามารถกระทำได้ เพราะยังเป็นรูปแบบ ลีกสมัครเล่น ที่ไม่มีการเขียนสัญญาเป็นกิจจะลักษณะ จนกระทั่ง สมาคมฟุตบอลอังกฤษ เริ่มมีการนำร่องให้ นักฟุตบอลทุกคน ต้องลงทะเบียนเพื่อควบคุมการย้ายสังกัด โดยนักเตะที่มีความประสงค์จะย้ายทีมได้นั้นต้องผ่านความเห็นชอบจากสมาคมเสียก่อน

ราวปี ค.ศ. 1893-1894 สมาคมฟุตบอลอังกฤษ ได้มีการเพิ่มเติมเรื่องกฏการย้ายทีม นักฟุตบอลจะไม่สามารถเปลี่ยนสังกัดได้ หากสโมสรไม่เห็นชอบ แม้การลงทะเบียนของนักเตะกับทีมจะหมดอายุความ 

นี่คือทางที่ทำให้ สโมสรมองเห็นโอกาส ในเรียกค่าชดเชย จากทีมที่ต้องการผู้เล่นในสังกัดของเขา และนับตั้งแต่นั้น การซื้อขายนักเตะกลายเป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมฟุตบอล โดยในปี 1893 วิลลี่ โกรฟ์ส (Willie Groove) ได้รับการบันทึกว่าเป็น ผู้เล่นคนแรกที่ย้ายทีมด้วยค่าตัว 100 ปอนด์ 

ฟุตบอลเติบโตไปตามยุคสมัย และขยายความนิยมแพร่ออกไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในอังกฤษ ผู้คนเริ่มหันมาสนใจฟุตบอลลีกมากขึ้น ส่งผลทำให้ลีกเริ่มปรับสู่ความเป็นลีกอาชีพเต็มตัว ในปี 1979 ทราเวอร์ ฟรานซิส กลายเป็น “มนุษย์ล้านปอนด์คนแรก” หลังย้ายไปร่วมทีม นอตติงแฮม ฟอเรสต์ ด้วยค่าตัว 1,150,000 ปอนด์ 

แค่ 3 ปีหลังจาก มนุษย์ล้านปอนด์คนแรก ถือกำเนิดขึ้น  “ดิเอโก มาราโดนา” ได้ถูกจำรึกว่าเป็น นักเตะค่าตัวแพงสุดในโลก ตำนานลูกหนังชาวอาร์เจนติน่า มีราคาสูงถึง 8 ล้านยูโร จนเข้าสู่ยุคทองของวงการลูกหนัง ช่วงปี 1990-2000  

กัลโช เชเรีย อา ถือเป็นเจ้าพ่อตลาดซื้อขายในยุคนั้น พวกเขามีสโมสรมากกว่า 4 ทีมในลีก ที่พร้อมจ่ายเงินทุ่มซื้อนักเตะฝีเท้าดี โดยมี พรีเมียร์ลีก อังกฤษ และลาลีกา เป็นคู่แข่งในการตลาดนักบอล แต่ไม่มีใครเทียบพลังเงินจาก อิตาลี ได้

ในยุคนี้  อาแอส โรมา ยอมจ่ายค่าตัวเป็นสถิติโลก เพื่อซื้อ “อัลดาเอียร์” ผู้เล่นตำแหน่งกองหลังมาร่วมทีม ด้วยค่าตัว 9 ล้านยูโร ก่อนถูกทำลายในอีกแค่ 2 ปีต่อมา โดย ยูเวนตุส เพื่อนร่วมลีก ที่ซื้อ จานลูก้า วิอัลลี ด้วยค่าตัวที่แพงกว่าเกือบเท่าตัว 16.5 ล้านยูโร 


Photo : Gazzetta 

ไม่เพียงแค่นั้น กัลโช เชเรีย อา ยังทุบสถิติโลกอีกถึง สองครั้ง ก่อนเข้ายุค 2000s ได้แก่ โรนัลโด (ค่าตัว 28 ล้านยูโร) และ คริสเตียน วิเอรี่ (46.48 ล้านยูโร) ที่ย้ายไป อินเตอร์ มิลาน 

ทั้งที่ในช่วงกลางยุค 90s หลายฝ่ายจะมีความกังวลต่อสถานการณ์ในตลาดซื้อขายโลก ที่นักเตะมีค่าตัวทะลุหลัก 10 ล้านปอนด์กันอย่างง่ายดาย เพราะนั่นอาจหมายถึงหายนะที่ใกล้มาเยือน อุตสาหกรรมลูกหนัง ที่ทำให้ล้มทั้งกระดาน แต่ความกังวลนี้ ไม่ได้ทำให้ สโมสรยักษ์ใหญ่ในยุคนั้น หยุดที่จะจับจ่ายเงิน เพื่อเสริมทัพนักเตะเก่งๆ 

ในทางตรงข้าม มันยิ่งกระตุ้นให้ ทีมเหล่านี้ แสดงความมั่นคั่งและอำนาจของเงินตรา ผ่านการลงทุนซื้อนักฟุตบอล จนเกิดดีลที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ราคานักฟุตบอลเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และส่งผลกระทบซิ่งมาถึงทุกส่วน รวมถึงผู้เล่นตำแหน่งกองหลังที่ราคาของพวกเขาถูกปรับให้สูงขึ้นตามมูลค่าของตลาด 

เมื่อปีกผีเสื้อขยับ 

ในยุคมิลเลนเนียม “เรอัล มาดริด” เปลี่ยนตัวเองมาเป็น ผู้จั่วไพ่ใบใหญ่ในตลาดซื้อขาย จากแนวทาง “กาลาติคอส” (ทีมรวมดาราโลก) 


Photo : Marca

ปี 2000-2001 เรอัล มาดริด ทำลายค่าตัวสถิติโลกถึง 2 ครั้ง ด้วยการซื้อ หลุยส์ ฟิโก มาในราคา 60 ล้านยูโร และ ซีเนอดีน ซีดาน ค่าตัว 77.5 ล้านยูโร ดีลดังกล่าวสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เพราะก่อนหน้านั้นในปี 1998 เดนิลสัน เพิ่งได้เป็นเจ้าของค่าตัวสถิติโลก ในราคา 31.8 ล้าน เท่านั้น แต่ผ่านไปแค่ 2-3 ปี สถิติโลกถูกทำลายด้วยจำนวนเงินที่มากกว่า 2 เท่า

ผลที่ตามมาหลังการย้ายทีมของผู้เล่นระดับปรากฏการณ์ ส่งผลให้ ภาพรวมของตลาดซื้อขายที่พุ่งสูงขึ้นเกินจริงจากค่าตัวที่เคยประเมินว่าเพียงพอจะซื้อตัว เมื่อราคาสูงสุดของตลาดขยับขึ้น นักเตะที่อยู่ในระดับที่ไม่ห่างชั้นกันนัก ย่อมโดนสโมสรโก่งราคาให้แพงขึ้น 

ไม่เว้นแม้แต่ผู้เล่นกองหลัง และผู้รักษาประตูตัวท็อปในยุคนั้น พลอยได้รับอานิสงค์ไปด้วย และนั่นทำให้ราคาซื้อขายกองหลังเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ราคาของผู้เล่นสถิติโลกในห้วงเวลานั้น จึงสัมพันธ์กับราคาของกองหลังช่วงเวลาเดียวกันด้วย 

ย้อนกลับไปในปี 1998-2002 สโมสรในกัลโช เชเรีย อา และพรีเมียร์ลีก ตื่นตัวอย่างมากในตลาดซื้อขาย ทั้งสองลีก มีการผลัดกันทำลายสถิติกองหลังค่าตัวแพงสุดในโลก ตัวอย่าง ปี 1998 แมนฯ ยูไนเต็ด ซื้อ ยาป สตัม ราคา 17 ล้านยูโร เท่ากับที่ ลาซิโอ ซื้อ ซินิซา มิไฮโลวิช 

แต่เอฟเฟกต์ “กาลาติคอส” จากตลาดซื้อขายในปี 2000 ทำให้ โรมา ทุ่มซื้อ “วอลเตอร์ ซามูเอล” ค่าตัวเป็นสถิติโลกกองหลัง 20.8 ล้านยูโร ก่อนถูก ลีดส์ ยูไนเต็ด ทำลายย่อยยับในตลาดหน้าหนาว หลังพวกเขาเกทับคว้า ริโอ เฟอร์ดินานด์ ราคา 26 ล้านยูโร 

เมื่อเข้าสู่ตลาดซื้อขายปี 2001 ที่ ซีดาน มีค่าตัวเกินมนุษย์ทะลุ 77.5 ล้านยูโร ผู้เล่นแนวรับเพื่อนร่วมชาติ อย่าง ลิลิยอง ตูราม ถูกยูเวนตุส ซื้อไปราคาที่สูงถึง 41.5 ล้านยูโร และไม่ใช่แค่ตำแหน่งกองหลัง ในปีนั้น สโมสรจากกัลโช เชเรีย อา ทุบพระคลังทำลายสถิติโลกตำแหน่งผู้รักษาประตู ภายในระยะเวลาห่างกันแค่ 3 วัน


Photo : Scoopnest.com

เริ่มจาก อินเตอร์ มิลาน ที่ซื้อ ฟรานเชสโก ตอลโด 26.5 ล้านยูโร แต่สถิตินั้นถูกกลบมิด เมื่อ ยูเวนตุส กระชากตัว จิอันลุยจิ บุฟฟอน ในราคา “52.8 ล้านยูโร” ที่เป็นสถิติยืนยงคงกระพันมานานถึง 15 ปี 

เช่นเดียวกับสถิติกองหลังค่าตัวแพงที่สุดในโลก ที่เกิดขึ้นในปีต่อมา (2002) ริโอ เฟอร์ดินานด์ ย้ายมาเป็นผู้เล่น  แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในราคา 46 ล้านยูโร ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงมากมาก สำหรับผู้เล่นตำแหน่งนี้ จนไม่มีใครโค่นสถิตินี้ได้อีก 12 ปี 

หากถามว่าทำไมผู้เล่นอย่าง ริโอ เฟอร์ดินานด์ และ จิอันลุยจิ บุฟฟอน ถึงมีสถิติค่าตัวที่ยากจะถูกทำลายจนต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี แน่นอนว่า เรื่องของความสามารถเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธ โดยเฉพาะรายหลัง ที่ว่ากันว่า นี่คือหนึ่งในโกล์ดีที่สุดในยุคมิลเลนเนียม 

แต่อีกปัจจัยคงมาจากผลกระทบของราคาของผู้เล่นที่แพงสุดในโลก ที่ส่งผลมาถึง นักเตะกองหลังที่เป็นเป้าหมายของตลาดซื้อขายในยุคนั้นด้วย

แรงกระเพื่อมของ “ฟีโก” และ “ซีดาน” ยังไม่หมดแค่นั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ Transtermarkt ที่รวบรวมสถิติค่าตัวของนักฟุตบอล พบว่า ในปี 2000 มีนักฟุตบอลค่าตัวเกิน 20 ล้านยูโร มากถึง 16 คน หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวหนึ่งจากปี 1999 ส่วนปีต่อมา 2001 มีผู้เล่นค่าตัวเกิน 20 ล้าน จำนวนมากถึง 17 คน จากนั้นลดลงมาเหลือไม่ถึง 10 คน ตั้งแต่ปี 2002-2005 

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะผลที่ตามมา หลังเกิดดีลสะเทือนแผ่นดิน คือ เรื่องการเจรจาซื้อขายผู้เล่นที่เป็นไปได้ยากขึ้น 

สโมสรที่มีผู้เล่นดี ตั้งค่าหัวนักเตะแพงเกินจริงไปมาก ส่วนสโมสรที่ต้องการตัว เริ่มถอดใจ ไม่กล้าลงทุน เพราะเสี่ยงขาดทุน หรือเลยเถิดไปอาจถึงขั้นล้มละลาย ดังเช่นหลายสโมสรในช่วงนั้น ที่ประสบภาวะการเงิน ที่มีต้นเหตุมาจากการซื้อผู้เล่นในช่วงที่ราคาเกินจริงไปมาก 

ทำให้การซื้อขายหดตัวลงไปนานถึง 6 ปี ในช่วงระหว่างปี 2003-2008 ค่าเฉลี่ยค่าตัวสูงสุดของผู้เล่น อยู่ที่ 39.6 ล้านยูโร ส่วนค่าเฉลี่ยค่าตัวสูงสุดของกองหลังในห้วงเดียวกัน อยู่ที่ 25.7 ล้านยูโร 


Photo : getty image

คิดง่ายๆ เซร์คิโอ รามอส สุดยอดกองหลังที่น่าจับตามองสุด ในปี 2006 ถูกขายไปด้วยค่าตัวเพียง 27 ล้านยูโร (ค่าตัวน้อยกว่า เฟอร์ดินานด์ 1.7 เท่า) หรือรายของ จานลูก้า ซามบรอตต้า กองหลังค่าตัวแพงสุดในปี 2006 ถูกซื้อในราคาเพียง 14 ล้านยูโร

จนกระทั่งเกิดดีลปรากฏการณ์ ระดับค่าตัวที่ปฏิเสธไม่ได้  ในปี 2009 เรอัล มาดริด บรรลุข้อตกลงซื้อ คริสเตียโน โรนัลโด ในราคา 94 ล้านยูโร ซึ่งส่งแรงกระเพื่อมต่อมูลค่านักฟุตบอลในตลาดซื้อขาย ให้สูงขึ้นอีกครั้ง

ทั้งที่เศรษฐกิจโลก เพิ่งผ่านช่วงอัตราเงินเฟ้อรุนแรง (8.765%) เมื่อปี 2008 จากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่ทำไมสโมสรฟุตบอลยังไม่หยุดที่จะลงทุนอย่างบ้าคลั่ง และนับวันมีแต่แข่งขันกันสูงขึ้น “พวกเขาเอาเงินมาจากไหนกันแน่” ?

โลกาภิวัตน์และผู้กุมอำนาจในตลาดซื้อขาย 

มีการเปิดเผยตัวเลขว่า สโมสรในพรีเมียร์ลีก อังกกฤษ มีการจ่ายเงินซื้อ ในตลาดนักฟุตบอล เกิน 1 พันล้านปอนด์ มาตั้งแต่ปี 2006-07 จนถึงปัจจุบัน 

นี่ยังไม่รวมลีกอื่นๆ อย่าง ลาลีก้า สเปน, บุนเดสลีกา เยอรมัน, กัลโช เชเรีย อา อิตาลี และ ลีก เอิง ฝรั่งเศส ที่ถูกจัดให้เป็น 5 ลีกใหญ่ยุโรป ซึ่งมีพลังทางการเงิน และอำนาจอย่างมากในการกำหนด และเปลี่ยนแปลงทิศทางตลาดซื้อขายนักฟุตบอล 

ลีกเหล่านี้ ได้รับประโยชน์เต็มๆ เมื่อฟุตบอลเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) เดิมที สโมสรฟุตบอล ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ ชาวเมือง, กลุ่มคน, ชนชั้นที่แตกต่างกันออกไป และเป็นเพียงแค่กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจของครอบครัว, พื้นที่ปลดปล่อยตัวตนของคนวัยทำงาน ในวันหยุดสัปดาห์


Photo : Independent

การบริหารงานและความเป็นเจ้าของทีม จึงผูกกับคนในท้องถิ่น พวกเขาถือเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างแท้จริงของสโมสร แต่เมื่ออิทธิพลของฟุตบอลขยายออกไป เทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงขั้นที่สามารถถ่ายทอดสดฟุตบอล ที่แพร่ภาพออกไปให้คนทั้งโลกรับชมได้พร้อมกัน 

การบริโภคทางทีวีจากผู้ชมทั่วโลก เพิ่มขึ้น การแข่งขันในแต่ละประเทศ เพื่อแย่งชิงลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกใหญ่ยิ่งเพิ่มขึ้นสูง สุดท้ายผลที่ตามมาคือ สโมสรในท็อปลีก มีรายได้มากขึ้น โดยที่พวกเขายังคงเล่นฟุตบอลเท่าเดิม 90 นาทีต่อ 1 เกม แต่จำนวนผู้ชมกลับขยายวงกว้างไปไกลกว่าแค่ความจุของสนาม ส่วนลีกระดับรอง ที่ไม่มีใครสนใจ ยากที่ลืมตาอ้าปากได้ เพราะความเหลื่อมล้ำ ด้านรายได้ 

ถึงตอนนั้น สโมสรฟุตบอล จึงไม่ได้เป็นตัวแทนเมืองหรือชุมชนอย่างเช่นอดีต แต่ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็น แบรนด์ฟุตบอลระดับโลก ยกตัวอย่าง ลิเวอร์พูล, บาเยิร์น มิวนิค, อาร์เซนอล,  แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด, บาร์เซโลนา, ยูเวนตุส ทีมเหล่านี้มีแฟนบอลทั่วโลกเยอะกว่าจำนวนแฟนบอลท้องถิ่นเสียอีก ทุกๆนัด จะมีชาวต่างชาติ แห่กันไปชมเกมการแข่งขันถึงขอบสนาม ขณะที่สินค้าเช่น ชุดแข่งขัน ถูกส่งออกไปจัดจำหน่ายให้แฟนๆ ได้ซื้อกันอย่างง่ายดาย 

อีกทั้งความสำเร็จในสนาม บวกกับชื่อเสียงนอกสนาม ยิ่งทำให้ พวกเขาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกๆปี เช่นเดียว มูลค่าของทีมที่สูงขึ้นตาม จนตอนนี้เวลานึกถึง ทีมเหล่านี้ ภาพความเป็นทีมระดับโลกชัดเจนกว่า ภาพของการเป็นทีมตัวแทนคนท้องถิ่น 

ไม่เพียงแค่นั้น ในด้านการลงทุน หากยกเว้น บุนเดสลีกา เยอรมัน ที่ไม่อนุญาตให้ ต่างชาติมาเป็นเจ้าของทีม จะเห็นได้ว่าบรรดาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่างหันมาลงทุนซื้อทีมฟุตบอล และนำเงินส่วนที่เหลือจากทรัพย์สินมาทุ่มใส่กัน เพื่อกุมอำนาจในตลาดซื้อขาย และยกระดับทีมๆนั้นขึ้นมา

ปี 2003 โลกลูกหนังได้รู้จัก โรมัน อบราฮิโมวิช มหาเศรษฐีธุรกิจน้ำมันและแก๊ส ชาวรัสเซีย ที่เข้ามาเทคโอเวอร์ เชลซี เพียงแค่ 2 ฤดูกาลแรก ใช้เงินซื้อนักเตะไป 213.5 ล้านปอนด์ ผลที่ตามมา คือ เชลซี ยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็น ทีมหัวแถวของพรีเมียร์ลีก กวาดแชมป์ลีกไป 5 สมัย, ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก 1 สมัย,  ยูโรป้า ลีก 2 สมัย, เอฟเอ คัพ 5 สมัย, ลีกคัพ 3 สมัย


Photo : Daily Mail

ในขณะที่สโมสรอื่นๆ ยุคนั้น ต้องประชุมกันหน้าดำคร่ำเครียด กว่าจะบรรลุการเจรจาซื้อนักฟุตบอลสักคน เชลซี ที่มีเจ้าของผู้ร่ำรวย สามารถจ่ายเงินซื้อนักเตะได้อย่างง่ายดาย และไม่กลัวขาดทุน  นั่นทำให้ พวกเขา สามารถปาดหน้าทีมดังๆ ดึงผู้เล่นดีๆ อย่าง จอห์น โอบี มิเกล, มิกาเอล เอสเซียง, อาร์เยน รอบเบน มาร่วมทีมได้ ด้วยข้อเสนอที่มากกกว่า 

แนวทางของ เชลซี ในตอนนั้น เปรียบเสมือนการแสดงอำนาจทางการเงินที่เหนือกว่า ในตลาดซื้อขายนักฟุตบอล มหาเศรษฐีคนหนึ่ง สามารถเปลี่ยนแปลงชะตาของทีมฟุตบอลทีมหนึ่งได้ หลังจากนั้น มหาเศรษฐีหลากหลายสัญชาติ ต่างเริ่มหันมาทำธุรกิจฟุตบอลในลีกระดับท็อป 

แม้พวกเขาจะรู้เต็มอกว่า นี่คือ ธุรกิจที่ต้องจ่ายต้นทุนราคาเกินจริง มีความผันผวนมาก และเสี่ยงขาดทุนย่อยยับทุกปี แต่ถึงอย่างไร พวกเขายังมองเห็นความคุ้มค่าจากผลแทนที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเงินทองเสียทีเดียว 

ในปี 2008 ชีค มันชูร์ บิน อัล ซาเยด มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยจากธุรกิจปิโตรเลียม จากภูมิภาคตะวันออกกลาง เข้ามาซื้อทีม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ สโมสรระดับกลาง ภายในระยะเวลาแค่ 10 ปี พวกเขาทุ่มเงินซื้อนักฟุตบอลทุกตำแหน่งมากกว่า 1.3 พันล้านปอนด์ 

อย่างปี 2009 ที่ตลาดซื้อนักบอลกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทำให้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต้องจ่ายเงินซื้อผู้เล่นแนวรับอย่าง โจลีออน เลสเตอร์ จากเอฟเวอร์ตัน ในราคาที่สูงเกินจริงถึง 27 ล้านยูโร เนื่องจากในปีนั้น มีการจ่ายเงินค่าตัวนักบอลทะลุหลัก 65 ล้านยูโร ถึง 3 ราย 

ถึงกระนั้นเม็ดเงินที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในยุคเจ้าของอาหรับ ได้แปรเปลี่ยนเป็นความสำเร็จ แชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัย, เอฟเอ คัพ 2 สมัย, ลีก คัพ 4 สมัย และกลายเป็นอีกหนึ่งขาใหญ่ในตลาดซื้อขายนักฟุตบอลของโลก 

สิ่งที่ตามมาหลังเกิดดีลปรากฏการณ์ ในปี 2009 แตกต่างกับตอนปี 2002 ตรงที่ ในยุคใหม่ มหาเศรษฐีจำนวนมาก หันมาซื้อกิจการสโมสรฟุตบอล ในท็อปลีกมากขึ้น  เพราะสโมสรเหล่านี้ได้รับความสนใจ จากผู้คนทั่วโลก ซึ่งช่วยทำให้พวกเขากลายเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมากขึ้น 

รวมถึงยังเป็นการแสดงศักยภาพทางการเงิน ให้คนทั่วโลก ได้เห็นว่า มหาเศรษฐี หรือธุรกิจของพวกเขา มีพลังและอำนาจมากแค่ไหนในการจ่ายเงิน 

ในช่วงปี 2010-2014 ราคาของกองหลังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีค่าตัวเฉลี่ยสูงสุด ขยับมาอยู่ที่ 35.5 ล้านยูโร  ตามบรรยายกาศของตลาดที่มูลค่านักเตะเฟ้อขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง โดยมี ปารีส แซงต์ แชร์กแมง เป็นตัวละครสำคัญ ในช่วงเวลานี้ ทีมเมืองหลวงฝรั่งเศส กลายเป็นทีมมือเติบ นับตั้งแต่ถูก นาสเซอร์ อัล เคไลฟี มหาเศรษฐีชาวกาตาร์ ซื้อกิจการเมื่อปี 2011


Photo : national.ae

ขณะที่สโมสรอื่นกังวลเรื่องค่าตัวนักเตะแพงจริง ปารีสฯ กล้าจ่ายค่าตัวมหาโหด แม้จะเป็นผู้เล่นบรรดากองหลัง ในปี 2012 ติอาโก ซิลวา กัปตันทีมเอซี มิลาน ย้ายมาด้วยค่าตัว 42 ล้านยูโร ซึ่งเป็นราคาที่สูงสุดของผู้เล่นในตลาดซื้อขายนักเตะโลกปีนั้น 

ปี 2013 เรอัล มาดริด ทำลายสถิติโลก ค่าตัวนักฟุตบอลอีกครั้ง ด้วยการซื้อ เกแรธ เบล ในราคา 101 ล้านยูโร ปีดังกล่าว ปารีสฯ จ่ายเงินซื้อกองหลังอย่าง มาร์ควินญอส ในราคา 31 ล้านยูโร ก่อน ปารีส ฯ จะจัดการทำลายสถิติโลกค่าตัวกองหลัง ในรอบ 12 ปี จากการซื้อตัว ดาบิด ลุยซ์ ราคา 49.6 ล้านยูโร ในฤดูกาล 2014 

น่าแปลกที่การใช้จ่ายเงิน เพิ่มขึ้นมากหลายเท่าตัว แต่ความกังวลต่อภาวะล้มละลายของสโมสรฟุตบอล กลับลดลงไป โดยเฉพาะทีมที่มีเจ้าของเป็น มหาเศรษฐี เพราะต่อให้ตัวเลขจะติดลบตัวแดงแค่ไหน ? บิ๊กบอสผู้มั่งคง พร้อมที่เดินหน้าซื้อตัวนักเตะต่อไป จนกว่าจะพอใจ 

แม้องค์กรที่ดูแลการแข่งขันฟุตบอล จะตระหนักรู้ถึงฟองสบู่ที่เกิดขึ้น และพยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากจนเกินไป แต่ช่องว่างระหว่างที่ทีมร่ำรวย กับทีมยากจน ได้เกิดขึ้นแล้ว 

  ความสำคัญของการมีของกองหลังที่ดี 

นับตั้งแต่มี มนุษย์เกิน 100 ล้านยูโรคนแรก เมื่อปี 2013 ในช่วงเวลา 6 ปีต่อมา มีนักฟุตบอลอีก 9 ราย  ที่ค่าตัวของพวกเขาทะลุหลัก 100 ล้านยูโร หนึ่งในจำนวนนี้ ถูกซื้อในราคา 220 ล้านยูโร แต่ทั้งหมดเป็นผู้เล่นตำแหน่งกองกลางและกองหน้า


Photo : ESPN

เนื่องจากเกมฟุตบอลเป็นการแข่งขันที่ตัดสินว่าในเวลา 90 นาที ฝ่ายไหนทำประตูได้มากกว่ากัน ผู้เล่นเชิงรุก จึงเปรียบเสมือนคีย์แมนคนสำคัญ ที่สามารถสร้างความแตกต่างแก่ทีมได้ ดังนั้นราคาของความเป็นผู้เล่นเชิงรุก จึงสูงกว่า นักเตะเชิงรับรวมถึงผู้รักษาประตู อยู่มากพอสมควร แม้ราคาของกองหลังจะแพงขึ้นตามยุคสมัย 

ปัจจุบัน รูปแบบและเทรนด์ของฟุตบอล เริ่มเปลี่ยนไป สโมสรยักษ์ใหญ่ที่มีพลังในตลาดซื้อขาย เริ่มเห็นถึงความสำคัญของการเล่นเกมรับมากขึ้นซึ่งแตกต่างจากทศวรรษก่อน ที่เน้นการสู้กันด้วย ความสามารถเกมรุกด้านบน เราเห็นได้จากหลายสโมสร เน้นการเซ็ทบอลจากแนวหลังขึ้นไป หรือมีจุดเริ่มต้นการทำเกมมาจากกองหลัง

นอกจากปัจจัยเรื่องของราคาตามกลไลตลาด ที่มีคู่แข่งขันลงทุนกันเยอะขึ้น (รวมถึง ไชนีส ซูเปอร์ ลีก ทีเป็นอีกลีกที่จ่ายเงินซื้อผู้เล่นชั้นนำอย่างมหาศาล) ที่ทำให้ กองหลังยุคใหม่ มีราคาพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 

มุมมองของโลกฟุตบอล ที่มีต่อกองหลัง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ต่อราคาของผู้เล่นตำแหน่งนี้ เพราะทุกคนเริ่มตระหนักถึงคุณค่าของการมีกองหลังที่ดีจะช่วยทำให้ทีมแข็งแกร่งมากแค่ไหน ? 

ในทำเนียบผู้เล่นกองหลังค่าตัวแพงสุดตลอดกาล 15 อันดับแรก เกือบครึ่งหนึ่ง (7 คน) ถูกซื้อโดย แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ช่วงระหว่างปี 2014-2017 ไล่มาตั้งแต่ นิโกลัส โอตามเมนดี 44.5 ล้านยูโร, เอเลียควิม ม็องกาลา 45 ล้านยูโร, ไคล์ วอล์กเกอร์ 52.7 ล้านยูโร, จอห์น สโตน 55.6 ล้านยูโร, แบ็งฌาแม็ง เมนดี้ 57.5 ล้านยูโร, อายเมริค ลาปอร์กต์ 65 ล้านยูโร รวมถึงผู้รักษาประตู เอแดร์สัน ในราคา 40 ล้านยูโร 

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยกเครื่องกองหลัง และส่งผลให้ทีมของพวกเขาแข็งแกร่งขึ้นมาก จนสามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ 2 สมัยติดต่อกัน (2017-18, 2018-19) 

นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ราคาของกองหลัง แพงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีอีกหนึ่งสโมสรที่เปลี่ยนเทรนด์ของตลาดนักเตะกองหลัง นั่นคือ “ลิเวอร์พูล” ของกุนซือ เจอร์เกน คล็อปป์ ที่เคยประกาศว่าจะไม่มีทางทุ่มซื้อเงินผู้เล่นแพงเกินจริง 

น่าเสียดายที่ กำแพงค่าตัวนักฟุตบอลพังป่นปี้ และทุกๆสโมสรต่างหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ตามมาไม่ได้ เริ่มจากความบ้าระห่ำของ ปารีสฯ ที่กล้าจ่ายค่าฉีกสัญญา เนย์มาร์ ในราคา 220 ล้านยูโร ก่อนที่ บาร์เซโลนา จะกู้หน้าของตัวเองหลังเสียซูเปอร์สตาร์ไป ด้วยการยื่นซื้อ ฟิลิปป์ คูตินโญ นักฟุตบอลจากลิเวอร์พูล ในราคา 145 ล้านยูโรแพงสุดเป็นสถิติอันดับ 2 ของโลก 

แทนที่ ลิเวอร์พูล จะบ้าจี้เอาเงินจำนวนมหาศาลจากขาย คูตินโญ ไปซื้อตัวรุกแพงๆ คล็อปป์ กลับจิ้มไปที่ เวอร์กิล ฟาน ไดร์ กองหลังของสโมสร เซาแธมป์ตัน ในตลาดฤดูหนาว (ซีซั่น 2017-18) พร้อมจ่ายค่าตัวสถิติโลกในตำแหน่งนี้ถึง 84.65 ล้านยูโร 


Photo : Telegraph

จากนั้นในปีต่อมา ลิเวอร์พูล ซื้อผู้รักษาประตูคนใหม่เป็นสถิติโลก นามว่า อลิสซอน เบเกอร์ จากโรมา ในราคา 64.5 ล้านยูโร ก่อนถูกทำลายในอีกไม่กี่วันต่อมา โดย เชลซี ที่ซื้อ เกปา อาร์ริซาบาลาก้า ผู้รักษาประตูมือรองทีมชาติสเปน ค่าตัว 80 ล้านยูโร 

ลิเวอร์พูล เสียสตาร์ตัวรุกหมายเลข 1 ของทีมไป แต่พวกเขากลับใช้เงินจำนวนนี้ ไปแลกมาได้ 2 นักฟุตบอลเชิงรับ ผลที่ออกมากลับดีเกินคาด เกมรุกลิเวอร์พูลไม่เสียสมดุล ส่วนเกมรับแน่นขึ้นมาก ส่งผลให้ในฤดูกาลที่ผ่านมา ลิเวอร์พูล ทะลุเข้าไปสู่รอบชิง ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก เป็นซีซั่นที่สองติดต่อกัน ก่อนซิวถ้วยใหญ่ยุโรปสมัยที่ 6 มาครองได้สำเร็จ 

เราจึงเห็นได้ว่า ความสำเร็จในยุคนี้ของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ลิเวอร์พูล มีผู้เล่นกองหลังเป็นส่วนประกอบสำคัญ ดังนั้นไม่แปลกหากการซื้อขายผู้เล่นแนวรับ จะมีมูลค่าที่แพงขึ้น เพราะผู้เล่นเหล่านี้ สร้างความแตกต่างกับเกมได้ไม่แพ้ตัวรุก ยิ่งมีนักเตะกองหลังตัวท็อปถูกซื้อแพงเท่าไหร่ ราคาโดยภาพรวมของกองหลัง ยิ่งดีดตัวสูงขึ้น 

สโมสรที่มีนักฟุตบอลกองหลังฝีเท้าดี และเป็นที่ต้องการตลาด จึงสามารถตั้งค่าตัวไว้ได้สูง เพื่อวัดใจทีมที่ต้องการ ที่ชัดเจนมากคือ ตลาดซื้อขายฤดูกาลใหม่นี้ (2019-2022) มีนักเตะ 5 ราย ที่ถูกซื้่อขายด้วยมูลค่าที่เกิน 50 ล้านยูโร จนมีชื่อเข้าไปติดอยู่ใน 10 อันดับแรกผู้เล่นกองหลังค่าตัวแพงสุดตลอดกาล  ประกอบด้วย เอแดร์ มิลิเตา, อารอน วาน-บิสซาก้า, ลูกาส์ แอร์กนองเดซ, มัทไธส์ เดอ ลิกต์ และ แฮร์รี แม็กไกวร์ เจ้าของสถิติโลกคนปัจจุบัน 

หากนำตัวเลขค่าตัวสูงสุดของ ผู้เล่นตำแหน่งกองหลัง เมื่อปี 1999 (อิวาน คอร์โดบา 14 ล้านยูโร) มาเทียบค่าตัว 87 ล้านยูโร ของ แฮร์รี่ แม็กไกวร์ จะพบว่ามีความแตกต่างกันถึง 6.2 เท่า ซึ่งมากกว่าระยะห่างของผู้เล่นค่าตัวแพงสุดในโลก เมื่อ 20 ปีที่แล้ว (คริสเตียน วิเอรี่ 46.48 ล้านยูโร) กับสถิติปัจจุบันของ เนย์มาร์ ที่ห่างกันประมาณ 4.73 เท่า 

ในอนาคต การเรียกค่าตัวกองหลังแพงเกิน 80 ล้านยูโร อาจกลายเป็นเรื่องปกติของวงการ เหมือนกับที่เราเคยลืมไปเลยว่า ครั้งหนึ่งวงการลูกหนังเคยมีความตระหนกที่ได้เห็น ผู้เล่นแนวรับมีราคาพุ่งทะลุ 40 ล้านยูโร และเรายังไม่เห็นสัญญาณว่าราคากองหลังจะถูกลงมา สู่มูลค่าที่น่าจะเป็นจริง

ตราบใดที่ อุตสาหกรรมฟุตบอลของลีกชั้นนำโลก ยังขับเคลื่อนไปด้วยทุนนิยม การลงทุนอย่างมหาศาล และการแสดงอำนาจทางการเงิน ผ่านการทำสโมสรฟุตบอล 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook