สถิติที่ช็อคโลก : นักวิ่งพาราลิมปิกวิ่งเร็วกว่าเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกได้อย่างไร?

สถิติที่ช็อคโลก : นักวิ่งพาราลิมปิกวิ่งเร็วกว่าเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกได้อย่างไร?

สถิติที่ช็อคโลก : นักวิ่งพาราลิมปิกวิ่งเร็วกว่าเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกได้อย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อปี 2016 มีสิ่งที่เหลือเชื่อเกิดขึ้นในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกของผู้พิการ หรือ พาราลิมปิก เกมส์ เมื่อนักวิ่งชาย 4 คนที่มีความพิการทางสายตา ทำสถิติวิ่งในระยะ 1,500 เมตรได้ดีกว่านักวิ่งเหรียญทองโอลิมปิกที่เพิ่งแข่งจบไปก่อนหน้านี้ 1 เดือน...

อับเดลลาติฟ บาก้า นักวิ่งจาก แอลจีเรีย คือคนที่วิ่งเข้าเส้นชัยคนแรกในวันนั้น ด้วยเวลาที่เร็วกว่านักวิ่งเหรียญทองโอลิมปิกเกือบ 2 วินาที ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นเลยบนโลกนี้ที่ผู้พิการสามารถทำผลงานในการแข่งกีฬาได้ดีกว่าคนปกติ ... เขาเร็วกว่าใครได้อย่างไร และนักวิ่งพาราลิมปิกทั้ง 4 คน ทำสถิติเหนือนักวิ่งเหรียญทองโอลิมปิกด้วยวิธีไหนกัน

 

1,500 เมตรประวัติศาสตร์และการท้าทายโอลิมปิก 

อับเดลลาติฟ บาก้า เป็นนักวิ่งผู้มีความพิการทางสายตาประเภท T13 ชาวแอลจีเรีย โดย T13 คือประเภทของนักกีฬาที่มีความบกพร่องทางสายตาปานกลาง แม้คนที่ถูกจัดมาอยู่ในหมวดนี้จะมีความบกพร่องทางสายตาหลายระดับ แต่โดยทั่วไปสามารถรับรู้รูปทรงจากระยะ 2-6 เมตร และไม่จำเป็นต้องมีรันนิ่งไกด์ หรือผู้ที่วิ่งประกบช่วยแต่อย่างใด

 1

ตัวของเขานั้นถือว่าคนที่มีความบกพร่องตั้งแต่เกิด ทว่าได้รับการฝึกฝนเรื่องการวิ่งอย่างจริงจังตั้งแต่อายุ 11 ปีเท่านั้นจากพี่ชายของเขา และหลังจากนั้นมาเขาก็เริ่มลงแข่งขันการวิ่งระยะ 1,500 เมตรอยู่เรื่อยมาทั้งการแข่งชิงแชมป์โลกผู้พิการ และรวมไปถึงในพาราลิมปิกด้วย 

อย่างไรก็ตามแม้เขาจะวิ่งเร็วแค่ไหน ชนะมากเท่าไหร่ แต่ความจริงก็คือพื้นที่บนหน้าสื่อมีจำกัดสำหรับนักกีฬาผู้พิการ ตัวของ บาก้า นั้นลงแข่งมาตั้งแต่ปี 2013 แต่ก็ไม่มีชื่อเสียงมากนัก จนกระทั่งในพาราลิมปิก 2016 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร ชื่อเสียงของเขาก็ดังระเบิดขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ

ประเด็นที่น่าสนใจคือเขาลงแข่งขันในระยะ 1,500 เมตร ก่อนจะสามารถคว้าเหรียญทองด้วยการทำเวลาไป 3 นาที 48.29 วินาที ซึ่งสถิติดังกล่าวสร้างความตกตะลึง เพราะก่อนหน้านั้นเพียงเดือนเดียว แม็ทธิว เซนโทรวิตซ์ จูเนียร์ นักวิ่งชาวสหรัฐอเมริกาเพิ่งคว้าเหรียญทอง โอลิมปิก ริโอ เกมส์ ในระยะทางเท่ากัน 1,500 เมตร ด้วยเวลา 3 นาที 50.00 วินาที 

แน่นอนหากเอาสถิติมาเทียบกัน บาก้า นั้นเร็วกว่าคนปกติเสียอีก และทำให้หลายคนเข้าใจว่าเหรียญทองของ พาราลิมปิก มีประสิทธิภาพยิ่งกว่า โอลิมปิก เพราะนอกจากเวลาของอันดับ 1 อย่าง บาก้า จะเร็วกว่าแล้ว ผู้เข้าเส้นชัยในพาราลิมปิกในอันดับ 2, 3 และ 4 ได้แก่ เหรียญเงิน ทามิรุ เดมิสเซ (เอธิโอเปีย) 3 นาที 48.49 วินาที และเหรียญทองแดง เฮนรี เคียร์วา (เคนยา) 3 นาที 49.59 วินาที รวมถึงอันดับ 4 โฟอัว บากา (แอลจีเรีย) 3 นาที 49.84 วินาที ก็ยังทำเวลาดีกว่าเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกทั้งสิ้น 

 2

ชัยชนะของ บาก้า ทำให้เขามีใจสู้ขึ้นมาอีกหลายระดับ จนถึงตอนนี้ผ่านมาแล้ว 3 ปี เจ้าตัวพยายามฝึกให้หนักยิ่งกว่าเดิมและพยายามจะก้าวข้ามความบกพร่องของตัวเอง ซึ่งตอนนี้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อเพราะเขาหวังถึงการแข่งขันกับคนธรรมดาในโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวที่จะถึงนี้แล้ว

"ตลอดชีวิตผมไม่เคยมีอะไรง่ายสักอย่าง" นักวิ่งผู้พิการทางสายตาวัย 25 ปีกล่าว "โตเกียว 2020 คือความท้าทายครั้งใหม่ของผม" ขณะที่โค้ชของเขายืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่าเป้าหมายของ บาก้าในตอนนี้ไม่ใช่พาราลิมปิกเกมส์อีกแล้ว 

เรื่องดังกล่าวสร้างความสงสัย เพราะแต่เดิมนั้นทุกคนเชื่อว่านักกีฬาในโอลิมปิกนั้นย่อมมีประสิทธิภาพในการแข่งขันมากกว่านักกีฬาผู้พิการอยู่แล้ว ด้วยความพร้อมด้านร่างกายและการสนับสนุนต่างๆ ดังนั้นเมื่อมีผู้พิการทางสายตาวิ่งเร็วกว่านักกีฬาปกติ จึงมีการสืบค้นขึ้นว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไรกันแน่?

ประสาทสัมผัสที่ทดแทน 

"หนึ่งในสิ่งที่ผู้คนเข้าใจผิดมาตลอดเลยคือคนตาบอดไม่สามารถเป็นนักกีฬาที่ดีได้ แต่ความจริงแล้วพวกเขารวดเร็วมาก, พวกพยายามหาความรู้ และ พวกเขามีความมุ่งมั่นที่รุนแรงมาก" เจโรม เอเวอรี่ นักวิ่งไกด์ของ เดวิด บราวน์ นักวิ่งระยะสั้น (100 เมตร) ผู้พิการทางสายตาของทีมชาติสหรัฐอเมริกา บอกเล่าถึงสิ่งที่เขาได้พบเจอมาตลอดอาชีพของเขา

 3

เอเวอรี่ นั้นเคยเป็นนักวิ่งอาชีพและพยายามไปโอลิมปิก ทว่าเขาคัดตัวไม่ผ่านไปแข่งขันในปี 2004 ที่ เอเธนส์ เขาจึงเริ่มหันเหมาเป็นนักวิ่งสายนำทางตั้งแต่นั้นมา ด้วยการที่คลุกคลีกับนักวิ่งตาบอดมาแล้วกว่า 15 ปี เจ้าตัวเผยว่าสิ่งที่ต่างกันของนักกีฬา 2 ประเภทคือการมองเห็นเท่านั้น ส่วนร่างกายส่วนอื่นๆ แทบไม่ต่างกันหรือเฉือนกันแค่ปลายจมูกเท่านั้นเอง 

หลายคนคงเคยได้ยินว่าคนตาบอดนั้นจะมีความสามารถในการรับรู้อื่นๆ อย่างเช่นการออกเสียงและการฟังได้ดีกว่าคนปกติ ซึ่งเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะเกิดจากการใช้ประสาทสัมผัสนั้นๆ มากกว่าคนปกติหลายเท่า และนานวันเข้าจึงกลายเป็นความชำนาญที่ยากจะหาคนเลียนแบบได้ แต่สำหรับแข่งขันวิ่งนั้น คนตาบอดจะสามารถเร็วกว่าคนปกติได้อย่างไร?

หากมองดูผิวเผินแล้วมันอาจจะดูเหมือนเทพนิยายแห่งความดิ้นรน จากความลำบากสู่ความพยายามและจิตวิญญาณที่ไม่เคยย่อท้อของมนุษย์ อย่างไรก็ตามมันมีอะไรมากกว่าแค่เรื่องของใจ เพราะสำหรับคนตาบอดแล้วพวกเขาเองก็มีข้อได้เปรียบเหนือกว่าคนธรรมดาอยู่...

สิ่งหนึ่งที่เหนือกว่าชัดเจนคือเรื่องของสมาธิ การวิ่งระยะ 1,500 เมตรนั้นไม่เหมือนกับการวิ่งระยะสั้นที่ได้ยินเสียงปืนปังเดียวแล้วสับเท้าให้เร็วที่สุดเพื่อเข้าเส้นชัย แต่ 1,500 เมตรถือเป็นการวิ่งระยะกลางและนักกีฬาหลายคนต่างรู้ว่ามันเป็นการวิ่งที่ต้องอาศัยการวางแผนตลอด ไม่ต่างจากการเดินหมากรุก พวกเขาจะวางแผนว่าเมื่อถึงระยะไหนควรเร็ว ระยะใดควรผ่อน และแท็คติกนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการแข่งขันแต่ละครั้ง

"ผมออกกำลังกายเสร็จแล้ว ผมยังพักไม่ได้เพราะหลังจากนั้นผมต้องซ้อมเรื่องแท็คติกและการวางแผนสำหรับการแข่งขันต่ออีก" แมทธิว เซนโทรวิตซ์ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกยืนยันถึงเรื่องนี้  

 4

สำนักข่าว India Today วิเคราะห์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า คนตาบอดมีสมาธิสูงกว่าคนปกติมากโดยเฉพาะตอนวิ่ง พวกเขาลองเอากรณีของ อับเดลลาติฟ บาก้า นักวิ่ง พาราลิมปิก จาก แอลจีเรีย ไปเทียบกับนักวิ่งสไตล์ "โชว์แมน" หรือ นักเอ็นเตอร์เทน และพบว่ามันแตกต่างกันมาก 

ยกตัวอย่าง ยูเซน โบลท์ มนุษย์ที่วิ่งได้เร็วที่สุดในโลกนั้นมักจะมีภาษากายที่จะทำให้กองเชียร์ตื่นเต้นตั้งแต่ยังไม่ออกวิ่ง และเมื่อเขาออกสตาร์และเริ่มทิ้งห่าง โบลท์ นั้นมักจะรักษาคาแร็คเตอร์ด้วยการหันกลับไปมองคู่แข่งและยิ้มให้แบบสบายใจก่อนจะเข้าเส้นชัย ทว่าสำหรับคนตาบอดนั้นไม่มีอะไรแบบนั้นเลย การวิ่งของ บาก้า แสดงให้เห็นถึงสมาธิถึงขีดสุด เขาเป็นผู้เข้าแข่งขันที่เกาะกลุ่มใหญ่ตั้งแต่เริ่ม แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้นำ ทว่าเมื่อสัญญาณระฆังรอบสุดท้ายดัง (เหลืออีก 400 เมตรก่อนเข้าเส้นชัย) เขาจะเริ่มวิ่งเร็วเหมือนกับลมพัด จนตามคนอื่นๆ ทันและแซงหน้าเข้าที่ 1 ไปในที่สุด

 5

โดยเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะสิ่งที่เขาสัมผัสและรับรู้คือเสียงของฝีเท้ากับลมหายใจเข้า-ออกของตัวเอง และจากเสียงลมหายใจนั้นเองทำให้เขารู้เสมอว่าตอนนี้ยังเพิ่มความเร็วได้อีกเท่าไหร่ หรือควรจะเก็บแรงไว้ก่อนดี นักวิ่งตาบอดมีเวลาวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้เยอะเพราะแทบไม่มีสิ่งเร้าใดรบกวนพวกเขาเลยทั้งคู่แข่งรอบข้าง ผู้ชมในสนาม หรือแม้แต่ภาพของตัวเองวิ่งผ่านไฮไลต์จอยักษ์ ดังนั้นพวกเขาจึงมีโอกาสโฟกัสไปที่ตัวเองเยอะมาก และมีแนวโน้มที่จะทำตามแผนที่วางไว้ได้ดีกว่า

แผนและการแข่งขันที่แตกต่าง 

อย่างไรก็ตามแม้จะมีข้อได้เปรียบด้านสมาธิและการทำตามแผน ทว่าการแข่งขันของคนปกติในโอลิมปิกและคนตาบอดในพาราลิมปิกนั้นมีการวางแผนที่แตกต่างกัน การวิ่งของกลุ่มคนธรรมดาจะไม่ค่อยฉีกนักวิ่งคนอื่นๆ กันตั้งแต่แรก ส่วนใหญ่จะออมแรงเพื่อเก็บไว้ใช้ในระยะที่วางแท็คติกมา และเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากคำบอกเล่าของ นิค วิลลิส นักวิ่งระยะ 1,500 เมตรชาวนิวซีแลนด์ เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง และเหรียญทองแดงปี 2016 ที่ริโอ

 6

"กฎอันเป็นที่รู้กันของการแข่งขันคือ นักวิ่งที่ชำนาญจะไม่ได้วิ่งขึ้นนำหน้าตั้งแต่แรก ไม่มีใครที่จะออกสตาร์ทและเปิดศึกด้วยการโชว์ความเร็วทันทีหรอก" วิลลิส กล่าว

ซึ่งจุดนี้สอดคล้องกับสไตล์การวิ่งของ ตาอูฟิก มาคูฟี่ นักวิ่งชาวแอลจีเรียเจ้าของเหรียญทองในโอลิมปิกที่ลอนดอนเมื่อปี 2012 เพราะเจ้าตัววางกลยุทธ์มาแบบไม่ได้เน้นที่ความเร็ว แต่เป็นการเน้นที่บทสรุปสุดท้ายคือชัยชนะมากกว่า เพราะถึงเขาจะพุ่งขึ้นมานำตั้งแต่ออกสตาร์ท แต่ก็ผ่อนสปีดหมกตัวไว้ในกลุ่มกลาง เพื่อเก็บแรงไว้อัดในรอบสุดท้ายและได้เหรียญทอง ขณะที่ทางฝั่งของพาราลิมปิกนั้นตรงกันข้าม เพราะเมื่อ บิเลล ฮัมมามี่ ของตูนิเซียออกสตาร์ทและนำในรอบแรก เขาก็แทบกลายเป็นคนกำหนดจังหวะการวิ่งของผู้แข่งขันทุกๆ คนในการแข่งขันดังกล่าวไปเลย

นอกจากนี้ข้อมูลน่าสนใจที่บอกเล่าถึงการวางแท็คติกของการวิ่ง 1,500 เมตรในโอลิมปิก ว่าเป็นการวางแผนกันแบบเกมต่อเกมและยากจะกำหนดเวลาเข้าเส้นชัยคือ การแข่งขันแต่ละครั้งนั้นผู้ชนะจะทำเวลาต่างและห่างกันมาก ไม่มีค่าเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกันนัก เพราะหากนำเวลาของเซนโทรวิตซ์ที่คว้าเหรียญทองในปี 2016 มาเทียบกับ 4 ปีก่อนหน้า เวลาดังกล่าวถือว่าแย่กว่าอันดับสุดท้ายในศึกที่กรุงลอนดอน (รวมถึงเวลาของตัวเองที่เข้าป้ายอันดับ 4) เสียด้วยซ้ำ ทว่าเวลาในพาราลิมปิกปี 2012 และ 2016 นั้นถือว่าใกล้เคียงกัน

และหากจะเปรียบเทียบให้พอเห็นภาพคือ การวิ่งของนักกีฬาพาราลิมปิกโดยอ้างอิงจากเวลาของ บาก้า ที่ได้เหรียญทองนั้น ก็ยังถือว่าเป็นรองจากเวลาของนักกีฬาโอลิมปิกปี 1936 หรือกว่า 80 ปีก่อนอยู่เกือบๆ 1 วินาที และถ้าจะเทียบกับเจ้าของสถิติโลกจริงๆ ถือว่าการวิ่งของ บาก้า ยังช้ากว่าสถิติที่ ฮีชาม เอล เกร์รูจ์ จาก โมร็อคโค ที่ทำไว้เพียง 3 นาที 26 วินาทีเมื่อปี 1998 อยู่เยอะ 

 7

ดังนั้นรูปแบบการแข่งขันของ พาราลิมปิก และ โอลิมปิก สำหรับการวิ่ง 1,500 เมตรนั้นถือว่ามีความแตกต่างกันชัดเจน แม้จะวิ่งระยะเวลาเท่ากันก็ตาม ถึงดูไม่แฟร์นักสำหรับการเอามาเทียบกันของทั้งสองฝั่ง แต่ที่แน่ๆ คือไม่ว่าจะคนปกติหรือผู้พิการ เมื่อพวกเขาก้าวไปถึงจุดสูงสุดของการแข่งขัน คือเหรียญทองใน โอลิมปิก และ พาราลิมปิก สิ่งที่เจ้าของเหรียญทองทั้ง 2 รายการพูดตรงกันคือ "มันไม่ได้ฟลุก" พวกเขาพยายามแบบไม่หยุดมาหลายปี จนกว่าจะมีวันแห่งความสำเร็จนี้ได้    

อย่างไรก็ตามเมื่อ บาก้า หวังจะลงแข่งขันในโอลิมปิกที่โตเกียวในปี 2020 ครั้งนี้ มันจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ดีกว่าการวิเคราะห์แน่นอน เมื่อเขาลงไปแข่งขันจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อหากเขาเป็นผู้ชนะ นั่นหมายถึงว่าชายผู้พิการคนนี้จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ทันที 

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ สถิติที่ช็อคโลก : นักวิ่งพาราลิมปิกวิ่งเร็วกว่าเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกได้อย่างไร?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook