"มิ้งค์ สระบุรี" : รองแชมป์โลกหญิงวัย 19 ปี ที่อยากให้สังคมเห็นอีกมุมของกีฬาสนุกเกอร์

"มิ้งค์ สระบุรี" : รองแชมป์โลกหญิงวัย 19 ปี ที่อยากให้สังคมเห็นอีกมุมของกีฬาสนุกเกอร์

"มิ้งค์ สระบุรี" : รองแชมป์โลกหญิงวัย 19 ปี ที่อยากให้สังคมเห็นอีกมุมของกีฬาสนุกเกอร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“สนุกเกอร์” กับ “คนไทย” ในแง่ความบันเทิง ไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัว เราสามารถพบเจอ สนุกเกอร์ คลับ ได้ตามซอกซอยในเมืองใหญ่ หรือย่านเมืองตามพื้นที่ต่างจังหวัด ชายหนุ่มจำนวนมาก มุ่งหน้าสู่โต๊ะสนุกเกอร์ เพื่อความสุขให้กับตัวเองด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป

หากแต่ สนุกเกอร์ กับคนไทย ในแง่ของ กีฬา กลับไม่ใช่สิ่งใกล้ตัว ข่าวคราวของกีฬาสอยคิว ไม่ได้ถูกพบเจอมากนัก ตามหน้าข่าวทั่วไป หากเทียบกับกีฬาหลายชนิด ที่อยู่ในความสนใจ ของสื่อและสังคมไทยมากกว่า

 

ภาพจำของสนุกเกอร์ คือกีฬา ที่ห้อมล้อมไปด้วยการพนัน ผู้คนเดินเข้าโต๊ะสนุกเกอร์ เพื่อวางเดิมพัน กินเงิน กับกีฬาชนิดนี้ ขวดเบียร์วางเรียงรายเต็มไปหมด การเดินเข้าสนุกเกอร์ คลับ ครั้งแรก สำหรับใครหลายคน อาจเป็นการตัดสินใจ ที่ยากลำดับต้นๆของชีวิต ด้วยมายาคติกับกีฬาชนิดนี้ ที่เห็นการฉายภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าเป็นแหล่งพบเจอของกลุ่มคนที่ภาพลักษณ์ดูไม่ดีนัก ทั้งที่สนุกเกอร์ คลับ ในความจริง คือ สนามกีฬาที่ไม่ต่างอะไรกับ สนามฟุตบอลหญ้าเทียมหรือคอร์ตแบดมินตันแม้แต่น้อย

 1

ผู้เขียนเอง (และช่างภาพ) ได้ใช้เวลาร่วม 15 นาที เมื่อมาถึงสนุกเกอร์ คลับ แห่งหนึ่ง เพื่อยืนรวบรวมความกล้า เพราะยังติดกับภาพจำของกีฬาสนุกเกอร์ ไม่ต่างกับคนอื่นทั่วไปในสังคมไทย ก่อนตัดสินใจเดินเข้าสนุกเกอร์ คลับ ในที่สุด

แต่ที่นี่ผู้เขียนได้พบเจอกับนักสนุกเกอร์หญิงที่ชื่อ มิ้งค์ สระบุรี หรือ ณัชชารัตน์ วงศ์หฤทัย สาวน้อยยิ้มง่าย อารมณ์ดี ที่ประสบความสำเร็จ ในกีฬาสนุกเกอร์ ทั้งการเป็นรองแชมป์โลกหญิง และแชมป์ในระดับเยาวชนโลกอีกหลายครั้ง ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราว และแรงปรารถนาของเธอตั้งแต่เริ่มแรก จนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับกีฬาสนุกเกอร์ 

แพชชั่นเท่ากับศูนย์

“ตอนเด็กๆหนูไม่เคยสนใจ ที่จะเล่นกีฬาเลยนะคะ แทบไม่ได้เล่นเลย ตั้งแต่สมัยก่อน ที่หนูอาศัยอยู่กับคุณปู่คุณย่า ก่อนจะย้ายมาอยู่ กับคุณแม่ที่สระบุรี ตอนอายุ 10 ขวบ”

“แต่ด้วยความที่ว่า คุณแม่ทำงานเป็นแคชเชียร์ ที่สนุกเกอร์ คลับ คุณแม่เลยพาหนูกับน้องสาว ไปอยู่ที่ โต๊ะสนุกเกอร์ด้วย ไม่งั้นหนูก็ต้องอยู่กับน้องที่บ้านแค่สองคน เพราะคุณพ่อก็ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่ว่าตอนนั้น หนูยังไม่ได้อยากเล่นสนุกเกอร์เลยนะ”

 2

หญิงสาววัย 19 ปี กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเธอกับกีฬาสนุกเกอร์ในอดีต ซึ่งแตกต่างปัจจุบันไม่น้อย เพราะก่อนหน้าที่เธอจะมานั่งสัมภาษณ์กับผู้เขียน เธอยังยืนถือไม้คิวสอยลูกสนุกเกอร์ลงหลุมเป็นว่าเล่น

“เวลาหนูอยู่ที่โต๊ะ (สนุกเกอร์ คลับ) ก็ไม่ได้ทำอะไร วิ่งเล่น นั่งๆ นอนๆ แบบเด็กทั่วไป แต่ด้วยความที่ โต๊ะที่คุณแม่ทำงาน เป็นโต๊ะของ คุณพ่อพี่บิ๊ก สระบุรี ท่านเห็นว่า หนูเป็นเด็กผู้หญิง ที่มีความใกล้ชิดกับสนุกเกอร์ และมีรูปร่างดูเหมาะสมกับการเป็นนักสนุกเกอร์ เลยมาชวนหนู ให้ลองมาเล่นดู ท่านบอกจะให้ พี่บิ๊กมาเป็นคนสอนให้”

บิ๊ก สระบุรี หรือ อรรถสิทธิ์ มหิทธิ เป็นหนึ่งในนักสนุกเกอร์ฝีมือดีของประเทศไทย ที่มีดีกรีเป็นแชมป์สนุกเกอร์สมัครเล่นโลก และคว้าเหรียญทองแดงจากการแข่งขันเอเชียนเกมส์มาแล้ว 

ข้อเสนอในการถ่ายทอดวิชาสอยคิวจากนักสนุกเกอร์มือทอง โดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย ทำให้เธอตัดสินใจ ตอบรับ แม้ในใจลึกๆ จะไม่รู้ว่าตัวเองเล่นสนุกเกอร์เพื่ออะไร

 3

“ตอนที่หนู เริ่มเล่นสนุกเกอร์ หนูไม่ได้คิดอะไร มากไปกว่า ผู้ใหญ่อยากให้เล่น เพราะคุณพ่อคุณแม่ ท่านก็สนับสนุน หนูก็ประมาณว่า เล่นก็เล่น (ยิ้ม)”

“ช่วงแรกที่เล่นสนุกเกอร์ หนูไม่ได้คิดอะไรเลยด้วยซ้ำ ไม่ได้คิดถึง ไม่ได้สนใจ เรื่องผลแพ้ชนะ เล่นไปเฉยๆ ไม่ได้ชอบอะไร แทงไปอย่างงั้น เหมือนเรายังไม่ค่อยมีความเป็นนักกีฬาอยู่ในตัว”

“แต่ถามว่าหนูฝึกจริงจังไหม ก็จริงจังในระดับนึง หลังเลิกเรียนก็มาซ้อม 2-3 ชั่วโมง ทุกวันค่ะ พี่บิ๊กเริ่มต้นฝึกหนูทุกอย่างเลย ตั้งแต่พื้นฐาน ทั้งการจับไม้ การวางมือ แล้วค่อยมาฝึกแทงลูก พัฒนาไปเรื่อยๆ ฝึกอยู่เกือบปี กว่าจะได้ลงแข่งครั้งแรก”

“ช่วงแรกๆ ก็แพ้อย่างเดียวเลยค่ะ แต่พอผ่านไปปีนึง ก็เริ่มชนะมากขึ้น เพราะกีฬาสนุกเกอร์ เป็นกีฬาที่ต้องใช้ประสบการณ์ เหมือนตัวเราเอง เริ่มมีความเป็นนักกีฬามากขึ้น เรารู้จักวางแผนการเล่นก่อนการแข่งขัน”

ตามหาแพชชั่น

“ช่วงที่ก่อนจะจริงจัง สมัยยังเรียนมัธยมต้นอยู่ มีรายการหนึ่ง ที่หนูจำได้แม่น เป็นการแข่งขันแบบไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดเพศ ในจังหวัดสระบุรี หนูลงแข่งขัน แล้วหนูได้รองแชมป์ได้เงินมาเกือบหมื่นบาท ดีใจมาก ได้เงินไปซื้อมือถือใหม่ด้วย (หัวเราะ)”

 4

รายได้เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดัน ให้คนอยากเป็นนักกีฬาอาชีพ นักกีฬาจำนวนมาก หลากหลายชนิดกีฬา ใช้เวทีแข่งขัน เพื่อหาเงินเลี้ยงดูตัวเอง และครอบครัว แต่สำหรับน้องมิ้งค์ สระบุรี แม้เคยได้รับเงินรางวัลจากการแข่งขันหลายรายการ แต่ความคิดที่จะจริงจังกับกีฬาสนุกเกอร์ กลับไม่เคยปรากฎขึ้นในหัวของเธอ

“หนูคิดว่าในตอนนั้น กีฬาสนุกเกอร์ ยังไม่เปิดกว้าง ยังไม่คิดว่าจะเป็นอาชีพได้ เพราะสนุกเกอร์ในไทย ยังไม่เปิดกว้างสำหรับผู้หญิง ช่วงที่หนูเล่นสนุกเกอร์ใหม่ๆ ไม่มีการแข่งขันสำหรับผู้หญิง ต้องแข่งกับผู้ชายตลอด”

“อีกอย่างหนูก็ให้ความสำคัญกับการเรียนมากกว่า หนูคิดตลอดว่า ถ้าตัวเรายังโฟกัสกับการเรียนอยู่ แล้วจะให้เป็นนักสนุกเกอร์ แบบจริงจัง ไปพร้อมๆกัน ก็คงยาก”

แม้จะไม่ได้คิดเป็นนักสนุกเกอร์จริงจัง แต่มิ้งค์ สระบุรี ยังคงลงแข่งขันสนุกเกอร์ ทุกครั้งที่เธอมีโอกาส ทั้งการแข่งขันแบบจำกัดอายุ และไม่จำกัดอายุ ร่วมกับนักแข่งชายหนุ่ม เพื่อหาประสบการณ์ในฐานะนักสนุกเกอร์ ทั้งที่ไม่รู้ตัวว่า เล่นไปเพื่ออะไรก็ตาม

“ตอนนั้น หนูไม่ได้มีความฝันอะไรเกี่ยวกับสนุกเกอร์เลยค่ะ ความฝันหนูคือการสอบเข้าเรียน ม.4 ในโรงเรียนที่ต้องการ แต่ความฝันของคุณพ่อ คือ อยากเห็นหนูเป็นนักกีฬาสนุกเกอร์ทีมชาติ”

อย่างที่น้องมิ้งค์กล่าว การจะเรียนและเล่นสนุกเกอร์ ไปพร้อมกันเป็นเรื่องยาก เธอพลาดสอบเข้าโรงเรียนในฝัน ตามที่ตั้งใจไว้ ทำให้คุณพ่อของเธอเสนอโอกาสใหม่ให้ตามฝันของตัวคุณพ่อเองบ้าง 

“คือหนูรู้จักกับใบพัด ศรีราชา (ศิริภาพร นวนทะคำจัน) มาได้ตั้งแต่อายุ 12 ปี ครอบครัวก็รู้จักกัน พอหนูสอบไม่ติด คุณพ่อเลยบอกว่า มาเล่นสนุกเกอร์จริงจังไหม ดร็อปเรียนสักปีนึง เดี๋ยวส่งไปเรียนกับคุณพ่อของใบพัด ที่ศรีราชา ถ้าเล่นดี ก็จะได้ยาวไปเลย”

“หนูก็คิดว่า ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ลองดูสักตั้ง ไม่เสียหายอะไร ถ้าไม่รุ่ง ก็กลับมาเรียนต่อ”

 5

มิ้งค์ สระบุรี เข้าสู่โหมดชีวิตคล้ายกับเป็นนักเรียนในโรงเรียนประจำ ที่แตกต่าง คือ วิถีชีวิตประจำวันนั้นไม่ใช่การตื่นเช้าไปเข้าเรียน แต่ คือ การกินนอนในที่พักข้างสนุกเกอร์ คลับ เรียนรู้วิชาการสอยคิว อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมงให้สมกับที่เธอเลือกหันมาเดินในเส้นทางนักกีฬา โดยทิ้งหนังสือเรียนไว้เบื้องหลัง  

“ช่วงที่หนูเริ่มหันมาจริงจังกับสนุกเกอร์ ก็ได้ไปแข่งขันหลายรายการในระดับดิวิชั่น 2 ของสมาคมบิลเลียดแห่งประเทศไทย มีผู้ใหญ่ในสมาคม เขาตามดูผลงานของหนูอยู่ เราก็มีชนะบ้าง”

“มีวันหนึ่งที่หนูไปแข่ง หนูโดนนำอยู่ 0 - 2 เฟรม แล้วคุณพ่อของใบพัด เขารู้ข่าวมาว่า หนูจะได้ติดทีมชาติไปแข่งขันต่างประเทศ ใบพัดที่อยู่กับหนูในตอนนั้น เลยมากระซิบหนูว่า ‘ถ้าหนูชนะ หนูจะได้ไปแข่งในนามทีมชาติ’”

“จริงๆหนูก็ไม่ได้คิดอะไร แต่เหมือนมันเป็นแรงผลักดันให้ตัวเอง หนูพลิกกลับมาแซงชนะ 3-2 เฟรมเลย พอจบการแข่งขัน หนูก็รู้ว่า ตัวเองได้ไปแข่งในนามทีมชาติแน่นอนแล้ว ดีใจมากเลยค่ะ รีบโทรบอกพ่อ บอกแม่เลย” มิ้งค์ กล่าวถึงความหลัง ด้วยเสียงหัวเราะ และรอยยิ้ม

 6

กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย คือ สถานที่แรกที่มิ้งค์ สระบุรี ได้ออกไปแข่งขันต่างประเทศ ด้วยวัยเพียง 15 ปี กับการแข่งขันรายการชิงแชมป์เยาวชนโลกหญิง รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี ประจำปี 2015 (IBSF World Under-21 Snooker Championship) เธอทำผลงานได้ตำแหน่งรองแชมป์กลับมาครอง 

“ตอนนั้น หนูวางเป้าไว้แค่ ขอเข้ารอบ 4 คนสุดท้ายก็พอ แต่พอกลับมา หนูก็มาคิดกับตัวเองว่า เฮ้ย เราทำผลงานได้ดีนะ เราก็มีดีเหมือนกัน”

“คือการแข่งขันครั้งนั้น มีความหมายกับหนูมาก เราได้เป็นตัวแทนทีมชาติ เราได้รางวัลกลับมา เป็นรางวัลแรกด้วย มันทำให้หนูเริ่มชอบกีฬาสนุกเกอร์ เริ่มสนุกไปกับมัน”

เดินหน้าด้วยแพชชั่น

ผลงานที่เกินคาด ของมิ้งค์ ทำให้เธอตั้งใจกลับมาฝึกซ้อม เธอรู้ถึงฝีมือของตัวเองแล้วว่า เธอมีดีแค่ไหน และตั้งเป้าหมายในใจ ที่จะทำผลงานให้ดีที่สุดกับการแข่งขันเยาวชนโลกหญิงในปีถัดไป

 7

“ปี 2016 หนูได้ลงแข่งสองรุ่น คือ รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี กับ 21 ปี ตอนรุ่น 18 ปี หนูเข้าชิงกับใบพัด ซึ่งหนูก็แพ้ใบพัด ได้รองแชมป์ไป พอแข่งต่อ รุ่นอายุ 21 ปี รอบชิงชนะเลิศ หนูก็มาเจอกับใบพัดอีก ซึ่งรอบชิงปีที่แล้ว หนูก็แพ้ให้กับใบพัด นี่แหละค่ะ”

การแข่งขันเยาวชนสนุกเกอร์หญิง ชิงแชมป์โลก รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี เป็นครั้งที่ 3 ที่สองหญิงสาวชาวไทยต้องมาชิงชัยกันในการแข่งขันระดับนานาชาติ แต่ครั้งนี้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เหมือนกับสองครั้งก่อนหน้า มิ้งค์ สระบุรี เฉือนเอาชนะ ใบพัด ศรีราชา ไป 5-4 เฟรม คว้าแชมป์ สำหรับการแข่งขันนอกประเทศครั้งแรกในชีวิตของเธอ

“หนูจำความรู้สึกในวันนั้นได้ไม่เคยลืมเลย จริงๆหนูดีใจมาก แต่ตอนชนะตอนแรก หนูไม่ได้แสดงท่าทีดีใจอะไรมาก เพราะเราชนะเพื่อนตัวเอง แต่พอก้มหน้าลงไปเก็บไม้คิว หนูร้องไห้เลย รีบโทรบอกพ่อกับแม่ว่า หนูทำได้แล้วนะ”

 8

แชมป์แรกในระดับสากลของเธอ เป็นเหมือนแรงผลักดัน ยิ่งทำให้เธอต้องการประสบความสำเร็จให้ทั้งตัวเอง และเพื่อเป็นโอกาสหารายได้ให้กับครอบครัว 

ปีถัดมา มิ้งค์ สระบุรี กวาดแชมป์เยาวชนโลก ทั้งในรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี และ 21 ปี รวมไปถึงได้โอกาส เดินทางไปแข่งกีฬาเอเชียน อินดอร์ เกมส์ ประจำปี 2017 ที่ประเทศเติร์กเมนิสถาน ในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทยเป็นครั้งแรกในชีวิต

“ก่อนหน้านี้เวลา หนูไปแข่งกีฬาต่างๆ คือเราไปแข่งในฐานะตัวแทนของชาติ แต่รายการนี้เราคือนักกีฬาทีมชาติ ไปแข่งในรายการที่ยิ่งใหญ่ อย่างเอเชียน อินดอร์ เกมส์ นี่เป็นสิ่งที่หนูภูมิใจมากค่ะ ตั้งแต่แข่งสนุกเกอร์มา สำหรับหนูรายการนี้ คือรายการที่หนูประทับใจ มากที่สุดแล้ว”

มิ้งค์ สระบุรี ลงแข่งขัน กีฬาสนุกเกอร์หญิง ในประเภทหกแดง (มีลูกสนุกเกอร์สีแดง เพียง 6 ลูก จากปกติ 15 ลูก) และคว้าเหรียญทอง เป็น 1 ใน 21 เหรียญทองของทัพนักกีฬาไทยจากการแข่งขันเอเชียน อินดอร์ เกมส์ ปีนั้น...จากจุดเริ่มต้นที่ไม่มีเป้าหมาย มิ้งค์ สระบุรี ได้พบเจอความสุขบนเส้นทางของชีวิตนักสนุกเกอร์ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องผลงานการแข่งขัน 

 9

“สนุกเกอร์ให้อะไรหนูเยอะมาก ให้ตังค์ (หัวเราะ) ให้เพื่อนดีๆ ให้สังคมดีๆ ได้ประสบการณ์ดีๆ ได้เดินทางไปหลายประเทศ”

“อย่างตอนหนูไปเติร์กเมนิสถาน คือหนูชอบมากจริงๆ เป็นการแข่งขันที่ประทับใจมากที่สุด การที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในกีฬาระดับชาติ มันเป็นอะไรที่สนุกมากๆ เราไม่เคยคิดมาก่อนว่า เราจะได้มีโอกาสแบบนี้”

“ที่สำคัญ พอเราทำผลงานได้ดี มันทำให้หนูเปลี่ยนความคิดได้ว่ากีฬาสนุกเกอร์ มันก็เป็นอาชีพได้นะ ใช้เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว ได้เหมือนกีฬาอื่น มันยิ่งทำให้หนูคิดว่า กีฬานี้ก็มีดีไม่แพ้กีฬาไหน”

บททดสอบของแพชชั่น

มิ้งค์ สระบุรี ยังคงรักษาผลงานในระดับเยาวชนได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการคว้าแชมป์เยาวชนโลกหญิง รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี เป็นสมัยที่ 3 ในปี 2018 และคว้าตำแหน่งรองแชมป์ในปี 2019 

 10

ด้วยฝีมือที่เกินอายุ ทำให้มิ้งค์ ไม่ได้แข่งขันแค่เพียงในรุ่นจำกัดอายุเท่านั้น แต่มาลงแข่งในรุ่นทั่วไปด้วย...เมื่อปฏิทินเปลี่ยนผันเข้าสู่ ช่วงปี 2018 มิ้งค์ สระบุรี ทำผลงานคว้าตำแหน่งรองแชมป์วูเมนส์ บริติช โอเพ่น (Womens British Open) ขณะเดียวกันในรายการสนุกเกอร์หญิงสมัครเล่นชิงแชมป์โลก (Women's World Championship) เธอผ่านเข้าไปได้ถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ เช่นเดียวกับ รายการ 10 แดงชิงแชมป์โลกหญิง (Women's 10 Red World Championship) ที่เธอผ่านเข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศ นี่ คือ ความมหัศจรรย์ที่เธอทำได้ด้วยวัยเพียง 18 ปี เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ตลอดการแข่งขัน มากกว่า 10 รายการ กับระดับไม่จำกัดอายุ ในช่วงปี 2018 มิ้งค์ สระบุรี ไปได้ไม่ถึงจุดสูงสุดของการแข่งขันสักรายการเดียว การไปไม่ถึงแชมป์...ทำให้บางครั้งเธอต้องกลับมาสำรวจ ความรู้สึกของตัวเองว่า “กีฬาสนุกเกอร์คือสิ่งที่ใช่สำหรับเธอหรือไม่”? 

 11

“กว่าจะได้แชมป์ แต่ละครั้ง มันเหนื่อยมากนะคะ” มิ้งค์กล่าวอย่างตรงไปตรงมา “สำหรับหนู เบสิค ฝีมือ มันคือสิ่งสำคัญ ก็แล้วแต่คนนะคะ แต่ส่วนตัวหนู ถ้าเราจะเก่ง เบสิค พื้นฐานก็ต้องแน่นก่อน”

“เราต้องฝึกซ้อมเยอะ บางทีมันก็เหนื่อยค่ะ ยิ่งถ้าช่วงที่แพ้บ่อยๆ มันก็ท้อด้วย พอท้อมากๆ เราก็จะมาถามตัวเองว่า เราเล่นสนุกเกอร์ทำไม เล่นเพื่ออะไร เล่นแล้วได้อะไร”

“จริงๆหนูก็รู้อยู่แล้วว่า เล่นสนุกเกอร์แล้วได้อะไร แต่มันเหมือนกับว่า เราถามตัวเองว่า เรายังอยากเล่นต่อไหม”

“แต่ทุกครั้งเวลาท้อหนูก็จะพยายามนึกถึงพวกท่าน (พ่อ-แม่) ไว้ หนูยอมรับว่า หนึ่งในเป้าหมาย ที่หนูเล่นกีฬาสนุกเกอร์ คือต้องการสร้างความั่นคงให้กับพ่อแม่ อยากตอบแทน เลี้ยงดูพวกท่าน เพราะฉะนั้น หนูจะย้ำกับตัวเองว่า เราท้อได้นะ แต่เราจะเลิกหรือถอยไม่ได้”

 13

วงการกีฬาสนุกเกอร์ปัจจุบัน เงินรางวัล แปรผันตรงกับผลงาน เธอจึงต้องทำผลงานให้ดีกว่าที่ผ่านมา และเหมือนว่าครอบครัวจะเป็นพลังที่ดีสำหรับเธอ… 

เดือนมิถุนายน ปี 2019 มิ้งค์ สระบุรี สร้างชื่อด้วยการเป็นคนไทยคนแรก ที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ การแข่งขันสนุกเกอร์หญิงสมัครเล่นชิงแชมป์โลก ไปดวลกับรีแอน อีแวนส์ แชมป์โลกหญิง 11 สมัย 

ถึงผลการแข่งขันจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของหญิงสาวชาวไทย ด้วยสกอร์ 3 - 6 เฟรม แต่กูรูสนุกเกอร์หลายคน ชื่นชมฝีมือของ มิ้งค์ สระบุรี ที่สามารถสร้างความลำบากใจให้อดีตแชมป์โลก ชาวอังกฤษไม่น้อย และเป็นความสำเร็จ ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวของเธอบนเส้นทางของสนุกเกอร์

“หนูมองว่า มันเป็นแรงผลักดันที่ดี ทำให้หนูมีเป้าหมายในการเล่นสนุกเกอร์ต่อไป ในอนาคตหนูต้องการเป็นนักสนุกเกอร์ เบอร์หนึ่งของโลก ในระดับผู้หญิง และต้องล้มรีแอนให้ได้” มิ้งค์กล่าวด้วยรอยยิ้มที่ทรงพลัง 

 15

แพชชั่นเพื่อวงการสนุกเกอร์

มิ้งค์ สระบุรี ในวัย 19 ปี ไม่ได้ต้องการเห็นแค่ตัวเองก้าวไปสู่จุดสูงสุดของวงการสนุกเกอร์หญิงเท่านั้น แต่เธอยังอยากเห็นวงการสนุกเกอร์ไทย เดินหน้าไปพร้อมกันกับเธอ 

 17

“ตอนที่ไปแข่งต่างประเทศครั้งแรก หนูก็มีกลัวๆเหมือนกันว่า เราจะทำได้ดีไหม เราจะสู้ประเทศอื่นได้เหรอ แต่พอหนูไปแข่ง แล้วทำผลงานได้ดี หนูก็คิดว่านักสนุกเกอร์ไทยก็มีศักยภาพไม่แพ้ประเทศไหน”

“เพียงแต่หนูมองว่า นักสนุกเกอร์หลายคน ยังขาดการสนับสนุนให้ไปต่อยอด หลายคนคุณเห็นว่าเขามีฝีมือ แต่ขาดโอกาสสนับสนุน เรื่องค่าใช้จ่าย ไม่มีโอกาสได้ไปแข่งต่างประเทศ ฝีมือก็ไม่ได้พัฒนา” 

“ที่ต่างประเทศ เด็กๆสามารถเข้าถึงกีฬาสนุกเกอร์ได้มากกว่า เขามีมุมมองที่ดีต่อกีฬาสนุกเกอร์ สนับสนุนให้เด็กเล่นกีฬานี้ ส่วนตัวหนูชอบประเทศจีนมาก เพราะเวลาเขาผลักดันให้คนในชาติ เล่นกีฬาอะไร เขาทำอย่างเต็มที่ ตอนนี้ที่จีนกำลังสนับสนุนให้คนหันมาเล่นสนุกเกอร์ เขาก็ปลุกกระแสสุดกำลัง”

“ตอนนี้ที่จีน กีฬาสนุกเกอร์ ดังมาก เด็กจีนก็เก่งมาก อายุ 12-13 แทงไม้เดียว หมดโต๊ะกันได้หมดแล้ว การจัดการแข่งขันก็ยิ่งใหญ่ จัดในฮอลล์ จัดในโรงแรม เดินทางสะดวกสบาย มันต่างกับประเทศไทยเยอะมาก”

19

เป็นภาพที่แตกต่างกับวงการสนุกเกอร์ไทย แม้นักสนุกเกอร์ หลายคน จะทำผลงานได้ดีในเวทีระดับนานาชาติ แต่การสนับสนุนจากสปอนเซอร์ ยังถูกจำกัดอยู่เพียงแค่คนในวงการ ไม่มีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่เข้ามาสนับสนุนมากมาย เหมือนกีฬาประเภทอื่นอย่าง ฟุตบอล, วอลเลย์บอล, กอล์ฟ หรือแบดมินตัน

“หนูเข้าใจดีว่า กีฬาสนุกเกอร์ ไม่ใช่กีฬายอดนิยม แต่หนูเชื่อว่า นักสนุกเกอร์ไทย มีศักยภาพ ไม่แพ้นักกีฬาต่างประเทศ หนูเชื่อว่ากีฬานี้ สามารถพัฒนาต่อไปได้”

“ภาพลักษณ์ของกีฬาสนุกเกอร์ในประเทศไทย ถูกมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุม มีแต่พวกนักเลง เข้ามารวมตัวกัน บางทีละครไทย ก็ชอบฉายภาพพวกนี้ว่าโต๊ะสนุกเกอร์ มีแต่คนที่ไม่ดีเข้าไปอยู่ ซึ่งความเป็นจริง มันไม่ใช่แบบนั้น”

 18

“หนูได้เจอพี่ๆหลายคน เข้ามาเล่นสนุกเกอร์กันทุกวัน จนสงสัยว่า เขามาเล่นกันทำไมบ่อยๆ แต่เขาก็มาเล่น เพื่อคลายเครียด เพื่อความสนุก เหมือนกับกีฬาอื่นๆ”

“หนูแค่อยากให้ สื่อนำเสนอมุมดีๆออกไป เช่น เรื่องความสำเร็จของนักกีฬา เพราะทุกวันนี้ ไม่ค่อยมีสื่อ เสนอภาพพวกนี้ออกไป คนดูจะได้รู้ว่า กีฬานี้ก็มีดี พ่อแม่ผู้ปกครอง จะได้สนับสนุนให้ลูกมาเล่น พอมีภาพลักษณ์ที่ดี มีคนสนใจมากขึ้น สปอนเซอร์ก็จะเข้ามา พอมีสปอนเซอร์ วงการสนุกเกอร์ไทย ก็จะได้พัฒนาขึ้นไปอีก”

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอ มีความคิดอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงวงการสนุกเกอร์ไทย เพราะเธอคือผู้หญิง ที่มาเล่นกีฬาสนุกเกอร์...กีฬานี้มีภาพจำของสังคมว่าเป็นกีฬาของผู้ชายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เด็กสาวอย่างเธอต้องต่อสู้ หาที่ยืนในสังคมสนุกเกอร์มาโดยตลอดในฐานะสตรีตั้งแต่เด็ก

“หนูยอมรับว่า กีฬาสนุกเกอร์หญิง ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าผู้ชาย แม้แต่ในระดับสากล อย่างในไทยจนถึงทุกวันนี้ การแข่งขันสำหรับผู้หญิง ก็ยังแทบไม่มีเลย”

“หนูจะชอบโดนคนถามบ่อยๆว่า คิดยังไงมาเล่นกีฬาสนุกเกอร์ กีฬาของผู้ชายนะ หนูก็ไม่เห็นว่า มันจะเป็นอะไร หนูเชื่อว่า กีฬานี้ ผู้หญิงเล่นได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย”

 20

“คือมันเป็นความคิดของหนู ตั้งแต่เป็นเด็กแล้วว่า ถ้าผู้ชายทำอะไรได้ ผู้หญิงก็ต้องทำได้ เราก็เป็นคนเหมือนกัน มีมือมีเท้า มีสมองเหมือนกัน ต่อให้เราเป็นผู้หญิง แต่ถ้าเราตั้งใจซ้อมอย่างหนัก เราก็ชนะผู้ชายได้ เราเล่นได้ดีเท่าเขา ไม่ได้ต่างกัน”

“หนูอาจจะไม่ได้มีสิทธิ์ มีเสียงเท่ากับผู้ใหญ่ แต่หนูมองว่า ถ้าตัวเองสามารถสร้างผลงานได้ คว้ารางวัลในฐานะคนไทย ช่วยสร้างกระแส ให้คนมาสนใจสนุกเกอร์ ภาพของกีฬานี้ คงดูดีขึ้น หนูคิดว่านี่คือสิ่งที่หนูทำได้”

“เพราะความฝันของหนู คือ ต้องการเห็นกีฬาสนุกเกอร์ ได้รับการยอมรับในสังคมไทย”

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ "มิ้งค์ สระบุรี" : รองแชมป์โลกหญิงวัย 19 ปี ที่อยากให้สังคมเห็นอีกมุมของกีฬาสนุกเกอร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook