ทำไมชาติที่ใฝ่ทุนนิยมสุดโต่งแบบสหรัฐอเมริกาจึงกำหนดเพดานค่าเหนื่อยในอเมริกันเกมส์?
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/195/977994/u.jpgทำไมชาติที่ใฝ่ทุนนิยมสุดโต่งแบบสหรัฐอเมริกาจึงกำหนดเพดานค่าเหนื่อยในอเมริกันเกมส์?

    ทำไมชาติที่ใฝ่ทุนนิยมสุดโต่งแบบสหรัฐอเมริกาจึงกำหนดเพดานค่าเหนื่อยในอเมริกันเกมส์?

    2019-08-21T10:03:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    เมื่อพูดถึงประเทศสหรัฐอเมริกา สิ่งที่แทบทุกคนนึกถึงคงหนีไม่พ้น "ประชาธิปไตย" และ "ทุนนิยม" เมื่อพวกเขาถือเป็นหนึ่งในชาติต้นแบบของทั้งสองสิ่งนี้

    ทว่าสิ่งที่ดูจะแปลกแยกจากสามัญสำนึกในเรื่องนี้ก็คือ กับวงการกีฬาอาชีพ หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ อเมริกันเกมส์ อุตสาหกรรมที่สร้างรายได้อย่างมหาศาล สหรัฐอเมริกากลับเลือกที่จะนำระบบ "เพดานค่าเหนื่อย" หรือ Salary Cap มาใช้

    เหตุใดประเทศที่เป็นสัญลักษณ์ของโลกทุนนิยม กลับนำสิ่งที่ดูจะมีความเป็นสังคมนิยมอยู่ไม่น้อยมาใช้กับอุตสาหกรรมที่สร้างเงินทองมหาศาลสู่ประเทศกัน?

     

    อเมริกา... ทุนนิยม

    แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องนั้น คุณเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า เหตุใดชาวอเมริกันถึงหลงใหลได้ปลื้มกับเศรษฐกิจทุนนิยมนัก?

     1

    อย่างที่ทราบกันว่า สหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นจากการรวมกันของเหล่าผู้คนที่ถูกผลักไสจากถิ่นฐานเดิมในทวีปยุโรป ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางแนวคิดระหว่างลัทธิและนิกายในศาสนาคริสต์ หรือการขาดโอกาสแสวงหาความมั่งคั่ง เหล่าผู้คนที่คิดแบบเดียวกันจึงตัดสินใจลงเรือร่อนเร่ข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อแสวงหาโอกาสบนดินแดนแห่งใหม่

    แม้พวกเขาจะพบกับ "ดินแดนแห่งโอกาส" (Land of opportunities) แห่งนั้น แต่ด้วยความหิวโหยในดินแดนที่ไม่มีอะไรให้ ก็ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยสองมือ เมื่อขาดแคลนที่ดิน ขาดแคลนอาหาร ก็ต้องถกถางสร้างที่ เพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้พวกเขามีกินมีใช้ มีที่ดินและทรัพย์สินต่างๆ เป็นของตัวเอง... และนี่คือจุดกำเนิดของ "อเมริกันดรีม" (American Dream) หรือความฝันแบบอเมริกันชนที่ไม่เชื่อในเรื่องโชค แต่เชื่อในการทำงานหนักจนประสบความสำเร็จ

     2

    ประวัติศาสตร์ของชาวอเมริกันที่ใช้สองมือและสองขาก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ จนถึงฝั่งฝัน ทำให้พวกเขาหวงแหนในสิทธิ์ของทัรพย์สินที่พึงมีจากการกระทำของตน ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเชื่อในแนวคิดทุนนิยมที่เชื่อในการ "ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ไม่ทำก็ไม่ต้องได้อะไร" ดังที่ คาร์ล เอ็น เดกเลอร์ (Carl N. Degler) เขียนไว้ในหนังสือ Out of Our Past ว่า

    "ทุนนิยมของอเมริกัน มันมาพร้อมกับเรือที่พาพวกเขาสู่ดินแดนแห่งนี้แล้ว"

    จากแข่งขันสู่ผูกขาด

    แม้ทุนนิยม จะมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแต่แรกเริ่ม เมื่อประชาชน รวมถึงบริษัทห้างร้านต่างๆ ต้องแข่งขันในการแสวงหาทรัพยากร ทว่าสำหรับวงการกีฬา กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว

     3

    จริงอยู่ที่ในยุคแรกของอเมริกันเกมส์ เหล่านายทุนผู้สร้างทีมได้มีการรวมตัวเพื่อจัดตั้งลีกการแข่งขัน ทั้งในกีฬาเบสบอล, ฮอกกี้น้ำแข็ง, อเมริกันฟุตบอล และบาสเกตบอล เฉกเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาอาชีพทั่วไปที่มีระบบลีก ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ แต่ละทีมก็พยายามที่จะเข้าหานักกีฬาของทีมอื่นๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมของตนแบบไม่มีใครยอมใคร ไม่สนด้วยว่าจะอยู่ลีกไหน จนที่สุดแล้ว เหล่าเจ้าของทีมเองก็เห็นว่าปล่อยไว้แบบนี้นานไปยิ่งไม่ดี จึงหันหน้ามาจับมือกันโดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะเคารพสัญญาของอีกฝ่าย แม้ผลกระทบที่ตามมา จะเป็นการถือกำเนิดของ "สัญญาทาส" ที่ป้องกันนักกีฬาไม่ให้ย้ายทีมแม้สัญญาจะหมดแล้วก็ตาม

    การแข่งขันที่นำมาสู่ความร่วมมือไม่จำกัดแค่ในกลุ่มทีมกีฬา เพราะลีกการแข่งขันเองที่ก็มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลไม่แพ้กันต่างยอมรับว่า การแย่งคนดูและผู้เล่นกันเองระหว่างลีกจะส่งผลเสีย ทำให้พวกเขาตัดสินใจที่จะร่วมมือกัน จนเกิดเป็นการรวมลีกให้เป็นหนึ่งเดียวในเวลาต่อมา 

    โดยกีฬาชนิดแรกที่เกิดความร่วมมือลักษณะนี้คือ เบสบอล ซึ่ง National League และ American League จับมือทำข้อตกลงสันติภาพกันในปี 1903 และก่อกำเนิดศึกชิงแชมป์ที่มีชื่อว่า เวิลด์ซีรี่ส์ (World Series) ขึ้นมา ก่อนที่จะรวมลีกกลายเป็น Major League Baseball หรือ MLB ในที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้รับแรงหนุนจากกฎหมาย เมื่อศาลสูงตัดสินในปี 1922 ว่า กฎหมายต่อต้านการผูกขาด หรือ Antitrust Law ไม่สามารถใช้กับ MLB ได้ จึงทำให้ทั้งลีกการแข่งขันและทีมเห็นตรงกันว่า แล้วจะแข่งขันกันให้เกิดความเสี่ยงที่ลีกและทีมจะพังทลายกันทำไม ในเมื่อพวกเขาสามารถร่วมมือ และแบ่งปันผลประโยชน์กันได้

    หลังจากนั้น บาสเกตบอล และ อเมริกันฟุตบอล ก็ตัดสินใจที่จะดำเนินรอยตาม เริ่มจากวงการแม่นห่วงที่รวมลีก BAA (Basketball Association of America) กับ NBL (National Basketball League) เข้าด้วยกันกลายเป็น NBA (National Basketball Association) ในปี 1946 และรวม ABA (American Basketball Association) ซึ่งมีกลุ่มทุนตั้งขึ้นมาภายหลังเพื่อแข่งขันเข้ามาอยู่ด้วยกันในปี 1976

     4

    เช่นเดียวกับกีฬาคนชนคน ที่ NFL (National Football League) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1920 นำ AAFC (All-America Football Conference) เข้ามารวมอยู่ด้วยในปี 1949 ก่อนตัดสินใจทำข้อตกลงกับ AFL (American Football League) ในปี 1966 จนก่อให้เกิดศึกแชมป์ชนแชมป์อย่าง ซูเปอร์โบวล์ (Super Bowl) และรวมลีกเป็นหนึ่งเดียวในปี 1970 ... มีเพียง ฮอกกี้น้ำแข็ง NHL (National Hockey League) เพียงลีกเดียวเท่านั้นที่ถือกำเนิดมาเป็นลีกเดียวตั้งแต่แรกเริ่ม

    เหตุการณ์ที่นำมาสู่การรวมลีก จนทำให้ในสหรัฐอเมริกามีลีกกีฬาอาชีพชั้นแนวหน้าเพียงลีกเดียวนั้น ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในกีฬาฟุตบอลของทวีปยุโรป ที่แม้จะมีการแข่งขันระหว่างลีกในระยะเริ่มแรก แต่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของลีกที่แข่งขันนั้นไม่อาจเทียบกันได้ ที่สุดแล้วการรวมลีกจึงเกิดขึ้นโดยที่มีระบบการเลื่อนชั้น-ตกชั้นมาใช้ด้วย

    และขณะเดียวกัน ด้วยความที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ประดุจทวีป การมีระบบเลื่อนชั้น-ตกชั้นอาจส่งผลให้เมืองที่มีตลาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ขาดแคลนทีมกีฬาในลีกสูงสุดหากพวกเขาทำผลงานได้แย่ การมีลีกสูงสุดเพียงลีกเดียวจึงดีสำหรับเหล่านายทุนเจ้าของทีมมากกว่าด้วยเหตุผลที่ว่า "เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหน"

    กฎเพื่อโอกาสและความเท่าเทียม

    แม้ในฟากฝั่งของนายใหญ่ใส่สูทจะเคลียร์ปัญหาเรื่องการแข่งขันระหว่างลีกจนลงตัว ทว่าด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เรื่องต่างๆ ได้กลายเป็นประเด็นเรียกร้องในวงสาธารณะมากขึ้น และแน่นอน เรื่องราวของสัญญาทาสคือหนึ่งในนั้น เมื่อนักกีฬาที่หมดสัญญากับทีมเดิมไม่สามารถออกไปหาทีมใหม่ได้อย่างอิสระ เนื่องจากมีค่าฉีกสัญญาที่ต้องจ่ายเสียก่อน

     5

    ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาประสบผลในปี 1976 เมื่อกลุ่มเจ้าของทีมใน MLB สามารถตกลงกับสหภาพผู้เล่นได้ถึงการยกเลิกเงื่อนไขค่าฉีกสัญญา ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้นักกีฬาสามารถย้ายทีมได้อย่างอิสระเมื่อสัญญาหมด และแน่นอน เรื่องดังกล่าวส่งผลให้แต่ละทีมสามารถประเคนสัญญาค่าเหนื่อยอันมหาศาลให้กับผู้เล่นได้ ก่อนเรื่องดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับกีฬาชนิดอื่นๆ ด้วยในเวลาต่อมา

    ปัญหาหนึ่งหมดไป แต่ปัญหาใหม่ก็ตามมา เพราะด้วยหลักธรรมชาติ มนุษย์ย่อมต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง แต่ละทีมจึงพยายามแข่งกันเสนอสัญญาที่มีมูลค่าเงินสูงที่สุดให้พิจารณาตามหลักเศรษฐกิจทุนนิยม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักกีฬาเก่งๆ ก็มักเลือกที่จะไปอยู่กับทีมดังซึ่งประสบความสำเร็จต่อเนื่อง หรือไม่ก็เงินหนา อยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งจะช่วยต่อยอดผลงานความสำเร็จของตัวเองให้กลายเป็นเงินทองได้มหาศาลกว่า ทำให้ทีมที่ผลงานย่ำแย่อยู่แล้วก่อนหน้า หรืออยู่ในเมืองเล็กที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่สูง ผลงานตกต่ำลงจากการที่ไม่มีผู้เล่นดีๆ อยู่ในทีม

    ด้วยเหตุดังกล่าว เหล่าผู้บริหารระดับสูงของลีกอเมริกันเกมส์จึงได้มีความคิดที่จะนำระบบเพดานค่าเหนื่อยมาใช้ ด้วยการกำหนดวงเงินสูงสุดที่แต่ละทีมสามารถใช้จ่ายในการเป็นค่าจ้างนักกีฬาได้ในแต่ละปี เพื่อป้องกันทีมใดทีมหนึ่งได้เปรียบจากการรวบรวมนักกีฬาชั้นนำมาอยู่ในทีมเดียวกันมากจนเกินไป และเป็นการเปิดโอกาสให้ทีมเล็กๆ สามารถแข่งขันกับทีมอื่นได้ด้วยการมีผู้เล่นดีๆ อยู่กับทีม ซึ่ง NBA เป็นลีกแรกที่มีการนำเพดานค่าเหนื่อยมาใช้ในปี 1984 ต่อด้วย NFL ในปี 1994 และ NHL ในปี 2005... มีเพียง MLB ลีกเดียวเท่านั้นที่ยังไม่ได้มีการใช้เพดานค่าเหนื่อยแบบเต็มสูบ แม้จะมีการนำ Luxury Tax หรือการต้องเสียค่าปรับหากใช้เงินกับค่าเหนื่อยเกินที่กำหนดมาใช้ตั้งแต่ปี 1997 ก็ตาม

     6

    โดยเงินที่จะใช้เพื่อนำมาจ่ายค่าเหนื่อยนั้น ก็จะมาจากรายได้ที่ลีกกีฬาหามาได้ด้วยวิธีต่างๆ ทั้งลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด, การขายสินค้าที่ระลึก, ผู้สนับสนุน ฯลฯ โดยจะถูกจัดสรรปันส่วนระหว่างเจ้าของทีมกับผู้เล่นผ่านสิ่งที่เรียกว่า "ข้อตกลงผลประโยชน์ร่วมกัน" หรือ CBA (Collective Bargaining Agreement) ซึ่งอันที่จริงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้ายุคที่จะมีเพดานค่าเหนื่อยแล้ว แต่ได้ถูกนำมาใช้กำหนดอย่างชัดเจนมากขึ้นว่า แต่ละทีมจะสามารถจ่ายค่าเหนื่อยแก่ผู้เล่นทุกคนได้ไม่เกินฤดูกาลละเท่าไหร่ ซึ่ง NFL กับ NHL จะใช้ระบบ Hard Cap คือห้ามใช้เงินทะลุเพดานค่าเหนื่อยเด็ดขาด ส่วน NBA ใช้ระบบ Soft Cap ที่อนุญาตให้ใช้เงินเกินเพดานได้ แต่ยิ่งเกินมากก็ต้องเสียค่าปรับมาก

    โดยในส่วนของผลกระทบที่มีต่อการแข่งขันนั้น เฮลมุต ดีเทิล, มาร์คัส ลัง และ อเล็กซานเดอร์ รัทเค่ จากมหาวิทยาลัยซูริก ได้ทำการศึกษาเมื่อปี 2009 และพบว่า ในลีกที่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการแข่งขัน เพดานค่าเหนื่อยสามารถช่วยให้การแข่งกลับมาสูสีกันมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น สวัสดิการของนักกีฬาและผลประโยชน์ที่ลีกและเจ้าของทีมพึงได้รับก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

     7

    จากสิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้นคงทำให้พอมองเห็นภาพได้ว่า แม้สหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศที่มีความเป็นทุนนิยมสูงมาก แต่สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ โอกาส เพราะหากแต่ละทีมกีฬาสามารถแข่งขันกันได้อย่างสูสีมากขึ้น ความสนุก และผลประโยชน์ต่างๆ ที่พึงจะได้รับก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

    และด้วยเหตุที่ว่ามา จึงทำให้เพดานค่าเหนื่อยกลายเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่คู่กับวงการอเมริกันเกมส์มาจนถึงทุกวันนี้

    อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ทำไมชาติที่ใฝ่ทุนนิยมสุดโต่งแบบสหรัฐอเมริกาจึงกำหนดเพดานค่าเหนื่อยในอเมริกันเกมส์?