"วิชชุดา ไพจิตรกาญจนกุล" : จากแชมป์แม่นปืนทีมชาติสู่ผู้อำนวยการทีมอีสปอร์ตส์

"วิชชุดา ไพจิตรกาญจนกุล" : จากแชมป์แม่นปืนทีมชาติสู่ผู้อำนวยการทีมอีสปอร์ตส์

"วิชชุดา ไพจิตรกาญจนกุล" : จากแชมป์แม่นปืนทีมชาติสู่ผู้อำนวยการทีมอีสปอร์ตส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิชชุดา ไพจิตรกาญจนกุล คือนักกีฬายิงปืนของประเทศไทยที่ผ่านการแข่งขันระดับนานาชาติหลายรายการ อย่าง เอเชียนเกมส์ สามารถคว้าเหรียญรางวัลได้มากมาย จากหลายรายการแข่งขันทั่วโลก

กว่าสิบปี ที่เธอโลดเเล่นอยู่ในวงการยิงปืน จนถึงจุดที่เธอตัดสินใจ รีไทร์จากการเป็นนักกีฬาอาชีพ วันนี้หญิงสาว วัย 28 ปี ตัดสินใจ กลับคืนสู่วงการกีฬาอีกครั้ง ด้วยบทบาทที่แตกต่างออกไป ในฐานะ ผู้อำนวยการทีมอีสปอร์ตส์

 

ท่ามกลางคำถาม ถึงความเป็นกีฬา ของอีสปอร์ตส์ วิชชุดา มองภาพในมุมต่าง ด้วยประสบการณ์ อันยาวนาน ในฐานะนักกีฬาทีมชาติ เห็นคุณค่า ความหมายของกีฬาอีสปอร์ตส์ ที่ไม่แตกต่างจากกีฬาชนิดอื่น...แล้วการยิงเป้าจริงๆ ยิงปืนจริงๆ และเหนี่ยวไกจริงๆ สามารถช่วยเธอในการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตสู่การเป็นผู้อำนวยการทีมอีสปอร์ตส์ได้อย่างไร?

จากเด็กไม่ชอบกีฬา

“ย้อนไปตอนเป็นเด็ก เราเป็นคนไม่เล่นกีฬา เล่นกีฬาไม่เป็น เพราะว่ากลัวเจ็บ ส่วนตัวเราชอบวาดรูป ศิลปะมากกว่า” วิชชุดา ย้อนถึงเรื่องราวของเธอ กับโลกกีฬาในวัยเด็ก

“จริงๆตอนเด็ก เราชอบเล่นเกม คุณพ่อคุณแม่ ท่านก็ไม่ชอบหรอก คุณพ่อเลยพยายาม ผลักดัน ให้เราไปเล่นกีฬา จะได้ห่างไกลเกม คุณพ่อสอนให้ทุกอย่าง แต่เราไม่เล่นเลย”

 1

ความเป็นเด็กสาว ทำให้ความชอบของเธอ ในด้านกีฬา มีไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม การที่เธอเติบโตมา โดยมีคุณพ่อวิเชียร ไพจิตรกาญจนกุล เป็นนักกีฬา หลากหลายประเภท ทั้งแบดมินตัน, บาสเกตบอล รวมถึงกีฬายิงปืน 

ประกอบกับ มีพี่ชายและน้องชาย เป็นนักกีฬา ประจำโรงเรียน ทำให้กิจกรรม การออกกำลังกาย ยังคงเป็นสิ่ง ที่หมุนเวียน อยู่รอบตัวเธอเสมอ

บางครั้ง เส้นทางของชีวิต ถูกลิขิตจากความไม่ตั้งใจ เมื่อวิชชุดา ถูกจับพลัดจับผลู ให้เป็นตัวแทนของโรงเรียน ในการแข่งขันกีฬายิงปืน

“ตอนนั้นอยู่ ม.3 ก็มีจัดกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี แล้วพอดีที่โรงเรียนไม่มีคนเล่น ครูเลยใส่ชื่อ ให้เราไปเล่น เอาจริงๆ ตอนนั้นไม่ได้สนใจ ไม่ได้รู้สึกอยากเล่นเลยนะ อยากไปทำกิจกรรม แกะสลักผลไม้ด้วยซ้ำ (หัวเราะ)”

วิชชุดา ค้นพบพรสวรรค์ ของตัวเอง อย่างไม่รู้ตัว เธอสามารถชนะการแข่งขันยิงปืน ในครั้งนั้น ท่ามกลางโรงเรียนกว่า 40 โรงเรียน เมื่อขึ้นชั้น ม.4 เธอได้โอกาส แข่งขันยิงปืน อีกครั้ง และได้ตำแหน่งชนะเลิศ ผลงานที่โดดเด่น ถึงเวลาแล้ว ที่เธอต้องหันเข้าสู่ เส้นทางของนักยิงปืนอาชีพ ด้วยวัยเพียง 17 ปีเท่านั้น

“ตอนนั้น คุณครูของโรงเรียน คนเดียวกับที่ใส่ชื่อ ให้ไปยิงปืนตอน ม.3 อยากส่งเราไปแข่งยิงปืน ในระดับสากล พอต้องไปแข่งแบบจริงจัง เลยต้องไปขอให้คุณพ่อช่วยสอนให้” 

“ไปซ้อมวันแรก คุณพ่อซื้อปืนให้ทันที 2 กระบอก กระบอกละประมาณ 2 แสน เลยคิดในใจว่า คงต้องเล่นกีฬานี้ จริงจังแล้วล่ะ เสียเงินไปเยอะขนาดนี้ (ยิ้ม)” 

 2

ผู้หญิง กับ กระบอกปืน ดูไม่ใช่สิ่งที่น่าจะไปด้วยกันได้ แต่ยิ่งเวลาผ่านไป วิชชุดาค่อยๆ พบกับเสน่ห์ ของกีฬาชนิดนี้ และเริ่มตกหลุมรัก แบบไม่รู้ตัว

“จริงๆ พอได้เริ่มยิงปืน มันก็สนุกดีนะ พอเราเล่นแล้ว ทำได้ดี มันทำให้เรามีความภูมิใจในตัวเอง อีกอย่างกีฬายิงปืน ไม่ได้มีแบ่งผู้ชาย แบ่งผู้หญิง ต้องแข่งรวมกัน ก็เป็นกีฬาที่น่าสนใจ”

“สิ่งที่ทำให้กีฬายิงปืนแตกต่าง คือตอนแข่ง กีฬายิงปืนไม่ได้เน้นใช้ พละกำลัง ไม่ต้องใช้แรงปะทะ แต่เราต้องอยู่กับตัวเอง แข่งกับตัวเอง ไม่ได้แข่งกับใคร”

“สมาธิคือสิ่งสำคัญ ในการยิงปืน ทุกอย่างต้องใช้สมาธิ ใช้ความรู้สึกของเรา ไหวพริบของเรา การตัดสินใจ ในการยิงกระสุนสักนิด มันขึ้นอยู่กับเรา แพ้หรือชนะ ขึ้นอยู่กับตัวเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร สกอร์ที่ออกมา คือผลงาน ของการแข่งกับตัวเราเอง ในวันนั้น”

กีฬา คือ กีฬา

ด้วยความรัก และพรสวรรค์ ต่อกีฬายิงปืน วิชชุดา ใช้เวลาเพียงแค่ 9 เดือนเท่านั้น หลังจากเริ่มฝึกซ้อมจริงจัง พาตัวเองก้าวไปติดทีมชาติชุดใหญ่ และเริ่มสร้างชื่อ ในฐานะมือปืนตาเหยี่ยว ตั้งแต่อยู่ชั้นเรียนมัธยมปลาย

 3

อย่างไรก็ตาม กีฬายิงปืน กลับกลายเป็นกีฬา ที่ถูกมองว่า เป็นกีฬาที่ง่ายๆ สบายๆ ไม่ต้องเหนื่อย หรือ เสียแรงมาก แค่นอนยิงปืน อยู่ในร่ม ไม่ต้องออกแดด ตากลม ตากฝน ไม่ต้องเสี่ยงเจ็บตัว เหมือนกีฬาอื่น รวมถึงไม่ได้ใช้พละกำลัง แรงกาย จำนวนมาก ในการแข่งขันจริง ทำให้เธอ ถูกมองข้าม ในฐานะนักกีฬาคนหนึ่ง หากเทียบกับ ผู้เล่น ของกีฬาชื่อดัง

“หลายคนชอบคิดว่า ยิงปืนเป็นกีฬาที่สบาย ซึ่งไม่จริงเลยนะ จริงๆ การซ้อมยิงปืน เหนื่อยมาก” วิชชุดาพูดถึงความเป็นจริง ที่ตรงข้ามกับภาพมายาคติ 

“บางคนบอกเราว่า กีฬายิงปืนง่ายนะ แค่นอนๆ กระดิกนิ้วยิง แต่เรารู้ไง ไม่ใช่แบบนั้น มันใช้ทั้งสมาธิ ทั้งกำลัง เราต้องจดจ่อกับสิ่งใด สิ่งหนึ่งนานมากๆ เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง”

ในกีฬายิงปืน ประสบการณ์คือเรื่องสำคัญ เพราะมีผลต่อการตัดสินใจ ยามแข่งจริงบนภาคสนาม ที่ต้องพบเจอปัญหา อุปสรรคต่างๆ เช่น ฝนตก ลมแรง แดดส่องหน้า ไปจนถึง เรื่องของอาการบาดเจ็บ และเมื่อยล้า

เพื่อให้ทัดเทียมความสามารถ กับนักยิงรุ่นเก๋า ดาวยิงอายุน้อยอย่าง วิชชุดา ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากซ้อมและซ้อมเท่านั้น

“ช่วงพีคๆ ที่แข่ง 15-20 รายการต่อปี คือต้องซ้อมทุกวัน วันละ 6-7 ชั่วโมง เพราะท่ายิงปืน มันมีเป็นร้อยท่าเลยนะ ไม่งั้นเราจะทำได้ไม่ดีพอ เวลาคนเราฝึกซ้อม มันก็ต้องมีผิดพลาดอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่อยากพลาด ในวันแข่งจริง เราต้องซ้อมให้มากที่สุด”

ขึ้นชื่อว่ากีฬา ไม่ว่าจะรูปแบบไหน การฝึกซ้อมเป็นเรื่องสำคัญ ควบคู่ไปกับ การดูแลสุขภาพร่างกาย ของตัวเอง ไม่มีข้อยกเว้น รวมถึงกีฬายิงปืน ด้วยเช่นกัน แม้ว่าในการแข่งขัน กีฬายิงปืน อาจดูไม่ใช้พละกำลัง เท่าไหร่นัก 

“แค่ถือปืนที่ใช้ยิง ก็หนัก 7 กิโลกรัมแล้ว ถ้าไม่แข็งแรง จะถือปืนแบบนี้นานๆ ได้ไง การออกกำลังกาย เป็นเรื่องสำคัญ เพราะกล้ามเนื้อ ต้องแข็งแรง ต้องเข้ายิม เข้าฟิตเนส ต้องวิ่ง เหมือนนักกีฬาทั่วไป” 

 4

“อย่างการวิ่ง สำคัญมากกับนักยิงปืน เพราะเราต้องกำหนดลมหายใจ เวลายิงปืน ต้องผ่อนคลายเป็นธรรมชาติ การยิงปืนออกไปแต่ละนัด สัมพันธ์กับลมหายใจ” 

จากคนที่คนไม่ชอบ การเล่นกีฬา สู่หญิงสาว ที่ยืนหยัดเล่นกีฬาที่เธอรัก ยาวนานนับสิบปี คว้าเหรียญรางวัลมากมาย และมีโอกาสไปแข่งรายการใหญ่ทั่วโลก ทั้ง การแข่งขัน ชิงแชมป์โลก, เอเชียนเกมส์ หรือ กีฬามหาวิทยาลัยโลก สำหรับวิชชุดา กีฬายิงปืน มีความหมายสำคัญ กับเธอมากเหลือเกิน

“สำหรับเรา กีฬายิงปืนให้ทุกอย่าง ในชีวิต ถ้าชีวิตนี้ ไม่ได้เป็นนักกีฬายิงปืน ยังนึกภาพไม่ออกเลยว่า ชีวิตตัวเอง จะไปอยู่จุดไหน เราได้สังคมใหม่ ได้รู้จักคนเยอะแยะมากมาย ผ่านการเล่นกีฬา”

“กีฬาให้อะไรกับเราเยอะมาก เราได้ระเบียบวินัย ความกระตือรือร้น ที่จะหาความรู้ ปรับเปลี่ยนนิสัยของตัวเอง ให้ดีขึ้น และได้ประสบการณ์ใหม่ๆ เปิดโลกใหม่ ที่ไม่เคยคิดว่า ชีวิตนี้จะได้มีโอกาสมาก่อน”

เริ่มต้นใหม่ อย่างท้าทาย

จุดเริ่มต้น ของการเป็นนักยิงปืน ฝีมือทอง อาจมาจากความไม่ตั้งใจ แต่เมื่อเติบโต เป็นหญิงสาวเต็มตัว วิชชุดา ต้องการเลือกทางเดิน ให้กับชีวิตของตัวเอง ตามที่ใจปรารถนา และต้องเป็นเส้นทาง ที่เธอถามกับตัวเอง จนมั่นใจว่า เธออยากเดินหน้า ไปตามทางสายนี้จริงๆ

“เราเป็นคนที่อยากทำงาน ในสิ่งที่เราชอบ ถ้าเราไม่ชอบ เราคงอยู่กับมันได้ไม่นาน อีกสิ่งที่เราได้ จากการเป็นนักยิงปืน คือทำให้รู้ตัวเองว่า เราชอบกีฬา และเราอยากทำงาน อยู่ในวงการนี้ต่อไป” 

 5

“ประกอบกับ เราเป็นคนชอบเล่นเกม ตั้งแต่เด็กแล้ว ว่างก็เล่น เล่นแบบหนักมาก ถ้าเราได้มีโอกาส เข้ามาทำงาน ในวงการอีสปอร์ตส์ เราก็อยากจะทำ”

ความเปลี่ยนแปลง กับชีวิตมนุษย์ เป็นของคู่กัน ไม่มีใครหนีได้ รวมถึงตัวของวิชชุดา หลังจากยืนอยู่บนเส้นทาง ของกีฬายิงปืนมาอย่างยาวนาน หญิงวัย 28 ปี ตัดสินใจเลี้ยวรถ เปลี่ยนเส้นทาง เข้าสู่ถนนชีวิตสายใหม่ ที่ชื่อว่า อีสปอร์ตส์

“ก่อนเราจะมาทำงานตรงนี้ เราเคยเป็นนักข่าวกีฬามาก่อน มีโอกาสไปทำข่าวอีสปอร์ตส์ หลายครั้ง เลยได้รู้จักกับน้องๆ ในทีม อัลฟา เรด (Alpha Red) ซึ่งเราเข้ากับเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี ทางทีมเขาก็ประทับใจ เห็นว่าน้องๆ เชื่อฟังเรา เราคุมพวกเขาได้ เขาเลยลองมาชวนให้เราเป็นผู้จัดการทีม อีสปอร์ตส์ ของทีม อัลฟา เรด ซีเอสโก (Alpha Red CS:GO)”

ไม่มีใคร อยากปฏิเสธ โอกาสร่วมงาน กับสิ่งที่ตัวเองรัก วิชชุดา คือคอเกมตัวยง ที่เล่นเกมมาตั้งแต่อดีต ทั้ง เคาน์เตอร์ สไตรค์ (Counter-Strike), แร็คนาร็อก (Raknarok), ปังย่า (Pangya) จนถึงเกมฮิตในปัจจุบัน อย่าง พับจี (PUBG), โดต้า (Dota) หรือ อาร์โอวี (ROV) ทำให้เธอตอบตกลง ที่จะทำงานให้กับทีมอัลฟา เรด และเป็นการพลิกบทบาท ครั้งสำคัญของเธอ จากนักกีฬา กลายเป็นคนทำงานเบื้องหลัง แม้ว่าวิชชุดา จะไม่เคยมีประสบการณ์ มาก่อนก็ตาม

 6

“ตอนแรกทางทีม จะให้เราเป็นผู้จัดการทีม แต่ไปๆ มาๆ ได้ตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของทีม ดูแลนักกีฬาทุกคน ของ อัลฟา เรด มีหน้าที่หลายอย่างต้องทำ ทั้ง หาสปอนเซอร์ หาเงินเข้าทีม ทำคอนเทนต์ ทำข่าว โปรโมตทีม รวมถึงดูแลน้องๆ นักกีฬาทุกคน” 

“ถึงเราจะเป็นมือใหม่ตรงนี้ แต่เราเองก็เคยมีประสบการณ์ ในฐานะนักกีฬามาก่อน มันทำให้เราเข้าใจ ความรู้สึกของนักกีฬาด้วยกันมากกว่า เรารู้วิธีที่จะคุยกับเขา สื่อสารกับเขา ดึงเขาออกจากความเครียด หรือ หาทางป้องกันปัญหา ที่พวกเขาจะเจอ ซึ่งเป็นปัญหา ที่เราเคยเจอ สมัยเป็นนักกีฬา”

กีฬาชื่อ “อีสปอร์ตส์” ?

วิชชุดา ยอมรับว่า แม้เธอจะตัดสินใจ เลิกเป็นนักยิงปืนอาชีพ มาได้หลายปี แต่เธอยังคงคิดถึง การจับปืน เหนี่ยวไกของจริง อยู่เสมอ 

 7

อย่างไรก็ตาม เธอเลือก ที่จะไม่กลับไปในตอนนี้ หนึ่งในนั้น เป็นเพราะเธออยากจะผจญภัย ในโลกของ อีสปอร์ตส์ เพื่อสนับสนุน เด็กรุ่นน้อง ที่ชอบการยิงปืน เหมือนกับเธอ แม้ในสังเวียน ที่แตกต่างกัน

“อีสปอร์ตส์ เป็นกีฬาที่กำลังมาแรง เราคิดว่า ถ้ามาทำงานตรงนี้ แล้วช่วยผลักดันน้องๆ ให้ไปได้ไกลมากขึ้น วงการอีสปอร์ตส์ ไปไกลขึ้น เราก็พร้อมที่จะทำ”

สิ่งสำคัญ ที่ทำให้กีฬา อีสปอร์ตส์ ได้รับความนิยมมาก ในปัจจุบัน คือกีฬา ที่มาจากการเล่นเกม ในทางกลับกัน คำว่าเกม คือสิ่งที่ทำให้อีสปอร์ตส์ ยังคงถูกต่อต้าน จากสังคมกีฬา ว่าแท้จริงแล้ว อีสปอร์ตส์ คือกีฬา หรือแค่การเล่นเกมกันแน่

“ต้องยอมรับว่า อีสปอร์ตส์ ยังโดนคนจำนวนไม่น้อยต่อต้าน จากทั่วโลก แต่สำหรับเรา เราคิดว่า อีสปอร์ตส์ คือกีฬา” วิชชุดา แสดงความคิดเห็นของเธอ

“เรามองว่านิยาม ของกีฬา คือการแข่งขัน ถ้ามีการแข่งขัน นั่นคือกีฬา สำหรับเรา อีสปอร์ตส์ก็เหมือนโกะ (หมากล้อม) ลักษณะของการเล่น ไม่ได้ต่างกัน” 

“เราคิดว่า มันเป็นเรื่องของการเปิดใจ มากกว่า ว่าคุณจะตัดสินอีสปอร์ตส์ยังไง ไม่ใช่ว่า เห็นใครเล่นเกม คุณก็ตัดสินไปว่า เป็นเด็กติดเกมเสียหมด”

ด้วยบทบาท ที่ทำงาน กับทีมอีสปอร์ตส์ คำพูดข้างต้น อาจดูเหมือนข้อปกป้อง กีฬาอีสปอร์ตส์ หากแต่วิชชุดา มีความคิดที่เชื่อมั่นว่า อีสปอร์ตส์ คือกีฬาอีกประเภทหนึ่ง ด้วยมุมมอง ของอดีตนักกีฬาคนหนึ่ง 

เธอมองเห็นว่า นักกีฬาหน้าจอ เหล่านี้ ล้วนต้องเจอประสบการณ์ หรืออุปสรรคทั่วไป แบบที่นักกีฬา ประเภทอื่นต้องเจอ แทบทั้งสิ้น

“กีฬาไหน ก็ต้องมีการฝึกซ้อม อีสปอร์ตส์ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่า วันๆ พวกเขาจะเล่นแต่เกม พวกเขาต้องมานั่งวางแผน กลยุทธ์ในแต่ละวัน ว่าต้องเล่นแบบไหน ควรเล่นแบบไหน เราต้องเดินไปทางไหน นั่งดูเทป ศึกษาวิธีการเล่นของฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่ว่า อยากเล่นก็เล่น อยากยิงก็ยิง”  

“ถ้าเขาทำผิดพลาด เล่นไม่ดี เขาต้องมาแก้ ในจุดที่ผิดพลาด เหมือนเราสมัยยิงปืน เรายิงไม่เข้าเป้า เราต้องแก้ไข น้องๆ อีสปอร์ตส์ ก็เหมือนกัน ถ้าเขาเล่นไม่ดี เขาต้องมาดูจุดผิดพลาดของตัวเอง เพื่อแก้ไข”  

“สำหรับกีฬาอีสปอร์ตส์ การเล่นเป็นทีมก็สำคัญมาก ทีมอีสปอร์ตส์ จะไม่มีทางชนะได้เลย ถ้าผู้เล่นไม่เข้าใจกัน ไม่สื่อสารกัน”

ฟุตบอล, อเมริกันฟุตบอล, วอลเลย์บอล, บาสเกตบอล กีฬาประเภททีมทั้งหลาย ล้วนต้องมีการวางแผนการเล่น ด้วยแทคติค ที่เข้มข้น ฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง รวมถึงการเล่นเป็นทีมเวิร์ค อย่างเยี่ยมยอด

อีสปอร์ตส์ มีคุณสมบัติข้างต้น ไม่ต่างกับกีฬาที่กล่าวมา นอกจากนี้ วิชชุดา คิดเห็นว่า การจะเป็นผู้เล่นอีสปอร์ตส์ชั้นยอด ผู้เล่นต้องมีอุปนิสัย ไม่ต่างกับผู้เล่น ในกีฬาชนิดอื่น ต้องมีคุณสมบัติ ไม่ต่างกับเธอ เมื่อครั้งเป็นนักกีฬาอาชีพ

 8

“ต่อให้เป็นนักกีฬาอีสปอร์ตส์ ระเบียบวินัย คือสิ่งที่พวกเขาต้องมี เวลาไหนต้องซ้อม ตอนไหนต้องพักผ่อน ดูแลตัวเอง”

“พูดถึงเกมยิงปืน เรามองว่า มันมีความแตกต่างกัน ระหว่างชีวิตจริงกับในเกม แต่การฝึกซ้อม บางอย่างก็เหมือนกัน นักกีฬาอีสปอร์ตส์ ต้องบริหารกล้ามเนื้อสายตา ไม่ต่างกับนักกีฬายิงปืน ต้องมีไหวพริบ สัญชาตญาณ การตัดสินใจ ที่ดีเหมือนกัน อีกด้วย”

ไม่ว่าใครจะคิด กับกีฬาอีสปอร์ตส์อย่างไร วิชชุดา ตัดสินกีฬานี้ อย่างตรงไปตรงมา ด้วยความรู้สึกของเธอเอง สำหรับเธอ เธอต้องการให้สังคม เปิดใจกับกีฬานี้มากขึ้น และตัดสิน “อีสปอร์ตส์” ด้วยหัวใจที่ปราศจากอคติ และสัมผัสตัวตนที่แท้จริง ของกีฬานี้เสียก่อน

“หลายคนมองว่า นักกีฬา อีสปอร์ตส์ คือเด็กติดเกม แต่ที่เราเห็น พวกเขาคือคนปกติทั่วไป มีชีวิตปกติ ไม่ได้ต่างกับคนอื่น ซ้อมบ้าง เล่นบ้าง ทำงานบ้าง ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน มีช่วงเวลาที่ตัดขาดจากเกม”

กีฬา หรือ เกม ตัวตนของ “อีสปอร์ตส์” ไม่ใช่สิ่งที่ใคร คนใดคนหนึ่งจะมาตัดสินได้ สำหรับวิชชุดา เธอตัดสินใจ ด้วยประสบการณ์ ในฐานะนักกีฬาคนหนึ่ง เมื่อหญิงยอดนักแม่นปืน คนนี้ ปักธงแล้วว่า อีสปอร์ตส์ คือ กีฬา เธอพร้อมเดินหน้าสนับสนุน ด้วยความรัก ที่มีให้กับวงการกีฬาของเธอ

สำหรับคนอื่น การมองอีสปอร์ตส์ เป็นกีฬา หรือ เกม อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญ เท่ากับก่อนที่จะตัดสิน คุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราได้รู้จักกับสิ่งนั้นดีพอหรือยัง หรือเลือกตัดสินใจ ทั้งที่ยังปิดตา และ ไม่ได้ลบอคติ ออกจากใจ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "วิชชุดา ไพจิตรกาญจนกุล" : จากแชมป์แม่นปืนทีมชาติสู่ผู้อำนวยการทีมอีสปอร์ตส์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook