ชีวิตฟุตบอลและการเติบโตใต้รัฐสวัสดิการที่ไม่คุ้นเคยของ "เอเลียส ดอเลาะ"

ชีวิตฟุตบอลและการเติบโตใต้รัฐสวัสดิการที่ไม่คุ้นเคยของ "เอเลียส ดอเลาะ"

ชีวิตฟุตบอลและการเติบโตใต้รัฐสวัสดิการที่ไม่คุ้นเคยของ "เอเลียส ดอเลาะ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถามถึงประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ชื่อประเทศแรกๆ ที่ถูกนึกถึง ย่อมต้องมาจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ทั้ง สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และฟินแลนด์

เอเลียส ดอเลาะ กองหลังหนุ่มลูกครึ่งไทย-สวีเดน เป็นหนึ่งบุคคล ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิต เติบโตในสังคมรัฐสวัสดิการ ที่ประเทศสวีเดน จนทำให้เขาเติบโต มาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ อย่างมีความสุข

 

หนุ่มร่างยักษ์ลูกหลานชาวไวกิ้ง จะมาเล่าถึงเรื่องราว ในสังคมสวีเดนผ่านชีวิตฟุตบอลของเขา จนถึงวันที่เขากลับมายังเมืองไทย และพบกับความแตกต่างโดยสิ้นเชิง

ขอเชิญติดตามเรื่องราวนี้ ไปพร้อมกันกับเรา

เล่นในสิ่งที่อยากเล่น

เอเลียส ดอเลาะ แม้จะเป็นหนุ่มลูกครึ่ง มีต้นตระกูลฝั่งคุณพ่อ มาจากจังหวัดนราธิวาส ดินแดนใต้สุดของประเทศไทย แต่ชีวิตในวัยเด็ก เขาเติบโตที่ประเทศสวีเดน เขาจึงมีชีวิต ไม่ต่างกับเด็กในทวีปยุโรปส่วนใหญ่ คือ มีหัวใจรักฟุตบอล

 1

“ผมเริ่มเล่นฟุตบอล ตั้งแต่อายุประมาณสัก 5-6 ขวบครับ ก็เล่นสนุกแบบเด็กๆทั่วไป เตะบอลกับพี่ชายบ้าง เตะบอลกับเพื่อนบ้าง”

เอเลียส เติบโตมาจากเมืองเล็กๆ ในสวีเดน ทางตอนใต้ อย่าง ดอลบี้ (Dalby) หากเปรียบเป็นประเทศไทย เขาอาศัยอยู่ในตำบลขนาดเล็ก ที่มีประชากร ราว 10,000 คนเท่านั้น 

ทว่าหากเป็นประเทศไทย การจะเริ่มต้นเล่นฟุตบอล อย่างมีคุณภาพ ในเมืองเล็กๆ ต่างจังหวัด ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับเด็กชายเอเลียส เขามีโอกาสได้เริ่มเล่นฟุตบอล อย่างมีคุณภาพตั้งแต่วัยเยาว์ กับชีวิตในสวีเดน

“ทีมฟุตบอลเล็กๆ ในเมืองของผม ผมกล้าพูดว่า เรามีอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พร้อมเพรียง สนามฟุตบอลของเราดีมากๆ มีสนามหญ้าจริง ไว้ใช้เล่นในฤดูร้อน มีสนามหญ้าเทียม ไว้เล่นในฤดูหนาว”

“อันที่จริง ตอนผมเป็นเด็ก ผมไม่ได้เล่นแค่ฟุตบอลนะ ผมเล่นฟลอร์บอล ผมเล่นแบดมินตัน ผมเล่นปิงปองด้วย เพราะเมืองขนาดเล็กของผม มีสโมสรกีฬา มีสนามกีฬาที่หลากหลาย ฟุตบอล ฟลอร์บอล วอลเลย์บอล คุณสามารถเล่นกีฬาอะไรก็ได้ ที่คุณอยากจะเล่นในสวีเดน”

 2

เมืองเล็กๆของเอเลียส ไม่ได้มีเศรษฐีพันล้านใจบุญจากไหน มาสนับสนุน สร้างศูนย์กีฬา ให้ประชาชนชาวสวีเดนได้เล่นตามใจชอบ แต่ทั้งหมดมาจากงบประมาณ สนับสนุนจากรัฐบาลของสวีเดน ภายใต้นโยบายการดูแลประชาชน เป็นอย่างดีด้วยรัฐสวัสดิการ

“แน่นอนครับว่า สโมสรกีฬาเหล่านี้ พวกเขาไม่ได้รวย อันที่จริงค่อนข้างจะจนด้วยซ้ำ แต่ว่าเรามีรัฐบาลประจำท้องถิ่น แบ่งเป็นเทศบาล กระจายอยู่ทั่วประเทศ พวกเขาจะคอยให้การสนับสนุน ประชาชนในทุกด้าน ถ้าคุณอยากสร้างสโมสรกีฬาเพื่อส่วนรวม หรือมีกิจกรรมอะไรที่อยากทำ คุณสามารถไปของบประมาณ จากเทศบาลได้”

ขยายภาพจากสิ่งที่เอเลียสกล่าว ระบบการเมืองของสวีเดน จะต่างกับประเทศไทย พวกเขาแบ่งเขตเทศบาล ทั้งสิ้น 288 เขต เพื่อให้มีสภา ซึ่งผ่านการเลือกตั้งจากคนในเทศบาล คอยเป็นรัฐบาลขนาดย่อมดูแล ประชาชนในท้องถิ่น และมีหน้าที่ประสานงาน เชื่อมโยง ระหว่างรัฐบาลส่วนกลาง กับประชาชนชาวสวีเดน

ความใกล้ชิด ระหว่างรัฐบาล และประชาชน ทำให้การพัฒนาด้านกีฬา ในแต่ละพื้นที่ดำเนินไปอย่างง่ายดาย รัฐบาลสามารถให้การสนับสนุน อย่างตรงจุด ในกีฬาที่ประชาชนต้องการ ประชาชนเองก็มีความสุข ที่ได้เล่นกีฬาที่อยากจะเล่น

“ผมคิดว่า สวีเดนเป็นประเทศที่มีความพร้อมมาก ที่จะสนับสนุน ให้ประชาชนเล่นกีฬา และมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลพยายามทำทุกทาง ให้คนสวีเดนได้มีโอกาส ได้เล่นกีฬา อย่างมีคุณภาพ โดยเท่าเทียมกัน ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ หรือผมที่อาศัยในเมืองขนาดเล็ก”

สังคมรัฐสวัสดิการ

ในแต่ละปี รัฐบาลสวีเดนทุ่มงบประมาณ หลายสิบล้าน ในการสนับสนุนและพัฒนา ให้ประชาชนเล่นกีฬา แน่นอนว่า รัฐบาลสวีเดน พวกเขาไม่ใช่เทวดา ที่สร้างเงินจำนวนมาก นำมาสนับสนุนประชาชน แบบฟรีๆ แต่งบประมาณเหล่านี้ มาจากเงินภาษี ที่เก็บจากประชาชน

 3

“ที่สวีเดนเก็บภาษีเยอะมาก เรตภาษีขั้นต่ำอยู่ที่ 33 เปอร์เซ็นต์ หักเข้ารัฐบาลโดยตรง ไม่มีข้อหลีกเลี่ยง ไม่ว่ารวยหรือจน ต้องจ่ายทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น ถ้าเป็นคนรวยในสวีเดน พวกเขาต้องจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์”

แม้ว่าจะเก็บภาษีมากแค่ไหน เอเลียสยืนยันว่า ทั้งครอบครัวของเขา และประชาชนทุกคนในสวีเดนทุกคน พร้อมที่จะจ่ายภาษี เพราะผลตอบแทนที่ได้มา ถือว่าคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป

“ชีวิตของเรา ได้รับการสนับสนุนมากมายนะครับ นอกจากเรื่องกีฬา เราได้เรียนฟรี เราได้รับการดูแล ด้านสุขภาพฟรี ได้รับการสนับสนุน ในการใช้ชีวิตมากมาย”

“ถ้าถามผมว่า ทำไมเรายอมจ่าย คุณน่าจะรู้ว่า สวีเดนเป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นน้อย อันดับต้นๆของโลก ผมไม่ได้พูดถึงแค่ การเมืองระดับประเทศนะ แต่หมายถึง แม้แต่ในสโมสรกีฬา แถวบ้านผม พวกเขาใช้เงิน ในการพัฒนา ได้อย่างเต็มที่”

ไม่ใช่ทุกประเทศ ที่จะทุ่มเทงบประมาณ ด้านกีฬาให้กับประชาชนมากแบบนี้ ในขณะที่โลกกีฬา หมุนเวียนเปลี่ยนเป็นธุรกิจ ตามสังคมทุนนิยม ขับเคลื่อนวงการด้วยเม็ดเงิน ของนายทุน และผลประโยชน์เป็นสิ่งสำคัญ

แต่ที่สวีเดน และแถบประเทศสแกนดิเนเวีย คือ ภาพที่ตรงกันข้าม รัฐบาลจากประเทศเหล่านี้ ไม่ได้หวังเงินก้อนโต เป็นผลตอบแทน กับการสนับสนุน ให้ประชาชนเล่นกีฬา สิ่งเดียวที่พวกเขาต้องการ คือ รอยยิ้มเท่านั้น

 4

“ทุกวันนี้ คนสวีเดนเริ่มเครียดกันเยอะ ด้วยสภาพภูมิประเทศด้วย บางฤดูเราแทบไม่เห็นแสงอาทิตย์ มันก็ทำให้ผู้คนเครียด ยิ่งเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ไม่มีอะไรทำนอกบ้าน ยิ่งเครียดไปกันใหญ่”

“ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงสนับสนุนให้เราเล่นกีฬา เพื่อให้ประชาชนมีกิจกรรมทำนอกบ้าน พวกเขาจะได้ไม่เอาเวลา ไปทำเรื่องแย่ๆ อย่างเพื่อนผมบางคน ที่ไม่ได้เล่นกีฬา ก็เตร็ดเตร่ไปตามท้องถนน สร้างปัญหาบ้าง คบกับคนที่ไม่ดี”

“จริงๆ ไม่ใช่แค่กีฬานะครับ ที่รัฐบาลสนับสนุน มีทั้งกิจกรรมแบบอื่น เช่น เล่นดนตรี หรือสร้างสรรค์งานศิลปะ อะไรก็ได้ที่เป็นกิจกรรม ให้คนออกมาทำในพื้นที่สาธารณะ อย่างผมก็มีช่วงหนึ่ง ที่เล่นดนตรีเหมือนกัน”

โอกาสของการเรียนรู้ ที่แตกต่าง

ด้วยแรงสนับสนุน จากรัฐบาลในประเทศ ไม่ใช่เรื่องยาก ที่เอเลียส จะเติบโตกับการเป็นนักฟุตบอล อย่างถูกต้อง แม้ว่าเขาตัดสินใจเริ่มเล่นในทีมลีกอาชีพอย่างจริงจังกับสโมสรลุนด์ (Lunds BK) ในชุดเยาวชนไม่เกิน 19 ปี ตอนอายุได้ 16 ปี

 5

อาจจะเริ่มต้นจริงจัง กับการเล่นฟุตบอลช้าไปนิด นั่นเป็นเพราะว่าเอเลียส ให้ความสำคัญกับการเรียน ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งเขา และครอบครัวต้องการ 

“ที่สวีเดน กีฬาไม่ได้ผูกติดกับโรงเรียนครับ ผมแทบไม่ได้เล่นกีฬา ตอนอยู่ที่โรงเรียนเลย อยู่ที่โรงเรียน หน้าที่ของผมคือเรียนอย่างเดียว ถ้าจะเล่นกีฬา ผมออกมาเล่นข้างนอก กับสโมสรกีฬาท้องถิ่น”

ปัจจุบัน ในประเทศสวีเดนมีสโมสรกีฬา มากกว่า 9,000 แห่ง คอยรองรับ ความต้องการของประชาชน ไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ ที่อยากออกกำลังกาย สำหรับเอเลียสแล้ว การที่เขาได้มีโอกาส ใกล้ชิดกับทั้งสถาบันการเรียนที่ดี และสโมสรกีฬา ที่มีคุณภาพในวัยเยาว์ ทำให้เขาสามารถโฟกัส ทั้งเรื่องเรียนและกีฬา ไปควบคู่กันได้อย่างไม่ลำบาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาเลือกจะเดินหน้า ในฐานะนักฟุตบอลอาชีพ โชคชะตาจึงพาเขา ออกจากสวีเดน มาค้าแข้งที่ไทย กับสโมสร สงขลา ยูไนเต็ด

“ผมรู้ว่าฟุตบอลไทย กำลังพัฒนา เติบโตมากที่สุดในอาเซียน แต่ผมไม่ได้รู้อะไรมากกว่านั้น” เอเลียส ย้อนถึงความรู้สึกในอดีต

เมื่อได้มาเล่นที่เมืองไทย เขาไม่ได้ผิดหวังกับคุณภาพของวงการฟุตบอลไทย ที่กำลังเติบโต และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กระนั้น ยังคงมีสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องกวนใจเขา และยอมรับว่า มีความแตกต่างกับวงการฟุตบอล ที่สวีเดนอยู่ไม่น้อย 

 6

“กรรมการที่สวีเดน เก่งมากนะครับ แม้ว่าพวกเขา จะอยู่ในลีกระดับล่าง แต่ก็มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ค่อยๆไต่ลำดับชั้นขึ้นมา อย่างเพื่อนผมคนหนึ่ง เขาเริ่มเป่าตั้งแต่ดิวิชั่น 7 ตอนนี้เขาไต่ขึ้นมา ดิวิชั่น 2 แล้ว”

“ส่วนที่ไทย บ่อยครั้ง พวกเขาทำให้ผมหงุดหงิด โดยเฉพาะตอนเล่นอยู่สงขลา เวลาไปเล่นเกมเยือน บางครั้งผมก็รู้สึกว่า พวกเขาเป่าเข้าข้างเจ้าบ้าน มันทำให้ผมรู้สึกว่า เราจะเหนื่อย เราจะเตะบอล ไปเพื่ออะไรกัน”

“แต่ผมโทษพวกเขาไหม ผมไม่โทษพวกเขาหรอก ผมเศร้าแทนพวกเขาด้วยซ้ำ ผมยกตัวอย่างที่สวีเดน กรรมการที่นั่น ได้รับการสนับสนุนอย่างดี พวกเขามีเงินเดือนที่สูงมาก สมาคมฟุตบอล จ้างกรรมการ ให้เป็นกรรมการอาชีพ ไม่ต้องทำงานอื่น พวกเขาเลยมีเวลาโฟกัส กับฟุตบอล พัฒนาตัวเองได้ตลอด”

“กรรมการไทย กำลังมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่มีใครสนับสนุนพวกเขา ผมคิดว่า เรากำลังแก้ปัญหาอย่างผิดทาง การแบนทีละ 2-3 เดือน ไม่ใช่การแก้ปัญหา คุณต้องมีสวัสดิการที่ดีให้กับพวกเขา มีรายได้ที่ดี มีการอบรมให้ความรู้ อย่างถูกต้อง ผมเชื่อว่ากรรมการไทย จะพัฒนาขึ้นได้ในอนาคต”

 7

เอเลียส ยังกล่าวเสริมอีกว่า ที่สวีเดน ไม่ว่าจะเป็นนักเตะ โค้ช หรือกรรมการ ทุกฝ่ายจะได้รับการสนับสนุน ให้การเรียนรู้ เป็นอย่างดี โดยสถาบันที่มีอำนา จากส่วนกลาง เพื่อสร้างบุคลากรที่ดี ในการพัฒนาวงการฟุตบอล

เด็กไทยต้องการแรงสนับสนุน

นับจากวันที่เอเลียส เดินทางกลับมาเล่นฟุตบอล ในถิ่นฐานบ้านเกิดของคุณพ่อ ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 5 กับชีวิตลูกหนังของเขาในเมืองไทย เอเลียสได้ซึมซับวัฒนธรรมแบบไทยๆ และตัวเขาก็รู้จักประเทศนี้ มากขึ้นเช่นกัน

 8

สิ่งหนึ่งที่เขาได้พบเห็น และกลายเป็นความประทับใจส่วนตัว คือความรักในกีฬาฟุตบอลของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับเด็กชายหนุ่ม ที่ไล่หวดลูกหนัง ด้วยแววตาอันเปี่ยมความฝัน ทำให้เขาย้อนนึกถึงช่วงเวลาดีๆ ในวัยเด็กของตัวเอง ที่สร้างฝันให้เขากลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แบบทุกวันนี้

แต่ด้วยเหตุนี้ ทำให้เอเลียสรู้สึกเศร้าอยู่ภายในใจ ที่เขาเห็นเด็กไทยขาดโอกาสที่จะมาคอยสนับสนุน ให้เดินทางตามฝัน ไม่มีโอกาสได้รับ ในสิ่งที่เขาเคยได้รับ ตอนอยู่ที่สวีเดน

“ผมมองว่าปัญหา ของฟุตบอลไทย คือโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน ถ้าคุณอยู่ในเมืองเล็กๆแบบผม ที่ประเทศไทย คุณแทบไม่มีโอกาส ได้เข้าสู่การเรียนฟุตบอลที่ดีเลย”

“อคาเดมีฟุตบอล ก็มีน้อย จำนวนหนึ่งผูกติดโรงเรียนชื่อดัง ทำให้โอกาสมีจำกัด ถ้าคุณเข้าไปได้ก็ดี แต่ถ้าเข้าไม่ได้ละ เรื่องนี้แตกต่างกับที่สวีเดนมาก”

 9

สำหรับเอเลียส เขามองว่านอกจากขาดโอกาส ในการฝึกสอนฟุตบอล ที่ดีแล้ว เด็กไทยยังขาดพื้นที่สาธารณะ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้สนุกกับการเล่นกีฬา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ที่สูงเกินไป เพื่อสร้างฝันและสร้างความรัก ในการเล่นกีฬา ที่จะผูกอยู่กับตัวเด็ก จวบจนเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่

“ที่สวีเดน ถ้าคุณเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่เด็ก คุณจะผูกพัน โตขึ้นคุณอยากเป็นนักฟุตบอล ถ้าคุณไม่ได้เป็นนักฟุตบอล คุณอาจไปเป็นโค้ช เป็นกรรมการ หรืออย่างน้อยที่สุด คุณก็ได้เป็นแฟนบอล เพราะฉะนั้น มันสำคัญมากกับการสร้างรากฐานฟุตบอล ตั้งแต่ยังเด็ก”

 10

ต้นไม้ที่ขาดการรดน้ำจากราก ย่อมไม่มีทางที่จะเติบโต ไม่แตกต่างกับ วงการฟุตบอล หากการพัฒนาเยาวชน ยังคงไม่ต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้กับเด็กไทยจำนวนมาก เข้าสู่ระบบการสร้างนักเตะ เพชรเม็ดงามจำนวนไม่น้อย จึงหลุดลอยไป

สำหรับเอเลียส ในฐานะคนที่มีเชื้อสาย และเติบโตมาที่สวีเดน เขามีความฝันที่อยากเห็น การสนับสนุนจากภาครัฐ หรือนโยบายรัฐสวัสดิการ ให้เก็บเด็กไทย ได้มีโอกาสแบบที่เขาเคยได้รับ เมื่อวัยเยาว์ แม้เขาจะรู้ดีว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม

“การพัฒนาที่สวีเดนเกิดขึ้นได้ เพราะเราเก็บภาษีมหาศาล ผมคิดว่ามันคงยาก ถ้าจะเกิดขึ้นที่ไทย แต่ถ้าถามผมว่า ผมอยากให้โมเดลจากสวีเดน เกิดขึ้นที่ไทยไหม? แน่นอน ผมอยากเห็นสังคมแบบนั้น ในประเทศไทย”

“ผมเชื่อว่าสุดท้าย เด็กไทยต้องการพื้นที่ที่จะเล่นฟุตบอล รวมถึงกีฬาอื่นๆด้วย คุณต้องไม่ลืมว่า ที่สวีเดน ไม่ได้สนับสนุนแค่ฟุตบอล แต่เราสนับสนุนทุกกีฬา อย่างเท่าเทียม แต่ที่เมืองไทย กีฬาอื่นไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าไหร่นัก เท่าที่ผมรู้มา”

“ผมมองว่าวงการฟุตบอลไทย กำลังลืมเรื่องการสร้างจากพื้นฐาน สร้างทีมท้องถิ่น ให้กับเยาวชน ได้มีโอกาสเล่นฟุตบอล”

 11

เอเลียสบอกกับเรา เป็นการทิ้งท้าย ว่าภาพที่เขาอยากเห็นมากที่สุด ในประเทศไทย คือการเห็นเด็กทั่วประเทศ ได้มีโอกาสวิ่งหวดลูกหนัง บนสนามหญ้าเขียวขจีของสโมสรฟุตบอลในท้องถิ่น เพราะเขาเชื่อว่าจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาฟุตบอลไทยอย่างยั่งยืน

ภาพที่เอเลียสอยากเห็น คงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่บางครั้ง มนุษย์ย่อมต้องมีความเชื่อ และความฝัน หากสังคมรัฐสวัสดิการ สามารถให้การสนับสนุน ประชาชนในประเทศสวีเดน และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ให้มีความสุข ระดับ 10 อันดับแรกของโลก ด้วยการสนับสนุนด้านกีฬา

คงไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ที่ประเทศไทย จะเอาแบบอย่าง สร้างรอยยิ้มให้กับเด็กไทย และประชาชนทุกคน ด้วยกีฬา เช่นเดียวกัน

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ ชีวิตฟุตบอลและการเติบโตใต้รัฐสวัสดิการที่ไม่คุ้นเคยของ "เอเลียส ดอเลาะ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook