ทำไม "ติมอร์ เลสเต" จึงโอนสัญชาติ และปลอมแปลงเอกสารให้นักฟุตบอลได้ง่ายดายนัก?

ทำไม "ติมอร์ เลสเต" จึงโอนสัญชาติ และปลอมแปลงเอกสารให้นักฟุตบอลได้ง่ายดายนัก?

ทำไม "ติมอร์ เลสเต" จึงโอนสัญชาติ และปลอมแปลงเอกสารให้นักฟุตบอลได้ง่ายดายนัก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นเรื่องที่พูดถึงไปทั่ววงการฟุตบอลอาเซียน สำหรับติมอร์ เลสเต ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ เปาโล โดมิงโก กัลลี เฟรตาส กัปตันทีมรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ถูกกล่าวหาว่าโกงอายุ หลังหน้าตาและชื่อดันไปละม้ายคล้ายคลึงกับนักเตะของทีมชุดใหญ่ที่ตอนนี้อายุ 22 ปีไปแล้ว แถมยังเกิดเดือนเดียวกันอีกต่างหาก

แม้สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน หรือเอเอฟเอฟ จะออกมายืนยันว่านักเตะคนดังกล่าวเพียงแค่ “หน้าเหมือน” และเป็นนักเตะคนละคนกัน แต่สังคมก็ยังเคลือบแคลงใจกับข้อเท็จจริง 

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาถูกตั้งข้อครหา เพราะก่อนหน้านี้ ติมอร์ เลสเต ก็เคยมีปัญหา จากคดีโอนสัญชาตินักฟุตบอลบราซิล ซึ่งเป็นหนึ่งในคดีโด่งดังของฟุตบอลอาเซียน ที่ทำให้พวกเขาต้องถูกแบนจากการแข่งขันเอเชียนคัพรอบ คัดเลือก

 

เกิดอะไรกับประเทศนี้ เหตุใดพวกเขาจึงต้องทำขนาดนั้น ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

สมาชิกล่าสุดของอาเซียน 

ติมอร์ เลสเต เป็นหนึ่งในประเทศเกิดใหม่ของโลกศตวรรษที่ 21 ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส จนถึงปี 1975 ก่อนถูกปกครองโดยอินโดนีเซียหลังจากนั้น และเพิ่งได้รับเอกราชเมื่อปี 2002 ที่ผ่านมา

 1

สมาคมฟุตบอลของพวกเขาก่อตั้งขึ้นในปีเดียวกับปีที่ได้รับอิสรภาพ และเข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) ในปีต่อมา ทำให้ได้สิทธิ์ลงเล่นในศึกเอเชียนคัพ รอบคัดเลือกในปี 2003 ซึ่งถือเป็นการแข่งขันนัดแรก อย่างเป็นทางการของพวกเขา ก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่าในปี 2005 ทำให้สามารถลงแข่งในเกมการแข่งขันระดับชาติได้ทุกรายการ 

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ยังเป็นหน้าใหม่ในวงการฟุตบอล ทำให้ในช่วงแรก ติมอร์แปรสภาพเป็นกระสอบทรายให้คู่แข่งยำเล่น พวกเขาเคยแพ้ไทยถึง 0-8 ในฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนเมื่อปี 2004 และโดนฮ่องกงถล่มถึง 1-8 ในฟุตบอลโลกรอบ 2010 คัดเลือก เมื่อปี 2007 และไม่สามารถเก็บชัยชนะได้เลยแม้แต่นัดเดียว ตลอด 9 ปีแรกในการแข่งขันระดับชาติ 

แต่จุดเปลี่ยนก็มาเกิดขึ้นในปี 2012 ในเกมรอบคัดเลือกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน หรือที่รู้จักกันในชื่อใหม่ว่า “ซูซูกิ คัพ” เมื่อติมอร์ สามารถเก็บชัยชนะนัดแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยการบุกไปไล่ถล่ม กัมพูชาอย่างขาดลอย 5-1

 2

จากนั้น ติมอร์ ก็ไม่ใช่ขนมหวานสำหรับคู่แข่งอีกต่อไป พวกเขากลายเป็นทีมที่เอาชนะได้ยากขึ้น และไม่โดนถล่มเหมือนในอดีต ในรอบคัดเลือกซูซูกิคัพ 2014 แม้ว่าจะไม่ได้ผ่านเข้ารอบ แต่พวกเขาก็เก็บได้ถึง 4 คะแนน จากผลชนะ 1 เสมอ 1 แพ้ 2 ยิงคู่แข่งไปถึง 6 ประตู เท่ากับ เมียนมา หนึ่งในทีมที่ได้ผ่านเข้ารอบ และเสียไป 7 ประตูเท่านั้น 

ความยอดเยี่ยมของติมอร์ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อในปี 2015 พวกเขาเขียนตำนานบทใหม่ขึ้นมา ด้วยการผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก รอบแบ่งกลุ่มเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังเอาชนะ มองโกเลีย ด้วยสกอร์รวม 5-1 

พวกเขายังสามารถเก็บคะแนนแรกในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ด้วยการบุกไปเสมอกับมาเลเซีย 1-1 และพ่ายต่อสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยักษ์ใหญ่ของเอเชียแค่เพียงลูกเดียว แต่นั่นก็เพียงพอ ที่ทำให้เอเชียได้รู้ว่าพวกเขาไม่ใช่สมันน้อยอีกต่อไป 

โดยกุญแจสำคัญที่ทำให้พวกเขาพัฒนาขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดก็คือนักเตะโอนสัญชาติ

แซมบ้าน้อยแห่งเอเชีย 

นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ติมอร์ ได้นำเข้านักเตะบราซิลโอนสัญชาติเข้ามาเล่นให้กับทีมชาติของพวกเขาอย่างไม่ขาดสายนับ 10 ราย ไม่ว่าจะเป็น มูริโย เด อัลเมกา ที่ยิงสองประตูในนัดถล่มกัมพูชา รามอน ซาโร ผู้ยิงตีเสมอมาเลเซีย หรือ พาทริค ฟาเบียโน ต่างมีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาใต้แทบทั้งสิ้น 

 3

พวกเขาเหล่านี้ได้กลายเป็นความหวังให้กับวงการฟุตบอลติมอร์ เมื่อมีนักเตะโอนสัญชาติถึง 7 คนออกสตาร์ทเป็นตัวจริง และอีก 8 คนบนม้านั่งสำรองในเกมพบยูเออี ในศึกฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ซึ่งนักเตะเหล่านี้ต่างมีส่วนทำให้ติมอร์ ที่เคยเกือบจะรั้งอันดับสุดท้ายในตารางฟีฟ่า เวิลด์แรงกิง เมื่อปี 2012 ทะยานขึ้นมาถึง 60 อันดับในเดือนมิถุนายน 2015 

แต่ปัญหา คือ พวกเขามาได้อย่างไร? 

แม้ว่าการแปลงสัญชาติ เพื่อลงเล่นให้กับชาติที่ไม่ใช่บ้านเกิด จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในโลกลูกหนัง ในอดีตมีนักเตะมากมาย ที่ไปเล่นให้กับชาติอื่น ไม่ว่าจะเป็น ลุยส์ มอนติ ที่เคยลงเล่นในฟุตบอลโลกให้กับทั้งอาร์เจนตินา และอิตาลี, อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน ที่เล่นให้ทั้งทีมชาติโคลอมเบีย, อาร์เจนตินา และสเปน หรือ รุย รามอส เพลย์เมกเกอร์ชาวบราซิลที่ไปเล่นให้กับญี่ปุ่น 

หรือแม้กระทั่ง มิเชล พลาตินี อดีตกองกลางระดับพระกาฬของทีมชาติฝรั่งเศส และอดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ครั้งหนึ่งก็เคยได้รับเชิญให้ไปเล่นให้กับทีมชาติคูเวตในเกมกระชับมิตรมาแล้ว

อย่างไรก็ดี หลังจากโตโก และกาตาร์ใช้ประโยชน์ของกฎการโอนสัญชาติ อิมพอร์ทนักเตะต่างชาติมาเล่นให้กับทีมชาติของพวกเขาเป็นกองทัพ ฟีฟ่า จึงจำเป็นต้องออกระเบียบใหม่มาสกัดกั้น 

จากกฎใหม่ของฟีฟ่าระบุว่า ผู้เล่นที่จะสามารถเปลี่ยนทีมชาติไปเล่นให้กับอีกชาติหนึ่ง จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในประเทศนั้น อย่างน้อย 5 ปี นับตั้งแต่อายุ 18 ปีเป็นต้นไป หรือมีพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ที่เป็นคนของประเทศนั้น 

 4

แต่สำหรับ ติมอร์ ผู้เล่นชาวบราซิลของพวกเขาในชุดปี 2015 แทบไม่มีคนไหนที่ใช้ชีวิตหรือค้าแข้งอยู่ในติมอร์ เลยแม้แต่คนเดียว พวกเขาต่างกระจายกันค้าแข้งอยู่ในบราซิล, โบลิเวีย, เม็กซิโก, โปรตุเกส, ยูเออี และคูเวต 

ส่วนเรื่องเชื้อสายจากบรรพบุรุษ ก็เป็นไปได้น้อยมาก แม้ว่าจริงอยู่ที่ติมอร์ จะเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาก่อน แต่ในอดีตที่ผ่านมา แทบจะไม่มีการอพยพไปมาระหว่างสองประเทศนี้

“จนถึงปี 2000 ผมสามารถพูดได้ว่าไม่มีการอพยพเกิดขึ้น และนับตั้งแต่ตอนนั้นจำนวนก็น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะผ่านการแต่งงาน” ดาเมียน คิงบิวรี ศาสตราจารย์จากเมลเบิร์น ที่เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองและความมั่นคง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะติมอร์กล่าวกับ VICE 

อแมนดา ไวซ์ ผู้เชี่ยวชาญจากซิดนีย์ อคาเดมิค เขียนไว้ในปี 2004 ว่าในปีที่ติมอร์ ประกาศเอกราช มีชาวติมอร์ 20,000 คนอพยพไปออสเตรเลีย อีกครึ่งหนึ่งของจำนวนนั้นไปอยู่โปรตุเกส, มาเก๊า และโมซัมบิก รวมไปถึงแคนาดา และอเมริกา ส่วนบราซิล มีรายงานว่ามีเพียงแค่ 500 คนเท่านั้น  

“กระแสนักเตะโอนสัญชาติจากบราซิลมักจะฟังดูน่าสงสัยเสมอในฟุตบอล” อองตวล ดูวัล นักวิจัยอาวุโส จากสถาบัน Asser เพื่อกฎหมายระหว่างประเทศและยุโรปกล่าวกับ VICE 

“มันอาจจะมีโอกาสที่นักเตะที่กำลังถูกสงสัยใช้ชีวิตอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี หลังจากอายุ 18 ปีบนดินแดนติมอร์ แต่นั่นก็ดูจะเกิดขึ้นได้ยาก และไม่ว่ากรณีไหน หากนักเตะที่กำลังถูกตั้งข้อสงสัยยังอายุไม่ถึง 23 ปี การได้มาซึ่งสัญชาติใหม่ ก็จะไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ (เรื่องเชื้อสาย)” 

และสิ่งที่หลายคนเคลือบแคลงใจ ก็ได้กระจ่างชัดขึ้นมาเมื่อปี 2017

ทั้งแบนทั้งปรับ 

ผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องของติมอร์ ตั้งแต่หลังปี 2012 เรื่อยมาจนถึงฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 2018 ที่เตะกันในช่วงปี 2015 ทำให้พวกเขาได้รับความสนใจจากนานาประเทศ ถึงพัฒนาการที่ก้าวกระโดด 

 5

แม้มันจะส่งผลดีต่อติมอร์ แต่สำหรับคู่แข่งของพวกเขาไม่คิดแบบนั้น เมื่อการใช้นักเตะโอนสัญชาติ ทำให้พวกเขาเสียเปรียบ และหากเป็นนักเตะที่ได้มาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้

ปาเลสไตน์ หนึ่งในเพื่อนร่วมกลุ่มของติมอร์ จึงได้ยื่นเรื่องให้ฟีฟ่าและเอเอฟซี ตรวจสอบคุณสมบัตินักเตะโอนสัญชาติของคู่แข่งพวกเขา เมื่อมีนักเตะชาวบราซิลอยู่ในทีมถึง 16 คนในเกมพบกับปาเลสไตน์ ก่อนที่ความจริงจะถูกเผยออกมา 

มกราคม 2017 เอเอฟซีออกแถลงการณ์ระบุว่าสมาคมฟุตบอลติมอร์ ได้ทำผิดเรื่องการโอนสัญชาตินักเตะบราซิลจริง โดยใช้การปลอมแปลงเอกสารทางการแพทย์ เกี่ยวกับตัวตนพ่อแม่ของพวกเขา และมีผู้เล่นทำผิดในคดีนี้ถึง 12 ราย 

“เอกสารที่ส่งให้เอเอฟซี แสดงให้เห็นว่านักฟุตบอลเหล่านี้สามารถลงเล่นให้กับทีมชาติติมอร์ เลสเต เนื่องจากพ่อหรือแม่ หรือทั้งคู่เกิดที่ติมอร์ เลสเต เราพบว่าสิ่งเหล่านี้ถูกปลอมแปลงขึ้น” แถลงการณ์จาก เอเอฟซี 

“การสอบสวนยังพบว่านักฟุตบอลเหล่านี้ยังไม่ใช่พลเมืองติมอร์ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย”  

นักเตะชุดดังกล่าว ล้วนเป็นนักเตะที่อยู่ในทีมชุดประวัติศาสตร์ ทั้งเกมคว้าชัยเหนือกัมพูชาในปี 2012 และเกมเอาชนะมองโกเลีย ในฟุตบอลรอบคัดเลือก 2015 รวมไปถึงเฮแบร์ตี้ แฟร์นันเดส และ ธิอาโก คุนญา สองแข้งจากไทยลีก ที่แม้จะไม่เคยเล่นให้กับทีมชาติติมอร์ แต่ได้รับสัญชาติเช่นกัน  

 6

จากผลดังกล่าวทำให้ เอเอฟซี สั่งแบนติมอร์ ออกจากการแข่งขันฟุตบอลเอเชียนคัพ 2023  รอบคัดเลือก พร้อมปรับเงินอีกจำนวน 20,000 USD (หรือประมาณ 7 แสนบาท) ในขณะที่ อมานดิโอ เด อเราโญ เลขาธิการสมาคมฯ ถูกแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอลเป็นระยะเวลา 3 ปี และปรับเงิน 9,000 USD (หรือประมาณ 3 แสนบาท) ส่วน เจลาซิโอ เด ซิลวา คาร์วัลโญ ผู้ร่วมขบวนการถูกปรับเงิน 3,000 USD (หรือประมาณ 1 แสนบาท) 

นอกจากนี้เกมที่ติมอร์ ลงเล่นโดยมีนักเตะที่ผิดกฎลงสนาม จะถูกปรับแพ้ทั้งหมด และทางสมาคมฯ ยังต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 56,000 USD  (ประมาณ 2 ล้านบาท) และห้ามลงแข่งขัน 2 ปี 

แน่นอนว่าพวกเขารู้ดีว่า ความผิดที่เกิดขึ้นจะต้องได้รับโทษสถานหนัก แต่อะไรที่ทำให้พวกเขา ยังเลือกทำแบบนี้?

ฟุตบอลสร้างชาติ 

ติมอร์ คือ ประเทศใหม่ในเวทีนานาชาติ ด้วยประชากรราว 1 ล้านคน บนพื้นที่ขนาด 15,000 ตารางกิโลเมตร ที่เทียบเท่าได้กับจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้พวกเขาพยายามสร้างชาติให้แข็งแกร่งหลังได้รับเอกราชเมื่อปี 2002 

 7

นอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจ และความมั่นคงเพื่อปากท้องและความเป็นปึกแผ่น พวกเขายังพยายามพัฒนาวงการฟุตบอล เพื่อหวังช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนในประเทศ โดยใช้กีฬาเป็นสื่อกลาง  

อย่างไรก็ดี เนื่องจากทรัพยากรที่จำกัด ทำให้ติมอร์ จึงต้องงัดแผนเด็ด ด้วยการอิมพอร์ทผู้เล่นต่างชาติ เข้ามาสร้างความแข็งแกร่ง และนักเตะชาวบราซิล ชาติที่เป็นเหมือนโรงงานผลิตนักฟุตบอล ก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด 

ตั้งแต่ปี 2012 มีนักเตะบราซิลมากมายโอนสัญชาติมาเล่นให้กับทีมชาติติมอร์ โดยพวกเหล่านี้อาศัยสายสัมพันธ์ของโค้ช หรือเจ้าหน้าที่ทีม หลังจากย้ายมาเล่นในเอเชีย 

พาทริค ฟาเบียโน ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาคือนักเตะจอมพเนจรที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า พาทริค อัลเวส เขาเคยมาเล่นกับ อัล นัสร ในลีกคูเวตเมื่อปี 2009 และได้รับสัญชาติติมอร์ ตอนที่ค้าแข้งให้กับสโมสรในตะวันออกกลาง 

“ผมได้รับคำเชิญจากพวกเขา (สมาคมฟุตบอลติมอร์) พวกเขาก็บอกว่า ‘เราจะให้พาสปอร์ตคุณ คุณเพียงเล่นให้เรา เราชื่นชอบในสไตล์ฟุตบอลของคุณ เราต้องการกองหน้าอย่างคุณ’” ฟาเบียโนกล่าวกับ New York Times 

 8

นอกจากนี้ การโอนสัญชาติของนักเตะบราซิล ไม่เพียงจะเป็นผลดีแง่ทางลัดในการสร้างความแข็งแกร่งต่อทีมชาติติมอร์เท่านั้น ในทางกลับกัน ตัวนักเตะเองก็ได้รับผลประโยชน์ไม่น้อยจากกรณีนี้ไม่น้อย 

ตามปกติแล้ว ในลีกของเอเชีย นอกจากโควต้าผู้เล่นต่างชาติ ในแต่ละลีกมักจะมีโควต้าของผู้เล่นเอเชีย อย่างน้อยลีกละ 1 คน และเมื่อผู้เล่นบราซิลเหล่านี้ได้สัญชาติติมอร์ ทำให้พวกเขาไม่ต้องไปแย่งชิงโควต้าต่างชาติกับผู้เล่นต่างชาติจากทวีปอื่นๆ  

ก่อนที่พวกเขาจะโดนริบสัญชาติติมอร์คืน นักเตะบราซิลเหล่านี้ เล่นให้กับหลายทีมในลีกยูเออี ในโควต้าเอเชีย หนังสือเดินทางของพวกเขา มีส่วนในการตัดสินใจในการเซ็นสัญญาของต้นสังกัด ตัวอย่างเช่น ตอนที่ ไดโอ คาเนโด จะย้ายมาเล่นให้กับ อัล วาเซิล ในลีกยูเออี ทีมดังของดูไบ ถึงขนาดรอให้เขาได้พาสปอร์ตติมอร์ก่อน ถึงจะคว้าตัวมาร่วมทีม 

แต่ไม่ใช่ว่าทุกคน จะเห็นด้วยกับทางลัดแบบนี้

แพ้อย่างขาวสะอาดดีกว่าชนะอย่างสกปรก 

“พวกนักเตะบราซิล พวกเขาเพียงแค่มาและอยู่ที่นั่นแค่วันเดียว จากนั้นพวกเขาก็จะได้หนังสือเดินทางติมอร์และสามารถเล่นให้กับทีมชาติ” โจเซ ลุนส์ เด โอลิเวียรา ผู้จัดกิจกรรมกลุ่มฟุตบอลท้องถิ่น Amantes Bola กล่าวกับ New York Times 

 9

Amantes Bola คือกลุ่มที่เรียกร้องให้ตรวจสอบเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2015 พวกเขามองว่าแม้ว่านักเตะโอนสัญชาติบราซิลเหล่านี้อาจจะทำให้ติมอร์ เข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกได้ แต่การใช้นักเตะบราซิล ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์พลเมืองของติมอร์ 

“เราควรจะแพ้ด้วยเด็กของเราเอง มากกว่าชนะด้วยนักเตะต่างชาติ และมันยิ่งเลวร้ายไปอีกเมื่อเราแพ้ แม้ว่าเราจะใช้นักเตะต่างชาติเหล่านี้ก็ตาม” อเล็กซ์ มิลแมน แฟนบอลของติมอร์ กล่าวกับ New York Times 

เช่นเดียวกับ เฟอร์นันโด ดา เอ็นคาร์นาเกา ประธานสโมสร สปอร์ ดิลี เอ เบนฟิกา ทีมจากเมืองหลวงติมอร์ ให้ความเห็นว่าวิธีของสมาคมฯ เป็นการปิดกั้นนักเตะท้องถิ่น ไม่ให้ได้เข้าสู่ทีมชาติ 

“นักเตะบราซิลเหล่านี้ไม่ได้ลงเล่นให้กับการแข่งขันในประเทศ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ได้เพิ่มและมีส่วนในการปรับปรุงมาตรฐานหรือระดับการเล่นของติมอร์เลย” เอ็นคาร์นาเกา กล่าว 

แม้ว่าติมอร์ เคยโดนลงโทษไปแล้วจากคดีโอนสัญชาติ ตั้งแต่ปี 2017 แต่พวกเขาก็เพิ่งตกเป็นข้อครหาครั้งใหม่ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนรุ่นไม่เกิน 15 ปี 2019 ที่ไทยเมื่อ เปาโล โดมิงโกส กาลี ดา คอสตา เฟรตาส กัปตันทีมของพวกเขา ถูกกล่าวหาว่าน่าจะอายุ 22 ปีแล้ว 

 10

เฟรตาส ที่ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ด้วยการซัดไป 7 ประตูและนำเดี่ยวเป็นดาวซัลโวในรายการนี้ เขามีใบหน้าและชื่อที่คล้ายกับหนึ่งในผู้เล่นของทีมชุดเอเอฟเอฟซูซูกิ คัพ เมื่อปี 2018 และรายการชิงแชมป์อาเซียน รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปีเมื่อปีที่ผ่านมา 

“สำหรับเฟรตัส ผมเคยบอกว่าเขามีบัตรประชาชนสองใบ เนื่องจากผู้เล่นไม่จำเป็นต้องตรวจมวลกระดูกเพื่อรับรองอายุในรายการนี้” มาเนียม ปะชัยอับพัน โค้ชของทีมชาติมาเลเซีย ให้ความเห็นกับ New Straits Times

ล่าสุดฝ่ายจัดการแข่งขันของเอเอฟเอฟ ได้เข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้ และยืนยันว่า เฟรตาส ไม่ได้อายุเกินเพียงอย่างใด แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าแคลงใจเมื่อพบว่า เฟรตาส มีเดือนเกิดเดือนเดียวแต่คนละปีกับนักเตะที่มีหน้าตาเหมือนเขา แถมรูปที่ใช้ลงทะเบียนในรายนี้ยังเป็นรูปเดียวกันที่ใช้ในการแข่งขันซูซูกิ คัพเมื่อปีที่แล้ว 

 11

ต้องรอดูว่าพวกเขาจะพิสูจน์ตัวเองอย่างไร เพราะถ้าหากผิดจริง นี่จะเป็นความผิดในเรื่องปลอมแปลงเอกสารอีกครั้งนับตั้งแต่คดีโอนสัญชาติผู้เล่นบราซิล ที่อาจจะทำให้พวกเขาถูกลงโทษหนักจากความผิดซ้ำสอง 

และแทนที่วงการฟุตบอลติมอร์ จะได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องเหมือนกับชาติอื่น อาจจะต้องหยุดชะงักอีกครั้ง เพียงเพราะการกระทำจากน้ำมือของตัวเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook