คุยกับผู้กำกับ "Goal Club" ภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงวัยรุ่นและการพนันบอลในไทยเมื่อ 18 ปีก่อน

คุยกับผู้กำกับ "Goal Club" ภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงวัยรุ่นและการพนันบอลในไทยเมื่อ 18 ปีก่อน

คุยกับผู้กำกับ "Goal Club" ภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงวัยรุ่นและการพนันบอลในไทยเมื่อ 18 ปีก่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2544 คนไทยทั่วประเทศได้มีโอกาสรู้จักกับ Goal Club เกมล้มโต๊ะ ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตวัยรุ่นที่ไร้ทางเลือกในชีวิต จนต้องเข้าสู่เส้นทางเด็กเดินโพยบอล ก่อนเกิดความหายนะแก่ชีวิต สร้างกระแสแก่แฟนหนังได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

18 ปีผ่านไป นับตั้งแต่วันที่ Goal Club เกมล้มโต๊ะ ออกฉายครั้งแรกในโรงภาพยนตร์ หนังเรื่องนี้ยังคงถูกพูดถึง และติดอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน เทคนิคการนำเสนอที่แปลกใหม่, แง่มุมของชีวิตวัยรุ่นที่คมคาย และประเด็นเรื่องการพนันที่เข้ากับยุคสมัย

 

Main Stand มาพูดคุยกับ เรียว - กิตติกร เลียวศิริกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ Goal Club เกมล้มโต๊ะ ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นนอกแผ่นฟิล์ม จากช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านไป ทางเลือกของตัวละครในหนังยังคงถูกต้องหรือผิดมากแค่ไหน? จากบริบทของฟุตบอล การพนัน และสังคมไทยในทุกวันนี้

Goal Club ฉบับฟุตบอล

“พี่เรียนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบนนท์ฯ สมัยนั้น การไปเตะบอลกับสวนกุหลาบใหญ่ มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา ส่วนการเตะบอลในสนามบาสฯ คือ ความบันเทิงขั้นสุด พักเที่ยงเมื่อไหร่ ต้องใส่เต็มที่” เรียว กิตติกร ย้อนถึงเรื่องราวในช่วงวัยรุ่น ที่คล้ายคลึงกับฉากแรกในภาพยนตร์ Goal Club เกมล้มโต๊ะ

 1

“ตอนเด็กพี่ไปดูบอลที่สนามศุภชลาศัย เขาจุดพลุสีกัน พี่จำฟุตบอลไม่ได้เลย จำได้แค่ว่าเขาจุดพลุที่มันเป็นสี มันคือภาพจำอะไรบางอย่าง เราก็เก็บมาสร้างเป็นหนัง”

ความคลั่งไคล้ของแฟนฟุตบอลที่ติดอยู่ในความทรงจำ เรียว กิตติกร จึงเติบโตมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่หลงรักกีฬาฟุตบอลสุดขั้วหัวใจ เขาลงทุนเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปสัมผัสบรรยากาศการแข่งขันกีฬาลูกหนัง แบบไม่จำเป็นต้องเข้าไปชมเกมการแข่งขันในสนาม

“ตอนพี่ทำหนังเรื่องแรก พี่ไปจ้างทำเอฟเฟคต์ที่ลอนดอน มันเป็นปียูโร 1996 ประเทศอังกฤษเป็นเจ้าภาพ พอล แกสคอยน์กำลังร้อนแรง ก่อนที่จะติดเหล้า คนในลอนดอนทุกคนพูดถึงบอลยูโร แล้วพี่อยู่ในบรรยากาศนั้น”

“วันหนึ่งพี่ไปเดินเลาะสนามเวมบลีย์ คิดว่ามันจะเหมือนสนามศุภชลาศัยที่มีร้านขายเสื้อบอลอยู่รอบๆ สรุป แม่งไม่เจอ มีแต่อู่รถ (หัวเราะ) เพิ่งมารู้ทีหลังว่า เสื้อแข่ง เสื้อเชียร์บอลที่เขาขาย มันอยู่ในสถานีรถไฟใต้ดิน”

“ฟุตบอลยุคนั้นมันบ้าคลั่งมาก พี่จำได้ช่องสามประมูลซื้อยูโร 2000 แย่งกันถ่ายทอดสด ตอนนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย คนไม่รู้จะดูบอลจากไหน การที่คุณมีเน็ตบ้านในยุคนั้น คุณยิ่งใหญ่มากเลยนะ”

 2

“ตอนถ่าย Goal Club พี่ก็ไปดูบอลลยูโร 2000 ประเทศเนเธอร์แลนด์ - เบลเยี่ยม จัดร่วมกัน พี่เลือกไปเชียร์เนเธอร์แลนด์เลย เจาะจงว่าต้องทีมนี้ มันใส่เสื้อส้ม เสื้อมันสวย สรุป อดดูอีก ตั๋วหมด เจอแขกขายตั๋วผีหน้าสนามอีก ใบละเก้าพัน ถูกแล้วนะ แต่ตอนนั้น พี่จ่ายไม่ไหว”

“คราวนี้ พี่เลยไปต่อที่เบลเยี่ยม อยากดูอังกฤษเจอเยอรมัน บรรยากาศมันก็เป็นอีกแบบหนึ่งนะ เมาเละ บ้าคลั่งมาก เมืองมันแทบจะแตก คนเมาเหล้า ทุบรถ พี่ไปถึงเมืองไม่มีที่พัก เรื่องใหญ่มาก โรงแรมทุกที่ในเมืองปิดหมด เขากลัวฮูลิแกนกัน พี่ต้องไปนอนบ้านแม่ครัวไทย ที่ทำงานอยู่ในร้านอาหารเวียดนาม และก็ไม่ได้นอนด้วยนะ เพราะมันเป็นห้องเช่าเล็กๆ”

ความทรงจำ ความประทับใจ และความคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอลที่ไหลผ่านความรู้สึก เรียว กิตติกร ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นลงไปในภาพยนตร์เรื่อง Goal Club เกมล้มโต๊ะ หนังมีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์จริง หรือตัวบุคคลจริงในโลกฟุตบอล แม้กระทั่งหยิบจับนักฟุตบอลจริง เข้ามารับบทเป็นตัวละครในภาพยนตร์

วรวุธ ศรีมะฆะ, อนุรักษ์ ศรีเกิด เเละชัยยงค์ ขำเปี่ยม คือสามฮีโร่นักฟุตบอลทีมชาติไทย จากการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ 1998 ที่ปรากฏตัวในหนัง Goal Club เกมล้มโต๊ะ โดยรับบทเป็นวินมอเตอร์ไซค์ที่เข้ามาท้าทายเตะฟุตบอลกับกลุ่มตัวละครหลัก เพื่อเป็นการคารวะ สิ่งที่นักฟุตบอลเหล่านี้ทำได้ในโลกของความเป็นจริง ผ่านการบันทึกประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นบนแผ่นฟิล์ม

 3

“เรื่องฟุตบอลในหนัง Goal Club มันมาจากช่วงเวลาจริงที่เกิดขึ้น เอาเหตุการณ์ที่มหัศจรรย์เข้ามาใส่ในหนัง ยกตัวอย่าง แมตช์ที่ ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล ยิงเข้าในเอเชี่ยนเกมส์ ปี 98 ไทยชนะเกาหลีใต้ มันยากที่จะเกิดประตูแบบนั้น นักเตะตัวสำรองลงมายิงเปรี้ยงเป็นประตูชัย นี่แหละประตูที่จะมาเป็นหนัง ประตูที่สร้างประวัติศาสตร์”

“วันนั้นพี่ไม่ได้ดูเกมสด เพราะคนมันเต็ม ได้แต่ยืนอยู่หลังสนาม แต่เสียงในราชมังฯ ดังมาก ดังไปไกลเป็นหลายกิโล เนี่ยแหละที่เขาเรียกว่าโรงแตกของจริง”

Goal Club ฉบับการพนัน

“ตอนพี่ทำ Goal Club เด็กเดินโพยมันอยู่ใกล้ตัวพี่มาก ทำงานอยู่ในกองถ่าย มันเป็นเรื่องปกติมาก เขาไม่มีเงิน ก็ต้องเดินโพยบอล เรื่องปกติ ผิดตรงไหน”

 4

ผิดตรงไหน? 18 ปีผ่านไปจากวันนั้น การพนันบอลยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าธุรกิจสีเทานี้ คือ ทางเลือกการสร้างรายได้แบบปุบปับฉับไว สำหรับคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยที่มีรายได้ไม่พอใช้จากการทำงานปกติ

ทางเลือกที่มีไม่มากในสังคมทุนนิยมที่บีบให้ทุกคนหาเงิน ผลักดันให้ธุรกิจการพนันเติบโตขึ้นทุกวัน บวกกับการปรับตัวสู่ระบบออนไลน์ตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ การเสี่ยงโชคผ่านกีฬาฟุตบอลสามารถ ทำได้ง่ายและหลากหลายกว่าหลายสิบปีก่อน

นักเดิมพันสามารถเสี่ยงโชคได้ง่าย โดยไม่ต้องเสี่ยงกับโต๊ะบอลที่เคยมีเจ้าพ่อนั่งนับเงินอยู่กับที่ แล้วดำเนินกิจการผ่านเด็กเดินโพยอย่างที่เห็นกันในหนัง Goal Club เกมล้มโต๊ะ อีกต่อไป ทำให้คนรุ่นใหม่มากมาย หลั่งไหลฝากถอนเม็ดเงินรวดเร็วทันใจเข้าไปในธุรกิจสีเทานี้

“การพนันบอลตอนนี้เฟื่องฟูกว่าเยอะ แต่ก่อนจะแทงบอล มันต้องผ่านเด็กเดินโพย คนไหนติดมากๆต้องยกโทรศัพท์สองข้าง ข้างหนึ่งแทงบอล อีกข้างแทงมวย ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว คือกดเลย มีเป็นร้อยคู่ หลายสิบคู่ต่อวัน แทงได้ตลอดเวลา จากที่เราเคยมีเวลา 2 ชั่วโมง กลายเป็น 24 ชั่วโมง จากหนึ่งคู่ที่เราเคยรู้ว่ามีแข่ง กลายเป็นวันละร้อยคู่ เห็นชัดๆรายได้มันมหาศาลมาก”

“เรากดเข้าเว็บไซต์เดี๋ยวนี้ เจออะไร มาเก๊า 88 ทีเอสโอเวอร์ เจอทุกเว็บ โฆษณาเมื่อก่อน 6 วินาทีกดข้าม เดี๋ยวนี้ต้อง 9 วินาที 12 วินาที แสดงว่าเงินมันเติบโต เว็บดังๆต่างประเทศ มันก็ซื้อโฆษณาถูกกฎหมายในพรีเมียร์ลีก”

“แล้วพวกที่ทำเว็บอยู่ทุกวันนี้ มันจะเป็นพวกไหน ก็เด็กเดินโพยเก่าทั้งนั้นแหละ เพราะพวกคนแก่มันทำเว็บไม่เป็น มันก็คือโต๊ะบอลเดิมๆ พี่รับประกัน แค่ทุกวันนี้มันมาอยู่ในเว็บแล้ว”

 5

“สมมติวันนี้พี่ทำ Goal Club อีกรอบ พี่ก็ต้องเอาคนเปิดเว็บพนันมาอยู่ในกองถ่ายด้วย จะได้เห็นวิธีการทำงานมันชัดเจน หรือไม่ก็ลองเปิดเองไหม จดทะเบียนเว็บไซต์ในไทย เช่าเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ”

“ตอนพี่ไปถ่ายหนังเรื่องล่าสุดที่อังกฤษ พี่ชวนคนอื่นว่า แทงบอลกันดีกว่า โคตรง่ายเลยนะ มันมีอยู่ทุกหัวมุม แต่ก็น้อยลงจากเมื่อก่อน เหลืออยู่สองสามเจ้า เรื่องปกตินะ ยุโรปเขาไม่ใช่เงินสดกันแล้ว เงินมันอยู่ในออนไลน์หมด กดแทงบอลในเว็บเดี๋ยวนี้ เงินหมุนเท่าไรก็ไม่รู้”

“ส่วนประเทศเราเดี๋ยวนี้ ยังพูดกันเรื่องเสนอเปิดคาสิโน พี่ก็คิดจะเปิดทำไม (หัวเราะ) ประเทศอื่นเขาเปิดกันนานแล้ว อีกอย่างคนรุ่นใหม่เขาไม่ไปคาสิโนกันแล้ว มีแต่รุ่นสี่สิบขึ้นที่ยังไปคาสิโน นอกนั้นเขายังแทงในอินเตอร์เน็ต รุ่นสามสิบ รุ่นยี่สิบห้าลงมา เขาไม่ไปบ่อนกันแล้ว ค่ำมา เปิดหน้าเว็บ แทง จบแล้ว”

 6

ศีลธรรมหรือเงินตรา ประเด็นที่ภาพยนตร์เรื่อง Goal Club เกมล้มโต๊ะ เคยตั้งคำถามและหยิบยื่นให้ตัวละครเลือก ยังเป็นสิ่งที่คนในสังคมสัมผัสได้แม้ในปัจจุบัน ชีวิตของวัยรุ่นประเทศไทยในปี 2562 ไม่แตกต่างจากปี 2544 เท่าใดนัก บางครั้งอาจแย่กว่า

ตัวละครใน Goal Club เกมล้มโต๊ะ ที่ตัดสินใจก้าวข้ามความถูกต้องทางศีลธรรมและกฎหมาย เพื่อรับงานเป็นเด็กเดินโพย ส่วนใหญ่มาจากคนกลุ่มล่างของสังคม ลูกชายภารโรง หรือเด็กที่มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลาย ถูกจำกัดโอกาสกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่ทุกวันนี้ การตัดสินใจเสี่ยงอะไรบางสิ่งเพื่อหาชีวิตใหม่ ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มคนจากฐานล่างอีกต่อไป

 7

“คุณคิดว่าเด็กตอนนี้ที่มันไม่มีเงิน เขาจะทำอะไร มันทำทุกอย่าง มีอะไรมาก็ต้องเอา จริงไหม สมมติพี่ชวนว่า มาทำเว็บพนันกับพี่ ให้เงินหมื่นกว่าบาท ทำไหม ทำอยู่แล้ว แล้วถามว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ไหม พี่ไม่รู้ พี่ทำหนังเป็นอย่างเดียว เรื่องนี้ต้องไปถามคนที่มีหน้าที่เอา”

“เท่าที่พี่เห็น ตอนนี้วัยรุ่นไทยไปอยู่ต่างประเทศกันเพียบ พออายุจะสามสิบต้องย้ายไปอยู่เมืองนอกกัน ไม่อยู่แล้วเมืองไทย มันไม่มีอะไร ไม่รู้จะทำอะไร เมื่อก่อนเด็กจบนิเทศฯ ยังมีโอกาสไปอยู่บริษัทใหญ่ๆ เดี๋ยวนี้จะไปอยู่ที่ไหน มันไม่มี ไม่มีที่ให้ทำงาน”

“เด็กปีสี่จบใหม่เดี๋ยวนี้ ยอมเสียเงินเป็นแสน ไป work & travel ที่ต่างประเทศ พี่เปิดดูข้อมูล บริษัทบอกว่าพาออกไปได้ห้าพันคนต่อปี แต่มีคนสมัครแปดพันคน คิดดู มันยังไม่พอความต้องการเลย แล้วเงินที่จ่ายออกไปล่ะ แม่งคือเท่าไรวะ มันคือเงินห้าร้อยล้านบาท ที่บริษัทนี้ได้จากการพาคนไปหางานนอกประเทศ”

“ข้อมูลนี้มันบอกอะไรล่ะ มันบอกว่าไม่มีอะไรทำในประเทศนี้ (เน้นเสียง) คนเก่งก็พากันไหลออกไป ใครที่ออกไม่ได้ก็ติดแหงกอยู่ในประเทศนี้”

Goal Club ฉบับฉายฟรี

ประเด็นสะท้อนสังคมที่เข้ากับบริบททุกยุคสมัย บวกกับการนำเสนอเรื่องราวชีวิตวัยรุ่นที่ออกมาน่าตื่นตาตื่นใจ ภาพยนตร์เรื่อง Goal Club เกมล้มโต๊ะ จึงยังคงถูกพูดถึงโดยคอหนังทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาจนถึงทุกวันนี้

 8

เรียว กิตติกร ยอมรับว่าได้รับคำชวนจากคนรอบตัวหลายคน ให้หยิบหนังในดวงใจของใครหลายคนเรื่องนี้ กลับมาปัดฝุ่นทำใหม่อีกครั้ง ทั้งในรูปแบบของรีเมคหรือภาคต่อ เพื่อชุบชีวิต Goal Club เกมล้มโต๊ะ ให้กลับมาโลดแล่นในจอภาพยนตร์อีกครั้ง

“ปีนี้มีคนพูดกับพี่เยอะมาก ไม่ทำเหรอ Goal Club ทำใหม่อีกรอบสิ คนมาขอไปรีเมคใหม่ก็มี” เรียว กิตติกร กล่าวหลังหนังกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง

“ผมก็บอก คุณเอาไปทำสิ ถ้ามีมุมใหม่จะเล่า ก็ยังไม่มีใครมีมุมใหม่ พี่ก็พร้อมให้ ไม่ได้ว่าอะไร แต่ไม่มีใครมีมุมใหม่”

“คนดูอยากได้เรื่องใหม่ ถ้าเราทำซ้ำเมื่อไหร่ คนมันจะด่า เหมือนหนังเรื่อง Trainspotting 2 ทำเหมือนเดิมเป๊ะ เป็นปัญหาเลย ไม่มีคนดู ขนาดหนังระดับตำนานของอังกฤษนะ ทำเหมือนเดิม จบเลย”

 9

ภาพยนตร์เรื่อง Trainspotting คือภาพยนตร์ชื่อดังจากประเทศอังกฤษ ที่มีเนื้อเรื่องคล้ายคลึงกับหนัง Goal Club เกมล้มโต๊ะ ว่าด้วยถึงชีวิตวัยรุ่นที่เหลวแหลกและหลงทาง ภายใต้สังคมที่บีบคั้นของสหราชอาณาจักร เพียงแต่เปลี่ยนแปลงบริบทจากการพนันบอล เป็นเรื่องของยาเสพติด

หลังสร้างความประทับใจแก่แฟนหนังทั่วโลกในปี 1996 ผู้กำกับดีกรีออสการ์ แดนนี่ บอยล์ หยิบจับหนังเรื่องดังกล่าวกลับมาทำภาคสอง ในปี 2017 แต่กลับทำรายได้เพียง 42 ล้านปอนด์ น้อยกว่าภาคแรก 6 ล้านปอนด์ เนื่องจากนำเสนอเนื้อเรื่องแบบเก่า ประเด็นแบบเก่า เปลี่ยนแค่บริบทในสังคมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาเท่านั้น

“สมมติพี่ทำโกลคลับใหม่ โดยใช้บริบทโลกสมัยนี้ มันไม่พอ ธรรมดามาก สุดท้ายเราจะได้หนังที่เห็นคนกดเว็บพนันอยู่หน้าจอ กดไปกดมา มันสนุกตรงไหน เคยมีฝรั่งทำหนังเกี่ยวกับเว็บพนัน เดินทางข้ามโลก มีแล้วประมาณห้าหกปีก่อน ไม่มีคนดู”

“แล้วหนังพนันจะมีคนดูไหม พี่ต้องถามแบบนี้ เพราะโจทย์มันคือแบบนี้ คือทุกคนไปดู Goal Club ไม่ได้ไปดูหนังพนัน เขาอยากไปดูชีวิตเด็ก โอเค เขารู้ว่าเป็นหนังพนัน แต่ไม่มีใครชอบเรื่องพนัน ที่อยู่ในหนังเลยสักคนเดียว”

“ตอนหนัง Goal Club ออกมาแรกๆ คนแม่งด่าเยอะนะว่า กระจอก วงการพนันบอลจริงแม่งหนักกว่านี้ แต่คนที่ไม่รู้เรื่องพนันบอลเข้าไปดู เขาก็บอกอีกว่าดูไม่รู้เรื่อง”

“เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำ Goal Club ภาคสอง จะเล่ามุมไหนที่ไม่ใช่ของเดิม แล้วจะฉายที่ไหน อันนี้สำคัญกว่า เพราะเดี๋ยวนี้มีในแพลตฟอร์มออนไลน์เยอะแยะ เช่น Netflix หนังดีมีเยอะ หนังไม่ดีก็มีเยอะ แต่ทางเลือกหลากหลายมาก”

 10

ถอดแง่มุมของหนังพนันออกไป Goal Club เกมล้มโต๊ะ คือภาพยนตร์ไทยไม่กี่เรื่องที่พูดถึงบริบทสังคมฟุตบอลในประเทศไทยได้อย่างน่าสนใจ แม้หนังกีฬาส่วนใหญ่จะไม่ทำเงินบนจอใหญ่ แต่แพลตฟอร์มความบันเทิงออนไลน์ เช่น Netflix แสดงให้เห็นแล้วว่า ภาพยนตร์หรือซีรีส์กีฬา สามารถเติบโตและได้รับความนิยมได้ในโลกออนไลน์

“เขามีเรื่อง Sunderland 'Til I Die ใช่ไหม? พี่ก็เคยคิดเหมือนกันว่า เรามาทำแบบนี้สักเรื่องไหม พี่คิดในใจนะ ขับรถไปหานายทุกสักคนไหม ขับรถไปหาคุณเนวิน ทำเรื่องอคาเดมี่บุรีรัมย์เนี่ยแหละ หรือขับรถไปใกล้ๆ ทำเรื่องอคาเดมี่เมืองทองก็ได้ เราควรมีแบบนี้สักเรื่องไหม เหมือนสโมสรฟุตบอลเมืองนอก (เงียบไปสักพัก)”

“เขาไม่สนใจ (ส่ายหัวพร้อมหัวเราะ) ทำทำไม หนังกีฬา เจ๊งมาเสียชื่อกูอีก มันจะมีอารมณ์แบบนี้เยอะนะ”

หนังพนันก็ไม่ดี หนังกีฬาก็ไม่ได้ Goal Club เกมล้มโต๊ะ ภาคใหม่ จึงยังคงเป็นแค่ฝันกลางวันของคอหนังชาวไทย เรียว กิตติกร กล่าวว่าการจะทำภาพยนตร์สักเรื่อง ทุกฝ่ายต้องไปควบคู่กัน นายทุนไม่กล้าจ่ายเงินทำหนัง เพราะเงินที่ตอบแทนกลับมาได้ไม่คุ้มเสีย

ในช่วงเวลาที่หลายคนในสังคมรัดเข็มขัด จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจ ภาระค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากมายถูกตัดออก การรับชมภาพยนตร์ในโรงหนังคือหนึ่งในนั้น ขณะเดียวกัน ช่องทางในการเสพความบันเทิงออนไลน์ที่ง่ายกว่า สะดวกกว่า และถูกกว่า จึงเข้ามาแทนที่อย่างช่วยไม่ได้

“พี่ว่าหนังมันก็เปลี่ยนไปสู่โลกออนไลน์เหมือนการพนัน เมื่อก่อนคนไปโรงหนังอาทิตย์ละครั้ง เดี๋ยวนี้เหลือเดือนละครั้ง สองเดือนครั้ง โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่เห็นมีอะไรเข้าใจยาก Netflix กูก็มี Movie2Free กูก็มี แม่งหนังใหม่ หนังดีกว่า Netflix อีก”

“อย่างแฟนหนัง Goal Club รุ่นใหม่ มาจากไหนล่ะ ดูฟรี เกือบทั้งหมด พี่รับประกัน แน่นอนว่ามีคนที่เข้าไปดูในโรงตั้งแต่ตอนนั้น แต่ไม่พอจะช่วยให้ทำภาคใหม่แล้วคุ้มหรอก มันยากมาก”

“เอาง่ายๆ แค่ Goal Club ของเดิมมาฉายใหม่ในโรง ใส่งบสักล้านบาท แปลงจากหนังฟิล์มเป็นดิจิตอล ใส่อีกล้านทำเสียงทำภาพใหม่ให้คมชัด พี่ว่าไม่คืนทุน ห้าแสนยังไม่รู้เลยจะถึงหรือเปล่า เพราะหนังมันไปกระตุ้นแค่คนในโลกออนไลน์ เห็นเขาเอามาฉายฟรี กดดู จบ”

 11

แม้ไม่ได้ตั้งใจ ภาพยนตร์เรื่อง Goal Club เกมล้มโต๊ะ ยังคงเป็นกระจกสะท้อนภาพในสังคมไทยได้อย่างคมคายและร้ายกาจ จากหนังที่พูดถึงธุรกิจการพนัน ทุกวันนี้ หนัง Goal Club เกมล้มโต๊ะ กลายเป็นเครื่องมือให้ธุรกิจสีเทา ฉายฟรีแบบออนไลน์ตามโลกออนไลน์ เพื่อโปรโมตเว็บพนันเสียเอง

ในฐานะผู้กำกับ เรียว กิตติกร ไม่ได้เสียใจหรือแปลกใจกับเรื่องดังกล่าว เขาย้ำอีกครั้งว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว หนังสักเรื่องต้องทำหน้าที่ในแบบของมัน เว็บพนันต้องปรับตัวไปตามแบบของมัน คนในสังคมก็ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดเช่นกัน

การกระทำของตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง Goal Club เกมล้มโต๊ะ ที่ฝากอนาคตไว้กับธุรกิจพนัน คือสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่? หากตัวละครเหล่านี้มีชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง พวกเขาคงพูดได้เต็มปากว่า “ไม่ผิด” เพราะตัวหนัง Goal Club เกมล้มโต๊ะ ยังต้องยืมมือช่องทางผิดกฎหมาย เพื่อต่อลมหายใจให้มีตัวตนอยู่บนสายต่อของคนดูหนัง (ฟรี) ทั่วประเทศ ไม่ให้เลือนหายไปจากความทรงจำคนไทยได้ง่ายๆ

กระแส Goal Club เกมล้มโต๊ะ ที่กลับมาอีกครั้ง จากการฉายฟรีของเว็บพนันในโลกออนไลน์ บ่งบอกอะไรหลายอย่างที่สะท้อนถึงความเป็นไปในสังคมปัจจุบัน จากปี 2544 สู่ปี 2561 ที่ทุกอย่างก้าวสู่โลกออนไลน์ ทุกอย่างเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ

สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไป  คือ ทางเลือกที่ถูกจำกัดไว้ในสังคม ทั้ง ตัวละครในหนัง ตัวหนัง หรือผู้ชมหนัง จะมองหาโอกาสทางไหน ก็เจอแต่ธุรกิจพนัน 

 12

ย้อนกลับไปที่คำพูดของ เรียว กิตติกร กล่าวถึงเด็กเดินโพยในกองถ่าย Goal Club เกมล้มโต๊ะ คือสิ่งที่น่าสนใจและหวนกลับไปขบคิดอีกครั้ง “เขาไม่มีเงิน ก็ต้องเดินโพยบอล เรื่องปกติ ผิดตรงไหน”

ผิดตรงไหน? คำตอบของคำถามนี้ ดูจะตอบยากขึ้นทุกวันเสียแล้ว

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ คุยกับผู้กำกับ "Goal Club" ภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงวัยรุ่นและการพนันบอลในไทยเมื่อ 18 ปีก่อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook